9th HA National Forum : ปาฐกถา ทางรอดของการแพทย์ไทย


องค์กรที่มีชีวิต แต่อยากจะเลยจากจุดนั้นคือเป็นองค์กรที่มีวิญญาณ ไม่ใช่สักแต่มีชีวิต

ผ่านไปหลายวันแล้วสำหรับงานประชุม 9th HA National Forum : Living Organization แต่ดิฉันเพิ่งจะมีโอกาสบันทึกถึงบรรยากาศของการประชุมที่ยิ่งใหญ่และประสบการณ์ของตนเอง

ดิฉันไปเข้าร่วมประชุมตั้งแต่วันที่ ๑๒ มีนาคม ไปถึงอิมแพค เมืองทองธานี ประมาณ ๐๘.๐๐ น. ขับรถวนอยู่ ๒ รอบ หาที่จอดรถไม่ได้ ต้องไปจอดอีกฟากหนึ่งของถนน เมื่อเข้าไปในตัวอาคารก็ตะลึงไปกับจำนวนผู้เข้าประชุมที่มากมาย ห้องประชุมใหญ่คนเต็มหมดแล้ว เนื่องจากดิฉันได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีมอบกิตติกรรมประกาศต่อความสำเร็จของระบบบริการผู้ป่วยเบาหวาน จึงมีผู้ดูแลพาเข้าไปนั่งแถวหน้า

เมื่อตอนที่ดิฉันเข้าห้องประชุม VDO เปิดงานเกือบจะจบแล้ว เสียดายที่ไม่ได้ชมตั้งแต่ต้น ฟังจากที่คุณหมออนุวัฒน์ ศุภชุติกุล กล่าวรายงานทำให้ทราบว่าปีนี้มีผู้เข้าประชุมมากถึง ๗,๘๐๐ คน มีห้องประชุมย่ยอ ๑๔ ห้อง เนื้อหาการประชุมสืบเนื่องจากปีที่แล้วที่เป็นเรื่องของ Humanized care ……ทำงานคุณภาพอย่างไรให้มีความสุข พบรหัส-ระบบที่มีชีวิต เอามิติทางจิตวิญญาณคือ Humanized care และระบบที่มีชีวิตเข้ามาผสมผสานกับงานพัฒนาคุณภาพ คำที่น่าสนใจ - ภูมิปัญญารวมหมู่

คุณหมออนุวัฒน์กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้ทีมจัดงานแทบจะไม่ได้ประชุมกันเลย ทุกคนต่างรู้หน้าที่ของตน และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทีมสาธารณสุขทั่วประเทศ ช่วยกันแบบจิตอาสา โรงพยาบาลบางแห่งช่วยขอ sponsor ให้ บางแห่งก็เอาคนมาช่วยจัดกระเป๋า

ปีนี้มี รพ.ที่ได้รับใบประกาศบันไดขั้นที่ ๑ จำนวน ๗๘ แห่ง บันไดขั้นที่ ๒ จำนวน ๒๑๙ แห่ง และความสำเร็จของระบบบริการผู้ป่วยเบาหวาน ๖ แห่ง (ถ้าจำไม่ผิด)

ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานกรรมการบริหารของ พรพ. ปาฐกถาพิเศษ “ทางรอดของการแพทย์ไทย” สิ่งที่อาจารย์จรัสกล่าวถึงนั้นเป็นเรื่องที่อยู่รอบๆ ตัวเรานั่นเอง แต่เราอาจมองไม่เห็นหรือไม่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นภาพ จึงดีมากๆ ที่มีผู้อาวุโสมาคอยชี้บอก ดิฉันจดบันทึกได้กระท่อนกระแท่น เพราะชอบจดมากกว่าการบันทึกเสียง การเอามาเรียบเรียงอีกทีเหมือนกับการทบทวนการเรียนรู้ของตนเอง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ท่านได้บันทึกเรื่องนี้ไว้แล้วอ่านได้ที่นี่

อาจารย์จรัสกล่าวว่าตั้งชื่อเรื่องตอนต้นว่า ทิศทางระบบสุขภาพ คุณภาพ และงานวิจัย ในทศวรรษหน้า แต่รู้สึกว่าเรื่องมันแรงกว่านั้นเยอะ จึงขอเปลี่ยนเรื่อง ปัจจุบันเราประสบกับ “พายุระบบสุขภาพ” ซึ่งมาแรงมาก ต้องพิจารณาพายุให้ดีแล้วดูว่าจะจัดการอย่างไร

# วิทยาการก้าวหน้า (Knowledge explosion) ทำให้การแพทย์เปลี่ยนไป ความรู้มากระทบทำให้เราต้องปรับเปลี่ยน ความรู้วิชาการ ความรู้เฉพาะถิ่น นวัตกรรม

ตัวอย่างการทำงานของ รพช. เรื่องของ DM, HT, COPD, Asphyxia neonatorum (เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีคนทำ Caesarian section), Acute MI, Cerebral ischemic stroke, Acute appendicitis มี รพ.หนึ่งผ่า Appendicitis มาก แต่พบว่ามี Appendice rupture เยอะ

การรักษามะเร็ง มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงมาก การวินิจฉัยต่างไปจากเดิมมาก เกิดการรักษาเฉพาะบุคคล มีความจำเพาะเจาะจง แม่นยำยิ่งขึ้น สลับซับซ้อน.......เปลี่ยนจากมะเร็งตัดสินชีวิต เป็นป้องกันได้ รักษาได้ เรื้อรัง


# กระแสทุนนิยมเสรี ทำให้สุขภาพกลายเป็นสินค้า ธุรกิจบริการ อุตสาหกรรมบริการ เรื่องของกำไรสูงสุด การแข่งขัน เปลี่ยนความสัมพันธ์จากแพทย์เป็นผู้ให้บริการ – ผู้รับบริการ ผู้ขายบริการ – ผู้ซื้อบริการ ฯลฯ แถมมีสินค้าข้ามชาติเข้ามาอีก ทำให้พวกเราเดือดร้อนยิ่งขึ้น


# กระแสประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เรื่องสุขภาพกลายเป็นสิทธิ สิทธิในการเข้าถึงและได้รับบริการ บริการสุขภาพที่มีคุณภาพเป็นสิทธิ สิทธิในความมีศักดิ์ศรี สิทธิในการชดเชย ชดเชยเมื่อผลไม่ดี การช่วยเหลือกลายเป็นยอมรับว่าผิด การแพทย์เปลี่ยน ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับสังคม แพทย์กับผู้ป่วยเปลี่ยน โอกาสเข้าใจผิดมากขึ้น โอกาสขัดแย้งมากขึ้น

ในสภาพของพายุที่มีอยู่ ก็มีพายุข้อมูลข่าวสาร ความรู้ โฆษณา การเมืองในประเทศ การเมืองระหว่างประเทศ ฯลฯ

ทางรอด เศรษฐกิจพอเพียง คำตอบคือ
- ความพอเพียง ความพอดี ทางสายกลาง
- ความถูกต้อง ความมีเหตุผล มีหลักฐาน ใช้ความรู้
- ภูมิคุ้มกันต่อความไม่แน่นอนและต่ออนาคต
- ความรู้ ความรอบรู้ ความรอบคอบ ระมัดระวัง ใช้ปัญญา
- ซื่อสัตย์

ต้องตั้งสติให้ดี แยกสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยง สิ่งที่มิพึงประสงค์

คุณภาพระบบบริการ สิ่งที่ต้องมีคือความเพียร (ขยัน หมั่นเพียร อดทน ทำแต่ความดี)  เมตตากรุณา (ประสงค์ดี ให้หาย ให้บรรเทา) ซื่อสัตย์ (ประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก) สุจริต ปัญญา ศรัทธา (ต้องอย่าเสียศรัทธา เชื่อในวิชาชีพ เชื่อในสังคม เชื่อในประชาชน)

ทั้งหมดอยู่บนฐานของคุณภาพ นี่คือทางรอด

ตั้งสติให้ดี แล้วทำให้เกิดขึ้น

# รักษาศีลแห่งวิชาชีพ จริงใจ อย่าหลอก อย่าลวง อย่าเห็นแก่ตัว ละความอยาก อย่าสร้างความอยาก มีโฆษณามากมายที่หลอกชาวบ้าน สร้างความอยาก อย่าหลอกอย่าลวงเพื่อประโยชน์ของเรา อย่าสร้างความอยากให้ชาวบ้าน

# สื่อสารสร้างความเข้าใจในสังคม โดยเฉพาะความไม่แน่นอนในระบบบริการสุขภาพ ต้องหาพันธมิตร เช่น สื่อมวลชน นักกฎหมาย ศาล องค์กรสังคมต่างๆ NGO

องค์กรที่มีชีวิต แต่อยากจะเลยจากจุดนั้นคือเป็นองค์กรที่มีวิญญาณ ไม่ใช่สักแต่มีชีวิต “การที่ท่านทั้งหลายมาร่วมกันและจะทำความดี แสดงว่ามีวิญญาณ” “รักษาวิญญาณของตัวเองไว้ จะสามารถสู้กับพายุทั้งหลายได้”

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 172433เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2008 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณ อวัลลา ค่ะ

ที่บันทึก ได้รายละเอียด ครอบคลุม

วันนั้นดิฉัน อยู่ในงาน แต่ไม่อยู่ในห้อง และไม่สามารถฟังอย่างตั้งใจได้

มาตามอ่าน แล้ว รู้สึกว่าโชคดี ล้างความรู้สึก เสียดาย ที่ไม่ได้ฟัง ตอนเหตุการณ์ จริงได้เลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท