ลดอ้วนตอนเด็ก ดีกับหัวใจมากกว่าลดอ้วนตอนโต(เป็นผู้ใหญ่)


เด็กรุ่นใหม่บางคนอ้วนมากๆ ระดับอภิมหายักษ์ ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาความอ้วนด้วยวิธีพิเศษ คือ การผ่าตัด "ทางเบี่ยงกระเพาะอาหาร (gastric bypass)"

...

เด็กรุ่นใหม่บางคนอ้วนมากๆ ระดับอภิมหายักษ์ ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาความอ้วนด้วยวิธีพิเศษ คือ การผ่าตัด "ทางเบี่ยงกระเพาะอาหาร (gastric bypass)"

วันนี้มีผลการศึกษาที่พบว่า เด็กๆ เหล่านี้ไม่เพียงแต่ผอมลงอย่างเดียวเท่านั้น ทว่า... เมื่อผอมลงแล้ว หัวใจยังทำงานดีขึ้นด้วย

...

เวลาเราพูดถึง "ทางเบี่ยง"... เรามักจะนึกถึงทางเบี่ยงที่ยอมให้รถแล่นอ้อมไปด้านข้างได้เวลาซ่อมทาง หรือสะพาน ทางเบี่ยงกระเพาะอาหารก็คล้ายๆ กันคือ ทำทางให้อาหารอ้อมผ่านเข้าสู่ลำไส้เล็ก ไม่ต้องผ่านกระเพาะอาหาร

การผ่าตัดแบบนี้มีแนวโน้มจะทำให้ "อิ่ม" เร็วขึ้น เนื่องจากลำไส้เล็กมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่ากระเพาะอาหาร เปรียบคล้ายถุงใบเล็ก... ใส่อะไรเข้าไปย่อมจะเต็มเร็วกว่าถุงใบใหญ่

...

ท่านอาจารย์ดอกเตอร์ฮอลลี เอ็ม. อิพพิชค์ และคณะ ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กยักษ์ 38 คน อายุ 13-19 ปี ซึ่งเข้ารับการผ่าตัดทางเบี่ยงกระเพาะอาหารที่ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลเด็กซินซินนาทิ รัฐโอไฮโอ สหรัฐฯ

เด็กๆ เหล่านี้มีน้ำหนักก่อนผ่าตัดเฉลี่ย 175 กิโลกรัม และดัชนีมวลกาย (body mass index / BMI) = 60

...

ดัชนีมวลกายคิดจากการนำน้ำหนักเป็นกิโลกรัมมาตั้ง หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตร 2 ครั้ง ค่าปกติในคนไทย = 18.5-22.9

หลังผ่าตัด 1 ปี... เด็กยักษ์เหล่านี้มีน้ำหนักตัวลดลงเป็น 116 กิโลกรัม ดัชนีมวลกาย (BMI) ลดลงเป็น 40

...

ผลการตรวจสุขภาพพบว่า

  • ชีพจรเฉลี่ยลดลง
  • ความดันเลือดเฉลี่ยลดลง

...

หัวใจห้องล่างซ้าย (left ventricle / LV) ซึ่งทำหน้าที่สูบฉีด หรือปั๊มพ์เลือดไปเลี้ยงร่างกาย ซึ่งเดิมต้องปรับตัวขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น เพื่อสูบฉีดเลือดจำนวนมากไปเลี้ยงเนื้อเยื่อไขมันเล็กลงจนมีขนาดปกติมากขึ้น

ขนาดหัวใจห้องล่างซ้ายของกลุ่มตัวอย่างก่อนผ่าตัดมีขนาดปกติ 36% หลังผ่าตัดและน้ำหนักลดลงมีขนาดปกติ 79%

...

นอกจากนั้นผนังหัวใจห้องล่างซ้ายที่เดิมหนาตัว เนื่องจากความดันเลือดสูงยังมีความหนาตัวลดลงหลังความดันเลือดลดลงด้วย

อาจารย์อิพพิชค์กล่าวว่า คนไข้ที่อ้วนมากๆ จนต้องเข้ารับการผ่าตัดทางเบี่ยงกระเพาะอาหารตอนเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้มีสุขภาพหัวใจดีขึ้นเหมือนกับคนไข้เด็กยักษ์เหล่านี้

...

การศึกษานี้มีส่วนสนับสนุน หรือส่งเสริมให้พวกเราหันมาใส่ใจสุขภาพกันตั้งแต่อายุน้อยๆ หรือถ้าเริ่มใส่ใจตอนอายุมากก็ยังดี เช่น ดีกว่ารอให้อายุมากกว่านี้ 10 ปี 20 ปี ฯลฯ

คนที่ลดความอ้วนหลายท่านคงจะรู้สึกได้ว่า ลดแล้วสดชื่นขึ้น แข็งแรงขึ้น เนื่องจากหัวใจเหนื่อยน้อยลง ไม่ต้องสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อไขมันคราวละมากๆ เหมือนเดิม

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

ที่มา                                                  

  • Thank Reuters > Weight loss reverses heart changes in obese teens > [ Click ] > March 31, 2008. / J Am College of Cardiology. April 8, 2008.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอ พยาบาล เภสัชกร หรืออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบคุณอาจารย์ณรงค์ ม่วงตานี + อาจารย์เบนซ์ iT ศูนย์มะเร็งลำปาง > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > 1 เมษายน 2551.
หมายเลขบันทึก: 175237เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2008 19:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 04:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท