กิจกรรมการเรียนรู้


วิธีสอน

           เรื่องการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน   เป็นเรื่องที่ครูควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  เนื่องจากในยุคปัจจุบันการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กจะมีช่องว่างค่อนข้างมาก  ครูคิดไปอย่างหนึ่ง  ส่วนนักเรียนกลับมองไปอีกอย่างจูนเข้าหากันค่อนข้างยาก  ครูจึงควรนำวิธีการสอนหลายๆรูปแบบมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์  ลองพิจารณาการจัดการเรียนรู้ที่เขียนโดย   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดวงกมล  สินเพ็ง*

จะพบว่ามีหลายอย่างที่ให้ประโยชน์กับท่านเป็นอย่างยิ่ง

 

                กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดี ควรเป็นกิจกรรมที่มุ่งประโยชน์สูงสุดแก่นักเรียนให้ได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ หรือสร้างความรู้ด้วยตนเอง ได้เรียนรู้กระบวนการต่าง ๆ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้ การแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล    การแสวงหาความรู้จากสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ การทำงานเป็นกลุ่ม กิจกรรมดังกล่าวมีหลากหลายวิธีที่ส่งเสริมพัฒนาและให้ความสำคัญกับนักเรียน ซึ่งครูควรปรับใช้ให้เหมาะสมกับนักเรียน เนื้อหาสาระ และผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง อย่างไรก็ตามการจัดการเรียนรู้จะเกิดผลสำเร็จได้ ครูต้องมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระและกระบวนการจัดกิจกรรมอย่างชัดเจน

                การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ การสืบเสาะแสวงหาความรู้เป็นกลุ่ม (Group Investigation)  จัดเป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่งที่มีกิจกรรมเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาความสามารถของนักเรียนในการแสวงหาความรู้ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสรุปเป็นคำตอบ ฝึกความรับผิดชอบในการทำงานเป็นกลุ่ม ฝึกการแก้ไขปัญหาและเรียนรู้ร่วมกัน ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่ง       กิจกรรมดังกล่าวเป็นการส่งเสริมนักเรียนได้เรียนรู้วิถีชีวิตในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างถูกต้อง

                John Dewey   ได้ให้ข้อคิดไว้ในหนังสือ Democracy and Education ว่าโรงเรียนควรสร้างบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบสังคม สร้างสมประสบการณ์ และเรียนรู้ที่จะประยุกต์ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่จะพัฒนาสังคมมนุษย์ เช่นเดียวกันกับที่ John U.Michaelis ได้ให้ข้อคิดไว้ในหนังสือ Social Studies for Children ว่าการสอนของครูคือการสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตย

                Herbert Thelen  ผู้สร้างรูปแบบการเรียนรู้ การสืบเสาะแสวงหาความรู้เป็นกลุ่ม” (Group Investigation) จากแนวคิดที่คล้ายคลึงกันกับ John Dewey และ John U.Michaelis การจัดการเรียนรู้แบบนี้จะเชื่อมโยงกระบวนการทางประชาธิปไตยกับกระบวนการค้นคว้าหาความรู้เข้าด้วยกัน  Thelen สนใจวิธีการสอนที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์หรือสถานการณ์ที่นักเรียนนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ นอกจากนี้ครูควรมุ่งพัฒนาทักษะการเรียนรู้แบบประชาธิปไตย สมาชิกในกลุ่มมีปฏิสัมพันธ์ มีการพัฒนาทักษะทางสังคม ทักษะการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ เรียนรู้วิชาการร่วมกัน แก้ไขปัญหาร่วมกัน ห้องเรียนเปรียบเหมือนสังคม ครูสอนแต่ความรู้อย่างเดียวไม่ได้ต้องพัฒนากระบวนการทางสังคมด้วย กิจกรรมกลุ่มจะช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมให้กับนักเรียน งานครูที่สำคัญคือการกระตุ้นให้นักเรียนต้องศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง กระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหา ร่วมทั้งกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความขัดแย้งทางความคิด

---------------------

*อาจารย์โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

โดยใช้สถานการณ์หรือปัญหา หรือการสร้างความงุนงงสงสัย ให้เกิดขึ้นกับนักเรียน ความขัดแย้งทางความคิดจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่หลากหลาย

 

การจัดการเรียนรู้แบบ การสืบเสาะแสวงหาความรู้เป็นกลุ่ม

                Thelen  ให้แนวคิดว่าควรเริ่มต้นด้วยการให้นักเรียนได้เผชิญสถานการณ์ที่เป็นปัญหาจากการนำเสนอของครู หรือจัดเป็นสถานการณ์จริงก็ได้ จากนั้นครูต้องดึงความรู้ แนวคิด ปฏิกิริยา ของนักเรียนออกมาให้หลากหลาย ครูจะโน้มน้าวให้นักเรียนคิดเหมือนกันไม่ได้ เมื่อนักเรียนคิดต่างกัน แนวทางการแก้ปัญหา การค้นคว้าแสวงหาความรู้ ข้อความรู้ที่จะค้นพบก็หลากหลาย ทำให้นักเรียนมีความรู้และประสบการณ์มากขึ้น กิจกรรมกลุ่มจะช่วยให้นักเรียนเสาะแสวงหาความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังได้ฝึกฝนทักษะทางสังคมได้เข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล และได้เรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน

 

ขั้นตอนสำคัญในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ การสืบเสาะแสวงหาความรู้เป็นกลุ่ม

1.       ขั้นเสนอปัญหา

1.1    เป็นการจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เผชิญปัญหา หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะทำให้นักเรียนเกิดความงุนงงสงสัย

1.2    คำถาม หรือประเด็นปัญหา หรือสถานการณ์ที่นำมาเสนอ เพื่อให้นักเรียนเกิดความงุนงงสงสัย ควรมีลักษณะดังนี้

1.2.1       เป็นประเด็นปัญหาทั่ว ๆ ไปที่ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งทางศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม ซึ่งจะมีผลกระทบทางด้านจิตใจ เพื่อให้นักเรียนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น

1.2.2           คำถามหรือประเด็นปัญหานั้นเหมาะสมกับวัย ความรู้ ความสามารถของนักเรียนที่จะแสวงหาความรู้ได้

 

2.       ขั้นพิจารณาปัญหา

2.1   เป็นกิจกรรมที่ครูจะกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความขัดแย้งในความคิดเห็นของสมาชิกในกลุ่มให้มากที่สุด เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาด้วยวิธีที่หลากหลาย

2.2   ครูควรให้โอกาสนักเรียนในการแสดงความคิดเห็นให้มากที่สุดโดยไม่แสดงอาการหรือคำพูดที่ขัดขวางความคิดเห็นของนักเรียนหรือทำให้นักเรียนกลัวไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น

3.       ขั้นคิดวิธีแสวงหาความรู้

3.1    เป็นกิจกรรมที่ครูจะกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความอยากรู้ อยากเห็น อยากแสวงหาคำตอบ     แสวงหาความรู้

3.2   ครูให้นักเรียนร่วมกันวางแผน คิดวิธีการที่จะค้นคว้าหาความรู้ หรือคำตอบที่ต้องการ เพื่อมาสนับสนุนความคิดเห็นของตน

3.3    ควรเป็นกิจกรรมกลุ่ม มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ในแต่ละกลุ่ม เพื่อแสวงหาความรู้

 

4.       ขั้นค้นคว้าแสวงหาความรู้

4.1    นักเรียนดำเนินการแสวงหาความรู้ ตามบทบาทหน้าที่ที่นักเรียนได้รับจากกลุ่ม

4.2    ครูให้คำแนะนำนักเรียนเรื่องสื่อการเรียนรู้ แหล่งค้นคว้าหาความรู้ และช่วยหาข้อมูลความรู้ให้    นักเรียนด้วย

4.3   ครูดูแลการทำงานของนักเรียน แนะนำให้นักเรียนร่วมมือกันอย่างจริงจังในการทำงานเพื่อ    ค้นคว้าแสวงหาความรู้ และติดตามการทำงานของนักเรียน

 

5.       ขั้นเสนอผลการแสวงหาความรู้

5.1    ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เสนอข้อมูลความรู้ที่ได้ไปแสวงหามาได้โดยการอภิปราย วิเคราะห์ข้อมูลความรู้ และสรุปผล

5.2    ให้แต่ละกลุ่ม อภิปราย วิเคราะห์การทำงานของกลุ่ม ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน

 

6.       ขั้นสรุปผล

6.1   ครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่มแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการศึกษาแสวงหาความรู้ ทั้งกระบวนการแสวงหาความรู้ และผลของคำตอบ

6.2    ครูส่งเสริมสนับสนุนหากนักเรียนยังต้องการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมต่อไป

6.3    ครูแนะนำแหล่งค้นคว้าหาความรู้ เพื่อประโยชน์ต่อนักเรียนในการแสวงหาความรู้ต่อไป

 

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ การสืบเสาะแสวงหาความรู้เป็นกลุ่มเป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาทักษะหลาย ๆ ด้านให้กับนักเรียน ทักษะที่สำคัญได้แก่

1.     การพัฒนากระบวนการคิด ซึ่งเป็นกระบวนการที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของนักเรียนอย่างยิ่ง การพัฒนากระบวนการคิด มีขั้นตอนที่สำคัญดังนี้

1.1    การสังเกต   การใช้คำถามกระตุ้นให้เกิดการสังเกตการณ์ต่าง ๆ

1.2    การสงสัย  การสร้างสถานการณ์ การใช้สื่อที่ทำให้นักเรียนเกิดความงุนงงสงสัย การตั้งคำถาม หรือปัญหาต่าง ๆ

1.3   การอยากรู้คำตอบ  เมื่อนักเรียนเกิดความสงสัย ย่อมทำให้อยากรู้คำตอบ ครูต้องเสริมแรงให้ นักเรียนคิดหาคำตอบ ไม่ใช่หยุดแค่เพียงสงสัย

1.4   การเสาะแสวงหาคำตอบ  เมื่ออยากรู้คำตอบก็ต้องแสวงหา ครูอาจช่วยอำนวยความสะดวกให้ นักเรียนในการแสวงหาคำตอบ แสวงหาความรู้ ซึ่งต้องพัฒนานักเรียนหลายด้าน เช่น การตั้งสมมติฐาน การคาดคะเนคำตอบ การรวบรวมข้อมูล การพัฒนาข้อมูล จนถึงการสรุปข้อมูล   ขั้นตอนนี้สามารถฝึกการคิดอย่างมีเหตุผล คิดวิเคราะห์ คิดเชื่อมโยงความรู้ และประสบการณ์ต่าง ๆที่นักเรียนมีอยู่เดิมเพิ่มความรู้ใหม่

1.5   การสรุป  ความรู้ที่ได้จากการเสาะแสวงหาสามารถตอบข้อสงสัยของนักเรียนได้อย่างมีเหตุผล ซึ่งผ่านกระบวนการคิดมาหลายขั้นตอน

      

       ดังนั้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ครูได้ฝึกฝนพัฒนากระบวนการคิดให้กับนักเรียนบ่อย ๆ ก็จะช่วยให้นักเรียนเกิดทักษะ ความชำนาญ มีความคล่องตัวในการคิด เมื่อเกิดปัญหาใด ๆ ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรอบคอบมีเหตุมีผลมากขึ้น การกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสงสัย และอยากหาคำตอบ จึงเป็นการเริ่มต้นการพัฒนากระบวนการคิดให้กับนักเรียน

2.     การพัฒนาทักษะการแสวงหาความรู้  นอกจากทักษะการแสวงหาความรู้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากระบวนการคิดแล้ว ยังเป็นการพัฒนาทักษะการค้นคว้าหาแหล่งเรียนรู้ การสืบค้นข้อมูล การเปรียบเทียบ การจัดหมวดหมู่ของข้อมูล การหาความสัมพันธ์ความเชื่อมโยงของข้อมูล         การเลือกใช้สื่อความรู้ การอ่าน การฟัง การเขียน การสอบถาม การสัมภาษณ์  การอภิปราย         การแสดงความคิดเห็น การทดสอบคำตอบ การสรุป

3.     การพัฒนาทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม  นักเรียนได้พัฒนาทักษะทางสังคม ได้ฝึกความรับผิดชอบ ฝึกความเป็นผู้นำและผู้ตาม   ที่ดี ฝึกการวางแผนงาน การแบ่งหน้าที่ แบ่งงาน การติดตามผลงาน การแก้ไขปัญหาร่วมกัน       การอภิปรายแสดงความคิดเห็น นักเรียนได้มีโอกาสแสดงความสามารถของแต่ละบุคคล ยอมรับความแตกต่างของสมาชิกภายในกลุ่ม ส่งเสริมความรักความสามัคคีในหมู่สมาชิก ซึ่งทักษะเหล่านี้ถือเป็นพื้นฐานของวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ มารยาททางสังคมการเคารพกฎระเบียบต่าง ๆ ของหน่วยงาน เมื่อจะติดต่อขอข้อมูล หรือสัมภาษณ์

 

 

บรรณานุกรม

ทิศนา  แขมมณี. (2545). ศาสตร์การสอบ : องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ.

                กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทิศนา  แขมมณี. (2545).  14 วิธีสอนสำหรับครูมืออาชีพ.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (2543).  การสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา

                กรมการศาสนา

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (2543). การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสำคัญที่สุด.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์

การศาสนา  กรมการศาสนา

ดร.นวลจิตต์  เชาวกีรติพงศ์. (2538)  รูปแบบการสอนการสืบเสาะแสวงหาความรู้เป็นกลุ่ม.  เอกสาร

Joyce, B. & Weil, M.  (1996).  Models of Teaching.  London : Allyn and Bacon

คำสำคัญ (Tags): #วิธีสอน
หมายเลขบันทึก: 175635เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2008 00:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์

           ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยครับ

           ผมอ่านดูแล้ว ตามหลักการแล้วถือว่าดีมาก

           แต่การนำไปใช้ ผมว่าคงจะพบกับข้อจำกัดมากมาย

         เพราะจากประสบการณ์จริงของผมเอง  ผมเป็นผู้บริหารและสอนด้วย  เป็นโรงเรียนในชนบท

           เด็กส่วนใหญ่จะไม่กล้าพูด  ไม่กล้าคิด  ไม่กล้าแสดงออก

            คงเป็นผลมาจากการอบรมเลี้ยงดูจากที่บ้าน  และที่โรงเรียนเอง ก็มีหลักสูตรแฝงของอำนาจนิยมอยู่

           แต่ถึงอย่างไร  บทความของท่านอาจารย์ก็เป็นประโยชน์มากครับ   การนำไปใช้คงต้องปรับ และ ค่อยเป็นค่อยไป

                                      ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะท่านsmall man

ขอบพระคุณมากนะคะที่เข้ามาแนะนำ มือใหม่สมัครเล่นค่ะ แล้วจะพยายามปรับปรุงให้ดีมากยิ่งขึ้นค่ะ

  • เก่งค่ะ เก่งแล้วค่ะ พี่ปรีดาขา
  • วันหลังค่อยปรับเนื้อหา และขนาดตัวอักษรก็จะเยี่ยมสุด ๆ เลยค่ะ
  • อิอิ เป็นกำลังใจให้นะคะ

สวัสดีค่ะน้องครูปู

ขอบคุณค่ะที่มาให้กำลังใจ

สวัสดีค่ะพี่ปรีดา

ขอบคุณมากนะค่ะสำหรับคำชม รจจะพยายามทำให้ดีที่สุดค่ะ

สวัสดีจ้ะน้องลก กะดาตื้อ

พี่ให้กำลังใจนะจ้ะ ลกสู้ๆ ระวังจะตกกะดาตื้อนะจ้ะ

ขอบคุณมากนะคะที่เข้ามาเยี่ยมเยียน แล้วอย่าลืมแวะเวียนมาหากันบ่อยๆเน้อ

ภาคเรียนใหม่นี้ไม่ต้องกลัวพี่จะไม่ขี้เกียจแล้วจ้ะ

ดีใจที่ได้เข้ามาคุย

สวัสดีค่ะคุณสมใจ

  • ขอบคุณมากนะคะที่มาเยี่ยมเยียนด้วยมิตรไมตรี

 

  • มาเยี่ยมครับพี่
  • นอนดึกจัง
  • คิดถึงๆๆๆๆๆๆๆๆ
  • ขอบคุณค่ะน้องโย่งที่มาเยือน
  • คิดถึงเช่นกันค่ะ..
  • นอนดึกเป็นบางวันค่ะ                                                   ส่วนใหญ่นอนเร็วแต่ตื่นเช้าตามวัย....จ้ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท