เนยควายอิตาลี เผาป่าเผาขยะ และสารพิษไดออกซิน


พวกเราที่ไปอินเดียมาก่อนคงจะทราบกันดีว่า ไจ (chai) หรือชาใส่นมต้มของอินเดียนิยมใส่นมควาย ซึ่งกล่าวกันว่า มีความเข้มข้นของมันเนยสูงกว่านมวัว

...

พวกเราที่ไปอินเดียมาก่อนคงจะทราบกันดีว่า ไจ (chai) หรือชาใส่นมต้มของอินเดียนิยมใส่นมควาย ซึ่งกล่าวกันว่า มีความเข้มข้นของมันเนยสูงกว่านมวัว

อิตาลีมีเนยชนิดหนึ่งทำจากนมควายที่โด่งดังด้านคุณภาพ และรสชาดคือ "มอซซาเรลลา (mozzarella)" ซึ่งเร็วๆ นี้ตรวจพบว่า มีสารไดออกซิน (dioxin) ปนเปื้อน

...

ภาพที่ 1: เนยมอซซาเรลลา ทำจากนมควายอิตาลี [ ภาพจากสำนักข่าว BBC - ไม่ใช่ผลงานของผู้เขียน - picture from BBC ]

...

เร็วๆ นี้มีการตรวจพบสารไดออกซิน (dioxin) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง สารทำให้มีลูกยาก และอาจทำให้เด็กในครรภ์ผิดปกติในมอซซาเรลลา จากผู้ผลิต 25 แห่งในเขตกัมปานีอา ใกล้ๆ เมืองเนเปิล

อิตาลีเป็นประเทศยุโรปตอนใต้ มีรูปคล้ายรองเท้าบู๊ต เขตกัมปานีอาเป็นส่วนที่อยู่ตรง "หน้าแข้ง" ค่อนไปทางล่าง หรือใกล้ข้อเท้าของรองเท้าบู๊ต (ประเทศอิตาลี)

...

ภาพที่ 2: เขตกัมปานีอา อิตาลี ซึ่งอยู่บริเวณ "หน้าแข้ง" ของรองเท้าบู๊ต [ ภาพจากสำนักข่าว BBC - ไม่ใช่ผลงานของผู้เขียน - picture from BBC ]

...

อุตสาหกรรมผลิตเนยมอซซาเรลลาใช้ควายประมาณ 250,000 ตัว ผลิตเนยได้ 33,000 ตันต่อปี คนอิตาลีกินเอง 84% ส่งออก 16%

อุตสาหกรรมนี้ทำให้คนมีงานทำ 20,000 คน และทำให้เกิดเงินหมุนเวียนปีละ 500 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 15,500 ล้านบาท (คิดที่ 31 บาท / ดอลลาร์สหรัฐฯ)

...

ท่านอาจารย์นีนา โปปาดอนลาคิ โฆษกสำนักงานสุขภาพยุโรป (EU) กล่าวว่า สหภาพยุโรปพึงพอใจต่อมาตรการเรียกคืนเนย และตรวจสอบกระบวนการผลิตทั้งหมดของรัฐบาลอิตาลี ทั้งๆ ที่ปริมาณสารไดออกซินที่ปนเปื้อนยังไม่เกินมาตรฐานยุโรป

ปี 1976 (พ.ศ. 2519) เกิดอุบัติเหตุในโรงงานที่โซเวโซ อิตาลี ทำให้สารไดออกซินส่วนหนึ่งปนเปื้อน ก่อนหน้านั้นมีการใช้สารกลุ่มนี้ทำ "ฝนเหลือง" เพื่อทำลายป่าในสงครามเวียดนาม

...

ภาพที่ 3: น้องควายอิตาลีผู้ผลิตนม ซึ่งจะมีการนำไปทำเนยควายอีกต่อหนึ่ง [ ภาพจากสำนักข่าว BBC - ไม่ใช่ผลงานของผู้เขียน - picture from BBC ]

...

เนยที่ปนเปื้อนสารไดออกซินอาจมาจากการนำขยะสารเคมีไปทิ้ง หรือกระบวนการเผาไหม้ที่อุณหภูมิต่ำ เช่น ไฟป่า เผาขยะ กระบวนการผลิตยาฆ่าแมลง-ยาฆ่าวัชพืช ฯลฯ

เขตที่มีการเผาป่า และเผาขยะสูงมีความเสี่ยงที่จะพบสารไดออกซินเพิ่มขึ้นในอากาศ และน้ำ

...

ตัวอย่างเขตที่มีการเผาป่า เผานา และเผาขยะสูงมากๆ คือ ภาคเหนือของไทย ซึ่งไม่น่าแปลกใจอะไรที่สถิติมะเร็งปอดพบมากที่สุดบริเวณเชียงใหม่ และลำปาง

เมื่อสารไดออกซินตกลงสู่ดินหรือน้ำจะสะสมในเนื้อเยื่อไขมันของสัตว์เป็นหลัก คนที่กินไขมันจากสัตว์มากจึงมีโอกาสได้รับสารพิษต่างๆ มาก โดยเฉพาะถ้านำไขมันสัตว์ไปปิ้ง ย่าง เช่น "ชิ้นปิ้ง (หมูปิ้ง)" ของทางเหนือ ฯลฯ มีโอกาสที่จะเกิดสารก่อมะเร็งซ้ำซ้อนอีกหลายชนิด

...

วิธีทำ "ชิ้นปิ้ง" ของทางเหนือใช้การแล่เนื้อเป็นชิ้นบางๆ เสียบไม้ ทาน้ำมันหมูและเครื่องปรุง ปล่อยให้น้ำมันหมูหยดลงไปในเตา เกิดควันไฟตลบอบอวลไปทั่ว

ส่วนหนึ่งของควันไฟที่มีสารก่อมะเร็งจะเกาะติดกับชิ้นปิ้งแบบ "แล้วๆ เล่าๆ" เนื่องจากการย่างให้หอมหวลนั้นมักจะย่างกันบนเตาคราวละหลายสิบนาที หรือนานเป็นชั่วโมงบนเตาถ่านไฟอ่อนๆ

...

อาหารที่มีโอกาสเกิดการสะสมสารไดออกซินเรียงจากมากไปน้อยมีดังต่อไปนี้

  1. เนื้อ
  2. นม
  3. ปลา
  4. ไข่
  5. ผัก+ผลไม้

...

วิธีลดโอกาสได้รับสารไดออกซิน และสารพิษจากสิ่งแวดล้อมได้แก่

  • ลดการกินเนื้อให้น้อยลง โดยเฉพาะเนื้อติดมัน
  • กินโปรตีนจากพืช เช่น ถั่ว เต้าหู้ ฯลฯ แทนเนื้ออย่างน้อยครึ่งหนึ่ง
  • งดใช้น้ำมันจากสัตว์ เช่น น้ำมันหมู ฯลฯ
  • ลดการกินผลิตภัณฑ์นมไขมันเต็มส่วน (whole milk products)
  • หันไปกินนมไม่มีไขมัน หรือนมไขมันต่ำแทน
  • ช่วยกันรณรงค์เพื่อลดการเผาป่า เผาขยะ เผาไร่นา
  • ถ้าเป็นไปได้... ควรเลือกดื่มน้ำที่ผ่านการกรองแบบ RO (reverse osmosis) ให้มากพอทุกวัน

...

ตัวอย่างการแก้ปัญหาเนยควายของรัฐบาลอิตาลีอย่างรวดเร็ว และรอบคอบส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมมอซซาเรลลา เนื่องจากถ้าปล่อยปละละเลยไปจะทำให้อุตสาหกรรมนี้เสียชื่อเสียง และขายผลิตภัณฑ์ไม่ออกในระยะยาว

เมืองไทยเราควรใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็น "ทุน" ระยะยาวของชาติบ้านเมืองให้มาก

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

ที่มา                                                  

  • Thank BBC > Italy recalls tainted Mozzarella > [ Click ] > March 28, 2008.
  • Thank Wikipedia > Dioxin > [ Click ] > March 31, 2008.
  • ขอขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์ประธาน ประเสริฐวิทยาการ > คณะกรรมการอาหารและยา > [ Click ] > 31 มีนาคม 2551.
  • ขอขอบพระคุณ > มหันตภัยไดอ๊อกซิน > กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม > [ Click ] > 31 มีนาคม 2551.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอ พยาบาล เภสัชกร หรืออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบคุณอาจารย์ณรงค์ ม่วงตานี + อาจารย์เบนซ์ iT ศูนย์มะเร็งลำปาง > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > 31 มีนาคม 2551.
หมายเลขบันทึก: 175232เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2008 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2012 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท