ความคิดที่ไม่น่าจะหล่นหาย


ทำไมเค้ามีสำนึกรักบ้านเกิดมากกว่า อีกหลายคนที่ใช้ชีวิตที่บ้านเกิดหลายปี
ในชุมชนท้องถิ่น จะมีปราชญ์ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่มากมาย
มีความรู้ในพื้นที่อีกมาก ที่กำลังจะสูญหายไปกับกาลเวลาและอายุขัยของปราชญ์ท่านนั้น

"ทำไมหนอ หลายคนที่มีสิ่งที่ดีๆในตัว ทำไมถึงปล่อยให้สิ่งดีๆ สูญหายไปกับกาลเวลา ไม่ว่าจะภูมิปัญญาท้องถิ่น
ประเพณีวัฒนธรรม งานฝีมือ และมรดกต่างๆที่ปู่ย่า ตายายได้คิดเอาไว้"

คุณอำนาจ แห่งหนองสรวง เคยเอ่ยกะนายบอนทำนองนี้

"ไม่อยากจะให้ความคิด และสิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้ หล่นหายไปตามกาลเวลา"

แต่คนรุ่นใหม่ ก็ไม่ค่อยจะได้เข้าถึงมรดกเหล่านี้ เพราะสื่อต่างๆในปัจุบัน ทั้งทีวี internet ...
ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับทุกวัน ดูจะมีคุณค่าสำหรับพวกเค้า มากกว่าภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่ดูเชยๆไปแล้ว

แต่เมื่อคุณอำนาจ ได้นำเรื่องเหล่านี้ ไปปรึกษาหารือกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ทุกคนเห็นด้วย
เพียงแต่ขอให้มีผู้ที่จุดประกาย และเป็นแกนนำ ทุกคนก็พร้อมที่จะร่วมด้วย

หลายคนก็คิดเหมือนกับคุณอำนาจ

คุณอำนาจ บ้านอยู่ ต.หนองสรวง อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ติดริมเขื่อนลำปาว
ออกจากบ้านตั้งแต่วัยเด็กไปหาประสบการณ์ชีวิตแต่วัยเยาว์
เพราะฐานะทางบ้านยากจน

ช่วง ม.1- ม.3 บวชเรียนเป็นสามเณรที่วัดปฐมเกษาราม อ.กมลาไสย

ได้สัมผัสกับธรรมะมาตั้งแต่ตอนนั้น

ม.4 ออกมาใช้ชีวิตทางโลก เรียนโรงเรียนชายประจำจังหวัด (กพส.)
ต้องพักอยู่ที่วัดใต้โพธิ์ค้ำกับหลงพ่อ อาศัยข้าวกันบาตรเรื่อยมา

ได้รับทุนเรียนดี แต่ยากจนตอน ม.4 เทอมที่ 2 จนจบชั้น ม.6

เป็นคนที่บุคลิกภาพเรียบร้อย สมถะ ตอนเที่ยงก็ไม่มีข้าวจะทาน

บุคลิกของเขาไปโดนใจคุณป้าที่ขายข้าวเที่ยงใน ร.ร. กพส.
ท่านเอ็นดู จึงได้เมตตาให้ข้าวมื้อเที่ยงแก่คุณอำนาจ ทานฟรีทุกมื้อเที่ยงจนจบชั้น ม.6

เขาจะทานข้าวในจานจนไม่เหลือแม้แต่เม็ดเดียว
เจอกันในปัจจุบัน ท่านก็จะทานข้าวในจานไม่เหลือ

เมื่อเขาเห็นนักเรียนหลายคน ที่ทานข้าวเหลือ จนพี่ๆคนทำความสะอาดรวบรวมเศษอาหารใส่ถุงได้มากโข

คิดแล้วก็เสียดายข้าว ข้าวที่เหลือเหล่านั้น อาจทำให้หลายคนได้รับโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้น

แต่ดูเหมือนว่า คุณอำนาจจะเป็นชนกลุ่มน้อยในโรงเรียน
นี่เป็นโรงเรียนในตัวจังหวัด เพื่อนรุ่นเดียวกัน ก็อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะอันจะกินทั้งนั้น

ทั้งกิน เที่ยว สารพัด
แต่โชคก็ยังเข้าข้าง ที่คุณอำนาจ เจอเพื่อนที่อยู่ในสภาพเดียวกัน
มีนิสัยคล้ายๆกัน ก็เลยรวมกลุ่ม เรียกว่า กลุ่มถุงน้ำแข็ง ร่วมทุกข์ ร่วมสุขกันมา

กลุ่มนี้ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งตรงกันข้ามกับเพื่อนในวัยเดียวกัน หลายคน

จบ ม.6 ก็ไปทำงานที่อยุธยา เป็นพนักงานโรงแรม เป็นนักข่าว-นักประชาสัมพันธ์ ของ อบจ.อยุธยา
ผ่านประสบการณ์มาหลายอย่าง จนในที่สุด อยากกลับมาพัฒนาบ้านเกิด

เป็นแกนหลักในการรวบรวมเพื่อนๆ และรุ่นน้องในตำบลหนองสรวง รวมตัวกันทำอะไรสักอย่าง เพื่อบ้านเกิด



คุณอำนาจจากบ้านเกิดตั้งแต่เด็กๆ
แทบจะไม่มีความผูกพันกับถิ่นฐานบ้านเกิดเลย แต่ตอนนี้ อยากหวนกลับมาพัฒนาบ้านเกิด...

ทำไมเค้ามีสำนึกรักบ้านเกิดมากกว่า อีกหลายคนที่ใช้ชีวิตที่บ้านเกิดหลายปี
แต่เมื่อมีโอกาสไปเรียน หรือทำงานที่อื่น กลับไม่คิดหวนคืนบ้านเกิดเลย


อาจเป็นเพราะ
เค้าเคยได้โอกาสที่ดีๆ ได้รับทุนการศึกษา ได้รับการอบรมสั่งสอนจากการบวชเรียนมา 3 ปี
ได้รับน้ำใจทีดีๆจากหลายๆคน ตั้งแต่คุณป้าที่ขายข้าวแกง ที่ให้ทานข้าวเที่ยงฟรีทุกมื้อจนจบชั้น ม.6

ทำให้เขารับรู้คุณค่าของสิ่งที่เขาได้รับ

เขาเกิดสำนึกรักบ้านเกิด...
เมื่ออยากให้รุ่นน้องๆคิดแบบนี้บ้าง .... ก็ต้องให้พวกเขาได้โอกาสดีๆเหมือนกับที่คุณอำนาจเคยได้รับ


คุณอำนาจ เลยประสานกับเพื่อนๆร่วมอุดมการณ์ ทำ กองทุนศิษย์เก่าเพื่อน้อง ต.หนองสรวง
"หยิบยื่นทุนการศึกษาให้ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลงส่วนหนึ่ง เป็นกำลังใจให้ต่อสู้ต่อไป เพื่อให้พวกเขาสามารถยืนได้ด้วยตัวเองและเอาตัวรอดได้ ....

... เหมือนสอนให้พวกเขารู้วิธีจับปลา เพื่อจะได้ดำรงชีวิตต่อไป . ไม่ใช่หาปลาให้พวกเขา...."

เขาคิดที่จะมีส่วนร่วมในการมอบโอกาสเหล่านี้ ให้กับลูกหลานบ้านเกิด
ให้ได้สัมผัสโอกาสและสร้างโอกาสทีดีในชีวิตด้วยสองมือของลูกหลานแต่ละคนเอง.... อีกครั้ง

ในขณะที่ตัวของคุณอำนาจเอง มีครอบครัวอยู่ที่นครราชสีมา และไปทำงานที่ชลบุรีในช่วงเวลานี้

แต่ก็สามารถทำอะไรเพื่อบ้านเกิดของตัวเองได้ ตามสไตล์ของเขาเอง

หมายเลขบันทึก: 17089เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2006 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
     ในสังคมไทยอาจจะยังมีคนที่มีสำนึกดีแบบคุณอำนาจแต่พวกเค้ายังไม่ได้แสดงตัวตนออกมา  และถ้าเมื่อไหร่พวกเค้าได้หันมาทำอะไรเพื่อเป็นการตอบแทนสังคมไทยบ้างในแบบของแต่ละคน  คนละเล็กคนละน้อย  สังคมของเราก็จะเป็นสังคมที่คนในสังคมอยู่อย่างมีความสุขกันมากกว่านี้อีกนะคะ

ก็ต้องช่วยกันพูด เขียน บันทึก  สิ่งที่ดีๆเอาไว้.

เป็นจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม ว่าครั้งหนึ่ง ๆ เราได้อาศัย เคยได้สัมผัสกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้พบเห็นและเจอะเจอ เป็นมุมมองหนึ่งผ่านประสบการณ์มุมเล็ก ๆ นำมาบอกเล่าให้พวกเราได้ฟังและได้ศึกษา ในวิถีชีวิตในชุมชนของตนเอง  กระผมมีประสบการณ์น้อยอาจบอกเล่าถึงเรื่องราวของท้องถิ่นไม่ได้มากเท่าใดนัก  ว่าง ๆ ก็นำคณะสำรวจเที่ยวชมถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมต่างพื้นที่ที่ห่างไกลได้นะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท