มูลนิธิหนังไทยกับมุมมองที่มีต่อระบบเรตติ้ง


เรื่องของทัศนคติของคณะกรรมการผู้ที่จะมาพิจารณาในเรื่องเรตติ้ง พี่ลิเห็นว่า ผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการฯต้องเปลี่ยนท่าทีจากการเซ็นเซอร์ในแบบเดิมมาเป็นการพิจารณากลั่นกรอง เพื่อให้ภาพยนตร์เหมาะสมกับผู้ชมแต่ละกลุ่มแต่ละวัย ที่ควรระวังเป็นอย่างยิ่งก็คือ เรื่องของการตัดฉากในภาพยนตร์บางฉากออกโดยใช้กรอบความคิดแบบเดิมๆ

 มูลนิธิหนังไทยกับมุมมองที่มีต่อระบบเรตติ้ง

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 ทีมงานวิจัยโครงการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ อินเตอร์เนต เกมคอมพิวเตอร์ และภาพยนตร์ (หรือที่มักเรียกกันว่า ระบบเรตติ้ง)ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมงานและเป็นหนึ่งในทีมงานวิจัยชุดนี้ จึงมีโอกาสได้เข้าพบเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องระบบเรตติ้งกับคุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต ในฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิหนังไทย ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งในวันนี้ยังคงอยู่ในช่วงของการจัดกิจกรรมเทศกาลภาพยนตร์เด็ก อันเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มูลนิธิหนังไทยได้ให้การสนับสนุนเป็นปีที่ 2 แต่อีกกิจกรรมหนึ่งที่มูลนิธิหนังไทยจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานับสิบปี นั่นก็คือ กิจกรรมการจัดประกวดภาพยนตร์สั้น ซึ่งไม่เพียงแต่มีการประกวดกันเท่านั้น ยังเปิดพื้นที่ให้ภาพยนตร์สั้นได้มีโอกาสโชว์ตัวต่อสาธารณชนอีกด้วย เรียกได้ว่า ถ้าพูดถึงภาพยนตร์สั้นแล้วละก็ ห้ามขาดผู้ปลุกปั้นวงการภาพยนตร์สั้นในนามมูลนิธิหนังไทยนี่เด็ดขาด (ไม่งั้นเขาหาว่าไม่รู้จริง)

การพูดคุยกันในครั้งนี้ ประกอบด้วย อ.อิทธิพล ปรีติประสงค์ น้องแมว เพื่อนอี๋ และผู้เขียน พวกเราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างสนุกสนานในเรื่องของการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อฯในหลายๆ ด้าน ด้านหนึ่งที่คุณชลิดาหรือพี่ลิของพวกเราได้ตั้งประเด็นไว้ให้คิดต่อก็คือ เรื่องของการใช้เรตติ้งผสมกับเซ็นเซอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่พี่ลิเห็นว่าแปลก เนื่องจากหากใช้วิธีการเซ็นเซอร์ร่วมด้วยพร้อมกับการใช้ระบบเรตติ้ง นั่นก็เท่ากับเป็นการฆ่าระบบเรตติ้งในทางอ้อม เพราะเรตติ้งจะไม่ได้แสดงผลงานอย่างเป็นรูปธรรม (เพราะไม่รู้จะจัดไปทำไม ถ้ายังมีการตัดหนังอยู่อีก)

อีกประเด็นหนึ่ง คือเรื่องของทัศนคติของคณะกรรมการผู้ที่จะมาพิจารณาในเรื่องเรตติ้ง พี่ลิเห็นว่า ผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการฯต้องเปลี่ยนท่าทีจากการเซ็นเซอร์ในแบบเดิมมาเป็นการพิจารณากลั่นกรอง เพื่อให้ภาพยนตร์เหมาะสมกับผู้ชมแต่ละกลุ่มแต่ละวัย ที่ควรระวังเป็นอย่างยิ่งก็คือ เรื่องของการตัดฉากในภาพยนตร์บางฉากออกโดยใช้กรอบความคิดแบบเดิมๆ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการคำนึงถึงสิ่งที่สังคมแต่ละสังคมยอมรับไม่ได้ หรือที่พี่ลิเรียกว่า ให้คำนึงถึง Represent Sub-Culture เช่น กลุ่มเกย์ รับในเรื่องใดไม่ได้บ้าง อาทิ ตัวละครที่ทำให้กลุ่มคนที่เป็นเกย์กลายเป็นตัวตลก เป็นคนโง่ และถูกเหยียดหยาม ดูหมิ่น เป็นต้น หรือกลุ่มผู้ปกครอง เขารับในเรื่องใดไม่ได้บ้าง หรือยอมรับได้ในบางเรื่อง รับได้แค่ไหน เพียงไร อาทิ เรื่องอีโรติก รับได้แค่ไหนให้เหมาะกับสังคมไทย เป็นต้น

สิ่งที่สำคัญของการนำระบบเรตติ้งมาใช้ในประเทศไทยที่พี่ลิฝากไว้ให้คิดในการพูดคุยกันในครั้งนี้ก็คือ การไม่คำนึงถึงสัญชาติของภาพยนตร์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดดับเบิ้ลแสตนดาร์ดเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งใช้ระบบเซ็นเซอร์นั่นเอง

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 175631เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2008 23:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 02:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เอาใจช่วยครับเพื่อน ยังไงตามอ่านอยู่นะ ยังไงตามให้กำลังด้วยใกล้จะสอบแล้ว

ตามมาอ่านค่ะแนท

การตัดฉากบางฉากในภาพยนตร์โดยไม่ได้พิจารณาความสำคัญและภาพรวมทั้งหมด

บางครั้งก็กลายเป็นการตัดทอนและลดความงามของศิลปะในสื่อภาพยนตร์อยู่เช่นกันนะคะ

แต่ทำอย่างไรจะให้กรอบความคิดของคนที่มีอำนาจหน้าที่ทำงานด้านนี้เข้าใจสื่อภาพยนตร์มากขึ้นก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

เรียกว่าปกป้องอย่างไรที่จะไม่ทำลายด้วยน่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท