การนั่งสมาธิ ตอนที่๒


ก่อนอื่นต้องก็อภัยทุกท่านที่หายไปครับ มาเริ่มต้น การฝึกสมาธิตอนที่ ๒

การฝึกสมาธิ (เริ่มต้น) อย่างง่ายๆ

ก่อนที่เราจะฝึกสมาธินั้น ต้องหาความหมายของคำว่า "สมาธิ" ก่อนว่า สมาธิคืออะไร? สมาธิเกิดจากอะไร ?
สมาธิคือการที่มีจิตมุ่งอยู่ในอารมณ์ ๆ  เดียว
สมาธินั้นมีการฝึกกันเรื่อยมา  ตั้งแต่ครั้งโบราณกาล
สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิที่ชี้นำให้เกิดปัญญาในการพิจารณาสภาวะที่จะเกิดขึ้นในธรรมชาติ     พูดง่ายๆ  คือในตัวเรา
เราจะรู้ได้ว่า....เราได้สมาธิจากอะไร ?  
การที่จิตจะตั้งมั่นนั้นเกิดขึ้นจากการเจริญสติ
การเจริญสติ.....ก็คือการรู้  รู้ตัว รู้รอบ  นี่เป็นบทสำคัญที่สุด  เพราะอยู่ในพุทธศาสนา  จึงสอนไว้ในเรื่องมหาสติปัฏฐาน  4  ให้เรามีสติ รู้เรื่อง กาย เวทนา จิต ธรรม  นี่เป็นเรื่องเบื้องต้น
เราต้องทำความรู้เนื้อรู้ตัวกับตัวเองก่อน   โดยการเริ่มมาศึกษาตัวเอง    โดยทำความรู้เนื้อรู้ตัว  และทำสติให้เจริญเกี่ยวกับกาย  เวทนา จิต ธรรม
เริ่มต้นจาก กาย   เมื่อเราอยู่กับกาย   ให้เริ่มต้นจากลมหายใจ   ระลึกได้   รู้ได้ว่ามีลมหายใจอยู่  
เพราะฉะนั้น.....วิธีแรกก็คือมีสติกำหนดอยู่ที่ลมหายใจ    เป็นอนุสสติ 1 ใน 10   ที่สำคัญมาก    
การกำหนดลมหายใจถือว่าเป็นกรรมฐานที่มีผลดีที่สุดใน 40 วิธี  มีคุณมาก  อันตรายที่เกิดขึ้นน้อยที่สุด   อันตรายที่เกิดจากการวิปลาสน้อยมาก
การนั่งสมาธิ  ไม่จำเป็นต้องมานั่งหลับหูหลับตา  อยู่ที่ต้องมีสติกับอากัปกริยาทั้ง 4   ไม่ว่าจะ  ยืน  เดิน  นั่ง  นอน  มีสติตามดูตามรู้ตลอด  
นี่คือการเจริญสติ   
เมื่อสติตั้งมั่น   สมาธิก็เกิด    อย่างเช่น   เวลาที่เราทำงาน   เราทำงานด้วยความตั้งใจตลอด
ทำไปโดยที่ไม่ต้องสนใจคนรอบข้าง     ใครเรียกก็แทบไม่ได้ยิน   นั่นแหละสมาธิเกิดขึ้นแล้ว    ไม่ใช่ว่าสมาธิต้องมานั่งหลับตา  แยกตัวออกจากสังคม  ไม่ใช่อย่างนั้น
นี่เป็นขั้นพื้นฐาน  เป็นการทำควบคู่กับการใช้ชีวิตประจำวัน  คือการกำกับสติตลอด
เมื่อเราทำอย่างนี้มากขึ้น    ความละเอียดก็จะมีมากขึ้น    สติมีมากขึ้น    สมาธิก็จะมากขึ้นตามไปด้วย 
ทุกวันนี้เราไม่ได้ทำตรงนี้ให้มากขึ้น   เราต้องการให้เกิดสมาธิ    เพื่อให้เกิดผล   ตรงนี้มันเป็นผล  มันไม่ถูก  เหมือนเราปลูกต้นไม้  เรารดน้ำ  ให้ปุ๋ย   ส่วนจะออกผลหรือไม่  ไม่ต้องไปสนใจ  ทำให้ดีที่สุด  ตั้งใจ  ทำด้วยความจริงใจ  จับจด  จับจ้อง  แล้วผลมันจะเกิดขึ้นเอง
ทั้งนี้ต้องทำด้วยความตั้งใจ    พร้อมด้วยอิทธิบาท 4  คือ 
ฉันทะ  (ความพึงพอใจที่จะศึกษา)  
วิริยะ  (ความเพียร)
จิตตะ  (ตั้งใจมั่น  เอาจริงเอาจัง) 
วิมังสา  (พิจารณาใคร่ครวญอย่างรอบคอบ)
แต่เมื่อทำไปแล้วเกิดปัญหาอย่างไร ?    ค่อยมาปรึกษาหรือแก้ปัญหากันอีกที    
แต่ไม่ใช่  ยังไม่ได้ทำแล้วคิดว่าจะเกิดปัญหาตรงนั้นตรงนี้  ทำเสียก่อน  แล้วดูว่ามันมีปัญหาอย่างไร ? 
เพราะถ้าเราจะรู้ก่อนเกิด  มันจะฟุ้งซ่าน  แต่ถ้าเราเรียนรู้ไปศึกษาไป  จะดีกว่า
วิธีการกำหนดลมหายใจเข้าออก ก็คือ    มีสติรู้อยู่กับการเดินทางของลมหายใจ  ตั้งแต่จมูก   เวลาเราสูดลมหายใจเข้าจะสังเกตว่าเหมือนมีลมเข้ามา   ขึ้นมาตรงกลางกระหม่อม   เป็นความรู้สึก  แล้วก็จะไหลลง  จับลมหายใจตรงนี้  ให้รู้สึกว่ามีลมเข้ามา  ไม่ใช่เป็นการสร้างเอง  แต่เป็นอย่างนั้นจริง ๆ
จากกลางกระหม่อมแล้วจะไหลลงมาตามกระดูกต้นคอ  ลงกระดูกสันหลัง ปอดขยายเต็มที่  ท้องก็จะขยาย  อันนี้คล้าย ๆ ว่าท้องจะยุบ   มันไม่เชิงยุบ  แต่เป็นขยายมากกว่า  แล้วค่อย ๆ  ผ่อนลมหายใจช้า ๆ ท้องจะยุบ  ตรงนี้ให้สังเกตตามไปด้วย
เป็นการรู้ตาม  และจิตจับอยู่ตลอด ทางวิญญาณ
บางคนตั้งจิตที่ปลายจมูก  ลมเข้าก็รู้ ลมออกก็รู้  สติรู้ตลอดเวลาว่าลมเข้าลมออก    ผ่านจากตรงไหนไปตรงไหน  ก็รู้ตลอด
มันเป็นความรู้สึกจริง ๆ   ไม่ใช่เป็นการสร้าง  หรือการหลอกว่ามีว่าใช่  เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น  เพียงแต่ว่าเราต้องตามดู   จับความรู้สึกให้ได้  มันเป็นอย่างนั้นจริง  ๆ
บางคนก็มีอีกอย่างหนึ่งคือ  พวกที่ฝึกแบบนี้จะเพียงรู้สึกว่ามีลมผ่านเข้าออก  ผ่านไปตรงจุดนั้นจุดนี้  บางคนเกิดเห็นขึ้นมาว่า  มีทางเดินเป็นแสง  ผ่านไปตรงนั้นตรงนี้  คือไม่ใช่รู้เฉพาะเป็นความรู้สึก  แต่เห็นเป็นแสงเลย  ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนี้ทุกคน  เป็นบางคนเท่านั้น
ถ้าอารมณ์สบาย ๆ  และสะดวก   จะหลับตาก็ได้    แต่ต้องเน้นว่าต้องสะดวก   แต่ไม่จำเป็น  อย่างเวลาทำงาน  เวลาเดิน  ถ้าไปหลับตาก็คงไม่ดีแน่
แค่นี้เอง  แค่รู้ว่าเวลาหายใจเข้า   มีลมเข้า   ผ่านตรงไหนบ้าง   ผ่านจุดไหนบ้าง   คือที่ผ่านก็จะต้องรู้สึก  รู้สึกว่าโดนตรงไหน  เวลาหายใจออก  รู้ว่าผ่านตรงไหนบ้าง  รู้สึกตรงไหนบ้าง  แค่นี้เอง  ก็จะเป็นสมาธิแล้ว  โดยไม่จำเป็นต้องหลับตา
บางคนกลัวว่าจะไม่จับจดอยู่ที่ลมหายใจ    ก็ใช้ตัวกำกับ   อย่างเช่น  เวลาหายใจเข้า  ก็กำกับด้วยคำว่า  พุทธ  เวลาหายใจออกก็กำกับด้วยคำว่า  โธ  ก็ไม่เป็นไร  ได้ทั้งนั้น
หรือบางคนนับเป็นตัวเลขแทนก็ได้  เช่น  หายใจเข้า นับ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก  ไปเรื่อย  ๆ    หายใจออกก็นับ   หนึ่ง  สอง  สาม  สี่  ไปเรื่อย ๆ   ก็ได้  พอจิตเป็นสมาธิ  ตัวเลขที่นับจะน้อยลง อย่าง หนึ่ง จนถึง สิบ  พอฝึกไปเรื่อย  ๆ  จะเหลือแค่ห้า   แล้วน้อยลงเรื่อย ๆ    แต่มันจะน้อยลงเอง  โดยไม่ได้ไปบังคับหรือกำหนดให้จำนวนนับน้อยลง  เป็นการทำงานแบบอัตโนมัติ
เวลาที่จิตเป็นสมาธิแล้วนั้น  สังเกตจากลมหายใจด้วยว่า  ลมหายใจเข้าออกจะช้าลง  แต่ไม่ได้หมายความว่า ไปบังคับให้มันหายใจช้า  แต่มันจะช้าเอง   เพราะเกิดจากการเจริญสติ  รู้ในกำหนดของลมหายใจ 
เมื่อรู้สติจากการตามดูลมหายใจลมหายใจจะช้าเอง   แต่ถ้าไปบังคับมันให้ช้า  มันจะเหนื่อย
อย่างนั้นเรียกว่า "กลั้น"   ซึ่งเรื่องนี้เป็นการฝึกอีกรูปแบบหนึ่งอย่างแบบของธิเบต
คนที่จะเป็นนักศึกษาที่ดี  ควรจะจดจำในสิ่งที่เกิดขึ้น  เช่น  เวลาที่กำหนดลมหายใจแล้ว  เกิดอะไรขึ้น   จำหรือจดเอาไว้  เพื่อศึกษาหรือเป็นข้อมูล    
อย่างนี้จะเกิดเป็นสมาธิเร็วในคราวหลัง  เพราะมีสติตลอด   รู้ตัวตลอด  ให้คิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ
ตรงนี้ไม่มีรูปแบบ   ทำที่ไหนก็ได้  นี่เป็นแค่เบื้องต้น 
ส่วนการจะมานั่งสมาธิแบบนั่งขัดสมาธิ  นั่งตัวตรง  ดำรงสติมั่นแบบที่ในตำราสอน  นั่นเป็นขั้นต่อไป 
เอาเริ่มต้นตรงนี้ก่อน  ได้ตรงเบื้องต้นตรงนี้ก่อน  แล้วขั้นต่อไปจะได้เอง  ได้ไวขึ้น
ผลจากการทำตรงนี้    ที่เห็นได้ชัด ๆ  ที่สุด   ก็คือ   อย่างน้อยก็จะทำงานได้ดีขึ้น   เราจะมีศักยภาพในการทำงานที่ดีขึ้น   ละเอียดขึ้น  มีความรอบคอบ  เกิดความผิดพลาดน้อย  เพราะเรารู้ตัว  มีสติอยู่ตลอด

คำสำคัญ (Tags): #คุณธรรม#สมาธิ
หมายเลขบันทึก: 168229เขียนเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2008 15:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท