หลักสูตรท้องถิ่น


หลักสูตร

 

หลักสูตรท้องถิ่น

 

ความหมายของหลักสูตรท้องถิ่น

หลักสูตรท้องถิ่น  เป็นหลักสูตรที่มีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนที่จะต้องใช้หลักสูตรนั้นๆ  มีผู้ให้ความหมายของหลักสูตรท้องถิ่น  ดังนี้

        กรรณิการ์  แย้มเกษร ( 2540 : 37  )  ให้ความหมายของหลักสูตรท้องถิ่น  สรุปได้ว่า  เป็นหลักสูตรที่โรงเรียนหรือครูและนักเรียนร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้นำไปใช้ในชีวิตจริง

เรียนแล้วเกิดการเรียนรู้  สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีคุณภาพและเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมอย่างมีความสุข  หลักสูตรท้องถิ่นจึงเป็นหลักสูตรที่มาจากปัญหาและความต้องการของผู้เรียน  เป็นหลักสูตรเฉพาะที่สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในท้องถิ่น  จะเป็นทางด้านอาชีพหรือสามัญก็ได้หรือปรับจากหลักสูตรที่มีอยู่ก็ได้แต่ต้องให้เป็นปัจจุบัน  เป็นหลักสูตรที่ปรับให้เข้ากับชีวิตจริงของนักเรียนตามท้องถิ่นอย่างครบวงจร  หรือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน  แต่ไม่มีในหลักสูตร

        วิชัย  ประสิทธิ์วุฒิเวชช์  ( 2542 :  124 )  กล่าวว่า  หลักสูตรระดับท้องถิ่น  หมายถึง  การนำหลักสูตรแกนกลาง  ทั้งเอกสารหลักสูตรละเอกสารประกอบหลักสูตรที่พัฒนามาจากส่วนกลางมาปรับ  ขยาย  หรือพิ่ม  หรือสร้างหลักสูตรย่อยขึ้นใหม่

        อำนาจ  จันทร์แป้น  ( 2542 : 24 )   กล่าว่า  หลักสูตรท้องถิ่น  คือ  การนำเอาหลักสูตรระดับชาติมาปรับใช้ให้เหมาะกับสภาพชีวิต  ความเป็นอยู่ของสังคมนั้น  สาระการเรียนจะสอดคล้องสัมพันธ์กับท้องถิ่นมากขึ้น  และเป็นการเรียนรู้ที่นำไปใช้ในชีวิตจริง

        ใจทิพย์  เชื้อรัตนพงษ์  ( 2543 :  76 )  มีความเห็นว่าหลักสูตรท้องถิ่น  คือ  การปรับ  ขยาย  หรือการสร้างหลักสูตรย่อยขึ้นมาเสริมหลักสูตรแม่บท  โดยให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง  ปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นเพื่อผู้เรียนจะได้นำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ในชีวิตหรือเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน

        นิคม  ชมภูหลง  ( 2544 : 89 )  ได้ให้ความหมายของหลักสูตรท้องถิ่น  หมายถึง ประสบการณ์ทั้งมวล  ที่โรงเรียนจัดขึ้นในโรงเรียนและนอกห้องเรียน  เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีความรู้  ทักษะกระบวนการ  และคุณธรรม  จริยธรรมในการดำรงชีวิต  สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข  โดยพยายามใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น  แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้บนพื้นฐานของสภาพชีวิต  เศรษฐกิจ  สังคม  วัฒนธรรม  และสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง  ตลอดจนมีส่วนร่วมในการพัฒาท้องถิ่นของตน

         สำลี  ทองธิว  ( 2544 : 82 )  ได้อธิบายเกี่ยวกับหลักสูตรท้องถิ่นเป็น  2  ลักษณะ  คือ

        1.  เป็นหลักสูตรที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการสร้างอย่างเท่าเทียมกันกับครู  และนักวิชาการจากภายนอก  เนื้อหาสาระ  โครงสร้างการจัดเวลา  การจัดการและการบริหารหลักสูตรเป็นไปตามแนวคิดและหลักการที่ชาวบ้านในท้องถิ่นให้ความสำคัญ

        2.  เป็นหลักสูตรที่ชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นรวมตัวกันเป็นเครือข่ายจากหลาย ๆ  องค์กร  ทั้งภาครัฐ  เอกชนและกลุ่มนักธุรกิจเพื่อมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

         กล่าวโดยสรุป  หลักสูตรท้องถิ่น  หมายถึง  หลักสูตรที่ท้องถิ่นสร้างขึ้นเอง  หรือการพัฒนามาจากหลักสูตรแกนกลาง  โดยการปรับขยาย  เพิ่ม  หรือสร้างหลักสูตรย่อยขึ้นใหม่  โดยมีเนื้อหาสาระสอดคล้องกัยสภาพและความต้องการของแต่ละท้องถิ่น  เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวของตน  เรียนรู้อาชีพ  สภาพเศรษฐกิจ  สังคม  ขนบธรรมเนียม  ประเพณี  วัฒนธรรมในท้องถิ่น  เพื่อนำไปแก้ปัญหา  พัฒนาชีวิตของตนเอง  ครอบครัวและท้องถิ่นได้

 

ความเป็นมาของหลักสูตรท้องถิ่น

 

        ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.  2542และแก้ไขเพิ่มเติม  ( ฉบับที่  2 )  พ.ศ. 2545

ได้กล่าวไว้ในหมวดที่  3  มาตรา  15  ว่า  การจัดการศึกษามี  3  รูปแบบ  คือ  การศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบ  และการศึกษาตามอัธยาศัย   โดยสถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง  หรือทั้งสามรูปแบบก็ได้  และมาตรา  27  ได้กำหนดให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย  ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ  การดำรงชีวิต  และการประกอบอาชีพ  ตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ  ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่ง  ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  คุณลักษณะอันพึงประสงค์  เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว  ชุมชน  สังคม  และประเทศชาติ 

 

ลักษณะหรือรูปแบบของหลักสูตรท้องถิ่น

        หลักสูตรระดับท้องถิ่นที่ดี  เป็นหลักสูตรที่ตอบสนองต่อสภาพชีวิตของผู้เรียน  มีลักษณะ  ดังนี้

           1.  ตอบสนองความหลากหลายของปัญหา  มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เหมาะสมกับ  เพศ  วัย  มีความสมดุลทั้งด้านความรู้  ความคิด  และทักษะ  เน้นกระบวนการสอนให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง  จนเกิดทักษะและสามารถนำไปใช้กับสถานการณ์อื่นได้อย่างเหมาะสม

           2.  ส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วม  เพื่อให้ผู้เรียนได้รับผลประโยชน์จากการเรียนรู้จากท้องถิ่นของตน  เป็นการเชื่อมโยงระหว่างการเรียนกับชีวิตจริงและการทำงาน  รวมทั้งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีความรักและความผูกพันกับท้องถิ่นของตน  มีการส่งเสริมให้ใช้ภูมิปัญญาในการจัดการศึกษา

          3.  สอดคล้องกับการดำเนินงานของชีวิตจริง  มุ่งเน้นการเรียนรู้อย่างบูรณาการไม่แยกส่วนหรือตัดตอนเป็นท่อนๆ  ของกระบวนการเรียนรู้และกิจกรรมทางวิชาการโดยผู้เรียนเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง  ด้วยการชี้แนะของผู้สอนอันจะนำไปสู่การคิดเป็น  โดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในสังคม  ตนเองและวิชาการอย่างเหมาะสม

        4.  สามารถพัฒนาเพิ่มขึ้นได้ตลอดเวลา  เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา  และเมื่อเรื่องนั้นๆ  ไม่เป็นที่สนใจและต้องการของท้องถิ่นรวมทั้งล้าสมัยแล้วก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันที

        5.  ส่งเสริมความเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของสังคม  มุ่งเน้นในด้านศีลธรรม  จริยธรรม  การธำรงไว้ซึ่งสังคมประชาธิปไตย  การร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม  ก่อให้เกิดศรัทธาเชื่อมั่นภูมิใจในภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของท้องถิ่น  ชุมชนและชาติ

 

แนวทางการพัฒนาหลักสูตร

 

นิคม  ชมพูหลง  (  2545:  91 )  ได้เสนอว่าหลักสูตรระดับท้องถิ่นควรมีการสนองตอบต่อสภาพและความต้องการของท้องถิ่น  หลักสูตรระดับท้องถิ่นที่ดีที่โรงเรียนจัดทำและพัฒนาขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ชีวิต  สภาพเศรษฐกิจ  สภาพสังคม  ตามที่ปรากฏจริงในท้องถิ่นนั้นควรมีเนื้อหาสาระและวัตถุประสงค์จำเป็น  5  ประการ

                   1.  เป็นสภาพชีวิต  เศรษฐกิจและสภาพสังคมจริงของท้องถิ่น

                   2.  เป็นสภาพปัญหาความต้องการของนักเรียน  ผู้ปกครองและประชาชนในท้องถิ่น

                   3.  ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นฐานสำคัญเพื่อพัฒนาชีวิต  เศรษฐกิจ  และสังคมของท้องถิ่นให้ดีขึ้น

                   4.  ช่วยให้นักเรียนรู้จักสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น  มีความรักถิ่นและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นให้มีสภาพที่ดีชึ้น

                   5.  ส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการแก่นักเรียนเฉพาะกลุ่ม  ที่มีความต้องการได้รับพัฒนาให้มีศักยภาพสูงสุด

                    สืบเนื่องจากในแต่ละท้องถิ่นมีสภาพที่แตกต่างกันออกไป  ทั้งด้านธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อม  เศรษฐกิจ  สังคมและอื่นๆ  จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมกับสภาพและความต้องการของแต่ละท้องถิ่น  หลักสูตรท้องถิ่น  จึงนับได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำพาสาระการเรียนรู้ของท้องถิ่นไปสู่ผู้เรียน  เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ชีวิตจริงในท้องถิ่นของตน  รวมทั้งการได้รับประสบการณ์ตรงกับชีวิต  สภาพเศรษฐกิจสังคม  สิ่งแวดล้อมที่แท้จริง  และเปิดโอกาสให้ผู้ใช้หลักสูตรได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรด้วย

                    ในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้โดยปรับเนื้อหา  เวลาเรียน กิจกรรมการเรียนการสอน  และเพิ่มรายละเอียดของมวลประสบการณ์ที่จัดให้กับผู้เรียน

 โดยจัดเนื้อหาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา  ภูมิปํญญาท้องถิ่น  วัฒนธรรม  ประเพณีท้องถิ่นและการประกอบอาชีพของคนในท้องถิ่น  ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริง  จะทำให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการแก้ปัญหาที่พบจากกรดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หมายเลขบันทึก: 168423เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2008 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • แวะเข้ามาอ่าน เพราะสนใจเรื่องหลักสูตร
  • ได้ความรู้มาเลยค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

 

อยากให้ใส่อ้างอิงให้ด้วยค่ะ

เพื่อจะได้ตามไปหาความรู้จากต้นฉบับได้ค่ะ

ข้อมูลดีจังเลยค่ะ

ทำอย่างไรจึงจะนำข้อมูลที่มี

มาสร้างให้เป็นหลักสูตรท้องถิ่นได้

น่าสนใจค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท