ในการจัดระบบการปฏิบัติงาน มีงานส่วนหนึ่งเป็นการย้อมสีพิเศษ เป็นการย้อมสีปฏิกิริยาเคมีที่มีเฉพาะในเม็ดเลือดขาว (Cytochemical staining) ซึ่งพี่เม่ยก็ได้จัดให้มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาปฏิบัติงาน 4 คน คือ พี่เม่ย พี่อุรา น้องหรู และน้องนุก ทุกคนก็ผ่านการฝึกฝนจนเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติเหมือนกันหมด จนกระทั่งเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ เกี่ยวกับเรื่องการย้อมสีปฏิกิริยาเคมีในเม็ดเลือดขาว จัดโดยคณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล พี่เม่ยจึงเสนอชื่อ พี่อุรา เข้าร่วมประชุมด้วย ... ก่อนไปก็คุยกันก่อนว่าเราไม่คาดหวังจะได้อะไรเพิ่มมากมายนัก แต่อยากให้ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนที่เขาทำแบบเดียวกันดูบ้าง..
หลังจากประชุมกลับมา ขณะกำลังทำการทดสอบย้อมสีที่ว่านี่แหล่ะค่ะ มีขั้นตอนเตรียมน้ำยาที่เราต้องเตรียมส่วนผสม 3 ส่วนไว้ก่อน คือส่วน A ส่วน B และส่วน C จากนั้นเทส่วนผสมทั้งสามส่วน พร้อมๆกันลงในบิคเกอร์แล้วคนให้เข้ากัน รอให้เกิดปฏิกิริยาสมบูรณ์ ใช้เวลาประมาณ 5 นาที เราก็ทำตามตำราอย่างนี้มาโดยตลอด พี่อุราก็เล่าให้ฟังว่า ที่นั่น (หมายถึงที่ไปประชุมมา) เขาสอนให้เทส่วน A กับ B ผสมกันก่อน แล้วจึงค่อยๆเทส่วน C ตามไปทีหลัง เมื่อเราลองทำตามดูก็พบว่า เทคนิคนี้ทำได้สะดวกกว่า ที่สำคัญคือ ปฏิกิริยาเกิดสมบูรณ์ภายใน 1 นาทีเมื่อเปรียบเทียบผลการทดสอบระหว่างการใช้สองเทคนิคที่กล่าวมา "ให้ผลไม่แตกต่างกันค่ะ" เราจึงปรับปรุงงานทันที แนะนำให้สาวๆทั้งสี่คน (ที่เอ่ยนามตั้งแต่ตอนต้นบันทึกนี้)ใช้เทคนิคใหม่นี้ค่ะ
ประสบการณ์ครั้งนี้ ทำให้พี่เม่ยนึกถึงคำแนะนำของ คุณหมอพิเชษฐ์ บัญญัติ ในวันที่ท่านมาบรรยายที่คณะแพทย์ มอ. (เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2549) คุณหมอบอกว่า "อะไรที่เราทำอยู่และคิดว่า ดี ที่สุดแล้ว ให้ลองไปดูที่อื่นบ้าง ว่าเขาทำกันอย่างไร บางที..ที่อื่นอาจมี ดีกว่า เราก็ได้"
และที่สำคัญไม่แพ้การ "ไปดูที่อื่นบ้าง" ก็คือ ความช่างสังเกตและจดจำ ของพี่อุรา ผสมผสานกับ สุนทรียสนทนา ระหว่างพี่อุรากับพี่เม่ยค่ะ อย่างนี้ไม่ใช่เป็นแค่ "KM เนียนในเนื้องาน" แล้วนะคะ แต่เป็นเรื่องของ "การมี KM อยู่ในหัวใจ" เลยทีเดียว