เรียนรู้ระบบเรตติ้งของ MPAA ผ่านคุณเทียนชัย ปิ่นวิเศษ


หลักการพิจารณาจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์ของ MPAA จะพยายามไม่นำเรื่องทางการค้าหรือยอดของผู้ชมเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่จะให้ความสำคัญกับการคำนึงถึงสื่อที่สามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนได้มาร่วมพิจารณามากกว่า

 เรียนรู้ระบบเรตติ้งของ MPAA ผ่านคุณเทียนชัย ปิ่นวิเศษ 

14 มกราคม 2551 ทีมงานอ.อิทธิพล ได้เข้าพบคุณเทียนชัย ปิ่นวิเศษ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย บริษัท โมชั่น พิคเจอร์ส แอสโซซิเอชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หรือที่รู้จักกันในนาม MPA หรือ MPAA (Motion Picture Association of America) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลในการกระตุ้นให้รัฐบาลของแต่ละภูมิภาคให้ความสนใจในเรื่องของการส่งเสริมภาพยนตร์ และปกป้องผลงานภาพยนตร์อันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่สำคัญลำดับต้นๆ ของอเมริกา

หากจะกล่าวถึงผลงานด้านภาพยนตร์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิต ปัจจุบันมีภาพยนตร์จากอเมริกาส่งออกไปขายยังต่างประเทศเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 150 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีทั้งการฉายในโรงภาพยนตร์และการฉายผ่านโทรทัศน์ จึงสามารถกล่าวได้ว่าตลาดภาพยนตร์ของสหรัฐฯนั้นครองส่วนแบ่งตลาดภาพยนตร์ระดับนานาชาติไว้มากที่สุด จากตลาดภาพยนตร์ระดับนานาชาติที่มีมากกว่า 125 แห่งทั่วโลก

ในเรื่องของการจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์หรือเรตติ้งนั้น ในประเทศสหรัฐอเมริกามีองค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลในเรื่องการจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์ที่สำคัญ อยู่ 2 สมาคม คือ Motion Picture Association of America (MPAA) และ National Association of Theatre Owners (NATO) ซึ่งสมาคม MPAA นั้นจะรับหน้าที่ในการดูแลและจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์ผ่านการทำงานขององค์กร CARA หรือ Classification and Rating Administration ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และเป็นองค์กรอิสระที่ได้เงินมาจากค่าธรรมเนียมของผู้ผลิตที่ส่งภาพเคลื่อนไหวต่างๆ มาให้ตรวจพิจารณาเพื่อจัดระดับความเหมาะสมต่อไป (รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้เขียนขอยกยอดไปอธิบายในโอกาสต่อไป)

ในครั้งนี้ทีมงาน ME ได้เกร็ดความรู้มากมายในเรื่องของการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยแบ่งกล่าวได้ดังนี้

  • หลักการพิจารณาจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์ของ MPAA จะพยายามไม่นำเรื่องทางการค้าหรือยอดของผู้ชมเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่จะให้ความสำคัญกับการคำนึงถึงสื่อที่สามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนได้มาร่วมพิจารณามากกว่า ว่าจะมีผลกระทบที่ออกมาเป็นยังไง คือจะไม่มาถกกันในเรื่องของจำนวนคนดูที่อาจจะน้อย หากไม่ใส่ฉากบางฉากลงไป แต่จะมาถกเถียงกันในเรื่องสิ่งที่สื่อออกไปมาเป็นปัจจัยในการพิจารณาการจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์มากกว่า

 

  • ­การจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์ของ MPAA จะห้ามนำการจัดเรตติ้งของต่างประเทศมาอ้างอิง เนื่องด้วยเหตุผลทางสังคมที่มีความแตกต่างกัน จึงไม่อาจนำมาใช้ด้วยกันได้อย่างจริงจัง เช่น ในประเทศสหรัฐฯจะห่วงในเรื่องความรุนแรง ในขณะที่สังคมไทยจะห่วงในเรื่องของการแสดงออกในเรื่องทางเพศ (Sex) มากกว่า

 

  • ­ภาพยนตร์ที่นำเสนอด้วยภาพการ์ตูนต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะผู้ใหญ่ในสังคมไทยมักมองว่าเป็นการ์ตูน เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี ทำให้ผู้ใหญ่มองข้ามจุดบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจนึกไม่ถึง อาทิ เรื่องของคำพูดหรือภาษาที่ใช้ในเรื่อง เช่น กรณีที่เด็กเข้าไปดูภาพยนตร์เรื่องก้านกล้วย แล้วมีฉากนึงที่ก้านกล้วยถูกเพื่อนล้อว่า "ไอ้ลูกไม่มีพ่อ" เมื่อเด็กจำประโยคนี้จากในภาพยนตร์กลับไปพูดซ้ำ ทำให้นำคำพูดที่ไม่ดีนี้ไปล้อเพื่อนที่กำพร้าพ่อที่โรงเรียน ซึ่งกรณีแบบนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว

นอกจากนี้คุณเทียนชัยยังได้แสดงความคิดเห็นถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไว้ด้วยว่า เรื่องของภาพยนตร์นี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันในเชิงการค้า (Trade Issue) มากกว่าในเชิงมิติทางวัฒนธรรม ดังนั้นหากประเทศไทยจะมีการส่งเสริมในอุตสาหกรรมดังกล่าว ก็ควรที่จะดึงกระทรวงพาณิชย์เข้ามาดูแลงานทางด้านนี้ด้วย เนื่องจากในขณะนี้บุคลากรของไทยที่มากด้วยความสามารถมักจะไปทำงานให้กับต่างชาติ เพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยไม่สามารถจ้างผู้มีความสามารถเหล่านี้ได้ เพราะต้องว่าจ้างในราคาที่สูง ปัญหาที่เกิดตามมาก็คือ อาการสมองไหล หรือการสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีค่าไปสู่ตลาดต่างประเทศอย่างน่าเสียดาย

 

หมายเลขบันทึก: 175628เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2008 23:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 18:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท