ตำนานผีล้านนาตอนหม้อน้ำหมาง


ขณะที่กำลังนำศพลงจากบ้านผู้คนจะโยนหม้อน้ำหมางเพื่อเตือนสติว่าธาตุน้ำในตัวคนตายได้หมดสิ้นแล้ว

พิธีกรรมเกี่ยวกับตำนานผีในล้านนากำลังเดินเรื่องไปอย่างไม่หยุดขณะที่ท่านที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องล้านนาได้โทร.มาขอความรู้เกี่ยวกับปี๋ใหม่(สงกรานต์)เมืองล้านนา  ลุงหนานขอบอกก่อนว่า  หากใกล้ปี๋ใหม่เมืองล้านนาจะเล่าเรื่องปี๋ใหม่เมืองล้านนาที่มีฮีตฮอยถูกต้องแบบโบราณๆจริงเป็นอย่างไร? ปัจจุบันถูกแผ(แปรเปลี่ยน)ไปอย่างไร?  และทางออกเกี่ยวกับป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองควรทำอย่างไร? ขอให้ท่านที่โทร.มากรุณาใจเย็นอีกสักนิดอาจต้นเดือนเมษาได้อ่านแน่ครับ  โปรดติดตามไปแต้วๆ...เต๊อะ

มาวันนี้จะนำเรื่องเกี่ยวกับพิธีกรรมเกี่ยวกับศพหรือผีล้านนาที่ได้ขาดหายไปในเวลาปัจจุบันนั่นคือเรื่องหม้อน้ำหมาง....

อันว่าคนเรามีแนวคิดในการจะสอนหรือถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้คนได้หลายวิธีโดยจะสอดแทรกตามโอกาสต่างๆ เพื่อให้ผู้คนได้เรียนรู้  โดยเฉพาะตอนที่กำลังนำศพลงจากบ้าน  ในห้วงเวลานี้ลูกหลานญาติๆจะร้องไห้หวนหาอาลัยผู้ตายเพราะร่างกำลังจะถูกนำไปเผาหรือฝังในป่าช้า  ไม่มีวันหวนกลับ  มาให้เห็นหน้า  หมดแล้วชาตินี้ที่จะได้เรียกขาน  พูดคุย ร่วมวงขันโตกรับประทานข้าวด้วยกันเหมือนดั่งเคยพร้อมกับผู้คนญาติๆกำลังแบกศพลงบันได จะมีคนหนึ่งนำหม้อน้ำโยนลงข้างบันไดบ้านเสียงดังโพละ น้ำกระเซ็นกระสาย พร้อมๆกับหม้อดินแตกกระจายเป็นเสี่ยงๆ  ไม่สามารถนำกลับมาเป็นหม้อดั่งเดิมได้อีก เหมือนดั่งศพที่กำลังถูกแบกหามลงจากบ้านในขณะนี้นเอง

หม้อน้ำหมางตามคำศัพท์ แปลว่า  หม้อแตก  คำว่า  หมาง หมายถึง  แยก  แตก  ร้าว  ห่างไกล   เช่นหมางใจกัน   หมายความว่า แตกความสามัคคี  เป็นต้น

คนสมัยก่อนการสร้างบ้านเรือน      เขาจะมีร้านหม้อน้ำดื่มริมหัวกะไดบ้านบนเพื่อว่าผู้คนที่เดินขึ้นบนบ้านจะได้ตักดื่มทันทีที่กระหายจากการเดินทางกลับมาบ้าน  ส่วนหัวบันได้บ้านด้านล่างจะมีหม้อน้ำวางอยู่เรียกว่าหม้อ  "ซ่วยตี๋น"(หม้อน้ำล้างเท้า) ก่อนขึ้นบันได  ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของคำว่าหัวบันไดไม่แห้งเพราะคนขึ้นบ้านมากมาย ทุกคนต้องล้างเท้าคนแล้วคนเล่าก่อนขึ้นบ้าน จนหัวบันไดไม่แห้ง

วกกลับมาเรื่องหม้อน้ำหมาง  เมื่อศพกำลังลงจากบ้านคนที่ได้รับมอบหมายก็จะนำหม้อน้ำดื่มในชีวิตประจำวันของผู้ตายนั่นแหละเลือกเอาหม้อใดหม้อหนึ่งอุ้มแล้วโยนจากหัวบันไดด้านบนลงข้างๆราวบันได  บางบ้านอาจเสียดายหม้อน้ำดื่มเดิมๆ เพราะมันมีขี้ไคลขู้(ตะไคร่น้ำสีเขียว)สวยงามเกาะติดด้านนอกหม้อทำให้หม้อน้ำเย็นอีกด้วย   ในกรณีนี้เจ้าของจะไปซื้อหม้อใหม่มาวางบนร้านน้ำแทนเพื่อให้ผู้ที่โยนหม้อน้ำหมางใช้โยนหม้อน้ำแทนหม้องามใบเก่า

เมื่อเสียงหม้อน้ำหมางแตกโพละ ผู้คนทั้งหลายก็จะหันมามองเห็นเศษหม้อดินแตกกระจาย น้ำกระเซ็นออกไม่เป็นทิศเป็นทางไร้การควบคุมโดยนัยนี้  ท่านผู้เฒ่าชาวล้านนากล่าวเตือนบอกเล่าสืบๆกันมาและให้ความหมายว่าธาตุน้ำของศพได้ฟุ้งกระจายแตกไปสิ้นหมดแล้ว  จะเหลือแต่ร่างกายเน่าๆคือธาตุดินเท่านั้นที่ต้องนำศพไปเสียในป่าช้า

ด้วยกุศโลบายดังกล่าวเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับธาตุในตัวคนว่าธาตุทั้งสี่ต้องแตกดับหมดสิ้นไปคือ   อันดับแรกคือธาตุลมหมดสิ้นไปไม่มีลมหายใจ  ต่อมาธาตุไฟก็หมดสิ้นไปไม่มีความร้อนหรืออุณหภูมิในร่างกายทำให้ศพเย็นชืด  และที่ตามมาคือธาตุน้ำในร่างกายจะหมดไปโดยเลือดหยุดไหลหล่อเลี้ยงร่างกายมีเพียงน้ำเหลืองก็จะไหลออกจากเนื้อตัว         เมื่อน้ำเหลืองไหลออกหมดสิ้นก็เหลือธาตุดินคือศพส่วนที่เป็นของแข็งต่างๆเนื้อหนังกระดูกก็จะแห้งเหี่ยวสลายเน่าลงสู่ดิน  กลับสู่ธรรมชาติ

พิธีกรรมการโยนหม้อน้ำหมางปัจจุบันไม่ค่อยมีให้เห็นเพราะส่วนมากจะนำศพไปตั้งทำบุญที่ศาลาวัด  ศาลาอเนกประสงค์ของส่วนรวม  ไม่มีหัวบันไดบ้านและร้านหม้อน้ำข้างหัวบันไดเหมือนบ้านสมัยก่อนการเตือนสติคนหรือญาติผู้ตายโดยกุศโลบายนี้ก็หมดไปโดยปริยาย 

อีกประการหนึ่งการสร้างบ้านปัจจุบันส่วนมากรูปแบบบ้านเป็นตึก  เป็นห้องเช่า  หัวบันไดก็อยู่ในตัวบ้านหากจะโยนหม้อน้ำหมางก็คงลำบากเพราะโยนลงมาพื้นบ้านตึกก็เปียกลื่น เผลอๆผู้คนเดินเหยียบน้ำอาจต้าวตากหงาย(หกล้มหงายหลัง)ศีรษะฟาดพื้นบ้าน  ก็จะเป็นเรื่องเป็นราวไปกันใหญ่  เผลอๆแทนที่จะเสียชีวิตเพียงคนเดียว อาจเสียกันเป็นสองเป็นสามเกิดทุกข์ซ้ำเติมญาติๆที่มีชีวิตอยู่กันไปอีก

บันทึกนี้จึงเป็นตำนานเล่าขานการใช้หม้อน้ำหมางสยบความโศกเศร้า   เป็นการเตือนสติญาติๆ  ตลอดจนผู้คนที่มาร่วมงานกุศลศพ  ให้เกิดสติเตือนตนเอง  และให้ทราบว่าชีวิตคนมีการแตกดับเป็นธรรมดาคือการเกิดขึ้น  คงชีวิตอยู่และดับไปเป็นวัฏฏะเที่ยงแท้

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท