“การเมืองสมานฉันท์” สิ่งซึ่งไม่น่าเป็นไปได้แต่เป็นไปได้และเป็นไปแล้ว


            (22 ก.พ. 49) เจ้าหน้าที่ “วิทยาลัยการจัดการทางสังคม” (วจส.) มาขอสัมภาษณ์เรื่อง “การเมืองสมานฉันท์” ซึ่งโยงกับเรื่อง “การจัดการทางสังคม” ด้วย ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
            ได้ให้ความเห็นไปว่า “การเมือง” เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “อำนาจ” รวมถึงการได้มาซึ่งอำนาจหรือการเข้าสู่อำนาจ การใช้อำนาจ การคานอำนาจ การตรวจสอบอำนาจ ฯลฯ “การเมือง” จึงมักนำมาซึ่ง “การแย่งชิง” (อำนาจ) และ “การต่อสู้” (เพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งอำนาจ) เกิดเป็น “ความเป็นปฏิปักษ์” ซึ่งตรงกันข้ามกับ “ความสมานฉันท์” ดังนั้น คำว่า “การเมืองสมานฉันท์” จึงดูเหมือนป็น “ความขัดแย้งกันเองในถ้อยคำ”
            แต่ก็ปรากฎว่า “การเมืองสมานฉันท์” เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงทั้งในโลกและในประเทศไทย เช่นการแต่งตั้งผู้อำนวยการ “องค์การค้าโลก” (World Trade Organization – WTO) อาศัยกระบวนการที่ต้องได้ “ฉันทามติ” (Consensus) เช่นเดียวกับกรณีการได้มาซึ่ง “องค์สันตะปาปา” (Pope) ของคณะสงฆ์นิกายคาทอลิกในศาสนาคริสต์ ซึ่งต้องได้ “ฉันทามติ” เช่นเดียวกัน
            ในประเทศไทย การสรรหาตัวแทนองค์กรชุมชนใน “ขบวนการชุมชน” ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สนับสนุนอยู่ รวมถึงการสรรหาตัวแทนที่จะเข้าเป็นกรรมการในคณะกรรมการ พอช. ล้วนใช้กระบวนการฉันทามติทั้งสิ้น ซึ่งพบว่าเป็นไปด้วยดีและบังเกิดผลดี โดยเฉพาะหากเปรียบเทียบกับ “กระบวนการเลือกตั้ง” ที่เคยใช้ในอดีตหรือในขบวนการอื่นๆ
            เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งซึ่งใช้หลักการฉันทามติ ปรากฎว่าเป็นไปด้วยดีและมีสัญญาณว่าจะบังเกิดผลดีเช่นเดียวกัน
ที่สำคัญ ได้มีการได้มาซึ่ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในหลายตำบล ซึ่งใช้กระบวนการทางสังคมจนได้ความเห็นพ้องแล้วจึงอาศัยการเลือกตั้งเป็นกระบวนการให้มีผลตามกฎหมาย ปรากฏการณ์นี้ได้เกิดขึ้นในหลายจังหวัดซึ่งกระจายอยู่ทุกภาคทั่วประเทศ นับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญน่าศึกษาติดตามและส่งเสริมสนับสนุน
            และนี่แหละคือ การเมืองสมานฉันท์ ของจริงที่ได้เกิดขึ้นในระบบ “การเมืองท้องถิ่น” ของประเทศไทย ซึ่งหากมีเช่นนี้มากขึ้นและขยายวงไปเรื่อยๆ ก็สามารถนำไปสู่ “การเมืองสมานฉันท์” ใน “การเมืองระดับชาติ” ได้เช่นกัน หรืออย่างน้อย นั่นน่าจะเป็นความหวังที่เราพอจะมีในใจได้
            สำหรับ กระบวนการทางสังคม ที่ชุมชนนำมาใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเห็นพ้องว่าใครควรเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นั้น ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “การจัดการทางสังคม” ซึ่งคำว่า “การจัดการทางสังคม” ก็หมายถึง การดำเนินการซึ่งอาศัยกระบวนการทางสังคมและมิติทางสังคมที่จะนำไปสู่ผลที่น่าพึงพอใจหรือที่พึงปรารถนาของสังคมหรือของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง
            “การเมืองสมานฉันท์” ยังมีแง่มุมเกินกว่าที่กล่าวมานี้อีกมาก เช่น การใช้ “กระบวนการสันติวิธี” (Peace Building, Conflict Management, Conflict Resolution, Conflict Transformation) การพัฒนานโยบายแบบ “ร่วมไตร่ตรอง” หรือ “ประชาปรึกษา” (Public Consultation, Citizens Dialogue) ฯลฯ
            ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) จะจัดการสัมมนาในหัวข้อ “การเมืองสมานฉันท์” ในวันที่ 23 มีนาคม 2549 โดยมีคุณหมอประเวศ วะสี เป็นผู้ปาฐกถานำ และมีกรณีศึกษาของท้องถิ่นที่ได้เกิดกระบวนการทางสังคมที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น “การเมืองสมานฉันท์” มานำเสนอในการสัมมนาด้วย

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
24 ก.พ. 49

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16723เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2006 21:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 11:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท