HA National Forum 9th (3) ใช้ความดี ปลุกพลังความดี ขับเคลื่อนองค์กร โดยท่านพระไพศาล วิศาโล


การใช้พลังความดี ในการขับเคลื่อนองค์กร

เล่าต่อจากบันทึกที่ 1 และ 2  ค่ะ   ในงาน HA National Forum ครั้งที่ 9 นี้ มีเรื่องราวและการบรรยายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านในของคนอยู่หลายห้องตลอด 3 วัน เพราะองค์กรที่มีชีวิตในที่นี้ พรพ. (ผู้จัด) หมายความถึงชีวิตที่ลึกเข้าไปถึงระดับจิตใจ และ ลึกไปถึงระดับจิตวิญญาณ

ได้ยินคำว่า "จิตวิญญาน" ,  "จิตวิวัฒน์"  หรือ "การพัฒนาด้านใน" บ่อยๆ  แต่ไม่ได้เข้าใจลึกซึ้ง หรือ เกือบไม่รู้นิยามจริงๆ เสียด้วยซ้ำ

หัวข้อการบรรยายของท่าน พระไพศาล วิศาโล แห่งวัดป่าสุคะโต "การขับเคลื่อนองค์กรด้วยจิตวิวัฒน์"  จึงเป็นหัวข้อที่ตั้งใจมาฟังโดยเฉพาะ

 ท่านเกริ่นนำด้วยนิยามของคำว่า “ชีวิต

หากจำกัดความหมายของคำว่า “ชีวิต” ไว้แค่ เรื่องราวที่เกี่ยวกับกระบวนการของเซลล์ทางชีวเคมี การทำงานของเซลล์ เนื้อเยื่อ และ ร่างกาย  จะทำนิยามชีวิตขาดมิติอื่นๆ  โดยเฉพาะมิติทาง “จิตวิญญาณ

ก่อนจะถึงกล่าวในรายละเอียดเกี่ยวกับจิตวิญาณและการขับเคลื่อนชีวิต  ท่านชี้ให้เห็นธรรมชาติของจิตซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 3 ระดับ หรือ 3 ชั้น (เชิงเปรียบเทียบ) คือ ชั้นนอกสุด อัตตา  ถัดมาคือ มโนธรรม และ ชั้นในสุด โพธิจิต

อัตตา เป็น สัญชาติญาณความเห็นแก่ตัวของสิ่งมีชีวิต เป็นธรรมชาติของชีวิต  เป็นแรงผลักให้ชีวิตกระทำการเพื่อความอยู่รอด  แต่ข้อเสีย คือ มันสัมพันธ์กับ ความอยาก  อยากมี อยากได้ อย่างเป็น 

แต่มนุษย์.. หาได้มีความต้องการเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น  มนุษย์ยังมีธรรมชาติที่ต้องการความสุขด้วย  

เป็นความสุขที่เกิดขึ้น เมื่อได้ทำเพื่อผู้อื่น แม้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีอำนาจ ก็สุขได้ เรียกธรรมชาติส่วนนี้ของจิตว่า “มโนธรรม

“อัตตา” ทำให้เราเกิดทุกข์ เมื่อเห็นคนอื่นดีกว่า แต่.....
“มโนธรรม” ทำให้เราไม่สบายใจ เมื่อเห็นคนอื่นทุกข์
อัตตา และ มโนธรรม จะมากจะน้อยในแต่ละคน ขึ้นกับการฝึกฝน

จริงๆ แล้ว มโนธรรม มีมาตั้งแต่เกิด  เด็กทารก เมื่อได้ยินเสียงเด็กคนอื่นร้อง ก็จะร้องด้วย  เด็กในช่วงน้อยกว่า 18 เดือน จะหยิบยื่นของที่ตัวเองชอบให้เพื่อน   นักวิทยาศาสตร์เอง ก็ศึกษาพบว่า มีเซลล์ประสาทรับความรู้สึกที่รับความรู้สึกของผู้อื่นได้ 

ดังนั้น คนเรามี “มโนธรรม” เป็นธรรมชาติตั้งแต่เราเป็นทารกตัวน้อยๆ  เมื่อชีวิตเริ่มเติบโต สิ่งรอบล้อมกลับทำให้จิตที่งดงาม ถูกครอบงำด้วยอัตตา
 
แต่บางคน ยึดติดมโนธรรมมากไป ก็เป็นทุกข์ได้ ทุกข์ว่าทำไม่ดีพอ หรือบางครั้ง ทำดีเพื่อสนองอัตตา เช่น เธอต้องทำดีเหมือนฉัน อย่างนี้ เป็นการปล่อยให้อัตตาครอบงำ 

มีอีกสภาวะหนึ่ง ที่อยู่ลึกกว่า นั่นคือ “โพธิจิต”  เป็นสภาวะจิตที่อยู่เหนือเส้นแบ่ง เรา เขา เป็นสภาวะที่จิตตื่นรู้ เห็นความจริง ปราศจากการยึดติดใดๆ  หากใครมีโอกาส แม้ชั่วขณะ เข้าสู่สภาวะนี้ ก็จะรู้สึกถึงความปิติ  และเติมเต็ม

สรุปว่า.....
อัตตา          มุ่งปรนเปรอตนเอง
มโนธรรม     ช่วยกล่อมเกลาอัตตาให้เบาบางลง
โพธิจิต        ไร้อัตตา อิสระ เข้าถึงความจริงสูงสุด 

การเข้าถึง จิตวิญญาณ ก็คือ การเข้าถึงจิตชั้นที่ 2 และ 3 นั่นเอง

ท่านชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันของ ความสุข (จากสภาวะของจิตชั้นที่ 2 และ 3)  ความเข้าใจ และ การทำความดี 

จิตวิวัฒน์” ก็คือการพัฒนาจิตชั้นที่ 2 และ 3 แล้วนำมาขับเคลื่อนชีวิต

ในพวกเราคนธรรมดา อัตตา และ มโนธรรม มันจะแข่งกันปรากฏตัวออกมาเสมอ
เช่น เราเห็นคนแก่หรือเด็กขึ้นรถไฟฟ้า เราจะพยายามทำเป็นมองไม่เห็น โดยอ้างเหตุผลของอัตตาว่า ก็คนอื่นเขาก็ทำกันแบบนี้ 

ในแง่การทำงาน  จิตวิวัฒน์เกิดได้ เมื่อเห็นคุณค่าของงานที่เราทำ  เราจะเสียสละมากขึ้น แม้จะเจอกับอุปสรรค ก็จะทำ เพราะเห็นประโยชน์ส่วนรวม  

เราสามารถใช้งานเป็นเครื่องมือในการฝึกตนได้  เปิดใจรับคำวิจารณ์ ทำให้เราเกิดปัญญา

เราไม่ได้ทำงานคนเดียว คนหลายๆ คนทำงานในองค์กร  องค์กรต้องฉลาดในการจัดการความดี ทำให้อัตตาเบาบางลง

ถามว่าทำอย่างไร ?? ทำได้โดย “ปลุกพลังความดี” ด้วยการ...
1. ใส่ใจความทุกข์ผู้อื่น
2. เห็นความดีผู้อื่น เพียงแค่ได้ยิน ก็เหมือนได้เห็น อยากจะทำความดีตาม
3. รับไมตรีจิตจากผู้อื่น บางครั้ง ไมตรีดีๆ ที่ได้รับก็ปลุกจิตสำนึกหรือต่อมความดีได้
4. มีคนเห็นความดีของตน หรือ เชื่อว่าตนทำความดี
5. ข้ามพ้นอคติ อัตลักษณ์ หรือ สถานภาพ เช่น ฉันเป็นหัวหน้า เธอเป็นลูกน้อง
6. ได้รับคำชม เมื่อทำความดี
7. มีความสุข จะเกิดความมั่นคงในจิตใจ
8. ได้ทำความดีด้วยตนเอง และเห็นผู้อื่นมีความสุข 

เปรียบเหมือน “ใช้ความดี ปลุกพลังความดี

แล้วหน่วยงาน จะทำอย่างไร ที่จะส่งเสริมการทำความดี?
1. ชักชวนเหนี่ยวนำผู้คน ให้แบ่งปันความดี เช่นเล่าประสบการณ์ความดีที่ตนทำหรือที่เคยเห็นมา
2. เปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยน สุข-ทุกข์ในชีวิต
3. ชื่นชมซึ่งกันและกัน ให้กำลังใจกัน  การตำหนิที่ไม่สร้างสรรค์ จะปลุกอัตตาขึ้นมาทำงานแทน
4. ทำงานร่วมกัน รับผิดชอบร่วมกัน จะทำให้เห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน
5. ร่วมกันทำสาธารณะประโยชน์ เกื้อกูลผู้อื่น
6. ส่งเสริมให้มีการพัฒนาชีวิตด้านใน
7. สร้างบรรยากาศให้งานเป็นเรื่องสนุก และเป็นเวทีแห่งการเรียนรู้

ซึ่งองค์กรที่จะทำแบบอย่างที่กล่าวมาได้ ต้อง..
1. เป็นองค์กรแนวนอน
2. โปร่งใส เน้นการมีส่วนร่วม
3. ไม่ส่งเสริมการแข่งขัน หรือ อำนาจนิยม
4. ไม่เอาผลประโยชน์ทางวัตถุเป็นตัวตั้ง แต่คำนึงถึงความสุขของคนทำงานด้วย
5. เป็นแบบอย่างในร่วมมือกับหน่วยงานอื่น

ดังนั้น จิตวิวัฒน์ ช่วยทำให้ชีวิตมีความสุข โปร่งใส   คนมีความสุข ก็ทำให้องค์กรขับเคลื่อนงานได้ดี องค์กรขับเคลื่อนงาน  คนก็ได้พัฒนาจิต  ชีวิตก็มีสุข วนเวียนกันเป็นลูกโซ่  ดังนั้นทั้งสามส่วน คือ จิตวิวัฒน์ ชีวิต และ องค์กรจึงสัมพันธ์กันและเกื้อกูลกัน

อยากจะสรุปง่ายๆ ด้วยตนเองว่า
การใช้พลังความดี ในการขับเคลื่อนองค์กร
เป็นการลงทุน ที่ใช้ต้นทุนทางวัตถุน้อยมาก หากทำได้ จะให้ผลงานยิ่งใหญ่  
และเป็นผลงานที่บริสุทธิ์ เพราะเป็นผลจากจิตที่ดี ไม่ใช่ผลงานที่เกิดจากแรงผลักของอัตตา....
 

เป็นการบรรยายที่ตัวเองประทับใจมากที่สุดในการประชุมครั้งนี้  ทำให้เราเห็นภาพความเชื่อมโยงธรรมชาติของจิตใจคน กับ วิถีการดำเนินชีวิต สู่วิถีการขับเคลื่อนองค์กร  ทำให้เข้าใจได้ง่ายๆ  ผ่านการได้ยิน ได้เห็นตามที่ท่านพูด ท่านเล่า และแสดงภาพเปรียบเทียบ 

***กราบขอบพระคุณพระเดช พระคุณเจ้า  ท่านพระไพศาล วิศาโล ผู้ชี้ทางสว่าง และ พรพ. ที่จัดให้มีการบรรยายนี้..***


 

หมายเลขบันทึก: 171159เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2008 15:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ลงชื่อเข้ามาอ่านครับ

ขอบคุณคุณ กวินทรากร ค่ะ ที่ตามมาอ่านอย่างทันใจติดต่อกันทั้ง 3 บันทึก กะว่าจะเขียนสัก 5 บันทึกค่ะ เพราะเก็บได้เป็นกอบเป็นกำ ก็เพียงวันแรกที่มีสมาธิในการฟังมากที่สุดอยู่

อยากแบ่งปันเรื่องดีๆ ให้คนอื่นได้รับรู้ด้วยนะค่ะ หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการ ปลุกพลังความดี ได้บ้าง

  • วันอาทิตย์ ว่าง น่ะครับ  ก็อ่านไปเรื่อยๆ เขียนอีกก็ตามอ่านได้อีกนะครับ อิๆ
  • ตอนนี้พยามก็ทำดีอยู่ครับ (สมัยก่อนไม่ดี ฮา..)

สวัสดีครับอาจารย์

ตามมาอ่านอีกครับ ^_^

 

เป็นการบรรยายที่..โดนใจมากๆครับ

  ละเอียด  เชื่อมโยง ครอบคลุม  และผมเชื่อว่าน่าจะเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนะครับ

 

  จากการลองทำดู  แม้จะไม่สมบูรณ์แต่ก็เห็นผลจริงๆครับว่าเรื่องราวที่ท่านพระอาจารย์บรรยายนั้นเป็นจริงอย่างยิ่งครับ

  น่าจะเป็นการเชื่อมโยงปรมัตถธรรมกับโลกธรรม..

 

  ขอบพระคุณครับผม..

สวัสดีครับอาจารย์

ตามมาอ่านอีกครับ ^_^

 

เป็นการบรรยายที่..โดนใจมากๆครับ

  ละเอียด  เชื่อมโยง ครอบคลุม  และผมเชื่อว่าน่าจะเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนะครับ

 

  จากการลองทำดู  แม้จะไม่สมบูรณ์แต่ก็เห็นผลจริงๆครับว่าเรื่องราวที่ท่านพระอาจารย์บรรยายนั้นเป็นจริงอย่างยิ่งครับ

  น่าจะเป็นการเชื่อมโยงปรมัตถธรรมกับโลกธรรม..

 

  ขอบพระคุณครับผม..

อาจารย์ฮั้ว

ส่วนตัวเพิ่งประสบมากับตัวเอง

มองคนรอบข้าง  ทั้งห่างและใกล้ชิดแบบใหม่

คิดว่าเราเป็นเขา ณ ตอนนั้นเราทำอย่างนั้นหรือเปล่า(action)

และถ้าทำเราหวังได้การตอบแทนการกระทำนั้น ๆ แบบไหน(reaction)

ที่สุด  ความคิดเราก็เปลี่ยนไป ในทางที่คิดยกระดับจิตใจตัวเอง

................อ้อ.........ฝากบอกว่า  พวกเรา(เพื่อน ๆ)กำลังเขียนถึงเพื่อนในกระทู้ใน www.chonladahosp.com

คิดถึงมากๆๆๆๆ

  • ขอบคุณค่ะ อ.รศ.พญ. ปารมี ทองสุกใส ที่เอา Hi-light มาแบ่งปัน
  • หัวใจสำคัญ คงจะเป็น “ใช้ความดี ปลุกพลังความดี

  • น่าจะเป็น http://www.cholladahosp.com/ นะครับ ตกตัว L ไปหนึ่งตัว ค้นจาก google

ขอบคุณอาจารย์มากๆเลยค่ะที่ย่อยออกมาได้ดีมากๆ คิดว่าน่าจะเป็นบันทึกอมตะได้อีกชิ้นเลยนะคะ อ่านเมื่อไหร่ก็ใช้ได้เสมอ รู้สึกว่าวัยและประสบการณ์ก็มีส่วนช่วยให้เราเรียนรู้พัฒนาสภาวะจิตได้ด้วยเหมือนกันนะคะ นานๆก็จะได้ปิติกับโพธิจิตสักครั้ง เห็นจริงๆเหมือนกันค่ะว่า พอได้รับรู้สภาวะนั้นบ้างแล้วก็จะรู้สึกว่าเรา "เต็ม"แล้ว ไม่มีอะไรที่ต้องการอีก อยากจะทำตัวทำใจให้ไปถึงภาวะนั้นได้เสมอๆค่ะ เชื่อว่าถ้าเราฝึกจิต คิดพิจารณาอยู่เสมอ เราก็จะยิ่งทำได้มากขึ้นค่ะ

สุดยอดเลยครับ อาจารย์อย่าเพิ่งหยุดแค่ 5 เรื่องเลยครับ

วันแรก ไม่ได้มีสมาธิมาก เพราะชุลมุน อยู่กับการเตรียมซ้อมนำเสนอ

ขอบพระคุณ อาจารย์ ปารมีที่เก็บมาอย่างละเอียด

อ่านแล้วจิตใหญ่ไปด้วยค่ะ

ประชุมอย่างนอน(ไม่)สต็อป

ยาวเหยียด มึนแต่หลังจากพูดแบบลูกทุ่ง ๆ (นอน-วิชาการ)หัวหน้าเห็นด้วย

จึงต้องรีบมาคุ้ย ลุยอ่าน

มาอ่านของอ.ปารมีนี่แหละ

ขอก๊อบ และไปเผยแพร่

ไม่จ่าย..ตังค์ 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท