สวรส.
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

สร้างเสริมสุขภาพเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ?


ในการประชุมระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสร้างเสริมสุขภาพเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้แทนหน่วยงานด้านงบประมาณของประเทศได้กล่าวถึงนโยบายสร้างเสริมสุขภาพว่า เป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนให้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ

ผมคิดว่าคนจำนวนมากมี "ความเชื่อ" เช่นนั้น และใช้ "ความเชื่อ" นี้ผลักดันนโยบายสร้างเสริมสุขภาพจำนวนมาก ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ดี ปัญหาอยู่ที่ "ความเชื่อ" นี้ถูกต้องหรือมีข้อมูลเชิงประจักษ์ยืนยันมากน้อยเพียงไร

หากคิดเฉพาะผลกระทบระยะสั้น การสร้างเสริมสุขภาพสามารถลด "ความเจ็บป่วย" ของผู้คน โดยเฉพาะโรคที่สามารถป้องกันได้ (preventable disease) ความเจ็บป่วยที่ลดลงย่อมหมายถึง ภาระค่าใช้จ่ายที่ลดลงด้วย....และนี่คือเหตุผลที่คนส่วนใหญ่ใช้อธิบาย "ความเชื่อ" ข้างต้น

แต่มีอีกหลายประเด็นที่ผู้คนอาจลืมนึกไป......

 

หนึ่ง มาตรการหนึ่งของการสร้างเสริมสุขภาพคือ การค้นหาผู้ป่วยในระยะแรก (early detection) เพื่อให้การรักษาอย่างทันท่วงที ป้องกันผลแทรกซ้อนที่จะเกิดตามมาในภายหลัง (secondary prevention) ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยเมื่อปี 2546 พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยยังมีจำนวนมากถึงร้อยละ 66 และ 49 ในเพศชายและหญิงตามลำดับ แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดอาจยังไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่การค้นหาผู้ป่วยระยะแรกเพิ่มขึ้น ย่อมทำให้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ในระยะสั้นค่ารักษาพยาบาลจึงไม่จำเป็นต้องลดลงเสมอไป (อาจเพิ่มขึ้นได้ด้วยในกรณีนี้) แต่ระยะยาวค่าใช้จ่ายบางส่วนอาจลดลงเนื่องจากผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานลดลง

สอง การสร้างเสริมสุขภาพส่งผลให้คนไทยมีชีวิตยืนยาวขึ้น กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ (aging society) โครงสร้างอายุประชากรที่เปลี่ยนไป ทำให้แบบแผนการเจ็บป่วยจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย โรคของความเสื่อม ความชรา จะกลายเป็นปัญหาที่มีความสำคัญ และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้นเช่นกัน ประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวนมากเริ่มประสบปัญหานี้และต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากขณะที่ผู้สูงอายุไม่สามารถหารายได้เพียงพอ ในระยะยาวค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพจึงไม่จำเป็นต้องลดลงเช่นกัน

 

สองประเด็นนี้เพียงยกตัวอย่างว่า...ความเข้าใจหรือความเชื่อบางประเด็น บางครั้งต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่า มีความถูกต้องมากน้อยเพียงไร ก่อนจะนำไปอ้างอิงเพื่อใช้ในการตัดสินใจ...

 

หากเป็นเช่นนี้แล้ว...ตกลงเราควรทำงานสร้างเสริมสุขภาพเพื่ออะไร ?

จาก: http://www.hsri.or.th/achieve/health_promotion_to_saving_buget.html

หมายเลขบันทึก: 167867เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2008 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท