KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๕๑๐. บันทึกสำหรับนักศึกษาปริญญาเอกด้าน KM : ความรู้จาก KM Research เชื่อถือได้แค่ไหน


 

          ผมพบ paper : Ekbia HR, Hara N. The quality of evidence in knowledge management research : practitioner versus scholarly literature. Journal of Information Science 2008; 34 :110 - 26. http://jis.sagepub.com/cgi/content/abstract/34/1/110 ซึ่งมีเฉพาะบทคัดย่อ   โดยความอนุเคราะห์ของสำนักหอสมุดมหิดล  และห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ผมก็ได้เอกสารฉบับเต็มมาอ่านสมใจอยาก  
          ผมได้รับคำแสดงความไม่เชื่ออยู่เนืองๆ  ว่าความรู้จาก KM จะเป็นความรู้ที่ถูกต้องแค่ไหน    เพราะยังไม่ผ่านการพิสูจน์ทางวิชาการ   แต่ผมก็แย้งว่า ผ่านการพิสูจน์จากการใช้งาน แล้วได้ผล    แต่ผมก็ยังสะกิดใจ ว่าใช้ได้ผล แต่นำเสนอออกสู่คนอื่น หรือสู่สาธารณะอย่างถูกต้องแค่ไหน   ผมหวังว่าจะได้ความเห็นจาก article นี้   ซึ่งผู้เขียนมาจากมหาวิทยาลัยอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา
          งานวิจัยด้าน KM มักเป็น case studies หรือการทดลองในสถานการณ์จริง    และนำเสนอออกมา ๒ แบบ คือ (๑) แบบ scholarly paper ในแนวนักวิชาการ ผู้เขียนเรียกว่า mundane KM  และ (๒) แบบ popular book ในแนวนักให้คำปรึกษา (consultant) ที่ผู้เขียนเรียกว่า managerial KM   จึงมีคำถามว่า การนำเสนอผลงานวิจัย KM ๒ แบบนี้ ให้ความน่าเชื่อถือในเชิงหลักฐานอ้างอิง (evidence-based) ต่างกันหรือไม่  
          อ่านมาถึงตรงนี้ ผมก็นึกถึง peer review   ถ้า popular book ที่เขียนโดย professional KM Expert ตีพิมพ์เผยแพร่โดยไม่ผ่าน peer review นี่ก็เป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งในด้านความน่าเชื่อถือ
          จุดอ่อนที่รู้กันทั่วของผลงานวิจัย KM แนววิชาการ คือมันไม่ค่อยเชื่อมโยงกับสภาพความเป็นจริง    ส่วนข้อตำหนิผลงานวิจัย KM แนวปฏิบัติ ก็คือมันอาจจะเต็มไปด้วยอคติ ไม่อยู่บนหลักฐานที่น่าเชื่อถือ

มุมมองต่อ “พยานหลักฐาน” (evidence) ๓ แบบ


๑. มองแบบ Positivist   ให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐาน ที่คุณลักษณะ ๓ อย่าง คือ (๑) quantity ถ้ามีพยานหลักฐานจำนวนมากที่สนับสนุนสมมติฐาน  พยานหลักฐานนั้นก็น่าเชื่อถือมาก,  (๒) precision พยานหลักฐานมีความแม่นยำสูง ก็น่าเชื่อถือมาก, (๓) diversity ถ้ามีหลักฐานว่าสมมติฐานนั้นใช้ได้ หรือเป็นจริงในหลากหลายสถานการณ์ ก็แสดงว่าพยานหลักฐานในหลายสถานการณ์ยืนยันซึ่งกันและกัน และมีความน่าเชื่อถือสูง   
๒. มองแบบ Contextualist   มองความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานที่แตกต่างไปตามสถานการณ์   ไม่มองแบบตายตัว
๓. มองแบบ Actor-network views   ยึดถือตาม ANT – Actor-Network Theory ว่าสมาชิกของ เครือข่ายเลือกใช้พยานหลักฐานที่แตกต่างกัน ในการทำให้สมาชิกของเครือข่ายเชื่อถือ   โดยมีการประยุกต์ใช้ ANT Concept ๓ แนวร่วมกัน คือ (๑) translation (๒) reversible blackboxing  (๓) performance   คำอธิบายเรื่องนี้ยืดยาว ผมสรุป (ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด) ว่าเป็นวิธีมองแบบพลวัต ไม่หยุดนิ่ง และมองแบบซับซ้อนเคลื่อนไหวและเปลี่ยนความสัมพันธ์  ซึ่งเป็นแบบที่ผมเชื่อและยึดถือนำมาใช้ทำงานในปัจจุบัน   (อ้าว! ผมเขียนแบบมีอคติ หรือฉันทาคติเสียแล้ว)    และผู้เขียนก็เลือกวิธีมองแบบนี้   และตั้งคำถามวิจัยโดยใช้มุมมองแบบนี้   ไม่ใช้มุมมองแบบที่ ๑ และ ๒  

 

          ข้อมูลที่ผู้เขียนนำมาศึกษา ได้มาจาก 26 paper ของ mundane KM  และ กว่า 60 case studies จากหนังสือ managerial KM ที่เลือกมา ๕ เล่ม   เขามีวิธีเลือกอย่างรัดกุม   แล้วเขาก็เปรียบเทียบผลงานวิจัย KM ๒ แบบนี้ ทั้งแบบ quantitative และ qualitative    โดยการเปรียบเทียบ evidence แบบ quantitative เขามีวิธีจัดกลุ่มของ evidence และไปหา evidence จากแหล่งต่างๆ   ข้อมูลคือ มี/ไม่มี   นำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบ KM ๒ แบบ โดยหา Pearson Chi square   พบว่าแตกต่างกัน
          วิธีวิเคราะห์แบบ qualitative ทำโดยเลือกกรณีตัวอย่างมาศึกษารายละเอียดเปรียบเทียบกัน   โดยใช้มุมมองแบบ ANT  
          ไม่มีคำตอบ ว่า KM แนวไหนดีกว่า หรือน่าเชื่อถือกว่า   แต่บอกได้ว่า KM ๒ แนวนี้มีวิธีมอง/วิธีคิดต่างกัน   ดังนั้น ในการประยุกต์ใช้ KM ต้องพิจารณาให้ชัดเจนก่อนว่าจะใช้ KM แนวไหน   ตรงนี้เราต้องไม่ลืมนะครับว่า ข้อมูลที่ใช้ศึกษาใน paper นี้ ส่วนที่เป็น managerial KM มาจากผลงานของยักษ์ใหญ่ หรือกูรู ด้าน KM ระดับโลกทั้งนั้น
          คำแนะนำที่สำคัญ (และผมชอบมาก) ต่อการประยุกต์ใช้ KM ในองค์กร ได้แก่การตั้งคำถามว่า


• ใครบ้างเป็น actors
• จะใช้ KM version ไหน
• จะต้องไป convince actors กลุ่มไหน ในช่วงไหน เพื่อให้ KM ประสบผลสำเร็จ
• มียุทธศาสตร์ขับเคลื่อน actors แต่ละกลุ่มอย่างไร
• Actors แต่ละกลุ่มอยู่ที่ stage ไหน ของกระบวนการ KM

 
          คุณค่าของ paper นี้อยู่ที่รายละเอียด ที่แสดงวิธีคิด วิธีตั้งโจทย์วิจัย วิธีทำให้ tacit knowledge ที่ซ่อนอยู่ใน paper และ case studies ที่เลือกมา กลายเป็น quantitative data ที่นำมาเปรียบเทียบกันทางสถิติได้   และวิธีวิเคราะห์เชิงคุณภาพโดยใช้ ANT   ผมมองว่า นศ. ปริญญาเอกด้าน KM ต้องไม่พลาด paper นี้    และต้องอ่านอย่างน้อย ๓ จบ  
          ANT เป็นทฤษฎีที่ นศ. ที่ทำวิทยานิพนธ์ด้าน KM ต้องอ่านทำความเข้าใจให้ชัด   และนักปฏิบัติ KM ยิ่งต้องอ่าน
          ท่านที่หา paper นี้ไม่ได้ ขอได้ที่สำนักหอสมุด ม. มหิดล (liuvp(at)mahidol.ac.th - คุณอุไรวรรณ วิพุทธิกุล)   และห้องสมุดสตางต์ มงคลสุข (scras(at)mahidol.ac.th – คุณรุจเรขา อัศวิษณุ) 

 

วิจารณ์ พานิช
๙ เม.ย. ๕๑

         
         
          
        

หมายเลขบันทึก: 176207เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2008 10:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
จันทวรรณ พุทธเจตน์

สวัสดีค่ะอาจารย์ วิจารย์

หนูได้มีโอกาสได้ทำวิจัยเกี่ยวกับ KM ค่ะ แต่ด้วยตัวเองยังมีความรู้ในเรื่อง KM ไม่ดีนัก และก็อยู่ต่างจังหวัด เข้าไปหางานวิจัย ตามห้องสมุดมหาลัยก็ยาก พยายามหา Full paper จาก internet ก็ยังหาไม่ได้ อยากรบกวนอาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยค่ะ

จันทวรรณ

ใช้บริการห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ก็ได้ค่ะ

เว็บไซต์อยู่ที่ http://stang.sc.mahidol.ac.th

และขอแนะนำบรรณารักษ์ช่วยค้นคว้าที่ถามได้ทุกเรื่อง รบกวนได้โดยไม่ต้องเกรงใจ (เจ้าตัวชอบอยู่แล้ว) คือคุณไก่ (อภิชัย) มี e-mail ติดต่อบรรณารักษ์ อยู่ที่ [email protected] เป็น e-mail กลางของห้องสมุด ซึ่งจะมีคนช่วยกันเปิด mail หลายคน .. ยินดีช่วยเหลือค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท