dararat
ดร. ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์

เด็กปฐมวัยกับงานศิลปะ


เด็กปฐมวัยกับงานศิลปะ

                            กว่าจะมาเป็นงานศิลปะของเด็ก 

 

 

                        

ผู้เขียนได้ไปงานแสดงนิทรรศการผลงานนักเรียนปฐมวัยของโรงเรียนบ้านหนองขาม  อำเภอ  สวนผึ้ง    เมื่อวันที่   25  มีนาคม  2551  ผลงานของเด็ก ๆเป็นที่ชื่นชมของผู้ไปเยี่ยมชมเป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะผลงานศิลปะ  วันนั้นผู้เข้าร่วมงานมีทั้งผู้บริหาร  ครู    พ่อแม่  ผู้ปกครอง  และชุมชน อย่างเช่นผู้ใหญ่บ้าน  นายอำเภอ  ฯลฯ  ซึ่งสะท้อนถึงความร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนและชุมชน  อันเป็นเครื่องหมายของการร่วมมือกันอย่างแท้จริงสู่การพัฒนางานการศึกษาให้มีคุณภาพ

           ขั้นตอนการแสดงผลงานศิลปะในวันนั้น  ขั้นตอนสุดท้ายที่ครูต้าหรืออาจารย์ปณิตา    ศิลารักษ์   ได้พาเด็ก  ๆ จัดแสดงผลงานของตนเอง  วันนั้นเด็กภูมิใจมากกับผลงานของตนเองที่ได้รับการยอมรับ  ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ  เด็กได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน  ได้ย้อนกลับไปคิดถึงกระบวนการทำงาน    และสามารถเชื่อมโยงไปสู่กระบวนการทำงาน  ทุกคนที่ไปชมได้เห็นพลังความสามารถของมนุษย์ซึ่งเริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ  ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่ากว่าผลงานจะได้เป็นชิ้นที่นำมาแสดง  ครูต้าต้องมีกระบวนการหลายขั้นตอน  ซึ่งใช้เวลาเป็นปีๆ  ในการจัดประสบการณ์ให้กับเด็กเพื่อให้เด็กมีผลงานศิลปะที่สะท้อนตัวตนของเด็กแต่ละคนออกมา  จุดมุ่งหมายของการสอนศิลปะแก่เด็กเล็ก   ไม่ใช่การสร้างศิลปินหรือสร้างผลงานที่เป็นเลิศ  หรือเพื่อการแข่งขัน  แต่เป็นการสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  ทั้งผู้เรียนและผู้สอน  ผ่านทั้งกระบวนการทำงานศิลปะและงานศิลปะรอบ   ตัว  โดยอาศัยปัจจัยที่สำคัญคือครู  มีคณะครูที่สอนศิลปะของโรงเรียนรุ่งอรุณ   ได้เสนอเ คล็ดลับในการสอนศิลปะพอสรุปได้คือ

                ประการแรก  ผู้สอนต้องเป็นผู้ที่เข้าใจคุณค่าของกระบวนการทำงานศิลปะ  มีสายตาที่มองเห็นความงามในสิ่งต่าง ๆ  ที่อยู่รอบตัว  เป็นผู้ที่หมั่นเอาใจใส่  สังเกตการเรียนรู้ของเด็กเพื่อปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนให้เหมาะสม  ครูเป็นแม่แบบให้กับเด็ก   และสร้างเจตคติต่อการทำงานศิลปะ

                ประการที่สอง  ห้องเรียนศิลปะและสภาพแวดล้อม  ห้องต้องโปร่งสงบ  ห้องเรียนศิลปะไม่จำเป็นต้องตายตัว  ที่ใดก็ได้ก็สามารถใช้เป็นห้องศิลปะได้  ลักษณะการจัดตกแต่งห้องจัดด้วยงานศิลปะต่าง ๆ  การจัดดอกไม้  ความสะดวก  ความมีระเบียบเรียบร้อยของห้อง  ห้องเรียนต้องสดใส  สงบ  ผ่อนคลาย  ห้องเรียนพร้อมที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้

                ประการที่สาม  การเตรียมความพร้อมก่อนการเรียน  เมื่อเริ่มเรียนรู้ทุกครั้ง  ครูจะต้องเตรียมเด็ก ๆ  ให้อยู่ในภาวะที่พร้อมจะเรียนรู้  เช่น  การเล่านิทาน  การฟังเพลง  การแสดงบทบาทสมมติ  การพูดคุยสนทนาให้เกิดอารมณ์เชิงบวก  และมีสมาธิที่จะเรียนรู้กระบวนการทำงานต่อไป  สำหรับเนื้อหานิทานอาจแฝงด้วยคำสั่งและบอกเล่ากระบวนการทำงานไปด้วย  ท่าทีต่าง ๆ  ของครู ก็มีส่วนช่วยและกระตุ้นให้เด็กพร้อมที่จะเรียน

                ประการที่สี่  ลักษณะโจทย์ที่เหมาะสมกับเด็ก  ครูจะต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กในวัยต่าง ๆ  คือ เข้าใจถึงพัฒนาการของเด็ก ที่สำคัญเด็กทุกวัยต้องการกำลังใจและความเชื่อมั่นจากครูว่าเขาสามารถทำงานได้ดีในแบบของตัวเองทุกคน

                ประการที่ห้า  การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  ผลงานศิลปะเป็นการสะท้อนจินตนาการ  ความคิดภายในออกมาเป็นรูปธรรมภายนอกแล้วป้อนกลับเข้าสู่สมอง  ทำให้สมองได้รับรู้จินตนาการและความคิดนั้น        ทุกครั้งที่เด็ก ๆ  ทำงานเสร็จ  ครูจะให้เด็ก   นำงานมาเรียงกันเพื่อให้เด็ก   ได้ดูงานทั้งหมด  ซึ่งทำให้เกิดการสำรวจความคิดของตนเอง  และได้เห็นระบบความคิดของผู้อื่นด้วย  ครูสามารถให้ดูข้อเด่นของชิ้นงานต่าง ๆ เช่น  สีที่ใช้  ความเรียบร้อย  การจัดวาง  พร้อมการตั้งคำถาม  ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  เคารพในความคิดเห็นของผู้อื่น  เห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น  เมื่อสิ้นปีโรงเรียนจัดงานนิทรรศการผลงานเด็ก ๆ  เป็นงานที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ  กระตุ้นความกล้าให้     ทุกคนอยากทำงานศิลปะ  ต่อไปเราก็จะพบกับงานศิลปะของเด็ก   ที่มีการพัฒนาอย่างไร้ขีดจำกัด

                ประการที่หก  การประเมินผล  ซึ่งเป็นการเสริมแรงให้เกิดการพัฒนารายบุคคล  สิ่งที่ใช้ประเมินคือพัฒนาการทางด้านจิตใจ  อารมณ์  สังคม  และสติปัญญา  พัฒนาการดังกล่าว  ครูต้องใช้วิธีการสังเกตจากการทำงานเป็นหลัก  และผลงานของเด็กเป็นรอง  โดยครูประเมินจากพัฒนาการของเด็กเป็นรายบุคคล  ซึ่งไม่อาจเปรียบเทียบกับมาตรฐานของครูหรือของเพื่อนได้

                ฉะนั้นกว่าจะเป็นงานศิลปะของเด็กๆ ได้นั้นมีกระบวนการขั้นตอนมากมาย  จากการดูนิทรรศการที่กล่าวข้างต้นเป็นผลงานเกิดจากการจัดการเรียนการสอนของครู  การจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศการเรียนรู้  และตามองค์ประกอบที่เสนอแนะ  จึงหวังว่าพวกเราจะได้ลองนำไปใช้ในการสอนศิลปะให้เกิดกับเด็กเล็ก ๆ เพื่อให้เด็กของเราพัฒนาได้อย่างรอบด้าน  และอย่างเป็นองค์รวม

หมายเลขบันทึก: 176212เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2008 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 23:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เด็กปฐมวัยกับงานศิลปะ

สวัสดีค่ะ

นาน นาน ได้พบผู้ใช้ blog จากราชบุรี

อ่านแล้วได้รับความรู้มากเลยค่ะ น่าจะนำบางส่วนมาปรับใช้กับเด็กมัธยมได้นะคะ

ศิลปะกับเด็กเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมาก และเป็นการทำให้เด็กได้แสดงจินตนาการที่ดีทางด้านความคิดสร้างสรรค์การกล้าแสดงออกและการพัฒนาสมอง ในด้านต่างๆๆมากมายซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากหากเด็กได้มีการพัฒนาไปในทางที่ดีทางด้านศิลปะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท