เป็นเบาหวาน เสี่ยงโรคหัวใจ+อัมพฤกษ์ +อัมพาตเท่าไร


โลกของเรากำลังมีโรคระบาดมาดใหม่ เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ฯลฯ มากขึ้นไปทุกที แม้แต่สถานีอนามัยของไทยก็มีคนไข้โรคเหล่านี้ติดอันดับ 1-5 แล้ว

...

โลกของเรากำลังมีโรคระบาดมาดใหม่ เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ฯลฯ มากขึ้นไปทุกที แม้แต่สถานีอนามัยของไทยก็มีคนไข้โรคเหล่านี้ติดอันดับ 1-5 แล้ว

วันนี้มีผลการศึกษาที่ระบุลงไปว่า คนไข้เบาหวานมีความเสี่ยงโรคหัวใจ เส้นเลือดสมองแตก-ตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาตมากเป็นกี่เท่าของคนทั่วไปมาฝากครับ

...

ท่านอาจารย์ดอกเตอร์ทีนา เคน แชรมน์ และคณะ แห่งโรงพยาบาลเจนโทฟเทอะ เมืองเฮลเลรุพ เดนมาร์ค ทำการศึกษาข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 3 ล้านคน ติดตามไป 5 ปี

ผลการศึกษาพบว่า คนไข้เบาหวานมีความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันกำเริบ เส้นเลือดสมองแตก-ตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต และตายจากโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันกำเริบมากกว่าคนทั่วไปจนใกล้กับคนที่รอดตายจากโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันมาก่อนดังตาราง

...

กลุ่มเสี่ยง ความเสี่ยง (เท่าของคนทั่วไป)
คนไข้เบาหวาน 2.32 เท่า
คนไข้ที่รอดตายจากโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันมาก่อน (ไม่เป็นเบาหวาน) 2.48 เท่า

...

ทีนี้ถ้าเป็นเบาหวานด้วย และรอดตายจากโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันครั้งแรกมาแล้ว โอกาสตายจากโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันครั้งต่อไปจะเพิ่มเป็นประมาณ 2 เท่าของคนไข้กลุ่มเดียวกันที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน

อาจารย์แชรมน์แนะนำว่า คนไข้เบาหวาน หรือคนไข้ประเภท "ว่าที่เบาหวาน (ใกล้เป็นเบาหวาน / prediabetes)" จึงควรดูแลสุขภาพให้ดีมากเป็นพิเศษ โดยเน้นการควบคุมปัจจัยเสี่ยงโรคเส้นเลือดเสื่อมที่ 3 เรื่องได้แก่

  1. ระดับน้ำตาลในเลือด
  2. ความดันเลือด
  3. ไขมันในเลือด หรือโคเลสเตอรอล

...

โรคเบาหวานมีอวัยวะเป้าหมาย (target organs) 4 แห่งใหญ่ได้แก่ "ตา-หัวใจ-ไต-ตีน (อาจารย์แพทย์ท่านใช้คำ "ตีน" เพื่อให้สัมผัสกับคำ "ไต" ไม่ได้มุ่งกล่าวคำหยาบแทนคำว่า "เท้า")

  • ตา > เลนส์ตาขุ่นเร็ว(ต้อกระจก) + จอตาเสื่อมสภาพจนถึงบอด
  • หัวใจ > เส้นเลือดหัวใจอุดตัน
  • ไต > ไตเสื่อมสภาพจนถึงไตวาย
  • ตีน > เส้นประสาทเสื่อม + เป็นแผลแล้วหายยาก > เสี่ยงถูกตัดนิ้ว หรือตัดเท้า

...

ทุกวันนี้เราพบว่า อวัยวะเหล่านี้เริ่มเสื่อมตั้งแต่ก่อนตรวจพบว่า เป็นเบาหวาน หรือ "ว่าที่เบาหวาน(ภาวะใกล้เบาหวาน)" มาก่อนอย่างน้อย 5-10 ปีแล้ว การไปมุ่งเน้นรักษาเบาหวานจึงมีแนวโน้มจะสายไปหน่อย

ทางที่ดีกว่าคือ ใส่ใจสุขภาพตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยรุ่นโดยการออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ ค่อยๆ เริ่มจากน้อยไปหามาก อย่างน้อยวันละ 30 นาที

...

ถ้าอ้วน อ้วนลงพุง ไขมันในเลือดสูง ความดันเลือดสูง หรือเบาหวานควรเพิ่มเป็นวันละ 60 นาที โดยเน้นการเดิน และเดินขึ้นลงบันไดตามโอกาสเป็นหลัก

การออกแรง-ออกกำลังไม่จำเป็นต้องทำรวดเดียวนานๆ จะแบ่งเป็นช่วงๆ นำมาสะสมรวมกันแบบบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ก็ได้ เช่น เดินคราวละ 10 นาที 3 ยก และเดินรวดเดียวอีก 30 นาที รวมเป็น 60 นาที ฯลฯ

...

นอกจากนั้นควรควบคุมอาหาร โดยเฉพาะการเปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง ขนมปังขาวเป็นขนมปังเติมรำ-จมูกข้าว (โฮลวีท) ลดกะทิ ลดของหวาน ลดน้ำตาล ลดขนม ลดน้ำผลไม้ และอาหารทอด-ผัด

พยายามอย่าให้อ้วน หรืออ้วนลงพุง... ถ้าอ้วนหรืออ้วนลงพุงไปแล้ว ควรหาทางควบคุมให้คงที่หรือลดลง อย่าให้เพิ่มขึ้นอีก ทำอย่างนี้เป็นประจำช่วยป้องกันเบาหวานได้

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

ที่มา                                                  

  • Thank Reuters > Maggie Fox. Will Dunham ed. > Diabetes equals heart attack in late heart risk > [ Click ] > March 31, 2008. / Circulation.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอ พยาบาล เภสัชกร หรืออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบคุณอาจารย์ณรงค์ ม่วงตานี + อาจารย์เบนซ์ iT ศูนย์มะเร็งลำปาง > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > 1 เมษายน 2551.
หมายเลขบันทึก: 175235เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2008 19:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท