สิทธิการประมงในเขตการประมงไทย


                   พระราชบัญญัติ
               ว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย
                            พุทธศักราช 2482
                                 _____
 
            ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
                    คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
                  (ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
                  ลงวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480)
                             อาทิตย์ทิพอาภา
                      พล.อ. เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน
              ตราไว้ ณ วันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2482
                        เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน
         โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วย
   สิทธิการประมงในเขตการประมงไทย ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
         จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำ
   และยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

         มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัติว่าด้วย
   สิทธิการประมงในเขตการประมงไทย พุทธศักราช 2482"


         มาตรา 2* ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม พุทธศักราช 
   2482 เป็นต้นไป
        *[รก.2482/-/941/30 กันยายน 2482]

         มาตรา 3  ตั้งแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติ
   ว่าด้วยสิทธิจับสัตว์น้ำในเขตจับสัตว์น้ำสยาม พุทธศักราช 2477 และ
   พระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิจับสัตว์น้ำในเขตจับสัตว์น้ำสยาม แก้ไขเพิ่มเติม
   พุทธศักราช 2478

         มาตรา 4  ในพระราชบัญญัตินี้
         "การประมง" หมายความถึงการจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือหรือวิธี
   อย่างหนึ่งอย่างใดในที่แห่งหนึ่งแห่งใดในเขตการประมงไทย รวมทั้งการใช้
   เรือทำการจับสัตว์น้ำ หรือเป็นพาหนะไปทำการจับสัตว์น้ำด้วย
         "เขตการประมงไทย" หมายความถึงเขตน่านน้ำไทยหรือน่านน้ำ
   อื่นใด ซึ่งประเทศไทยใช้อยู่หรือมีสิทธิที่จะใช้ต่อไปในการจับสัตว์น้ำ โดยที่
   น่านน้ำเหล่านั้นปรากฏโดยทั่วไปว่ามีขอบเขตตามกฎหมายท้องถิ่น หรือ
   ธรรมเนียมประเพณี หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสนธิสัญญา 
   หรือด้วยประการใด ๆ
         "เรือ" หมายความถึงยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด
         "ผู้ควบคุมเรือ" หมายความถึงนายเรือ สรั่ง ไต้ก๋ง นายท้าย 
   คนถือท้าย หรือบุคคลอื่นใดผู้มีหน้าที่บังคับเรือและรับผิดชอบในเรือ แต่ไม่
   หมายความถึงผู้นำร่อง
         "คนต่างด้าว" หมายความถึงคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วย
   การทะเบียนคนต่างด้าว
         "รัฐมนตรี" หมายความถึงรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
         "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความถึงพนักงานประมงกรมการจังหวัด 
   กรมการอำเภอ เจ้าท่า พนักงานศุลกากร ผู้บังคับการเรือ หรือผู้บังคับบัญชา
   หน่วยทหารแห่งราชนาวี และเจ้าพนักงานอื่น ๆ ซึ่งรัฐมนตรีได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อ
   ปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

         มาตรา 5  ห้ามมิให้ออกใบอนุญาตสำหรับทำการประมงให้แก่
         (ก) คนต่างด้าวคนใดคนหนึ่ง หรือ
         (ข) ห้างหุ้นส่วนสามัญใด ๆ เว้นแต่ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดมีสัญชาติไทย
   หรือ
         (ค) ห้างหุ้นส่วนจำกัดใด ๆ เว้นแต่ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดซึ่งต้อง
   รับผิดชอบร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวน มีสัญชาติไทยและทุนของห้างหุ้นส่วนนั้น
   ไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบ ต้องเป็นของบุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย หรือ
         (ง) บริษัทจำกัดใด ๆ เว้นแต่กรรมการส่วนมากมีสัญชาติไทย และ
   ทุนของบริษัทนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบต้องเป็นของบุคคลธรรมดาซึ่งมี
   สัญชาติไทย และบริษัทนั้นต้องไม่มีข้อบังคับอนุญาตให้ออกหุ้นผู้ถือ
         ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่มีสิทธิได้รับอนุญาตดังกล่าวนั้นต้องจดทะเบียน
   ตามกฎหมายไทย มีสำนักงานใหญ่ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตั้งอยู่ในราช
   อาณาจักรไทยด้วย

          มาตรา 5  ทวิ*  การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำหน้าที่เป็นลูกเรือ
   ในเรือประมงได้ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว
          ให้ผู้ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่งเป็นลูกเรือทำการประมงได้ และ
   บทบัญญัติมาตรา 7(2) มิให้นำมาใช้บังคับถ้ามีการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง
          เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ คำว่าลูกเรือตามวรรคหนึ่งหมายความว่า 
   คนที่มีหน้าที่ประจำอยู่ในเรือ แต่ไม่รวมถึงผู้ควบคุมเรือ
         *[มาตรา 5 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2539]


         มาตรา 6  ถ้าบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทใดได้รับใบอนุญาต
   สำหรับทำการประมงไปแล้ว ภายหลังตกเป็นผู้ไม่มีสิทธิได้รับใบอนุญาตสำหรับ
   ทำการประมงตามความในมาตรา 5 ให้บุคคลหรือผู้จัดการห้างหุ้นส่วนหรือ
   บริษัทนั้น แล้วแต่กรณี แจ้งให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตทราบภายใน 15 วัน
   นับแต่วันที่บุคคลหรือห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นตกเป็นผู้ไม่มีสิทธิดังที่กล่าวแล้ว 
   และให้ส่งคืนใบอนุญาตไปยังเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตพร้อมกันด้วย ในกรณี
   เช่นนี้ให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตขีดฆ่าใบอนุญาตนั้นเสีย

          มาตรา 7  นอกจากจะมีความตกลงกับต่างประเทศเป็นอย่างอื่น
   ห้ามมิให้ใช้เรือต่อไปนี้ทำการประมงในเขตการประมงไทย
          (1) เรือที่มีสัญชาติต่างประเทศ หรือเรือที่เป็นของคนต่างด้าว 
   หรือของนิติบุคคลที่มีสัญชาติต่างประเทศ
          (2) เรือสยามซึ่งมีคนประจำเรือไม่ว่าอยู่ในฐานะใด ๆ เป็น
   คนต่างด้าวรวมอยู่ด้วย
          แต่คนต่างด้าวผู้ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาติดต่อกัน
   ไม่น้อยกว่าห้าปี ก่อนวันที่ 28 ตุลาคม พุทธศักราช 2477 ย่อมเป็นคนประจำ
   เรือสยามสำหรับทำการประมงได้ถ้าหากคนต่างด้าวนั้นได้จดทะเบียนและ
   ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว และรวมกันไม่มากกว่า
   ร้อยละยี่สิบห้าแห่งจำนวนคนประจำเรือ
         เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ มิให้ถือว่าคนประจำเรือเป็นคนต่างด้าว
   ถ้าหากคนต่างด้าวนั้นเป็นครูสอนวิชาการประมงซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล
   ให้ทำการสอนในโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนประชาบาลหรือเทศบาล ในกรณี
   ที่เป็นครูโรงเรียนประชาบาลหรือเทศบาลต้องไม่เกินโรงเรียนละห้าคน และ
   ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐมนตรีได้แต่งตั้งเพื่อการนั้น


         มาตรา 8  บุคคลผู้ทำการประมงโดยใช้เรือในเขตการประมงไทย
   ต้องมีใบอนุญาตที่ได้รับสำหรับทำการประมงประจำไปกับเรือด้วยในขณะทำการ
   ประมง

         มาตรา 9  พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะตรวจและค้นเรือลำหนึ่ง
   ลำใดที่ใช้หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้ในการประมงโดยละเมิดต่อ
   พระราชบัญญัตินี้ และมีอำนาจยึดเครื่องมือที่ใช้ในการประมง เอกสารและ
   วัตถุอื่นใดอันพึงใช้เป็นพยานหลักฐานในการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ 
   รวมทั้งสัตว์น้ำที่พบอยู่ในเรืออันควรสงสัยว่าได้จับในเขตการประมงไทยด้วย

         มาตรา 10  พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับและยึดเรือที่ได้กระทำผิด
   หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้กระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ และมีอำนาจที่จะ
   พ่วงเรือนั้น หรือบังคับให้ผู้ควบคุมเรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อนำไปยัง
   ท่าเรือที่ใกล้ที่สุด ซึ่งเหมาะแก่การที่จะสอบสวนหรือทำการอย่างอื่นเพื่อฟ้องร้อง
   ตามกฎหมาย
         การสอบสวนความผิดอาญาตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่
   ผู้กระทำการจับกุมหรือสั่งให้จับกุมนั้น มีอำนาจทำการสอบสวนได้
         เรือที่ได้ใช้ในการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ เครื่องมือจับสัตว์น้ำ
   อย่างหนึ่งอย่างใด และสัตว์น้ำซึ่งแสดงให้เห็นว่าจับได้ในเขตการประมงไทย
   ที่พบอยู่ในเรือที่กล่าวนั้น ให้ศาลมีอำนาจริบเสียได้

         มาตรา 11* ถ้ามีการใช้เรือทำการประมงหรือพยายามทำการประมง
   ในเขตการประมงไทยโดยฝ่าฝืนบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ เจ้าของเรือซึ่งอยู่ใน
   เรือขณะที่มีการฝ่าฝืน หรือผู้ควบคุมเรือในกรณีที่เจ้าของเรือไม่อยู่ในเรือ ต้อง
   ระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท 
         ถ้าไม่มีตัวเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือหรือไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็น
   เจ้าของเรือ หรือผู้ควบคุมเรือ ให้ถือว่าคนประจำเรือทุกคนซึ่งอยู่ในเรือ
   ขณะที่มีการฝ่าฝืน มีความผิดต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง 
   เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นหรือยินยอมด้วยในการกระทำนั้น
        *[มาตรา 11 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2539]

          มาตรา 11* ทวิ คนต่างด้าวผู้ใดทำหน้าที่เป็นลูกเรือในเรือประมง
   ในเขตการประมงไทยโดยมิได้รับอนุญาตตามมาตรา 5 ทวิ ต้องระวางโทษ
   ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท 
         *[มาตรา 11 ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2)
   พ.ศ. 2539]

         มาตรา 12  ผู้ใดทำการละเมิดต่อมาตรา 6 หรือมาตรา 8 มีความผิด
   ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท

         มาตรา 13  การฟ้องคดีตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นหน้าที่ของพนักงาน
   อัยการสังกัดกรมอัยการ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารซึ่งรัฐมนตรีได้ตั้งขึ้นให้มีอำนาจ
   และหน้าที่ฟ้องได้ด้วย
         การตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารให้มีอำนาจและหน้าที่ตามความในวรรคก่อน
   ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

         มาตรา 14  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการมีหน้าที่รักษาการ
   ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และ
   ออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
         กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้


                                บทบัญญัติเฉพาะกาล
                                      _____
         มาตรา 15  คนต่างด้าวผู้ได้รับใบอนุญาตสำหรับทำการประมงอยู่แล้ว
   ในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ จะทำการประมงต่อไปเท่าที่ได้รับอนุญาต และจะขอต่อ
   ใบอนุญาตอีกก็ได้ภายในกำหนดเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้
   ถ้าผู้นั้นมิได้ฝ่าฝืนบทบัญญัติใด ๆ แห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นว่าด้วย
   การประมง หรือกฎกระทรวงซึ่งออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายอื่นนั้น
         ในกรณีอนุญาตให้ทำการประมงในที่น้ำเค็มตลอดปีนั้นห้ามมิให้นำกำหนด
   เวลาดังกล่าวในวรรคก่อนมาใช้บังคับ
         คนต่างด้าวผู้มีสิทธิตามความในสองวรรคก่อน ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย
   มีสิทธิใช้เรือของตนทำการประมงตามที่ตนได้รับอนุญาตนั้นได้ ในเมื่อคนประจำ
   เรือไม่ว่าอยู่ในฐานะใด ๆ เป็นคนสัญชาติไทย หรือถ้ามีคนต่างด้าวรวมอยู่ด้วย
   ก็ต้องไม่มากกว่าร้อยละยี่สิบห้าแห่งจำนวนคนประจำเรือ และคนต่างด้าวนั้น
   จะต้องเป็นบุคคลตามที่กล่าวในมาตรา 7 วรรค 2 ด้วย ในกรณีเช่นนี้ห้ามมิให้
   นำความในมาตรา 7(1) มาใช้บังคับ

   ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
               พิบูลสงคราม
              นายกรัฐมนตรี
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16727เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2006 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท