ความยั่งยืนของกองทุนสวัสดิการชุมชน


ชาวบ้านมี "จินตนาการ" ที่น่าชื่นชม แต่งานที่เกี่ยวพันและต้องมีความรับผิดชอบต่อคนหมู่มาก ย่อมต้องการ "ความรู้" ที่ช่วยหนุนเสริมหรือกำกับจินตนาการไว้ไม่ให้สุ่มเสี่ยงเกินไป แต่ "ไม่จำเป็น" ต้องออกมาในรูปแบบของ "กฎหมาย" กำหนดชาวบ้านเสมอไป

สืบเนื่องจากบันทึก "วิเคราะห์กองทุนสวัสดิการชุมชนจากตัวเลข พอช," 

ความยั่งยืน

 

นักวิทยาศาสตร์  มองว่า "ความยั่งยืน"  จะไม่เปลี่ยนคล้าย "แขวนลอย"(ถ้าฟังไม่ผิด) ความยั่งยืนจึงไม่มีจริง

 

นักสังคมศาสตร์รู้ดีว่า สังคมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงตีความ"ความยั่งยืน" ว่า "สะดุดหรือล้มแล้วก็ลุกขึ้นมาใหม่ได้อย่างรวดเร็ว"  ไม่ใช่สภาพนิ่ง

 

นักเศรษฐศาสตร์ตีความเพิ่มเติมเพื่อแปลความยั่งยืนไปสู่ภาคปฏิบัติว่า คนรุ่นก่อนมีคุณภาพชีวิตอย่างไร  คนรุ่นใหม่ก็ต้องมีคุณภาพชีวิตไม่ด้อยไปกว่าคนรุ่นเก่า (แต่อาจแปลงโฉมไปได้บ้าง)   การที่จะทำให้ยั่งยืนได้  ก็ต้องมีศักยภาพไม่ต่ำกว่าเดิม    จะมีศักยภาพไม่ต่ำกว่าเดิมได้  ก็ต้องไม่กิน "ทุน" เดิม

 

"ทุน" ที่ว่านี้มี ๔ ตัว คือ  ทุนมนุษย์  ทุนทางกายภาพ(ทุนทางเศรษฐกิจ) ทุนทรัพยากรธรรมชาติ  และทุนทางสังคม   เช่น  ถ้าเราเคยมีปลากิน 2 ตัว ลูกหลานเราก็ต้องมีปลาให้กินไม่น้อยกว่า 2 ตัว   จะจับปลาให้ได้สองตัว   ประการแรก  ต้องมีปลาอยู่ในน้ำ ตอนนี้จึงต้องรู้จักจับปลาแต่พอดีไม่ให้สต๊อกพ่อแม่ปลาหมดไป(ทุนธรรมชาติ)  ประการที่สอง ต้องมีแหอวนเป็นเครื่องมือจับปลา จึงจำเป็นต้องมีการออมเพื่อจะได้สามารถซ่อมแซมหรือลงทุนหาแหอวนใหม่ถ้าของเก่าพังไป (ทุนทางกายภาพ)  ประการที่สาม ต้องมีแรงและทักษะในการจับปลา จึงต้องรักษาสุขภาพ ถ่ายทอดความรู้สู่คนรุ่นใหม่ (ทุนมนุษย์)  ประการสุดท้าย  ต้องมีเพื่อนบ้านที่รักษากติกาการจับปลาร่วมกัน ไม่ใช่มือใครยาวสาวได้สาวเอา (ทุนทางสังคม)

 

อันที่จริง  การทำกิจกรรมใดๆก็ต้องมีทุนทั้งสี่ประเภทนี้เป็นฐาน  และกิจกรรมที่ดีควรสร้างเสริมทุนสี่ประเภทนี้

 

หากมองกลับไปที่เรื่องสวัสดิการชุมชน

มีการแบ่งรูปแบบสวัสดิการชุมชนเป็นหลายฐาน  เช่น  ฐานองค์กรการเงินชุมชน  ฐานการจัดการทรัพยากร  ฐานศาสนา   หากดึงมาพูดในเรื่องความยั่งยืน ก็คือ ฐานทุนทางเศรษฐกิจ ฐานทุนธรรมชาติ  และฐานทุนทางสังคม

 

คำว่า "ฐาน" มีความสำคัญมาก เพราะเป็น "บ่อเกิด"  เป็น "ที่มั่น"  ถ้าฐานเหล่านี้ล้มไป ตัวสวัสดิการก็ย่อมล้มไปด้วย  แน่นอนว่า ทุกกลุ่มกิจกรรมต้องการทั้งทุนทางสังคม ทุนมนุษย์ ทุนทรัพยากร และทุนเศรษฐกิจ  เพียงแต่ฐานตัวไหนจะสำคัญมากน้อยแค่ไหนก็ดูได้ตามชื่อนั้นๆ

 

ในเรื่องสวัสดิการชุมชนที่มาฐานองค์กรการเงินชุมชน 

 

การเงินจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความยั่งยืนที่สำคัญยิ่ง

 

ชาวบ้านในกลุ่มองค์กรการเงินให้ความสำคัญกับทุนทางสังคม มากโดย เน้นแนวคิดเรื่องการช่วยเหลือเกื้อกูล  การทีชาวบ้านจัดกิจกรรมเงินๆทองๆร่วมกันก็แสดงถึงความไว้เนื้อเชื่อใจและความซื่อสัตย์ที่มีต่อกัน 

 

ชาวบ้านให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมทุนมนุษย์พอสมควร  คือ คุณความดีของสมาชิกและการมีผู้นำที่ดีมีความสามารถ  ชาวบ้านได้ลงทุนด้านนี้โดยเฉพาะความพยายามสร้างผู้นำรุ่นใหม่  การให้กำลังใจคนทำงานโดยให้สวัสดิการแก่ผู้นำเพื่อตอบแทนความเสียสละ  มีการศึกษาดูงานสำหรับผู้นำและสมาชิก

 

แต่สำหรับการสร้างเสริมทุนทางเศรษฐกิจคือ เงินกองทุนซึ่งเป็น "ฐาน" สำคัญที่สุดตามชื่อ กลับเห็นภาพไม่ชัดในเรื่อง การจัดการกองทุน "อย่างยั่งยืน"   เมื่อเงินออมในปัจจุบันมากขึ้น ก็มักจะตั้งใจว่าจะเพิ่มสวัสดิการ เพิ่มการจ่ายให้สมาชิกในรุ่นปัจจุบันให้มากขึ้น (โดยความตั้งใจดี) หลายกลุ่มไม่ได้มองเชิงสัมพัทธ์ระหว่างขนาดของเงินกับขนาดของคน  และวางแผน "ข้ามเวลา"

 

ครูชบคำนึงถึงความเพียงพอของเงินความยั่งยืนของกองทุน จึงเห็นว่ารัฐหรือ อปทควรสมทบ  แต่สมทบแล้ว เพียงพอหรือไม่ ยั่งยืนหรือไม่ ยังต้องดูแล

 

จินตนาการกับความรู้

ชาวบ้านมี "จินตนาการ"  ที่น่าชื่นชม   แต่งานที่เกี่ยวพันและต้องมีความรับผิดชอบต่อคนหมู่มาก   ย่อมต้องการ "ความรู้" ที่ช่วยหนุนเสริมหรือกำกับจินตนาการไว้ไม่ให้สุ่มเสี่ยงเกินไป   แต่ "ไม่จำเป็น" ต้องออกมาในรูปแบบของ "กฎหมาย" กำหนดชาวบ้านเสมอไป

 

  • แนวทางการเคลื่อนงานของ พอช.ปี 51-52 จะขยายผลไปสู่พื้นที่ใหม่
  • หน่วยงานรัฐอย่างกระทรวงการคลัง  หาแนวทางการสร้างกองทุนบำนาญผู้สูงอายุ
  • สปสช. สร้างกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น

หน่วยงานใดที่จะลงมาช่วยดูภาพทั้งระบบ และช่วยดูแลรายละเอียดของกลุ่ม

บทส่งท้าย

 

"ของเดิมจะจัดการอย่างไรยังไม่ลงตัว  ของใหม่มาอีกแล้ว"   แกนนำเครือข่ายสินแพรทองซึ่งให้ความสำคัญกับ "การจัดการตัวเอง" ก่อน เปรยให้ฟัง

 

ก่อนที่จะให้ความสำคัญกับการขยายผล  พอช.เองมีความเชื่อมั่นต่อทั้ง 677  กองทุนแล้วหรือยัง   ควรช่วยกันดูแลจำนวนกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบล 677  กองทุนเท่าที่มีในปัจจุบันนี้ให้มั่นใจ  และแก้ไขให้เข้าที่เสียก่อนขยายผล  จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการเคลื่อนงานด้วยความรอบคอบ รอบรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  

 

หน่วยงานรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนต่างปรารถนาดีต่อชาวบ้าน แต่ก็พลาดมามากในการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืช หรือ ผลิตของเพื่อขาย โดยไม่มีใครสนใจศึกษาให้รู้เท่าทัน "ตลาด"  ของสินค้าแต่ละประเภทที่เข้าไปส่งเสริมเสียก่อน ("ตลาด" เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของราคา  โครงสร้างตลาด ใครเป็นผู้กำหนดราคา ไม่ใช่ "การตลาด" ที่เป็นแค่เทคนิคการขาย)  ถ้าศึกษาแล้ว อาจไม่กล้าส่งเสริม...

 

ไม่อยากให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นซ้ำซาก  เพราะหากเกิดปัญหา  ผู้ที่ลำบากจะกลับมาเป็นชาวบ้านของเราอย่างเคย

 

 

หมายเลขบันทึก: 166873เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2008 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • "ของเดิมจะจัดการอย่างไรยังไม่ลงตัว  ของใหม่มาอีกแล้ว" 
  • เป็นเรื่องซ้ำซากของระบบ เพราะตั้งงบไว้แล้ว กำหนดเป้าหมายงานไว้แล้ว ... ต้องทำให้ได้ตามเป้าหมายมิเช่นนั้น ทำไม่ได้ตามเป้า ผู้รับผิดชอบโดนตำหนิ  แต่กลายกลับเอางานไปเร่งรัดทำทั้งที่ยังไม่พร้อมเท่าที่ควร  น่าเห็นในผู้ปฏิบัติที่รับนโยบายลงมานะครับ  เป็นเจตนาดีอีกเช่นกัน  หากคิดในแง่ที่ว่า ไม่ต้องรอให้พร้อมหรอก ไม่มีทางที่จะพร้อมต้องทำไปสร้างความพร้อมกันไป..ก็พอฟังได้ แต่ต้องจัด priority ลงพื้นที่ที่มีศักยภาพมากที่สุดก่อนหลัง เอานำร่องไปก่อนสัก ส่วนหนึ่งแล้วทะยอยขยายพื้นที่
  • มะม่วงที่สุกงอมโดยธรรมชาติจะหอมหวาน เหมาะที่จะนำมารับประทาน แต่มะม่วงที่สุกงอมด้วยการบ่มแก๊สมันสวยแต่ความหวานหอมไม่ได้..
  • ระบบบ้านเราจะเอาแนวคิด "หนึ่งหลักการหลายรูปแบบ" มาใช้ได้ไหม เพื่อให้เกิดการสอดคล้องแก่ท้องถิ่น
  • แต่ทั้งหมดน่าสนใจที่จะติดตามเพราะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดเท่านั้น คงทำกันไป ปรับกันไป

ทำกันไป ปรับกันไป คงเป็นแนวทางที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด  .. กระบวนการเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญ  ทั้งเรียนรู้สิ่งดีๆ  เรียนรู้จุุดแข็งและจุดอ่อน

ที่จริงพวกเราทุกคนต่างใหม่มากต่อเรื่องนี้  และยังอยู่ในกระบวนการลองผิดลองถูก  จึงอยากให้กำลังใจพอๆกับอยากให้รอบคอบค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท