ศิลปะการต่อสู้ ศิลปกรรม ศิลปะธรรม


ไอคิโด ก็เหมือนกับศิลปะพื้นบ้านแขนงต่างๆของไทย ที่ในอดีตเป็นศิลปกรรมที่แยกไม่ออกกับศิลปะธรรม

 

ขึ้นชื่อว่าศิลปะการต่อสู้ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นการแสดงศิลปะ

แต่ในแง่ศิลปะเมื่อเทียบกับในแง่ของกีฬาแล้ว ศิลปะมักจะถูกสังคมจัดวางให้อยู่ปลายแถว ในขณะที่กีฬาถูกยกระดับให้เป็นเรื่องชั้นแนวหน้าของโลก  เป็นเรื่องของความเป็นแมน ความเป็นคนมีคุณภาพ ขนาดที่ว่า ถ้าหนุ่มโสดคนไหน ไม่ชอบกีฬา ก็จะถูกสังคมว่าร้ายไปต่างๆนานา

 

ผมคนหนึ่งล่ะที่ไม่ค่อยสนใจกีฬา แต่โชคดีที่มีครอบครัวแล้ว ก็เลยรอดจากการถูก "ปะป้าย"ดังกล่าว

 

ดูหนังสือและสื่อต่างๆ ก็เป็นตัวอย่างได้ว่า ถึงขนาดที่ยังมีหนังสือนิตยสารกีฬา มีหนังสือพิมพ์กีฬา มีสถานีโทรทัศน์ช่องกีฬาเอาใจมวลชนโดยเฉพาะ ในขณะที่แง่มุมสุนทรียทางศิลปะกลายเป็นเหมือนโลกของคนเพ้อฝัน  ถึงจะมีนิตยสารกะเขาอยู่บ้าง แต่ก็เทียบยอดขายกันไม่ได้เลย

 

ถ้าจะให้ศิลปะขายได้ ก็ต้องเน้นไปเชิงพาณิชย์ คือมุ่งกระตุ้นกิเลสให้คนใช้อารมณ์รัก รุ่มรวยอารมณ์หลง อารมณ์โกรธ ยิ่งกระชากเอาอารมณ์ดิบๆออกมาเท่าไร ยอดขายก็มีโอกาสจะดังระเบิดเถิดเทิง กว่าจะรู้เดียงสาผู้บริโภคก็เสพติดหู ดูติดตา แล้วแบงค์ร้อย(หลายๆใบ) ก็ถูกควักจากกระเป๋าออกมา โดยที่เจ้าของไม่ทันรู้ตัว

 

ผมไม่ใช่ศิลปินนะครับ แต่เป็นคนรักในศิลปะ ก็พอจะนึกได้ว่า สุนทรียะทางศิลปะไม่ใช่สิ่งที่มุ่งกระตุ้นสันดานดิบของมนุษย์ แต่สุนทรียะน่าจะหมายถึงความงดงามวิจิตรบรรจง ทำให้ผู้เสพผลงานศิลป์มีจิตใจที่ยกระดับขึ้น หมายถึง มีใจประณีต ละเอียดอ่อน เข้าถึงตัวเอง  และเข้าใจผู้อื่น นำไปสู่จิตวิญญาณที่ผ่องแผ้ว ไม่ตีบตัน เห็นชีวิตตัวเองมีคุณค่าสัมพันธ์เชื่อมโยงกับคุณค่าของผู้คนและธรรมชาติที่อยู่รอบๆ

 

อย่างไรก็ตาม เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกปัจจุบัน กำลังดูดกลืนตัวเองอย่างบ้าคลั่งไปด้วยแรงบดขยี้จากการแข่งขันในทุกระดับ แม้แต่ศิลปะหรือผู้ที่เป็นศิลปิน จะอยู่รอดได้ ก็ด้วยการชิงความเป็นเจ้ายุทธจักรกับคนอื่นๆ เข้าทำนอง  "เผลอเป็นถีบ งีบเป็นเหยียบ"

 

แต่ก็ยังมีศิลปะบางแขนง ที่หลีกรอดและเลี้ยงตัวมันเองได้  แม้จำต้องปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามกติกาโลกทุนนิยม แต่ก็ยังคงมั่นใน "อุดมการณ์"และ "สุนทรียะ" ในรูปแบบ "ศิลปะเพื่อมวลชน"อยู่

 

สังคมไทย ในอดีตเวลากล่าวถึงศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นศิลปินพื้นบ้านแขนงใด ผมคิดว่าคำที่มีนัยยะอยู่เบื้องหลัง ก็คือ  "เป็นครู" ในที่นี้หมายถึง เป็นผู้มีอุดมการณ์ในการสอน เป็นผู้ที่มีธรรมะและแสดงธรรมะผ่านการสอน

 

ไปดูเอาเถอะ ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะในเชิงช่าง เชิงการแสดง งานสร้างโบสถ์วิหาร ไปจนถึงสร้างศาลเจ้าที่ ลิเก ลำตัด งานจิตรกรรม ประติมากรรม นาฏศิลป์ ศิลปินที่เก่งๆก็คือครูผู้สอนศิลปกรรมเหล่านี้ แต่จะสอนและเป็นที่ศรัทธาของสาธุชนจนระบือลือเลื่องได้ ก็ต้องเป็นผู้มีธรรมประจำใจ รู้จักใช้ธรรมมะในการสอนศิลปะ

 

หรือพูดง่ายๆ คือมีศิลปะธรรมนั่นเอง

 

ผมก็เลยสรุปเอาง่ายๆตามความคิดของผมว่า ในอดีต ศิลปกรรมกับศิลปะธรรม มันเป็นเรื่องที่สอดคล้องไปด้วยกัน ถ้าศิลปินมีแต่ศิลปกรรมแต่ไม่มีศิลปะธรรม ก็ยากที่จะได้รับการยอมรับจากสังคม ในขณะที่ถ้ามีแต่ธรรมแต่ไร้ศิลปกรรม ก็ไร้ความดึงดูดใจจากมหาชน

 

ที่เล่ามานี่เพื่อที่จะโยงใยให้เห็นว่า ด้านลึกๆของไอคิโด ไม่ใช่แค่เป็นศิลปะการต่อสู้ แต่ผมคิดว่าไอคิโดยังเป็นศิลปะธรรม หรือศิลปะในการแสดงธรรม ที่เซนเซหรือผู้สอนได้ถ่ายทอดผ่านท่วงท่าต่างๆ

 

 

 

ผมตีความเอาว่า ไอคิโด ก็เหมือนกับศิลปะพื้นบ้านแขนงต่างๆของไทย ที่ในอดีตเป็นศิลปกรรมที่แยกไม่ออกกับศิลปะธรรม

 

เป็นศิลปะการต่อสู้ที่หลอมเป็นเนื้อเดียวกับศิลปะธรรม

 

แม้วันเวลาจะผ่านไป ยุคเงินตราคือศาสดาองค์ใหม่ของมนุษยชาติได้ระบาดมาถึง จนกระทั่งจิตวิญญาณของศิลปะพื้นบ้านถูกทลายลงด้วยสถาบันที่สร้างและอ้าง "ศิลปิน" อย่าง อาร์เอส  แกรมมี่ ฯลฯ

 

แต่ไอคิโด ก็ยังทรงคุณค่าอยู่ในพื้นที่เล็กๆของมัน แม้จะมีการขยายตัวออกไปในเชิงพาณิชย์มากขึ้น เพื่อความอยู่รอดในสังคมโลก แต่ก็ยังคงมี "พ่อครู" "แม่ครู" จำนวนมากที่ยังครองตนดุจศิลปินที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ไว้ได้เป็นอย่างดี และยังคงแสดงศิลปะธรรมผ่านศิลปการต่อสู้แห่งสันติแขนงนี้ ให้สานุศิษย์ได้เจริญรอยตามอย่างไม่หยุดยั้ง

 

ในแง่พุทธศาสนิกชนและผู้มีโอกาสสัมผัสกับศิลปะการต่อสู้แขนงนี้คนหนึ่ง ผมพบว่า ผู้สอน (เซนเซ) แต่ละท่านได้แสดงธรรมในการฝึกทุกครั้ง

 

อาทิ

ธรรมมะสู่ความสำเร็จหรืออิทธิบาท 4 (ฉันทะ  วิริยะ  จิตตะ  วิมังสา : ภาษาอังกฤษใช้ PDCA ย่อมาจาก Plan Do Check Act) 

 

ธรรมะอันทำให้งาม หรือแสดงได้งดงาม ได้แก่ ขันติ (ความอดทน อดกลั้น) และโสรัจจะ (ความสงบเสงี่ยม)

 

ความไม่ยึดมั่นถือมั่น  อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 

นอกจากนี้ ยังสอนให้เราเรียนรู้เรื่องเมตตาธรรม การให้อภัย ศีลธรรม ( ศีล = การเคารพสิทธิผู้อื่น) ความกตัญญู กตเวที รวมทั้งอะไรหลายอย่าง

 

 

แม้กระทั่งเรื่อง ความเรียบง่าย ความพอเพียงนี่ก็มีปรากฏอยู่ในการสอน แต่ผู้เรียนนำมาถกกันน้อยมาก ก็ปล่อยให้เป็นการรับรู้ของแต่ละคน เป็นปัจเจกๆไป

 

ส่วนจะรับรู้ตื้นลึกหนาบาง แค่ไหน อย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข ปัจจัยต่างๆ

 

ผมคิดว่าเราต่างเรียนรู้อะไรมากมาย......และยิ่งฝึกฝน  เรายิ่งค้นพบ  ยิ่งค้นพบ เรายิ่งเรียนรู้ เหล่านี้ ดูเสมือนหนึ่ง วงจรที่ไม่รู้จบ  และหนึ่งในมิติของการค้นพบนัยยะนี้ก็คือคุณค่าทางจริยธรรมที่สอดแทรกอยู่ในท่วงท่า ทุกครั้งที่มีการฝึกซ้อม

 

.....ลองมานึกทบทวนกันดูเล่นๆไหมครับ ว่าครั้งสุดท้าย ที่อาจารย์ (เซนเซ ) รวมทั้งมิตรสหายที่ร่วมฝึก-สอนเรา ท่านเหล่านั้นแสดงศิลปะธรรมในเรื่องใดบ้าง???

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบรูปเด็กๆจากปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน ได้เข้าร่วมฝึก Aikido Friendship ครั้งที่ 5 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อเดือนมกราคม 2551 ที่ผ่านมา โดยนาย "ยอดดอย" ครับ

หมายเลขบันทึก: 166967เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2008 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท