กระจกแตก กับ social autocatalysis


มีบทความทางสังคมวิทยาที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง เขียนโดย James Q. Wilson and George L. Kelling เมื่อ 19 ปีก่อน ใน Atlantic Monthly พูดถึง การป้องกันสังคมเน่าผุพัง ด้วยการซ่อมกระจกแตก

ข้อเขียนนี้ เล่าว่า เมื่อกระจกอาคารแตก ปล่อยไว้ไม่ซ่อม วันดีคืนดี ก็จะมีคนมืออยู่ไม่สุข ทำให้แตกมากขึ้น จนอาคาร ดูน่ากลัว ไม่มีใครอยากอยู่ และกลายเป็นอาคารร้าง กลายเป็นที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้างท้องถนน

หรือกรณีของขยะ หากเริ่มมีค้างอยู่บนท้องถนน ก็จะเหนี่ยวนำให้คนทิ้งตาม เมื่อมากถึงระดับหนึ่ง คนก็จะทิ้งขยะบนถนนโดยไม่รู้สึกอะไรอีกต่อไป

กระบวนการบานปลายเหล่านี้ เป็นวงจรแบบป้อนกลับเชิงบวก (positive feedback) เพียงแต่เป็นวงจรที่มีความหมายด้านลบในทางการเสื่อมสลาย ซึ่งในทางเคมี นิยมใช้คำ autocatalysis

ลองมาดู autocatalysis กันสักหน่อย นิยามโดยสมการเชิงอนุพันธ์ง่ายมาก กล่าวคือ เมื่อ A --> B แบบเกิด positive feedback

          -dA/dt = kAB

           dB/dt = kAB

อัตราเร็วการเสื่อมสลาย จะขึ้นกับว่า ณ เวลานั้น มีสารตั้งต้น (A) มากแค่ไหน และมีสิ่งที่เสื่อมสลายไปแล้ว (B) มากแค่ไหน

หากกำจัดให้ให้สิ่งที่เสื่อมสลายไปแล้ว ให้หายไปได้ทันที (ทำให้ B กลายเป็นศูนย์) กระบวนการนี้ จะหยุดชะงักทันที

แต่หากไม่ดูแล ปล่อยให้ B สะสมมากพอ เมื่อถึงจุดหนึ่ง จะเกิดการเปลี่ยนสถานะปุบปับ กลายเป็น B ไปหมด โดยไม่มี A เหลือ

การซ่อมกระจก การกวาดขยะตามที่สาธารณะ ไม่ปล่อยไว้ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเพิกเฉยละทิ้ง จึงเป็นการส่งสัญญาณว่า "ผู้ดูแลเอาจริง" และทำให้ตัวป่วน รู้สึกไม่สนุกที่จะมาข้องแวะ

ประเด็นทางสังคมวิทยาเหล่านี้ เป็นจริงในเว็บด้วยครับ ที่เราเรียก spam นั่นไง

รักเว็บไหน ไม่จำเป็นต้องทาสีขาวให้เว็บ

รักเว็บไหน ต้องแจ้งลบสแปมครับ

 

 

คำสำคัญ (Tags): #autocatalysis#spam#สแปม
หมายเลขบันทึก: 175441เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2008 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 11:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ อ.วิบุล

เบิร์ดจดๆจ้องๆอยู่นานด้วยคำว่าตัวป่วนนี่แหละค่ะ อิ อิ อิ

ในหนังสือที่อาจารย์ยกมาทำให้เบิร์ดนึกได้ว่าเค้าพูดถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ปัญหาเล็กๆน้อยๆก่อนที่จะลุกลามเนาะคะ ..นอกจากนี้การ "ซ่อมกระจก" ยังต้องอาศัย "ศิลปะ" ของภาวะผู้นำและการจัดการสูงมากเลยค่ะอาจารย์ ( เบิร์ดลากไปที่คน เพราะเบิร์ดไม่ถนัดคอมพ์ฯค่ะ แหะ แหะ )

วิธีการ "ซ่อมกระจก" โดยทั่วไปก็คงจะเกี่ยวกับนโยบาย รางวัล แรงจูงใจในแบบต่างๆ หรือการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ หรือการปรับปรุง ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยทางความคิดนะคะ แต่ผู้ที่ต้องซ่อมนั้นจะมองเห็นกระจกที่แตกหรือเปล่าน้อ..^ ^

เข้ามาเป็นตัวป่วนค่ะอาจารย์ ^ ^

  • โถโถโถโถโถ...น้องP  เบิร์ด ละก็... ไม่ได้กินปูน ทำไมร้อนท้องซะล่ะ ?
  • การซ่อมกระจกแตก เป็นสัญลักษณ์ของ การป้องกัน
  • การป้องกัน ต้นทุนต่ำ กว่า การรักษา
  • อย่างเช่น ป้องกันโรค ทำง่ายกว่า รักษาโรค
  • สิ่งที่เสื่อมไปแล้ว รักษาได้ ก็ยากจะเหมือนเดิม
  • แต่ละเรื่อง ก็มีวิธีป้องกัน ที่เฉพาะตัว เป็นเรื่อง ๆ ไป
  • ผมเขียนเรื่องนี้ เพราะบังเอิญเจอสแปม จึงแจ้งลบ แล้วคิดว่า เป็นประเด็นทางสังคมวิทยา เพราะ สแปม เหนี่ยวนำให้มี สแปม เหมือนการเปลี่ยนแปลงในสังคม
  • การบานปลายของปัญหาในชุมชน หลักใหญ่ คงไม่ต่างกัน แต่การปฎิบัติ เป็นเรื่องรายละเอียด
  • ก่อนปัญหาเกิด แก้ไม่ลำบาก ถ้ามองออก
  • ปัญหาเกิดแล้ว นุงนัง แก้ยาก
  • สังคมตอนนี้ ปัญหาลามมามาก
  • ตัวชี้วัดอย่างเช่น ข้าวสารหายเป็นพัน ๆ ตัน, หมุดเสาไฟฟ้าแรงสูง, ฝาท่อน้ำ, ฯลฯ สะท้อนว่า กระจกทั้งอาคารที่เราเรียกว่า สังคม แตกไปครึ่งค่อน
  • เหมาะที่จะ ฝัง มากกว่า เยียวยา
  • จะโทษระบบการศึกษา ก็ดูสำเร็จรูปไปหน่อย แม้จะตรงใจหลายคน
  • แต่ผมยังมีความหวังเล็ก ๆ ว่า distributed social network อาจเป็นพลังใหม่ของสังคม ที่สามารถทวนกระบวนการให้ผันกลับ
  • หวังว่า...จะทัน...
  • อือม์...ผมออกไปไกลถึงไหนละนี่ ?

ผมว่า autocatalysis ครอบคลุมหลายๆเรื่องน่ะผมว่า แม้กระทั่งในทางจิตวิทยา ความเชื่อมั่นในจิตใจ

เช่น กรณี นักฟุตบอล ถ้าศูนย์หน้าเริ่มจะยิงประตูไม่ได้ จะทำให้สูญเสียความมั่นใจในการยิงประตู และจะยิงประตูไม่ได้ไปเรื่อยๆ เพราะขาดความมั่นใจ จนทำให้ฟอร์มตก

P aonjung

  • ชีวิตจริง น่าจะมีตัวอย่างแบบนี้เยอะครับ
  • ขอบคุณที่ยกตัวอย่าง เห็นภาพชัดดีครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท