พื้นที่


คนจนยิ่งเปิดตัวมาก เปิดพื้นที่มาก มันยิ่งเปลืองตัวมากด้วยเช่นกันนะครับ จะไปวัด ไปงานแต่ง งานศพ งานบุญ ต้องมีเสื้อผ้าสะอาด ต้องมีเงินติดตัวไว้ช่วยงานหรือใส่ซอง ใส่ขัน ใส่บาตรติดกัณฑ์เทศน์ด้วย... พื้นที่ในมิติทางสังคม จึงเป็นพื้นที่ของการมีส่วนร่วม ของการเข้าถึง และการกีดกันจากสถานะทางเศรษฐกิจ (ถนนเป็นของคนมีรถ ทางด่วนเป็นของคนมีเงิน และศาลาการเปรียญหลังงามเป็นของคหบดี)


เมื่อสายวันก่อน ผมมีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลโคกตาล อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษครับ (ทางไปอ่างเก็บน้ำห้วยศาลา ห่างจากสถานสงเคราะห์ราวสัก ๑๐ กม.เศษ) ไปร่วมประชุมสืบเนื่องจากช่วงเช้ารองนายกฯคุณสุวรรณ์ ผลคำ นำรายชื่อบุคคล/ครอบครัวที่ประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อน เพื่อให้การช่วยเหลือเบื้องต้นตามระเบียบว่าด้วยการสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและไร้ที่พึ่งฯมาส่ง แล้วบอกว่าเช้านี้มีประชุมสภาฯ อยากให้ไปเล่า ไปคุย ไปให้รายละเอียดเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุม - - รองนายกฯเพิ่งเสร็จจากงานบุญประจำปีที่วัด บอกว่าไม่ได้กลับนอนบ้าน ๓ คืนแล้ว นี่ยังไม่ล้างหน้าอาบน้ำเลย เสร็จงานเช้านี้เลยแวะมาหาผมก่อน

เป็นเรื่องเกือบจะเรียกได้ว่าปกติครับ ไม่แตกต่างจากที่ประสานงานกับ อปท. หน่วยงานอื่นๆ เท่าใดนัก ที่ผมต้องตามไปพูดคุยในที่ประชุมสภา ผมเข้าใจ (หัวอกและแนวทางการจัดการของท่าน) นะครับ แล้วเราค่อยคุยประเด็นนี้กันต่อครับว่า ที่ผ่านมาผมมักเห็นว่าท่านจัดการอย่างไร

บรรยากาศในที่ประชุมวันนั้นน่ารักครับ สมาชิกสวมเครื่องแบบชุดสีกากี จะแปลกก็ตรงที่ผมสวมเสื้อสีแดง - - แดง เพราะเป็นเสื้อเชียร์ธรรมศาสตร์ ๖๔ นะแหละครับ วันศุกร์เป็นวันกิจกรรมของสถานสงเคราะห์เลยแต่งตัวกันสบายๆ เลยสวมแจ๊คเก็ตดำไปก็น่าจะพอช่วยได้ครับ


พื้นที่กับกระบวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ก่อนหน้านี้ทราบว่า อบต. จะก่อสร้างอาคารสำนักงานหลังใหม่เร็วๆ นี้ การประชุมวันนี้ (และเข้าใจว่าที่ผ่านมาก็คงเช่นเดียวกัน) จึงประชุมกันที่ศาลาอเนกประสงค์ เป็นศาลากลางแจ้งไม่มีผนัง ไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้า มีเพียงหลังคาเท่านั้น ยกโต๊ะมาต่อๆ แล้วก็นั่งประชุมกัน เป็นภาพที่อบอุ่นนะครับ แม้ว่าอาจจะไม่เหมาะก็ได้กับสภาพดินฟ้าที่แปรปรวน ฝุ่นอาจจะคลุ้งตลบ เอกสารอาจปลิวว่อนหรือต้องตะโกนกันถ้า "ลมผีหัวกุด" พัดมา หรือรถเร่ขายอาหารทะเล หอม กระเทียม ขับผ่านมา

ผมว่าในการกำหนดหรือออกแบบพื้นที่การประชุม เป็นสิ่งสำคัญยิ่งประการหนึ่งต่อการสร้างบรรยากาศหรือเอื้อต่อการมีส่วนร่วมอภิปรายของผู้เข้าร่วมประชุมนะครับ

พ่อกำนัน พ่อผู้ใหญ่บ้าน หรือพ่อนายกฯ ท่านคุ้นเคยกับการนั่งพื้นศาลาการเปรียญ หรือไม่ก็ูปูเสื่อว่ากันบนพื้นสนามหญ้า นั่งขัดสมาธิ (หรือนั่งชันเข่า) พันยาฉุนสูบไปด้วยอภิปรายไปด้วย แสดงความคิดเห็นได้อย่างออกรสออกชาติ ด้วยอารมณ์บรรเจิด แต่พอจับท่านสวมเครื่องแบบ มานั่งในที่ประชุมติดแอร์ กดไมโครโฟนก่อนพูด ต้องพูดภาษาไทยกรุงเทพฯ (ที่คำอุทาน "โจ่ย" ถือเป็นคำหยาบ) แล้วก็เหมือนว่าท่านจะเป็นตัวตลกของบรรดาเหล่าพนักงานใน อบต. เสียอย่างนั้นแหละครับ


เลิกงาน ลากเก้าอี้มาประชุมหารือหน้าห้องทำงาน บรรยากาศแบบนี้ทำให้ชื่นมื่นนะครับ พี่ๆ น้องๆ ไหลลื่นไม่เครียด แต่บรรยากาศดังภาพจะเปลี่ยนไปแทบจะโดยทันที ถ้าผมลองแจกเอกสารประกอบการประชุม - - การพูดคุยกันบ่อยๆ ช่วยทำให้งานไหลลื่นได้นะครับ (แน่นอนว่าถ้าเขาเป็นคนทำงาน)


ว่าจำเพาะในสถานสงเคราะห์แล้ว ก่อนหน้านี้ฝ่ายสวัสดิการสงเคราะห์กำหนดให้มีการพูดคุยกันอย่างน้อยก็ ๓-๔ ครั้ง ต่อเดือนครับ กำหนดให้เป็นการประชุึมประจำเดือนของฝ่าย ๑ ครั้ง ซึ่งเป็นการประชุมแบบอุ้ยอ้าย เทอะทะ นะแหละครับ เป็นไปอย่างจารีตราชการใช้ห้องประชุมคุยกัน ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของการสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้้และตามงาน เฉลี่ยสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง - - อย่างมากครั้งละไม่เกิน ๑.๓๐ ชั่วโมง ก่อนเที่ยงหรือหลังเลิกงาน - - ๑ ครั้ง คุยเพื่อตามงาน ๑ ครั้ง คุยเพื่อแก้ปัญหาในงาน ๑ ครั้ง เพื่อสรุปไปสู่แนวปฏิบัติร่วมกันและสรุปกรอบเพื่อนำไปสู่การประชุมประจำเดือน แน่นอนครับการออกแบบเหล่านี้ พี่ๆ น้องๆ เพื่อนร่วมงานถ้าไม่สังเกตก็คงไม่รู้ละว่าแต่ละครั้งผมมีเป้าประสงค์ที่แตกต่าง

ลากเก้าอี้มาตีวงคุยกัน นัดคุยกันใต้ต้นไม้ โรงฝึกอาชีพ หรือหน้าห้องทำงานของผม หลายหนต้องใช้ชมพู่ มะม่วง ลูกอม เป็นอุปกรณ์เสริมช่วยให้ผ่อนคลาย - - แม้นั่งไขว้ขาผมก็ต้องทำ พาทีมงานทำ ว่านี่ไม่ใช่ห้องประชุม นี่เลิกงานแล้วมานั่งคุยกันหารือกัน เอากันแบบสบายๆ

งานหลายต่อหลายชิ้น บรรเจิดได้เพราะการคุยกันนอกรอบ ไม่มีระเบียบราชการนี่แหละครับ สังเกตได้ว่าพี่ๆ น้องๆ พูดได้มากกว่าในห้องประชุม บรรเจิดได้มากกว่าในห้องที่มีผนัง ๔ ด้าน ยิ่งไม่มีเอกสารแจกในมือด้วยแล้ว เหมือนว่าจะยิ่งเอื้อต่อการบรรเจิดนอกกรอบกระดาษ - - ไม่ได้มีอะไรพิเศษครับ ผมแค่ปรับประยุกต์การสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง (Non-structural Interview) ร่วมกับการสังเกต (Observation) และการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) ผ่านกรอบการสัมภาษณ์ที่กำหนดไว้หลวมๆ แล้วก็ปล่อยให้เป็นไป อย่างที่ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยเชิงคุณภาพบอกไว้ (ฮา)


พื้นที่ทางสังคม

สายวันนั้น ผมไปถึงทันเปิดประชุมพอดีครับ
วาระประธานแจ้งเพื่อทราบ เรื่องแรกน่ารักครับ ประธานเอาหนังสือร้องเรียนของชาวบ้านมาอ่านให้ที่ประชุมฟัง  ต่อมารองนายกฯได้ขออนุญาตให้ผมแทรก (จะได้รีบออกจากที่ประชุม) ๑๐ นาทีกับเรื่องที่ตั้งใจว่าจะคุยเกี่ยวกับระเบียบ คุณสมบัติ กลุ่มเป้าหมาย และการจัดลำดับความสำคัญ

ผมว่าปัญหามันคงไม่เกิดหรอกครับ ถ้าการคัดเลือกบุคคลยากไร้ดำเนินการผ่านกระบวนการประชาคมหมู่บ้าน ซึ่งแน่นอนว่าที่ผ่านมาคงไม่ได้ทำกัน นับแต่การเอาจำนวนหมู่บ้านมาหารจำนวนเต็มหรือวงเงินให้การช่วยเหลือ (นี่ไงครับ ที่ผมเกริ่นก่อนหน้านี้ว่า ผมเข้าใจว่าเพื่อง่ายต่อการจัดการท่านประธานก็เลยมักจะทำกันแบบนี้ละ) การใช้ดุลยพินิจของท่านผู้นำในการคัดเลือกคนจน หรือเป็นความโชคร้ายของสังคมถ้าจะมีการเลือกเฉพาะวงศาคณาญาติหรือหัวคะแนนเท่านั้น

ความหมายของคำว่าจน ยากไร้ ลำบาก ไร้ที่พึ่ง ประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อน สามารถทำความเข้่าใจร่วมกันได้ไม่ยากหรอกครับ แต่ที่มันยากคือการจัดลำดับความเร่งด่วนนี่สิครับ (แน่นอนว่า ผมไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการจัดสรรผ่านระบบโควต้า แม้มีเกินจำนวนโควต้าที่ได้รับการจัดสรรโดยมติที่ประชุม ผู้แทนชุมชนย่อมจำเป็นต้องนำเสนอชื่อบุคคลทั้งปวง)

(ผู้มีอำนาจหรือประชาคม) แต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชน มีเกณฑ์สำหรับจัดลำดับความสำคัญเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือคนจนแตกต่างกัน แต่ลักษณะร่วมประการหนึ่งที่เหมือนว่าผมต้อง "ขอ" ทำความเข้าใจมาโดยตลอดคือ การขอพื้นที่ให้กับคนจนครับ - - คนจนจำนวนไม่น้อยในชุมชนมัก (ถูกมองหรือทำให้) แยกตัวออกจากสังคมและบางส่วนอาจติดสุราด้วย

คนจนยิ่งเปิดตัวมาก เปิดพื้นที่มาก มันยิ่งเปลืองตัวมากด้วยเช่นกันนะครับ
จะไปวัด ไปงานแต่ง งานศพ งานบุญ ต้องมีเสื้อผ้าสะอาด ต้องมีเงินติดตัวไว้ช่วยงานหรือใส่ซอง ใส่ขัน ใส่บาตรติดกัณฑ์เทศน์ด้วย (หรือแม้จะมีแต่มีน้อยก็อาจได้นั่งแถวหลัง ปล่อยให้คหบดีจากแดนไกลได้มีโอกาสนั่งแถวหน้าใกล้ชิดกับท่านสมภาร) สังคมเราทุกวันนี้ยังคงเชิดชูวัฒนธรรมการออกแรงช่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นการลงแขกเกี่ยวข้าว การล้างชามงานบุญ ฯลฯ อยู่หรือครับ

การที่คนจนหรือคนไร้ที่พึ่งในชุมชนถูกปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือ (จากราชการหรือผู้แทนชุมชน) เพราะเหตุแห่งความถี่ของการเข้าร่วมกิจกรรมชุมชน เพิ่มเติมจากเงื่อนไขของการไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน สร้างบ้านเรือน (เพิง) อยู่ในที่ของคนอื่น ฯลฯ ก็เท่ากับเป็นการไล่ต้อนคนจนไม่ให้มีที่ยืนในชุมชนเข้าไปอีก - - ถึงตรงนี้พอเข้าใจได้ใช่ไหมครับว่า เพราะเหตุใดคนจนจำนวนไม่น้อย แม้ยากไร้แต่ก็ต้องขวยขวายด้วยวิธีใดๆ เพื่อให้ได้สร้อยคอทองคำสักเส้นมาห้อยคอ

แม้ผมเองก็เถอะท่านผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ ให้เกียรติเชิญชวนผมติดสอยห้อยตามไปงานพิธีและนอกพิธีต่างๆ อยู่เสมอ ซึ่งผมก็มักปฏิเสธ (เหมือนเสียมารยาท) มาโดยตลอดแหละครับ เพราะเหตุว่า "การเปิดพื้นที่มันเกี่ยวเนื่องกับค่าใช้จ่าย" นี่แหละครับ ยังไม่นับรวมถึงจารีตของแต่ละสังคมที่ผมต้องไปเรียนรู้อีก

พื้นที่ในมิติทางสังคม จึงเป็นพื้นที่ของการมีส่วนร่วม ของการเข้าถึง และการกีดกันจากสถานะทางเศรษฐกิจ (ถนนเป็นของคนมีรถ ทางด่วนเป็นของคนมีเงิน และศาลาการเปรียญหลังงามเป็นของคหบดี)


การขยายพื้นที่การรับรู้

การเปิดพื้นที่การรับรู้ของคนยากไร้ให้เข้าถึงสิทธิได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านนายหน้า ตลอดจนการขยายพื้นที่ของคนยากไร้ในสังคมจึงเป็นหน้าที่ของผมหรือของใครที่ปฏิบัติงานในลักษณะเดียวกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ เป็นการดำเนินงานในลักษณะหนุนเสริมมิใช่ด้วยการอนุเคราะห์สงเคราะห์ ถ้าเราเชื่อว่า งานสังคมสงเคราะห์ เป็นศาสตร์และศิลป์ของการจัดหาบริการเพื่อส่งเสริมความสามารถของบุคคลให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและดำรงชีพอยู่ได้อย่างเป็นสุข - - การดำเนินโครงการในลักษณะแผนที่คนดี แผนที่คนยาก ของอาจารย์ไพบูลย์ อดีต รมว.พม. จำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องรอให้ถึงปฏิวัติอีกรอบค่อยทำทีหรอกครับ (ฮา)

ผมว่านักสังคมสงเคราะห์หรือนักอะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวข้อง จำเป็นนะครับกับบทบาทการเปิดตัวและขยายพื้นที่ของคนยาก  ผมยอมรับด้วยละว่าผมอ่อนงานคลีนิค ทั้งไม่กล้ายืนยันได้ว่าอะไรบ้างในวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ที่ผมทำได้ดีกว่าคนอื่นหรือวิชาชีพอื่นในงานสังคมสงเคราะห์คลีนิค (case work) แต่ผมว่างานชุมชนเป็นสิ่งนึงที่นักสังคมสงเคราะห์ของไทยทำได้ดีไม่น้อยไปกว่าใคร จะอุ้ยอ้ายไปบ้างก็เพราะความเป็นราชการมากไปนี่ละครับ - - ผมเชื่อของผมเองว่าตราบเท่าที่งานสังคมสงเคราะห์ยังคงบุคลิกความเป็นราชการอยู่ตราบใด งานสังคมสงเคราะห์จะยังคงไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมตราบนั้น


ความรวย ความจน ความงาม ความขี้เหร่ เป็นของคู่โลก
การยอมรับความแตกต่างของสถานะทางเศรษฐกิจ ชาติ ภาษา ก็เท่ากับเรายอมรับความหลากหลาย
การยอมรับให้มีความหลากหลายจึงเป็นการเปิดที่ยืนมากขึ้น เท่ากับเป็นการทำให้ทุกคนมีที่ยืนนะครับ


ผมชวนคุยเรื่อง "พื้นที่" แล้ว
ผมอาจต้องชวนคุยเรื่อง "เจ้าที่" อีกสักบันทึกกระมังครับ

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท