เมื่อไหร่จึงควรจะลาออก?


คำถามนี้เป็นคำถามที่คนทำงานทุกคนควรจะถามตัวเองอยู่บ่อยๆ 

ทำไมน่ะหรือครับ เพราะ อนิจจฺ ทุกขฺ อนตฺตา

แต่เท่าที่สังเกตดู พบว่าเป็นคำถามที่ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ กลับไม่ค่อยถามตัวเอง -- แล้วผู้บริหารที่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็ไม่ค่อยถามตัวเองเช่นกัน

ท่านไม่ควรลาออกด้วยเหตุผลว่างานมันห่วย ถ้างานห่วยจริง ตัวเราก็ห่วยกว่าที่ไปทำงานนั้นตั้งแต่แรก

ในทำนองเดียวกัน เราไม่ควรลาออกเพราะพบว่าไม่สามารถปฏิบัติงานนั้นต่อไปได้ การทำงานไม่ว่าจะเป็นในระดับไหน ควรจะมองว่าเป็นการพยายามเอาชนะข้อจำกัดต่างๆ ถ้าไม่ต้องทำอะไรเลยแล้วเกิดผลขึ้นได้ง่ายๆ โลกนี้คงเต็มไปด้วยผู้ที่ประสบความสำเร็จไปหมด

ท่านไม่ควรลาออกเพราะไม่ได้รับความยุติธรรม คำว่าความยุติธรรมมีความหมายที่ไม่เหมือนกันสำหรับแต่ละคน ในเมื่อเป็นงานที่ท่านได้รับค่าตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นตัวเงิน ตำแหน่ง ลาภยศ ความก้าวหน้า หรือความภูมิใจ และท่านได้ตกลงรับทำงานนั้นตั้งแต่ต้น สิ่งใดที่ได้มาภายหลังจากการที่ท่านได้ตกลงทำงานนั้นแล้ว น่าจะเรียกเป็นรายการพิเศษนอกเหนือข้อตกลง เป็นสิ่งที่ได้เพิ่มมาเป็นพิเศษ

"เบื่อ" ก็เป็นเหตุผลที่ตลก จริงอยู่ที่คนเราเบื่อกันได้ แต่จะหวังให้ใครมาแก้ความเบื่อให้หรือครับ ในเมื่อความเบื่อเกิดในใจท่านเอง แล้วตัวท่านก็ไม่ได้พยายามแก้ไข ในเวลาที่เบื่อ ท่านไม่เคยหยุดรับสิ่งตอบแทนเลย ไม่เคยมีใครบอกว่าช่วงนี้ผมเบื่อ ไม่มีอารมณ์ จะลดประสิทธิผลของการทำงานลงเหลือ 25% และขอให้ลดเงินเดือนลงเป็นสัดส่วนเดียวกัน

กำลังใจ ถ่ายให้ไม่ได้เหมือนเติมน้ำมัน กำลังใจต้องสร้างเองนะครับ ถ้าท่านจะ "กลับมาได้" ก็ต้องกลับมาเองครับ

การจ้างงาน เป็นความพอใจร่วมกันทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ สภาพของการทำงานร่วมกันก็จบลง; การจ้างงานเป็นการตกลงกันล่วงหน้า และพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ลาออก: เหตุผลที่น่าฟัง???

  1. ท่านเปลี่ยนใจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ก็คนเราเปลี่ยนใจกันได้นี่นา อย่าใช้ "เหตุผล" ที่ท่านควบคุมไม่ได้มาลดความคับข้องใจ หรือวิ่งหนีจากสิ่งที่ควบคุมไม่ได้เลยครับ ยอมรับความจริงว่าท่านเปลี่ยนใจ เพราะว่าไม่ว่าจะทำงานอะไร ก็จะมีสิ่งที่ควบคุมไม่ได้เสมอ

  2. ท่านหมดคุณค่าต่องานที่ทำ ไม่มีใครฟังท่านอีกต่อไป อยู่ไปก็ไม่ได้ช่วยให้ใครดีขึ้นมา จะอยู่หรือไม่อยู่ก็มีค่าเท่ากัน ท่านเป็นส่วนเกิน ถ้าเป็นแบบนี้ ไปหาอะไรทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและคนรอบข้างดีกว่าครับ

  3. หัวหน้าของท่าน ทำงานข้ามหัวท่าน (อาการคล้ายกับข้อ 2.) นั่นแสดงว่าความไว้วางใจหายไปหมดแล้ว

ควรจะมี "เหตุผล" อะไรอีกครับ

ตัวกู-ของกู

ถ้าจะอยู่ ในโลกนี้ อย่างมีสุข
อย่าประยุกต์ สิ่งทั้งผอง เป็นของฉัน
มันจะสุม เผากระบาล ท่านทั้งวัน
ต้องปล่อยมัน เป็นของมัน อย่าผันมา

เป็นของกู ในอำนาจ แห่งตัวกู
มันจะดู วุ่นวาย คล้ายคนบ้า
อย่างน้อยก็ เป็นนกเขา เข้าตำรา
มันคึกว่า "กู-ของ-กู" อยู่ร่ำไป

จะหามา มีไว้ ใช้หรือกิน
ตามระบิล อย่างอิ่มหนำ ก็ทำได้
โดยไม่ต้อง มั่นหมาย ให้อะไรๆ
ผูกยึดไว้ ว่า "ตัวกู" หรือ "ของกู"ฯ

บันทึกนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลาออกของใครทั้งสิ้น ผมเริ่มร่างไว้ตั้งแต่ 29 ก.พ. 2551 เป็นเรื่องที่น่าพูด แต่มักไม่ค่อยพูดกันเพราะดูเป็นแง่ลบ -- ถ้าท่านคิดว่าผมหมายถึงผู้ใดเป็นการส่วนตัว ท่านก็เดาผิดเช่นกัน เพราะเรื่องเฉพาะบุคคลนั้น ผมไม่เขียนในบล็อกแต่จะเลือกช่องทางสื่อสารอื่นแทน

คำสำคัญ (Tags): #ข้อคิด#คนทำงาน
หมายเลขบันทึก: 174485เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2008 02:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

อรุณสวัสดิ์ครับคุณ conductor

แวะมาอ่านเช่นเคยกับ blog ยอดนิยมของผม

ภาวะ burn out เป็นสิ่งที่เจอบ่อยในองค์กร และนำมาซึ่งการเลือกที่จะเปลี่ยนที่ทำงานหรือเปลี่ยนงาน (องค์กรผมนิยมย้ายมากกว่าลาออก) อพยพจากปัญหาเดิมไปเจอปัญหาใหม่

ก็ไม่รู้ว่าวิธีการหนีปัญหาคือสัญชาตญาณในจิตใต้สำนึกเวลาที่พ่ายแพ้หรือเปล่าเลยทำให้คนเลือกวิธีนี้เวลาที่ "รู้สึกทำอะไรไม่ได้"

ผมเองเคยมีความรู้สึกนี้ และพบว่า มันก็เป็นเช่นนั้นเอง ผมเลือกเปลี่ยนตัวเองมากกว่าเปลี่ยนคนอื่น

"ทำตัวเองให้มีศักยภาพที่จะมีความสุขง่ายขึ้น มากกว่าศักยภาพในการหาความสุข"(วาทะของท่านเจ้าคุณ พระพรหมคุณาภรณ์)

มีทางไหนที่จะลาออกไหม ของผมมีอีกทางเลือกครับ ไปบวชสักพรรษาท่าจะดีนะ

สวัสดีค่ะ

เข้ามาอ่านหาความรู้ การหนีไปเรียนต่อ...ใช่การลาออกชั่วคราวหรือเปล่านะ

หมอโรจน์: ผมคิดว่าภาวะ burn out เกิดจากความไม่สมดุลย์ระหว่างความคาดหวังและความเป็นจริงครับ

ความคาดหวังนั้นควบคุมได้เพราะว่าเกิดใจใจเราคนเดียว แต่ความเป็นจริงนั้นควบคุมยากกว่าเพราะเกี่ยวข้องกับคนหลายคนและหลายเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นเราจึงเปลี่ยนความคาดหวังให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ได้ง่ายกว่าเปลี่ยนความเป็นจริงให้สอดคล้องกับความคาดหวัง

งานการไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ดั่งที่ตั้งใจถ้าขาดอิทธิบาท ๔ ครับ อิทธิบาท ๔ เริ่มในใจเรา แล้วก่อให้เกิดเป็นการกระทำ

อาจารย์คนไร้ราก: การหนีไปเรียนต่อ เป็นการหนีครับ แม้แต่ Sabattical Leave ก็อาจเป็นการหนี (extended holiday) ถ้าไม่ได้เป็นไปเพื่อการแสวงหา "เนื้อหา" ใหม่

  • สวัสดีค่ะ อ.conductor
  • ตั้งใจไว้ว่าจะลาออกเมื่อตัวเอง หมดคุณค่าต่อการทำงานรับใช้ในหลวง
  • แต่บางที ก็มีปัจจัยหลายอย่าง ที่เรียกว่า ข้อจำกัด ทำให้เรา ต้องใช้ศักยภาพอย่างสูง เพื่อต่อสู้ ซึ่งบางที มันต่อสู้ไม่ไหวอ่ะค่ะ
  • ขอบคุณมากค่ะ
  • อ่านแล้ว คงไม่ลาออก หากยังสร้างคุณค่าได้อยู่น่ะค่ะ

ขออนุโมทนาด้วยครับป้าแดง

ที่ไหนๆ ก็มีปัญหาด้วยกันทั้งนั้นล่ะครับ หากเราทำประโยชน์ได้ และตั้งใจเปลี่ยนสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการกระทำกันอย่างจริงจัง เมืองไทยก็มีหวังครับ

การลาออกคือการเปลี่ยนชุดของปัญหาเท่านั้นเอง สู้อยู่กับปัญหาที่เราเข้าใจ ดีกว่าสู้กับปัญหาที่เราไม่เข้าใจครับ

ปล. อย่างเรียกผมว่าอาจารย์เลยนะครับ ไม่ได้เป็นจริงๆ

สวัสดีค่ะ

เรื่องการลาออกนี่ มีประสบการณ์กับตัวเองเต็มๆ 2 ครั้งเลยค่ะ ขอเล่าหน่อยค่ะ

ครั้งแรก ลาออกไปเรียนต่อ ไปทั้งครอบครัว พาลูกไปเรียนด้วย ทางโรงเรียนลูกบอกว่า ออกแล้ว กลับมาไม่ได้ คือร.ร.เซ็นต์คาเบรียล กลับไปนอนคิด 2 คืน แล้วกลับไปบอกท่านอธิการว่า...ขอจ่ายค่าเทอมล่วงหน้า 2 ปี หมายเลขประจำตัวของเด็กยังอยู่   เดี๋ยวกลับมา จะขอเข้ามาใหม่ สรุป แก้ปัญหาได้

และเป็นตัวอย่าง ให้พ่อแม่รุ่นหลังๆอีกด้วย  เลยทำแบบนี้กันอีกเยอะ  ส่วนตัวเอง ลาออกชั่วคราว ได้กลับเข้าไปใหม่ เหมือนเดิมทุกประการ เรื่องนี้ ไม่มีเหตุผลอื่น นอกจาก อยากเรียนต่อค่ะ ยังสนุกกับงานมากๆ

อีก 4 ปีต่อมา ก็ยังสนุกกับงานเหมือนเดิม ก้าวหน้าดี ทุกอย่างดีหมด แต่ไม่อยากเป็นลูกน้องใคร อยากเป็นตัวของตัวเองเต็มร้อย และพอดีได้แรงหนุนจาก ผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ว่า กิจการที่กำลังลงทุนทำนี่ ต้องไม่ใช่ week- end manager มิฉะนั้น ก็อย่าทำเลย ทุกอย่างจะเสียเปล่า ก็เลยตัดสินใจออกมา ยื่นใบลาออกล่วงหน้า 3 เดือน

นี่คือCross road ของตัวเองค่ะ  คนเราไม่ควรลาออกเพราะ เบื่อ หรือน้อยใจ ใจเสาะ  หรือจาก อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว มากกว่าเหตุผลที่เป็นหลักการ หรือฟังขึ้นหน่อย

แต่ขอนอกประเด็นนิดหน่อยค่ะ ทุกอย่างเป็นเหรียญ 2 ด้าน

สำหรับในด้านของผู้บริหารหรือองค์กร   อัตราการลาออก มีส่วนสัมพันธ์กับขวัญและกำลังใจของบุคลากรมาก  ในองค์กรที่มีอัตราการขาดลาออกต่ำ บุคลากรจะมีขวัญและกำลังใจดี ส่วนองค์กรที่มีอัตราการลาออกสูง จะมีขวัญและกำลังใจที่ไม่ดีค่ะ

 

สวัสดีค่ะ

  • เรื่องการไปเรียนต่อ น่าจะแบ่งได้ 2 กรณี คือ กรณีที่ไปอย่างมีเป้าหมายด้วยความมุ่งมั่น  แบบนี้ไม่น่าจะเข้าข่าย "หนี" นะคะ  กับอีกกรณีเบื่องานหรือมีปัญหาอะไรบางอย่าง เลยไปเรียนต่อซะเลย แบบนี้คงเข้าข่าย "หนี"  ทั้งสองกรณีจะต่างกันตรงจุดเริ่มต้น
  • เห็นด้วยค่ะว่า  Sabattical Leave ควรเป็นไปเพื่อการแสวงหา "เนื้อหา" ใหม่ 
  • ตอนนี้ยังมีความสุขและสนุกกับงาน  ไม่เคยคิดจะลาออกเลยค่ะ    ขอบคุณค่ะที่นำเรื่องดีๆมาให้อ่าน

พี่ศศินันท์: สมัยนี้ รู้สึกว่าคนไม่ค่อยอดทนกันนะครับ คงเป็นเพราะชีวิตสบายเกินไป หรือแสวงหามาไปจนเกินตัว-เกินความจำเป็น ไม่รู้จักพอ มีมากเกินไปก็ใช้ไม่หมดอยู่ดี

ผมลาออกมาแล้วจากสององค์กร กับบริษัทไทยใช้เวลา 11 เดือน กับบริษัทฝรั่งใช้ 3 เดือนครับ

อ้อ ยังมี mid-life crisis อีกครับ เริ่มถามหาคุณค่าที่แท้จริงของตน

อาจารย์ศิริพร: การไปเรียนต่อคือการพัฒนาตนเอง แต่การหนีไปเรียนต่อคือการหนีครับ (อาจารย์คนไร้รากคงไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น แต่ผมมักมองในรายละเอียดด้วยครับ)

อ้าวนี่เราก็ใกล้ถึงช่วง mid-life crisis แล้วนี่นา แล้วจะลาออกไปไหนดีเนี่ย มิน่าช่วงนี้สับสนชีวิต จะลาออกกับตัวเองก็ดูงงๆ จะไปทำธุรกิจใหม่ก็ไม่รู้ว่าสามารถหรือเปล่า หรือจะทำอะไรเพิ่มก็ยังจัดเวลาชีวิตไม่ได้ - - "

mid-life crisis เท่าที่เห็น ผู้ชายมีผลกระทบมากกว่าผู้หญิงค่ะ

ถ้าเราพูดถึงเฉพาะ การทำงาน บางคนในวัยนี้ ก็มักจะถามตัวเองว่า เราได้ทำอะไรที่อยากทำหรือยัง  บางทีก็เกิดความเครียด ความเบื่อต่อสภาวะแวดล้อมเดิมๆขึ้นมา จนบางคนเกิด  a series of sudden and violent changes of behaviour.

บางตำราว่า ส่วนหนึ่ง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนด้วย

คนที่อยู่ในวัยนี้ มักต้องการการเปลี่ยนแปลง และข้อเสนอที่ยืดหยุ่นจากกิจการมาก เช่น ตารางเวลาทำงานที่ปรับเปลี่ยนได้

การกำหนดโลเกชั่นของการทำงานที่เหมาะสม กับไลฟ์สไตล์ของตน การประเมินผลที่มุ่งเน้นผลของงานเท่านั้น เป็นต้น

แต่ส่วนใหญ่ก็ผ่านช่วงชีวิตนี้ไปได้อย่างไม่ยากลำบากค่ะ

  • จะมีสักกี่คน ที่เป็นนายคิดเรื่องนี้
  • ช่วงส่งไปให้ รมต.สาธารณะสุขอ่านหน่อย ถ้าจะดี
  • โดนไล่ ยังไม่ออก จะให้มาคิดเองออกเอง ยังไงไม่รู้นะ อิ อิ
  • บางคนถือคติว่า ...ล้ม เพราะก้าวไปข้างหน้าดีกว่ายืนเต๊ะท่าอยู่กับที่...ก็มีนะครับ (ผมเอง)
  • คำนวณแล้วประมาณ 2 ปีครั้งครับ
  • ครั้งแรกอยู่ Software House เจ้านายเขาเปลี่ยนจากที่เน้นการผลิต Software มาขาย H/W และเน้นการให้บริการแทน ประกอบกับ โครงการด้าน Software บางโครงการล้ม (จริง ๆ ไม่ได้ล้มแต่ปิดงานไม่ได้ บานปลาย ขาดทุน) ทำให้หัวหน้าโครงการลาออก และก็มีผมกับเพื่อนสนิทมากคนใดคนหนึ่งต้องขึ้นไปแทน ...ประกอบกับผมโดนทาบทามขอซื้อตัวจากลูกค้าที่เราไปเขียนโปรแกรมให้หลายเจ้าทีเดียว ตอนที่ตัดสินใจลาออก เจ้านายอยู่ที่สิงค์โปร์ พอท่านกลับมาก็คุยกันอย่างหนัก ผมแสดงสปิริตโดยจะรับผิดชอบโครงการที่ดูแลอยู่ให้ต่ออีก 3 เดือน
  • ครั้งต่อมาตอนจะเข้ามารับราชการ ตอนนั้นอยู่บริษัทขายวัสดุก่อสร้าง กลับไปกินข้าวกับแม่คราใด สิ่งที่คุยกันเกือบทุกครั้งคือ แม่อยากให้มารับราชการ เพื่อตอบแทนคุณก็ขัดไม่ได้ ประกอบกับตอนนั้นเรารับผิดชอบงานเกินตัวมาก จากหัวหน้าฝ่ายคอมพิวเตอร์ ไปอาสาทำงานเกือบทุกอย่างของบริษัท ทั้งนี้เพราะยุคนั้น ผมประยุกค์งานทุกอย่างเป็นคอมพิวเตอร์ทั้งหมด แม้แต่ระบบสั่งซื้อสินค้า ระบบจัดรถขนส่ง แม้แต่การประเมินราคาสินค้าลูกค้ารายตัว ทุกระบบแทบได้ว่าอิงคอมพิวเตอร์ทั้งหมด (สิบกว่าปีที่แล้ว) สุดท้ายเราก็ทำงานเกินตัวไปจัดการพวกทุจริตขึ้นของเกิน ออกงาน ไปหลายคน และต้องดูแลระบบ Vat เดือนละกว่า 30 ล้าน ตอนนั้นผมอายุแค่ 23 ปีเองครับ เมื่อต้องลาออกเฮีย (ผู้จัดการ)ก็จะเพิ่มเงินเดือนให้เป็นเท่าตัว ผมก็ไม่เอา เพราะขัดแม่ไม่ได้ สุดท้านเฮียก็ทัดทานไม่ได้ และพูดว่า ถ้าไม่ใช่แม่เองเฮียไม่ให้ลาออก หลังจากลาออกผมสัญญากับตัวเองว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี เพราะข้อมูลการค้าเกือบทั้งอีสานอยู่ในมือผม
  • พอรับราชการผมก็ย้ายงาน เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อ 2 ปีที่แล้วก็เป็นหน่วยงานที่ 5 แล้วครับ
  • อิ อิ โม้มากไปหน่อยขออภัยด้วยครับ

ผมเชื่อจริงๆ นะครับ ว่าคนเราเกิดไม่ว่าจะทำอะไร ก็ควรมีเป้าหมาย ถ้าหากไม่มีเป้าหมายแล้ว เราก็ไม่สามารถจะประเมินได้ว่าสิ่งที่ทำอยู่มีคุณค่าพอหรือไม่

จริงอยู่ที่เราสามารถเลือกทำไปเรื่อยๆ สบายๆ ก็ได้ แต่อาการอย่างนั้น ดูจะเรื่อยเจื้อยเลื่อนลอยเกินไปครับ

สิ่งที่ยากคือการชั่งน้ำหนักระหว่างคุณค่าที่ตั้งความหวังไว้ กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นรอบตัว mid-life crisis อาจเป็นความไม่สมดุลย์ระหว่างการประเมินศักยภาพของตน กับศักยภาพ(และการจัดการกับข้อจำกัด)ที่แท้จริง

เมื่อเกิดความไม่สมดุลย์ หนักๆ เข้า ก็เปลี่ยนเป็นความคับข้องใจ หากจิตใจไม่เข้มแข็งพอ เก็บกดไว้นานๆ ไม่หาทางระบายออกบ้าง สักวันหนึ่งก็ระเบิดออกมา

คำถามการจัดการที่ตอบยากที่สุด คำถามนี้คล้ายๆ กับจุดมุ่งหมายคืออะไร เป้าหมายคืออะไร ปัญหาคืออะไร ความสุข-ความพอใจคืออะไร ความดีคืออะไร ความถูกต้องคืออะไร คุณค่าคืออะไร

ไม่น่าจะมีคำตอบคำตอบเดียวที่ตอบคำถามได้อย่างหมดจดครอบคลุมทุกประเด็น เพราะว่าผู้ที่ฟังคำตอบต่างมองจากบริบทที่แตกต่างออกไปเสมอ ทำให้คำตอบที่ดีของผู้หนึ่งอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีเลยสำหรับผู้อื่น

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากลัวกว่าการหาคำตอบที่ดี คือการเข้าใจว่าควรจะถามอะไรครับ ถ้าแม้ตั้งคำถามยังไม่ได้ จะไปหาคำตอบได้อย่างไร จะเข้าใจแก่นแท้-เป้าหมายได้อย่างไร จะประเมินคุณค่าของคำตอบได้อย่างไร

สวัสดีครับ

มาร่วมแบ่งปันกับอาจารย์  เพราะว่าเคยมีประสบการณ์  ในการลาออกครับ

การลาออก..คงเป็นสภาวะจิตของเราตอนนั้นที่อ่อนสุดๆ  ไม่สามารถหาหนทางอื่นๆได้

เพราะว่า  เราอาจจะอ่อนแอและขาดพลังที่จะหลุดออกมาจากความคิดตรงนั้น

เรื่องจริงของผมตอนนั้นคือ

   แบบว่าเด็กขึ้นใจน้อย  น้อยใจ 

    หรือว่าเสียใจกับสิ่งที่เราคาดหวัง ผิดหวังหรือว่าอาจจะเจ็บปวดกับบางเรื่องนะครับ

   ผมว่า  มันเป็นวาระองเรา  ณ ตอนนั้นๆ

   ถ้าต้องออก  จริงๆ  ก็คงเป็นเช่นนั้นจริงๆ

   แต่ถ้า...เราสามารถหยุดได้..ก็น่าจะแปลว่าดีขึ้นนะครับ  (กล่าวในกรณีที่เราไม่ได้ผิดอะไรจริงๆ)

 

   การเดินทางของชีวิต  ของงาน  ของความคิด  ความรู้สึกนั้น ถ้าไม่เข้มแข็งและรู้ทันตัวตนของเราเองนั้น  ก็ลำบากเช่นกันครับ

 

   ช่วงนี้ก็มีเรื่องฮึ่มๆ  จะออกเล็กๆ  เหมือนกัน  และว่าผมก็น่าจะยังไม่โตเท่าที่ควรครับ  ยังมีความรู้สึกแบบเด็กน้อยอยู่...

  ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ

  • สำหรับผม การลาออกเป็นเพียงพิธีกรรมที่ได้ทำไปแล้ว
  • ออกจากราชการแล้ว ก็ยังทำงานที่รักที่ชอบให้กับองค์กรเดิม แทบไม่มีอะไรเปลี่ยน
  • รู้สึกอิสระมากขึ้น และเมื่อที่อื่นให้ไปช่วยก็ทำได้สะดวกกว่าเดิม
  • ขอบคุณต่อข้อคิดดีๆที่มีมาแบ่งปันครับ

สับสนที่สุดในชีวิตเลยค่ะ จะทำไงดีอยู่ก็หมดใจไปก็กลัวร้อยแปด อยากได้คำปรึกษาที่เข้าใจเราในสิ่งที่เราไม่เข้าใจตัวเอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท