"การห้าม" ใช้ได้ผลจริงหรือ?


"การห้าม" ครอบคลุมทั้งการเป็น "ผู้ห้าม"และ"ผู้ถูกห้าม" มีเหตุอันเดียวกันแต่ทำไมผลต่างกัน?

การทำความรู้จักผู้ใช้ยาในมิติของ การห้าม

กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมชวนคิดชวนคุย กับกลุ่มผู้ใช้ยาเพื่อเข้าใจ ธรรมชาติ ของกลุ่มมากขึ้นในมิติของข้อห้ามหรือการห้าม ที่หลาย ๆ คนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อพิจารณาถึงกำแพงหรือการปิดกั้นตัวเองของกลุ่มผู้ใช้ยา หรือข้อกล่าวอ้างของคนทำงานที่ได้แลกเปลี่ยนในหลายเวทีที่สรุปออกมาคล้ายกันว่าเข้าไม่ถึงกลุ่มผู้ใช้ยาโดยเฉพาะชนิดฉีด ซึ่งมองว่าปัจจัยหนึ่งอยู่ที่การทำความเข้าใจในสิ่งที่ต่างคนต่างคิดหรือวางกรอบให้ผู้ใช้ยาได้เดินนั้นเป็นกรอบหรือทางเดินที่ถูกต้อง การห้ามหรือข้อห้ามที่ผู้ที่อยู่รอบข้างของผู้ใช้ยาได้ถูกกำหนดไว้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นว่า หากผู้ใช้ยาละเมิดกรอบดังกล่าว ผู้ที่ผิดจึงไม่ใช่ใครนอกจากผู้ใช้ยา บทสรุปของกิจกรรมนี้จากมุมมองของผู้ใช้ยาสะท้อนให้เห็นว่าเขาเองเป็นกลุ่มบุคคลหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกลับคนกลุ่มใหญ่ของสังคมไทย ดังสุภาษิตที่ว่า เขายิ่งว่า ยิ่งเตือนเหมือนยิ่งยุ เขายิ่งดุยิ่งด่า ยิ่งฝ่าฝืน เขายิ่งห้ามยิ่งอยากใส่ปากกลืน ทีเขายื่นให้กิน ไม่ยินดี...  กิจกรรมนี้สะท้อนว่า การห้ามแม้จะใช้ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ท้ายที่สุดไม่สามารถเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้ยา หยุดเสพหรือใช้ยาและลดพฤติกรรมที่คนรอบข้างไม่ชอบได้อย่างถาวร

 

วิธีการและขั้นตอนการทำกิจกรรม "การห้าม"

1.      แบ่งกลุ่มย่อยตามความเมาะสมกับขนาดของผู้เข้าร่วม เกริ่นนำถึงความสุขและความทุกข์ที่แต่ละคนได้รับโดยใช้เวลาไม่มากนัก

2.      นำกระดาษชาร์ตจำนวน 5 แผ่น ไปติดตามมุมต่าง ๆ ของบ้านหรือห้อง และแต่ละแผ่นเขียนหัวข้อเรียงตามลำดับสถานี ดังนี้

·       สถานีที่ 1 ข้อห้ามที่เราพบหรือได้ยินบ่อยจากคนรอบข้าง

·       สถานีที่ 2 ความรู้สึกของเราเมื่อถูกห้าม

·       สถานีที่ 3 คิดว่าเขาห้ามเพราะอะไร

·       สถานีที่ 4 ปฏิกิริยาของเราเมื่อถูกห้าม

·       สถานีที่ 5 หากจะทำงานกับผู้ใช้ยาต้องทำอย่างไร

3.      ชี้แจงให้ผู้เข้าร่วมได้เวียนกันเขียนเรียงเนื้อหา / ความรู้สึกตั้งแต่สถานีที่ 1 5 เมื่อครบแล้วชวนคิดชวนคุยไปในรายข้อ

4.      ในขณะที่ชวนคิดชวนคุยถึงความรู้สึกแต่ละข้อจะมีการให้ผู้ที่เข้าร่วมได้เติมเต็มแลกเปลี่ยน และแชร์ประสบการณ์

5.      แลกเปลี่ยนประเด็นว่า การห้ามเหมาะสม หรือเป็นวิธีการที่เพียงพอหรือไม่ แล้วนำข้อคิดเห็นที่ได้ในเวทีเชื่อมโยงกับสถานีที่ 5

6.      สรุปข้อคิดที่ได้จากกิจกรรม (กลุ่มใหญ่)

7.      จากกิจกรรมดังกล่าวพบว่ามีคำสำคัญ หรือคีย์เวอร์ด เป็นหมวดหมู่ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

 

 

ข้อค้นพบจากการทำกิจกรรม-ข้อห้ามที่ผู้ใช้ยาพบ / ได้ยินบ่อย

·       ห้ามสูบบุหรี่

·       ห้ามลักขโมย / ขโมยของ

·       ห้ามดื่มเหล้ามาก

·       ห้ามคบเพื่อนไม่ดี

·       ห้ามมีเมีย / ห้ามชู้สาว

·       ห้ามเสพยาเสพติดทุกชนิด

·       ห้ามพาเพื่อนที่เล่นยาเข้ามาในบ้าน (บ้านไม่ใช่โรงแรม)

 

ความรู้สึกเมื่อถูกห้าม

·       อยากเลิกแต่เลิกไม่ได้

·       ทำไมต้องห้าม

·       คิดค้นหาเหตุผลที่เขาห้าม

·       ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ / อยากเมา

·       ฝืนธรรมชาติ / ฝืนความรู้สึก

·       จะพยายามเสพให้น้อยลง / แอบเสพ

·       หงุดหงิด

·       ก่อนติดทำไมไม่ห้าม ติดแล้วมาห้าม ไม่มีผล

·       อยากโต้ตอบ

·       นำกลับไปคิด

·       เรื่องของเรา สิทธิของเรา เงินเรา

·       รู้สึกเหมือนยั่วยุ ให้อยากทำ

·       ทำไมต้องห้ามเล่นยาในบ้าน เพราะรู้สึกปลอดภัย

 

คิดว่าเขาห้ามเพราะอะไร

·       เพราะเขารักเรา

·       อยากให้เรามีสุขภาพดี

·       เพราะหวังดีไม่อยากให้ถูกเกลียดชัง

·       ที่บ้านกลัวเสียหน้าทางสังคม กลัวเสียชื่อเสียง

·       มีความเป็นห่วง

·       เพราะอยากให้เราได้ดี

·       เพราะเรายังเด็ก อายุน้อยเอาตัวเองไม่รอด

·       กลัวเราถูกตำรวจจับ

·       เพราะหวังดี ไม่อยากให้มีปัญหาภายหลัง

·       เพราะรู้ว่าเรายังหาเงินได้ไม่มาก

 

ปฏิกิริยาตอบโต้ของเราเมื่อถูกห้าม

·       ออกไปสูบนอกบ้าน

·       อยู่ห่างคนที่ห้าม / คอยหลบ

·       ปฏิบัติตามแล้วรู้สึกสบายใจ / ภูมิใจที่ทำได้

·       หงุดหงิดอยากเถียง

·       เก็บกด,อึดอัด

·       น้อยใจ

·       แอบเสพ

·       หลบ ๆ ซ่อน

·       แอบพาเพื่อนเข้าบ้าน

·       แอบคบเพื่อน / เจอเพื่อนข้างนอก

·       ประชด

·       ยิ่งใช้เงินเปลืองขึ้น

 

หากจะทำงานกับผู้ใช้ยาต้องทำอย่างไร(จากมุมมองมองผู้ใช้ยา)

1.      ต้องมีความอดทนสูงมากเพราะการทำงานกับผู้ใช้ยามีปัญหามาก  เช่น

·       เรื่อง เงิน ๆ ทอง ๆ

·       ความน่าเชื่อถือ

·       มีความอ่อนไหวสูง

·       อาการจากยา (เปรมยา)

·       อาการอยากยา (เสี้ยนของ)

·       มีความรู้สึกไว

·       หวาดระแวง สงสัย ไม่ไว้ใจคนรอบข้าง

·       ตำรวจ / สายตำรวจ

·       สภาพครอบครัว

·       สุขภาพจิต

·       ชอบมีโลกส่วนตัว

·       ปิดกั้นตัวเอง

·       ฯลฯ

2.      ต้องมีความตั้งใจที่จะช่วยเพื่อนผู้ใช้ยา เพราะก็เคยเป็นผู้ใช้ยามาก่อน

3.      ต้องมีความอดทนและใช้เหตุผล

·       ต้องดูปัญหาเพื่อนว่าเป็นอย่างไร รวมถึงนิสัยใจคอ

·       ต้องแบ่งใจให้กัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา

·       ไม่ด่วนสรุปหรือตีความอะไรเร็วเกินไป

·       ต้องเข้าใจความหลากหลายของเพื่อนแต่ละคน

4.      ถ้าเป็นไปได้คนทำงานส่วนหนึ่งต้องเป็นผู้ใช้ยามาก่อน

5.      ต้องรู้จักและเข้าใจเพื่อนผู้ใช้ยาก่อนในฐานะที่เป็นอาสาที่มีใจอยากช่วยเหลือ

6.      ต้องเข้าถึงเพื่อนด้วยการใช้ยา (ให้เพื่อนไว้ใจ / ซื้อใจ)

7.      ต้องเข้าใจ เห็นใจเพื่อน อยากให้เพื่อนได้ดีกว่าเรา

 

บทสรุป/ สิ่งที่ได้จากกิจกรรม

·       การห้ามเพียงอย่างเดียวไม่มีพลังเพียงพอในการหยุดหรือยุติพฤติกรรมที่สังคมมองว่ามาเหมาะสมด้วย ไม่ใช้เพราะว่าผู้ใช้ยาไม่ทราบสาเหตุหรือเหตุผลที่ห้าม แต่ยังขึ้นอยู่กับว่าห้ามใคร เพราะการห้ามอย่างเดียวกันมีทั้งคนฟังและไม่ฟัง เชื่อและไม่เชื่อ ทำตามและฝ่าฝืน ไม่ใช่เพราะว่าไม่รู้ถึงสาเหตุว่า ห้ามเพราะรัก เพราะห่วง แต่บางครั้งท่าทีของการห้ามก็กลับกลายเป็นปัจจัยส่งเสริมหรือเหมือนกับยิ่งยุให้กระทำการใด ๆ เพิ่มมากขึ้น อาทิเช่น ห้ามโดยไม่บอกเหตุผล ห้ามด้วยท่าทีแข็งกร้าว ดุดัน ห้ามด้วยมิติทางการใช้อำนาจ

·       การห้าม ความเปลี่ยนเป็นการให้ข้อมูลที่รอบด้านแล้วสร้างทางเลือกที่หลากหลาย ไม่ใช่เป็นการให้ข้อมูลเฉพาะด้านบวกหรือลบ

·       การห้ามไม่เริ่มต้นจากเรา หรือเขา แต่เริ่มจาก เราและเขา ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นเหตุ เป็นผล และเป็นกระบวนการด้วยการหาวิธีการที่หลากหลายเหมาะสม ลดความรู้สึกต่อต้าน กระตุ้นให้อยากเรียนรู้และหยุดพฤติกรรม

·       การรู้จักตัวตน ธรรมชาติของผู้ใช้ยาควรเริ่มต้นจากสิ่งที่เขารู้ สิ่งที่เขามี สิ่งที่เขาเป็น สิ่งที่เขาเห็น การเริ่มต้นด้วยการเอาไม้บรรทัดของผู้ไม่ใช้ยาและกฎเกณฑ์ทางสังคมทั้งหมดไปวัดผู้ใช้ยา จึงเท่ากับการเริ่มก้าวที่พลาด

หมายเลขบันทึก: 172893เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2008 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ครับผม  มาศึกษาเพิ่มเติม 

และขออนุญาตนำไปรวมครับ                    รวมตะกอน

ด้วยความยินดีครับ มีบทความอีกหลายเรื่องที่จะทยอยให้เพื่อนผู้อ่านร่วมแลกเปลี่ยนกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท