ไข(มัน)มากเกิน เพิ่มเสี่ยงเบาหวาน


ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเสี่ยงโรคเบาหวานมาจากสัดส่วนของมวลไขมัน (fat mass) เป็นร้อยละ (%) ของน้ำหนักตัว

...

เป็นที่ทราบกันดีว่า น้ำหนักตัวที่มากเกินเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ฯลฯ

วันนี้มีผลการศึกษาที่พบว่า ถ้าเราแยกแยะได้ว่า น้ำหนักที่เกินเป็นน้ำหนักเนื้อ(กล้ามเนื้อ) หรือน้ำหนักไข(มัน)จะช่วยบอกความเสี่ยงเบาหวานได้มาฝากครับ

...

ท่านอาจารย์ดอกเตอร์อาร์. ดับเบิลยู. เจ. ลิวนิสเซน และคณะ แห่งศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาลเด็กอีราสมุส โซเฟีย เมืองรอตเตอร์ดาม เนเตอร์แลนด์ ทำการศึกษาแล่มตัวอย่างผู้ใหญ่อายุน้อย 136 คน

การศึกษานี้เดิมมุ่งจะศึกษาว่า ภาวะน้ำหนักตัวน้อยตั้งแต่แรกคลอด หรืออัตราการเจริญเติบโต(เร็วหรือช้า)มีผลต่อความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานหรือไม่

...

ผลการศึกษากลับพบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเสี่ยงโรคเบาหวานมาจากสัดส่วนของมวลไขมัน (fat mass) เป็นร้อยละ (%) ของน้ำหนักตัว

คนเรามีสัดส่วนไขมันคิดเป็นร้อยละ 60-85% ของน้ำหนักตัว ปัจจัยที่มีผลสัดส่วนไขมัน (มากหรือน้อย) ขึ้นกับปัจจัยสำคัญได้แก่

  1. อายุ > อายุมากขึ้นมีส่วนเพิ่มสัดส่วนไขมัน และลดสัดส่วนกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะถ้าน้ำหนักขึ้นหลังอายุ 40 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำหนักไขมัน(ล้วนๆ)
  2. เพศ > เพศชายมีสัดส่วนไขมันน้อยกว่า และสัดส่วนกล้ามเนื้อมากกว่าเพศหญิง
  3. การออกแรง-ออกกำลัง > คนที่ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำมีสัดส่วนไขมันน้อยกว่า ถ้าออกกำลังต้านแรง เช่น เดินขึ้นลงบันไดตามโอกาส ยกน้ำหนัก เล่นเวท (weight training) ในโรงยิม ฯลฯ จะช่วยเพิ่มสัดส่วนกล้ามเนื้อ และลดสัดส่วนไขมันไปพร้อมๆ กัน

...

การวัดสัดส่วนไขมันในร่างกายทำได้ค่อนข้างยาก เช่น ใช้เครื่องชั่งน้ำหนักชนิดวัดแรงต้านทานกระแสไฟฟ้าแบบอ่อนๆ ผ่านมือ 2 ข้าง ผ่านเท้า 2 ข้าง หรือผ่านส่วนต่างๆ ของร่างกาย

เครื่องวัดมวลไขมัน เช่น เครื่องของ Tamiya, Omron (เครื่องหมายการค้า) ฯลฯ ทำงานโดยผ่านกระแสไฟฟ้าแบบอ่อนๆ หลายความถี่เข้าไปในร่างกาย เนื้อเยื่อไขมันมีแรงต้านทานกระแสไฟฟ้าสูงกว่าเนื้อเยื่ออื่นๆ เช่น กระดูก กล้ามเนื้อ ฯลฯ จึงอ่านออกมาเป็นค่าร้อยละ (%) ไขมันได้

...

วิธีวัดมวลไขมันทางอ้อมง่ายๆ วิธีหนึ่งคือ วัดเส้นรอบเอวที่ระดับสะดือ หรือใต้สะดือเล็กน้อย เลือกตรงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

  • ค่าปกติ > ผู้ชายไม่ควรเกิน 90 เซนติเมตร
  • ค่าปกติ > ผู้หญิงไม่ควรเกิน 80 เซนติเมตร

...

เรียนเสนอให้พวกเราหันมาป้องกันเบาหวานกัน โดยการควบคุมอาหาร... ลดอาหารทอด ผัด ขนม เครื่องดื่มเติมน้ำตาล น้ำอัดลมให้น้อยลง เปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง หรือขนมปังขาวเป็นขนมปังเติมรำ-จมูกข้าว (โฮลวีท)

อย่าลืมออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ โดยเน้นการเดิน เดินขึ้นลงบันไดตามโอกาส เริ่มจากเดินคราวละน้อย และค่อยๆ เพิ่มระยะทาง หรือความเร็วขึ้น จนเดินเร็วรวมกันได้วันละ 30 นาทีขึ้นไป

...

ถ้าต้องการควบคุมน้ำหนัก อ้วน อ้วนลงพุง เป็นเบาหวาน หรือความดันเลือดสูง... ควรเดินรวมกันให้ได้วันละ 60 นาทีขึ้นไป

อาหารที่ช่วยให้อิ่มได้นานหน่อย และป้องกันโรคอ้วนได้ดีคือ

  • ข้าวกล้อง > ไม่ใช่ข้าวขาว
  • ขนมปังโฮลวีท > ไม่ใช่ขนมปังขาว
  • อาหารประเภทผัก ถ้ามีผักสด หรือน้ำผัก เช่น น้ำมะเขือเทศ ฯลฯ สักครึ่งหนึ่ง ผักสุกสักครึ่งหนึ่งแบบที่ชีวจิตแนะนำน่าจะดีมากๆ > ถ้าเริ่มอ้วน ควรเพิ่มผักแบบที่กรมอนามัยแนะนำคือ "ผักครึ่งหนึ่ง-อย่างอื่นครึ่งหนึ่ง"
  • ถั่วหลายๆ ชนิดปนกัน รวมทั้งเต้าหู้ นมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม
  • ผลไม้ที่ไม่หวานจัดทั้งผล เช่น ฝรั่ง ส้ม แอปเปิล กล้วย ฯลฯ > ไม่ใช่น้ำผลไม้
  • นมไขมันต่ำ นมไม่มีไขมัน หรือนมถั่วเหลือง (นมถั่วเหลืองมีแคลเซียมต่ำ ควรเลือดชนิดเสริมแคลเซียม) > ถ้าได้รับแสงแดดน้อยกว่าวันละ 15-20 นาที หรืออายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ควรเลือกนมที่เสริมวิตามิน D เพื่อเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม

...

และอย่าลืม... งด-ลด-ละ-เลิกเหล้า เบียร์ ไวน์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งให้กำลังงานสูง ทำให้ขาดสติ และกินมาก เพราะขาดความยั้งคิด

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

ที่มา                                                 

  • Thank Reuters > Fat accumulation: a key factor in diabetes risk > [ Click ] > March 6, 2007.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอ พยาบาล เภสัชกร หรืออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบคุณอาจารย์ณรงค์ ม่วงตานี + อาจารย์เบนซ์ iT ศูนย์มะเร็งลำปาง > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > 9 มีนาคม 2551.
หมายเลขบันทึก: 169955เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2008 17:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

รู้สึกชื่นชมอาจารย์มากเลยค่ะ

ที่จุดประกายในการปรับเปลี่ยนชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดี

อยากให้ทุกคนแค่รับรู้ ก็ปรับแล้ว

แต่ยากเหมือนกันนะคะ

หลายๆคนมีความรู้ แต่ยังทำไม่ค่อยได้

ไม่เว้นกระทั่งคนในแวดวงสุขภาพ

จะทำอย่างไร ให้คนที่ยังไม่เปลี่ยน

เห็นความสำคัญ และค่อยๆเปลี่ยนตัวเอง

(เคยจัดกิจกรรมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข / กลุ่มข้าราชการ

แต่ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จนัก)

ขอขอบคุณ... คุณพัชรินทร์

  • ขอขอบคุณสำหรับกำลังใจครับ

ผมไม่ค่อยคาดหวังอะไรกับคนอื่นเท่าไร

  • เวลาเขียนบล็อกก็ตั้งใจว่า ถ้ามีคนอ่านน้อยกว่า 10 คนต่อเรื่อง จะเลิกเขียน ไปหาอะไรอย่างอื่นทำ เช่น ศึกษาธัมมะ เจริญสมาธิ ฯลฯ ให้มากขึ้น

การศึกษาเรื่องเลิกบุหรี่ให้ข้อคิดดีทีเดียว

  • เท่าที่จำได้... ถ้าหมอพูด 100 ครั้ง จะมีคนพยายามเลิกบุหรี่ 1.5 ครั้ง
  • ทว่า... การเลิกบุหรี่แต่ละครั้งส่งผลดีต่อสุขภาพอย่างต่ำนับแสนๆ บาท จึงทำให้สังคม ประเทศชาติประหยัดค่าใช้จ่ายไปอย่างมากมายมหาศาล
  • เรื่องบุหรี่เป็นตัวอย่างที่ดีว่า ความพยายามของเรา... ควรทำต่อไป ไม่ว่าจะดูเหมือน "ไม่ค่อยได้ผล" สักเท่าไร
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท