เมื่อวานเล่าค้างเอาไว้เกี่ยวกับ
“สวัสดิการชุมชนพึ่งตนเอง” ความโดยสรุปในเบื้องต้น
คือ
เมื่อพิจารณาพัฒนาการของสวัสดิการสังคมในสังคมไทยจะเห็นได้ว่าปรากฏออกมาใน
2 ลักษณะ ได้แก่ ช่วงแรกปรากฏในรูป “สวัสดิการสังคม”
ที่ดำเนินการโดยชุมชน
ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคม
มีการขยายอิทธิพลของตะวันตกเข้ามาในสังคมไทย
ระบบการศึกษาสมัยใหม่ได้ดึงคนออกจากชุมชน
ขาดการเรียนรู้ท้องถิ่น การสืบทอดภูมิปัญญา ศาสนา
ความเชื่อ จารีตประเพณีต่างๆมีบทบาทน้อยลง
ฐานทรัพยากรที่เป็นฐานการผลิต ฐานความมั่นคงทางด้านอาหาร
ดิน น้ำ ป่า ถูกทำลาย
ชุมชนไม่มีสิทธิใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้การจัดสวัสดิการเปลี่ยนไปจากชุมชนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันไปสู่ระบบสวัสดิการที่รัฐเป็นผู้จัดให้
ซึ่งประชาชนจะได้รับมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับการตัดสินของหน่วยงาน
แผนงานโครงการ งบประมาณของภาครัฐ
นโยบายด้านการเมือง รวมทั้งกระแสโลกาภิวัตน์ เช่น
แหล่งเงินทุน/เงินกู้จากต่างประเทศ เงื่อนไขด้านการค้า
กระแสการพัฒนาของโลกที่เกี่ยวกับความมั่นคงของมนุษย์ (Human
Security) สิทธิมนุษยชน (Human Right) ฯลฯ
ในวันนี้จะขอเล่าต่อให้จบ โดยเนื้อหาทั้งหมดเกี่ยวข้องกับ
“สวัสดิการชุมชนพึ่งตนเอง” ในแง่มุมต่างๆ
มีรายละเอียดดังนี้
สวัสดิการชุมชนทางเลือกเพื่อการพึ่งตนเองของชุมชน
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา
ประกอบกับการที่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในช่วง
4-5 ปีที่ผ่านมา
เป็นการเปิดโอกาสที่จะทำให้กระแสชุมชน/สังคม
หันมาสนใจค้นหาทางเลือก/ทางรอดของชุมชนท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่รุกคืบเข้ามามากขึ้นตลอดเวลา
สวัสดิการชุมชนเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยทำให้เกิดความมั่นคงของชุมชนฐานรากให้สามารถดำรงอยู่ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ได้
โดยสรุป “สวัสดิการชุมชน” คือ
การสร้างหลักประกันเพื่อความมั่นใจของคนในชุมชน
ซึ่งหมายรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
อาจอยู่ในรูปสิ่งของ เงินทอง น้ำใจ
การช่วยเหลือเกื้อกูล
เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย
ผลของการจัดสวัสดิการชุมชนที่สำคัญ คือ
ก่อให้เกิดรายได้ ลดรายจ่าย
เกิดความสัมพันธ์มิตรไมตรีที่ดีขึ้นของคนในชุมชนรู้สึกมั่นคง
ภาคภูมิใจ อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีความสุข
ลักษณะรูปแบบการจัดสวัสดิการโดยชุมชน
1.การจัดสวัสดิการจากฐานองค์กรการเงินชุมชน
ปัจจุบันองค์กรการเงินชุมชนประเภทต่างๆได้ให้ความสนใจกับการจัดสวัสดิการชุมชนมากขึ้น
องค์กรการเงินบางประเภทจัดตั้งขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสวัสดิการโดยเฉพาะ
หรืออาจกล่าวได้ว่า “เงินเป็นเครื่องมือ เป้าหมาย
คือ สวัสดิการชุมชน”
จุดแข็งของการจัดสวัสดิการโดยฐานกลุ่มออมทรัพย์
1.มีฐานเงินของตนเองทำให้คิดระบบสวัสดิการได้ตามปัญหา
ความต้องการ และวงเงินที่มีอยู่
โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแหล่งทุนภายนอก
แต่ถ้ารัฐเข้ามาสมทบก็จะช่วยให้ทำงานได้กว้างขึ้น/เร็วขึ้น
2.คนในชุมชนรู้จักกัน รู้ข้อเท็จจริง
ทำให้ไม่ต้องกรอกเอกสารมาก หรือส่งต่อหลายขั้นตอน
3.ระเบียบกติกา การจ่ายสวัสดิการคล่องตัว
4.การใช้สวัสดิการเป็นแรงจูงใจในการออม
2.การจัดสวัสดิการชุมชนโดยฐานการผลิต/ธุรกิจชุมชน
จากภูมิปัญญาดั้งเดิมในการทำมาหากินที่สั่งสมมายาวนาน
ประกอบกับการได้มีโอกาสไปดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้
การสนับสนุนส่งเสริมของหน่วยงาน
ทำให้ชุมชนหลายแห่งสามารถจัดสวัสดิการจากฐานการผลิตภายในชุมชน
หรือจากกลุ่มที่รวมตัวกันทำธุรกิจชุมชนได้
3.การจัดสวัสดิการโดยฐานทรัพยากรธรรมชาติ/สิ่งแวดล้อม
หลายชุมชนได้หันมาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ทำให้ความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา
ทำให้ชุมชนมีแหล่งอาหารที่มั่นคง
สามารถลดรายจ่ายและสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นได้
รวมทั้งเป็นกองทุนที่จะกลับคืนมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืนต่อไป
4.การจัดสวัสดิการจากฐานอุดมการณ์/ศาสนา
องค์กรชุมชนหลายประเภทได้นำคำสอน/แนวปฏิบัติตามหลักศาสนาต่างๆมาประยุกต์ใช้ในการจัดสวัสดิการมากขึ้น
5.การจัดสวัสดิการโดยฐานชุมชนเมือง
สวัสดิการที่สำคัญของชาวชุมชนแออัด คือ เรื่อง
“บ้าน”
6.การจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ
โดยผู้สูงอายุ
ในปัจจุบันมีการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุเป็นเครือข่ายฯหรือองค์กรเพื่อจัดสวัสดิการให้กว้างขวาง
ครอบคลุมยิ่งขึ้น
7.การจัดสวัสดิการผู้ยากลำบาก
โดยเครือข่ายองค์กรชุมชน สำนักงานกองทุนเพื่อสังคม
(SIF)
สนับสนุนงบประมาณ
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ความตื่นตัวในการจัดสวัสดิการโดยชุมชนที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อสังคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดสวัสดิการผู้ยากลำบาก
ได้มีเครือข่ายองค์กรชุมชนดำเนินการประมาณ 500 เครือข่าย
สามารถจำแนกรูปแบบการจัดสวัสดิการองค์กรชุมชน ได้เป็น 3
รูปแบบ คือ
7.1จัดในลักษณะกองทุนสงเคราะห์
ส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนที่ทำงานในเชิงสงเคราะห์อยู่แล้ว
เช่น เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์ เป็นต้น
7.2จัดในลักษณะกองทุนสงเคราะห์ร่วมกับกองทุนหมุนเวียน
ลักษณะกองทุนสงเคราะห์ใช้จ่ายเป็นเงินสงเคราะห์รายเดือน
ซึ่งเงินจะหมดไปถ้าไม่มีการเพิ่มเติมเหมือนกับประเภทกองทุนหมุนเวียน
ส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนทุนอาชีพ
ซึ่งคืนเงินต้นไว้ที่กองทุนเดิม
ส่วนดอกเบี้ยเพิ่มในกองทุนสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือผู้ยากลำบากรายอื่นต่อไป
7.3การสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นการสมทบอัตรา 1:1
ตามวงเงินกองทุนสวัสดิการกลุ่มออมทรัพย์ที่มีอยู่เดิม
โดยมีเงื่อนไขว่าใช้เฉพาะดอกผลที่เกิดขึ้น
และเครือข่ายต้องรับผิดชอบสวัสดิการของผู้ด้อยโอกาสที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์
ซึ่งเป็นโครงการของกองทุนหมุนเวียนชาวบ้านสงขลา
หลักการสำคัญในการจัดสวัสดิการชุมชน
1.ทำจากสิ่งที่เป็นจริง
ไม่ใช่ลอกเขามาทั้งชุด
สวัสดิการชุมชนต้องสอดคล้องกับวิถีของแต่ละพื้นที่
2.เริ่มจากเล็กไปใหญ่
ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป
3.เงินเป็นเพียงเครื่องมือไม่ใช่เป้าหมาย
ใช้เงินสร้างเงื่อนไข ทำให้คนอยากทำงาน อยากทำดี
4.ระบบสวัสดิการที่ดีต้องช่วยเหลือแบบไม่ก่อให้เกิดการแบ่งแยกในชุมชน
ควรให้ทุกคนได้ อย่ามุ่งเน้นแต่คนจนและคนด้อยโอกาส
5.เป็นองค์รวมที่ทุกอย่างเชื่อมโยงเข้าหากัน
กิจกรรมทุกอย่างสามารถก่อให้เกิดสวัสดิการได้ทุกเรื่อง
ต้องมีการเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆเข้าหากัน
เชื่อมโยงคนให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ดูแลซึ่งกันและกัน
รวมทั้งต้องมีการเชื่อมโยงคนกับธรรมชาติ
คนสามารถเรียนรู้อยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้
6.ต้องเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ
คนในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับเสมอ
จึงเป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกันละมีศักดิ์ศรี
7.ต้องทำด้วยความรักและความอดทน
ต้องมีความศรัทธาเชื่อมั่นว่าชาวบ้านสามารถสร้างสวัสดิการของตนเองได้
รักที่จะทำงานเพื่อชุมชน เพื่อส่วนรวม
อดทนต่อความคิด ความเห็นที่ไม่ตรงกัน
การขับเคลื่อนขบวนการสวัสดิการชุมชนของเครือข่ายองค์กรชุมชน
ปัจจุบันเครือข่ายองค์กรชุมชนให้ความสนใจในเรื่องการจัดสวัสดิการชุมชนกันอย่างกว้างขวาง
โดยส่วนใหญ่ตั้งเป้าหมายการจัดสวัสดิการให้ครอบคลุมตั้งแต่เกิด
แก่ เจ็บ ตาย
อย่างไรก็ตามเหนือสิ่งอื่นใดสิ่งสำคัญในการจัดสวัสดิการโดยชุมชน
คือ น้ำใจที่ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งของการจัดสวัสดิการโดยชุมชน
คือ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการโดยชุมชนมากขึ้น
องค์การบริหารส่วนตำบลประมาณ 300 แห่ง
ได้จัดงบประมาณสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน
องค์การบริหารส่วนจังหวัดบางแห่งเริ่มสมทบงบประมาณกองทุนสวัสดิการชุมชนทุกตำบลในจังหวัด
จบแล้วค่ะ
คิดว่าคงเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจไม่มากก็น้อยนะคะ