มาตรฐานการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๕๐


การจัดบริการสวัสดิการสังคมต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้รับบริการสวัสดิการสังคม การให้ผู้รับบริการสวัสดิการสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้อย่างทั่วถึงเหมาะสม และเป็นธรรม โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การรักษาความลับของผู้รับบริการสวัสดิการสังคม สิทธิที่ประชาชนจะต้องได้รับ และการมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมทุกระดับ

 

คืนนี้นอนไม่หลับ คงเพราะอ่านหนังสือเพลินไปหน่อย เลยเวลานอน ตาค้างไปเสียอย่างนั้น  นั่งท่องเน็ตยามดึกเสียหน่อย ประสาเน็ตฟรีราคาถูก (๓ บาท ต่อ ๒ ชม. ต่อ ๓๖-๔๐ kbps) ดึกๆ จะค่อนข้างเร็วครับ  เข้าเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาอ่านระเบียบและกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องไปเรื่อยเปื่อย แล้วก็ตะลึงเมื่อไปเห็นระเบียบและข้อกำหนดของคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ (ก.ส.ค.) ๒ ฉบับ ระบุที่หัวกระดาษว่า

เล่ม ๑๒๔ ตอนพิเศษ ๕๗ ง  ราชกิจจานุเบกษา  ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐
ข้อกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

เฮ้ย !!!  มีข้อกำหนดนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมเงียบเชียบเหลือเกิน
๑๐ เดือนผ่านไป ผมเพิ่งรู้หรือเนี่ย

ตะลึงเพราะดีใจครับ
ตะลึงเพราะเพิ่งรู้ เพิ่งเห็น
ผมเข้าใจว่าผมไม่พลาดนะ ถ้าจะมีหนังสือแจ้งเวียนมาถึงหน่วยงาน (เพราะอย่างน้อยที่สุดก็น่าจะมีการพูดคุยกันต่างหน่วยงานบ้าง)
ผมว่าผมก็เข้าเว็บไซต์ของกระทรวงและในส่วนของ ก.ส.ค. อยู่บ่อยๆ ก็ไม่ปรากฏว่าจะผ่านตาแต่อย่างใด

ถ้าเราเชื่อและยอมรับว่า สมศ. มีอยู่เพื่อพัฒนาระบบมาตรฐานการศึกษาไทยทุกระดับของไทย
ถ้าเราเชื่อและยอมรับว่า พรพ. ก็มีบทบาทไม่แตกต่างกันในการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลทั่วไทย
มาตรฐานฉบับนี้ของ ก.ส.ค. ก็มิได้แตกต่างไปจากนั้นหรอกครับ
ไม่ได้แตกต่างในความหมายว่า มีฐานคิดที่ไม่แตกต่างกัน
กำหนดมาตรฐาน/ตัวชี้วัด ติดตามตรวจประเมินผลการดำเนินการงาน (กองเอกสารท่วมหัว)


ผมขออนุญาตตัดตอนเนื้อหาบางส่วนมาเผยแพร่ซ้ำอีกรอบครับ
เผยแพร่ซ้ำโดยเฉพาะเผื่อจะมีคนที่ยังไม่รู้ ไม่เห็น เช่นผม
เชิญทัศนา...


------------------------------------------------------------------------------------------------------


ข้อกำหนดคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ
ว่าด้วยมาตรฐานการจัดสวัสดิการสังคม
พ.ศ. ๒๕๕๐

ด้วยพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๔๖ มีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์การสวัสดิการสังคม นักสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัครมีความสามารถในการจัดบริการทางสังคมให้แก่ผู้รับบริการสวัสดิการสังคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้รับการพัฒนามาตรฐานการจัดสวัสดิการสังคมให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และสามารถช่วยเหลือผู้รับบริการสวัสดิการสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้อย่างทั่วถึง เหมาะสมและเป็นธรรม

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๓ (๖) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมพ.ศ. ๒๕๔๖ คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ จึงออกข้อกำหนดคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติว่าด้วยมาตรฐานการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๕๐

ในข้อกำหนดนี้ท่านนิยามความหมายไว้หลายคำแต่ที่เห็นว่าแตกต่างจากฉบับอื่นน่าจะได้แก่

"องค์การสวัสดิการสังคม" หมายความว่า หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมและองค์กรสาธารณประโยชน์

"องค์กรสาธารณประโยชน์" หมายความว่า องค์กรภาคเอกชนที่ได้รับการรับรองให้ดำเนินงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๔๖

“อาสาสมัคร” หมายความว่า ผู้ซึ่งอาสาช่วยปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมในองค์การสวัสดิการสังคม


หมวด ๑
มาตรฐานการจัดบริการสวัสดิการสังคม

ข้อ ๕ การจัดบริการสวัสดิการสังคมต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายปฏิญญา อนุสัญญา และข้อตกลงที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งไม่ขัดนโยบาย แผน และมาตรฐานการจัดสวัสดิการสังคมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ข้อ ๖ การจัดบริการสวัสดิการสังคมต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้รับบริการสวัสดิการสังคม การให้ผู้รับบริการสวัสดิการสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้อย่างทั่วถึงเหมาะสม และเป็นธรรม โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การรักษาความลับของผู้รับบริการสวัสดิการสังคม สิทธิที่ประชาชนจะต้องได้รับ และการมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมทุกระดับ

ข้อ ๗ การจัดบริการสวัสดิการสังคมต้องคำนึงถึงสาขาของการจัดสวัสดิการสังคมได้แก่ การบริการทางสังคม การศึกษา สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย การฝึกอาชีพ การประกอบอาชีพ นันทนาการ และกระบวนการยุติธรรม

ข้อ ๘ การจัดบริการสวัสดิการสังคมต้องคำนึงถึงลักษณะหรือรูปแบบและวิธีการในการดำเนินการตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและประเด็นปัญหาที่ควรได้รับการป้องกันแก้ไขทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว เช่น การส่งเสริม การพัฒนา การพิทักษ์ ปกป้อง คุ้มครอง การป้องกัน การแก้ไข การสงเคราะห์ และบำบัดฟื้นฟู เป็นต้น


หมวด ๒
มาตรฐานองค์การสวัสดิการสังคม

ข้อ ๙ ให้องค์การสวัสดิการสังคมดำเนินการจัดสวัสดิการสังคมให้เป็นไปตามหลักคุณธรรมความโปร่งใส การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ และความคุ้มค่า

ข้อ ๑๐ ให้องค์การสวัสดิการสังคมดำเนินการจัดองค์กร และการบริหาร การให้บริการ และคุณภาพการให้บริการ ดังต่อไปนี้

(๑) การจัดองค์การและการบริหาร ต้องมีการกำ หนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย วัตถุประสงค์ ขอบเขต เป้าหมาย สาขาการจัดสวัสดิการสังคม โครงสร้างและกระบวนการบริหารจัดการ แผนงาน โครงการ ระบบการพัฒนาบุคลากร ระบบบัญชีและการเงิน ระบบข้อมูลสารสนเทศและการประชาสัมพันธ์ ระบบการติดตามประเมินผล อาคารสถานที่ เครื่องมืออุปกรณ์ และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปฏิบัติงาน โดยยึดหลักธรรมาภิบาล

(๒) การให้บริการ ต้องมีการกำหนดรูปแบบและวิธีการในการให้บริการ มีกระบวนการให้บริการที่ชัดเจน และมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรและสถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเต็มที่

(๓) คุณภาพการให้บริการ ต้องมีการให้บริการที่มีคุณภาพ รวดเร็ว ต่อเนื่องและทันสถานการณ์ ตอบสนองต่อความจำเป็นของผู้รับบริการ รวมทั้งเกิดความพึงพอใจของผู้รับบริการหรือมีประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม


หมวด ๓
มาตรฐานนักสังคมสงเคราะห์

ข้อ ๑๑ ให้นักสังคมสงเคราะห์ดำเนินการจัดสวัสดิการสังคมให้เป็นไปตามหลักวิชาการและจรรยาบรรณทางวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ยึดมั่นในปรัชญา หลักการ วิธีการ กระบวนการ และเทคนิคทางสังคมสงเคราะห์

ข้อ ๑๒ ให้นักสังคมสงเคราะห์มีการพัฒนา เพิ่มพูนความรู้ ทักษะในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพและคุณธรรม สอดคล้องกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงของสังคม


หมวด ๔
มาตรฐานอาสาสมัคร

ข้อ ๑๓ ให้อาสาสมัครบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่สังคมทั้งในด้านการสงเคราะห์ผู้ประสบความทุกข์ยากเดือดร้อน การป้องกัน แก้ไขปัญหา การพัฒนาสังคมและส่งเสริมความมั่นคงของชาติทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง

ข้อ ๑๔ ให้อาสาสมัครปฏิบัติงานด้วยความสมัครใจเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน สังคมและประเทศชาติโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนและเป็นผู้มีอุดมการณ์โดยถือประโยชน์ส่วนรวมเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน ทำงานด้วยความเสียสละ กระตือรือร้น เอื้ออาทร บริสุทธิ์ใจ และมีศรัทธาที่จะทำงานอาสาสมัคร

ข้อ ๑๕ ให้อาสาสมัครมีการพัฒนาความรู้ ความสามารถ อุดมการณ์และคุณธรรมเพื่อจะได้เป็นพลังสำคัญในการสงเคราะห์ ผู้มีปัญหา การป้องกัน แก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคม พัฒนาองค์การและการส่งเสริมความมั่นคงของชาติภายใต้การส่งเสริมสนับสนุนและดูแลโดยองค์การสวัสดิการสังคม


หมวด ๖
การพัฒนามาตรฐานการจัดสวัสดิการสังคม

ข้อ ๑๖ ให้มีคณะอนุกรรมการคณะหนึ่งหรือหลายคณะซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้ง เพื่อทำหน้าที่กำหนดเกณฑ์ชี้วัดมาตรฐานการจัดสวัสดิการสังคมตามข้อกำหนดนี้ในแต่ละเรื่องให้เหมาะสมกับระดับการพัฒนาขององค์การสวัสดิการสังคม นักสังคมสงเคราะห์หรืออาสาสมัคร และปรับปรุงเกณฑ์ชี้วัดให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่อไป

ข้อ ๑๗ ให้สำนักงาน และหน่วยงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายรวมทั้งหน่วยงานซึ่งได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนให้องค์การสวัสดิการสังคมได้มีการพัฒนามาตรฐานการจัดสวัสดิการสังคมทั้งในส่วนองค์การสวัสดิการสังคม นักสังคมสงเคราะห์หรืออาสาสมัครอยู่เสมอ


ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐

 

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

รองนายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ

------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

ผู้สนใจฉบับสมบูรณ์สามารถสืบค้นได้ที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาครับ
อนึ่ง ต้นฉบับไม่มีหมวด ๕ ครับ  ๑-๒-๓-๔-๖   ไม่มี หมวด ๕ 
เข้าใจว่าน่าจะเกิดความผิดพลาดจากการพิมพ์

 

ยังไม่จบนะครับ เพราะมีระเบียบ ก.ส.ค. ที่สืบเนื่องกับข้อกำหนดฉบับนี้อีก ๑ ฉบับ
เอาไว้บันทึกหน้าค่อยว่ากันต่อ

 

 



ความเห็น (9)

 

ระเบียบที่มีมาคู่กับข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้นอีก ๑ ฉบับ
เป็นเรื่องของการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานขององค์การสวัสดิการสังคมนักสังคมสงเคราะห์ และอาสาสมัคร

ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มเดียวกัน วันเดียวกัน ขอตัดตอนลงเก็บไว้เตือนจำดังนี้

----------------------------------------------------------------------


ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ
ว่าด้วยการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๕๐

ด้วยพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้กำหนดให้มีการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมเพื่อใช้เป็นหลักในการส่งเสริม สนับสนุน รับรองติดตามประเมินผลและการประกันคุณภาพในการจัดสวัสดิการสังคมขององค์การสวัสดิการสังคมนักสังคมสงเคราะห์ และอาสาสมัคร

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๓ (๗) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๔๖ คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ จึงวางระเบียบว่าด้วยการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๕๐


หมวด ๑
การรับรองมาตรฐานองค์การสวัสดิการสังคม

ข้อ ๕  องค์การสวัสดิการสังคมแห่งใดได้ปฏิบัติงานเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานการจัดสวัสดิการสังคม อาจยื่นคำขอรับรองมาตรฐานการจัดสวัสดิการสังคมตามระเบียบนี้ได้

ข้อ ๖  การยื่นคำขอรับรองตามข้อ ๕ ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครให้ยื่นคำขอที่สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร และให้สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานครตรวจสอบความถูกต้อง แล้วส่งคำขอให้สำนักงานภายในเจ็ดวันทำการ

ในเขตท้องที่อื่นให้ยื่นคำขอที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแห่งท้องที่ที่องค์การสวัสดิการสังคมนั้นตั้งอยู่ และให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดที่รับคำขอตรวจสอบความถูกต้อง แล้วส่งคำขอให้สำนักงานภายในเจ็ดวันทำการ

เมื่อสำนักงานได้รับคำขอตามวรรคหนึ่ง และมีหลักฐานถูกต้องครบถ้วนให้สำนักงาน เสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายในเก้าสิบวัน

ข้อ ๗  ให้คณะอนุกรรมการทำหน้าที่สร้างเครื่องมือ เกณฑ์การประเมิน กำหนดแนวทางและดำเนินการตรวจประเมินผลการปฏิบัติงานตามที่ได้มีการยื่นคำขอรับรองมาตรฐาน และให้ความเห็นชอบ เพื่อให้ผู้อำนวยการออกเครื่องหมายการรับรองตามความเห็นของคณะอนุกรรมการ

ข้อ ๘  เมื่อองค์การสวัสดิการสังคมแห่งใดได้รับการรับรองมาตรฐาน ให้ผู้อำนวยการออกเครื่องหมายการรับรอง และให้สำนักงานเผยแพร่ต่อสาธารณชนต่อไป

ข้อ ๙  ในกรณีปรากฏว่าองค์การสวัสดิการสังคมแห่งใดที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้วไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานการจัดสวัสดิการสังคมในข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อตามที่ได้รับการรับรองซึ่งเชื่อว่าจะมีผลเสียหายต่อผู้รับบริการสวัสดิการสังคม และผู้อำนวยการหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายได้ให้คำแนะนำและตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว หากองค์การสวัสดิการสังคมแห่งนั้นยังไม่แก้ไขโดยไม่มีเหตุอันควร ให้ผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการสาขาที่ให้การรับรองมีหนังสือเพิกถอนการรับรองมาตรฐานได้


หมวด ๒
การรับรองมาตรฐานนักสังคมสงเคราะห์

ข้อ ๑๐  นักสังคมสงเคราะห์ผู้ซึ่งได้ปฏิบัติงานเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานการจัดสวัสดิการสังคม อาจยื่นคำขอรับรองมาตรฐานการจัดสวัสดิการสังคมตามระเบียบนี้ได้

(ข้อ ๑๑-๑๒ มีเนื้อหาแนวเดียวกับหมวด ๑)


หมวด ๓
การรับรองมาตรฐานอาสาสมัคร

ข้อ ๑๓  อาสาสมัครผู้ซึ่งได้ปฏิบัติงานเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานการจัดสวัสดิการสังคมโดยได้รับการรับรองจากองค์การสวัสดิการสังคม อาจยื่นคำขอรับรองมาตรฐานการจัดสวัสดิการสังคมตามระเบียบนี้ได้

(ข้อ ๑๔-๑๕ มีเนื้อหาแนวเดียวกับหมวด ๑ จะแปลกก็ตรงที่ในเขตท้องที่อื่นให้ยื่นคำขอที่ สนง.พมจ.แห่งท้ิองที่ที่นักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติงานอยู่... ผมเข้าใจว่าน่าจะพิมพ์ผิด - - ผิดเพราะใช้ระบบ copy & paste ซึ่งเป็นวิธียอดฮิดและก็มักผิดพลาดกันด้วยความเผลอเรอ)


หมวด ๔
การอุทธรณ์

ข้อ ๑๖  องค์การสวัสดิการสังคม นักสังคมสงเคราะห์ และอาสาสมัครใดเมื่อยื่นคำขอรับรองมาตรฐานและไม่ได้รับการรับรองหรือถูกเพิกถอนการรับรองมาตรฐานตามระเบียบนี้ ให้อุทธรณ์เป็นหนังสือต่อผู้อำนวยการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และให้ผู้อำนวยการส่งคำอุทธรณ์ต่อไปยังปลัดกระทรวงโดยมิชักช้า

ให้ปลัดกระทรวงวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของปลัดกระทรวงให้ถือเป็นที่สุด

ข้อ ๑๗  เมื่อสิ้นสุดอุทธรณ์ ให้ผู้อำนวยการรายงานการเพิกถอนการรับรองมาตรฐานต่อคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการและแจ้งหน่วยงานที่รับคำขอรับรองมาตรฐานด้วย


บทเฉพาะกาล

ข้อ ๑๘ การยื่นคำขอรับรองตามระเบียบนี้ ให้กระทำได้เมื่อพ้นหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐


ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

รองนายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ

 

----------------------------------------------------------------------


นี่ก็เกือบปีแล้วที่ระเบียบฉบับนี้ประกาศ ผมไม่แน่ใจว่าได้มีหน่วยงานใด หรือบุคคลใดยื่นคำขอรับรองตามระเบียบนี้ไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มทีมวิชาการที่เรียกร้องและต่อสู้เพื่อให้ได้ "ใบประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์" ได้ดำเนินการอย่างไรต่อไปบ้างแล้วหรือไม่

ที่สำคัญอย่าบอกนะว่าคณะอนุกรรมการ ยังดำเนินการตามระเบียบข้อ ๗ ยังไม่แล้วเสร็จ
ถ้าเป็นจริงดังว่า ก็คงต้องถอนหายใจ

เฮ้อ !!!

ดังๆ กันละ

 

รออีกหน่อย...

 

เพิ่งผ่านไปแค่หกปีเอง

หุหุ

เออนะ คุณหมูน้อย

เพิ่งจะผ่านไปแค่ ๖ ปีเอง
๖ ปี นับแต่วันที่ พ.ร.บ. ส่งเสริมสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ประกาศใช้

ไม่แน่นะ บางทีเราอาจรอกฎหมายฉบับใหม่ก่อนก็ได้
รอ พ.ร.บ. ส่งเสริมสวัสดิการสังคมเพื่อมุ่งสู่รัฐสวัสดิการ พ.ศ. ๒๕๕๑  (ฮา)

ราชกิจจานุเบกษา
เล่ม ๑๒๕ ตอนพิเศษ ๖๘ ง      ๔ เมษายน ๒๕๕๑

แก้คำผิด

ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติว่าด้วยการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๕๐

ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศและงานทั่วไป
เล่ม ๑๒๔ ตอนพิเศษ ๕๗ ง ลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐
หน้า ๖๕ บรรทัดที่ ๑๔
คำว่า “แห่งท้องที่ที่นักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติงานอยู่” ให้แก้เป็น “แห่งท้องที่ที่อาสาสมัครปฏิบัติงานอยู่”


ข้อกำหนดคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติว่าด้วยมาตรฐานการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๕๐

ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศและงานทั่วไป
เล่ม ๑๒๔ ตอนพิเศษ ๕๗ ง ลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐
หน้า ๗๐ บรรทัดที่ ๑๓
คำว่า “หมวด ๖” ให้แก้เป็น “หมวด ๕”

 

ผู้สนใจต้นฉบับหาได้ที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาครับ

กำลังศึกษาอยู่ปี2ค่ะ คณะสังคมสงเคราะห์ ธรรมศาสตรื

ก็เห็นว่าไลเซ่นมีความสำคัญนะค่ะ

เคยคุยกับ professor ทางการเเพทย์ของประเทศญี่ปุ่น

เค้าไม่ยอมรับนักสังคมสงเคราะห์ที่ไม่มีไลเซ่นค่ะ

เค้าพูดว่า หากคุณยังไม่มีไลเซ่น อย่าพูดว่าคุณเป็นนักสังคมสงเคราะห์ เค้าพูดว่า (social worker)อะค่ะ

ลุ้นเหมือนกันว่าจะได้เมื่อไหร่

อยากช่วยให้ได้มาเร็วๆค่ะ

นักสังคมสงเคราะห์จะได้รับการยอมรับมากกว่านี้ค่ะ

สวัสดีครับ คุณ นักศึกษาปี2

โดยหลักการแล้ว ผมเห็นด้วยนะครับกับระบบการจัดการคุณภาพในวิชาชีพ จะด้วยระบบใดก็ตาม

แต่สิ่งที่ต้องคำนึง และต้องคำนึงให้หนักก็คือว่า

ระบบใบอนุญาตดังกล่าว ไม่ควรทำให้เกิดบรรยากาศที่เป็นอุปสรรค

หรือเป็นข้อขัดข้องในการพัฒนางานในระบบ "จิตอาสา" โดยเฉพาะในกลุ่มของอาสาสมัคร

การพัฒนาระบบองค์กร สร้างเงื่อนไขให้กับองค์กรในการคัดเลือก และวางเงื่อนไขที่เหมาะสมกับระดับความสำคัญ

ของอาสาสมัครแต่ละกลุ่ม แต่ละประเภท (อาสาสมัครทั่วไป อาสาสมัครวิชาชีพ ฯลฯ) น่าจะเป็นสิ่งจำเป็น

และสำคัญกว่า การสร้างเงื่อนไขโดยตรงกับอาสาสมัคร

ขอบคุณมากครับ คุณ นักศึกษาปี2

ที่แวะเข้ามาแลกเปลี่ยน

สวัสดีค่ะคุณมงคล

อ่านแล้วได้มุมมองที่ดีและแตกต่างไปจากเดิมโดยเฉพาะเรื่อง อาสาสมัคร

ตอนนี้สมาคมนักสังคมสงเคราะห์ได้รับงบสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม

จัดอบรมเรื่องการพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัคร ใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ

ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้จัดไปแล้ว ส่วนภาคเหนือกับอีสานจะจัดเร็วนี้

ประเด็นเรื่องการพัฒนาระบบองค์กรสวัสดิการสังคมกับอาสาสมัครแต่ละประเภทนั้นน่าสนใจ

เป็นคนความจำสั้นจึงจำไม่ได้ว่าในการรับรองมาตรฐานองค์กรสวัสดิการสังคมนั้นมีประเด็นเกี่ยวกับอาสาสมัครไว้อย่างไร

ส่วนการอบรมครั้งนี้ส่วนมากอยู่กับนักสังคมฯมากกว่าอาสาสมัคร ถ้ามีโอกาสจะนำประเด็นน่าสนใจนี้คุยกับท่านผู้รู้อื่นๆอีก

ขอบพระคุณครับท่านอาจารย์ ที่แวะมาเยี่ยมชม

เท่าที่ทราบวันจันทร์-อังคารที่ 9-10 พ.ย. นี้ มีประชุมเรื่องดังกล่าวที่ขอนแก่นครับ ผมโทรไปที่ พมจ.ขอนแก่น แล้วก็แปลกใจเหมือนกันว่า ในจังหวัดขอนแก่นมีโควต้าเข้าร่วมประชุม 20 คน ส่วนเชิญใครบ้างก็ยังไม่ทราบ พมจ. มีหน้าที่ออกหนังสือเชิญ ส่วนจะเชิญใครบ้างก็สุดแท้แต่ OSCC

ยอมรับว่ามึน งง กับคำตอบครับ

แต่ที่แน่ๆ จนถึงบัดนี้หน่วยงานของผมยังไม่ได้รับหนังสือเชิญ

เมื่อวันที่ ๙-๑๐ พ.ย. ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา
มีโอกาสเข้าร่วมเข้าร่วมประชุม "การพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานของวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัครที่ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการสังคม"
จัดโดย กระทรวง พม. ร่วมกับ ส.น.ส.ท.  ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น 
ผมเขียนบันทึก เรื่อง ของฝากจากที่ประชุม : การรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์ ไม่แน่ใจว่าเข้าใจได้ถูกต้องไหม
 
อย่างไรเสีย คงไม่พ้นการรบกวนทุกท่านช่วยเติมเต็มครับผม
 
 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท