ได้อะไรจากการสัมมนาทิศทางยุทธศาสตร์ มวล. (๑)


กระบวนการจัดทำแผนต้องให้เวลาและมีการออกแบบกระบวนการ

เมื่อวันที่ ๑๔-๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ทิศทางยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สู่ปี ๒๕๖๕" ที่โรงแรมสุภารอยัล บีช อ.ขนอม มีรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา และส่วนแผนงานเป็นแม่งาน

อธิการบดี รศ.ดร.ไทย ทิพย์สุวรรณกุล กล่าวในการเปิดการสัมมนาว่าต้องการให้ผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานได้มาพบปะพูดคุยเกี่ยวกับแผนของมหาวิทยาลัยในอนาคต ซึ่งน่าจะได้ทิศทางที่ชัดเจนขึ้น เป็นรูปธรรมมากขึ้น ความต้องการที่แฝงเอาไว้คือต้องการให้กระบวนการคิดกระบวนการทำงานใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น

ในการสัมมนาครั้งนี้มีการบรรยายพิเศษเรื่อง กรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว ๑๕ ปี ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๕๑-๒๕๖๕) โดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ ซึ่ง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้บันทึกไว้บ้างแล้ว (ที่นี่) รายละเอียดสามารถหาอ่านได้ที่ www.knit.or.th ดร.พิเชฐเอง เล่าว่า
- กระบวนการจัดทำแผนต้องให้เวลาและมีการออกแบบกระบวนการ
- ต้องเข้าใจแผนและเข้าใจตัวเอง
- เมื่อมีแผนแล้ว เราไม่ค่อยเก่งในการนำแผนไปปฏิบัติ บางคนไม่แยแสแผนเลย หรือผู้ที่จะเป็นผู้ปฏิบัติอาจจะไม่มีส่วนร่วมในการทำแผน ไม่รู้ ไม่คิดว่าเป็นเรื่องของตัว
- ในกระบวนการจัดทำแผน มหาวิทยาลัยไม่ชอบคิดนอกกรอบ

ดร.พิเชฐเล่าถึงกระบวนการจัดทำแผนกรอบอุดมศึกษาระยะยาวครั้งนี้ว่าได้ทำ study น้อย เพราะเวลาไม่อำนวย แต่พยายามทำแผนโดยให้มีส่วนร่วมมากๆ คิดให้มีความท้าทาย มีการจัด workshop กว่า ๑๐๐ ครั้งในช่วงเวลา ๖-๗ เดือน มีการคุยกับมหาวิทยาลัยแต่ละกลุ่มทุก ๒ เดือน ฟังเยอะๆ ถ้าไม่ฟังเยอะ เราก็จะคิดเองเยอะ

ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์บุคคลสำคัญที่มีประสบการณ์ชีวิตไม่เฉพาะแต่ในด้านการศึกษา ทำให้ความเข้าใจประเด็นคมชัดขึ้น และประชาคม สกอ.ได้เห็นมิติอื่นๆ ที่อุดมศึกษาเกี่ยวข้อง ซึ่งแต่เดิมคิดว่าไม่เกี่ยวกัน ได้ไปฝังตัวที่ World Bank ได้เรียนลัด ได้เรียนรู้ว่าอุดมศึกษาของโลกเขาสนใจอะไรกันบ้าง ซึ่งก็คือเรื่องของ Financing, Governance และ Staff Development

แผนนี้พยายามมองผลกระทบด้านต่างๆ
๑. ประชากร อนาคตอาจมีบางมหาวิทยาลัยเจ๊งไปเพราะไม่มีคนเรียน อนาคตคนวัยเด็กและวัยแรงงานจะลดลง วัยสูงอายุจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่จำนวนเด็กลดลง แต่ก็มีกระแสที่สวนกันคือค่านิยมที่อยากได้ปริญญาเพิ่มขึ้น อุดมศึกษาจะทำให้วัยแรงงานและวัยสูงอายุมี productivity ได้อย่างไร


๒. พลังงานและสิ่งแวดล้อม อุดมศึกษาจะช่วยได้อย่างไรบ้าง เช่น สร้างเทคโนโลยี สร้าง awareness ทำ R&D ให้ความรู้ ฯลฯ


๓. การมีงานทำและตลาดแรงงาน การมีงานทำและ education ในบ้านเราไม่ค่อย link กันเท่าไหร่ เด็กไม่ค่อยรู้จักอาชีพ โครงสร้างเชิงแรงงานของบ้านเราที่ดูเป็นสังคมเกษตรกรรม แต่จริงๆ ด้านนี้ลดลง ขณะเดียวกันภาคบริการโตขึ้น มหาวิทยาลัยเข้าใจ service sector มากน้อยแค่ไหน เราไปทำงานกับภาคอุตสาหกรรม แต่ไปเดี่ยวๆ อยากเห็นมหาวิทยาลัยไปแบบเครือข่าย ไปช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิต

การร่วมมือกับอุดมศึกษาในต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมี MOU กันเยอะ แต่สังเกตว่าเป็น inactive MOU เสียมาก meaning ของมันอยู่ตรงไหน

ต่อไปจะมีการรวมตัวของ ASEAN Community ต้องมีการเตรียมการเพื่อรองรับการรวมตัวของประชาคมนี้ (ภาษา mobility) ไปศึกษาจาก EU Bologna พบว่า standardization เป็นตัวสำคัญในการแลกเปลี่ยนและการให้บริการ ประเทศที่อ่อนด้อยจะตกขบวนหรือตกเป็นฝ่ายรับตลอดเวลา

โลกาภิวัตน์ อย่าลืม Chindia (China – India) เผลอๆ สิ่งแรกที่เราต้องทำคือปรับทัศนคติของเราต่ออินเดีย

นอกจากจะคิดสร้างความเป็นเลิศ ต้องคิดไปข้างหน้าสักหน่อย เช่น เรื่อง longevity, climate change ฯลฯ มหาวิทยาลัยจะทำอะไร ไม่คิดแต่ว่าเราถนัดอะไร แต่ต้องคิดว่าสังคมต้องการอะไร ตัวอย่างเช่นการปรับตัวของ Microsoft

๔. การกระจายอำนาจ อปท.เริ่มมีภารกิจที่ชัดเจนขึ้น ๗-๘,๐๐๐ แห่ง ลองเอามา map กับการกระจายของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจะมีบทบาททำให้การกระจายอำนาจเข้มแข็งได้อย่างไร วันนี้เขาอาจจะยังไม่เรียกร้องให้ช่วยมากนัก แต่ถ้าเรารอให้แข็งตัวแล้วช่วยคงยาก

ทำอย่างไรจะเข้าไปช่วย เช่น ในเรื่องการจัดการศึกษา ศูนย์เด็กเล็กกว่า ๑๗,๐๐๐ แห่ง ซึ่งคนไม่พอ แต่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของเด็ก การให้ความรู้กับคนในท้องถิ่น บัณฑิตจะได้คืนถิ่น
 
๕. ความรุนแรงและความขัดแย้ง เรื่องของภาคใต้ ที่บรรจุเข้ามาเพราะคิดว่าต้องใช้เวลา ๑๐-๒๐ ปี มาตรการการปกครองคงเอาไม่อยู่ สิ่งที่เขาเรียกร้องคือ Quality education เป็นการสร้างเงื่อนไขให้คนลืมตาอ้าปากได้ อุดมศึกษาทั้งระบบไม่ใช่เฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ต้องช่วยกัน

๖. Post-Industrialization & Post-Modernization เยาวชน เราเข้าใจเขาแค่ไหน เพราะเวลาที่ผ่านมาเขาถูกรุมล้อมด้วยกระแสหลายๆ อย่าง มิติหลายอย่างเปลี่ยน – หอพัก มือถือ – มหาวิทยาลัยจะต้องช่วยดูแลหอพักไหม ภาวะเสี่ยงอื่นๆ ก็มี บางเรื่องก็แรง
เวลาที่อาจารย์ต้องให้กับนักศึกษาต้องมีมากขึ้นหรือเปล่า การทำงานก็เปลี่ยน บางคนเดี๋ยวนี้เป็น free-lance สิ่งที่มหาวิทยาลัยให้กับเด้กเพียงพอที่จะทำให้เขาหมุนตัวเร็วในเชิงอาชีพหรือเปล่า

ภาคเอกชนบอกว่าความอ่อนแอทางวิชาการเขา train ได้ แต่สิ่งที่เรา equip ให้เขาเพียงพอที่จะตอบโจทย์ด้านความสามารถ (communications; team-working; human relations; problem solving; risk-taking; design & innovations; personal responsibility; continuous learning; self-management; ethics, values, principles) หรือเปล่า เพราะมีผลต่อการทำงานในอนาคต

ที่เด็กบ่นมากคือเบื่อห้องเรียน เบื่อแผ่นใสที่ปิ้ง ฯลฯ น่าจะส่งเสริมกิจกรรมนอกหลักสูตร เพื่อเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ของเด้ก บูรณาการกิจกรรมนอกหลักสูตรและชีวิตจริงเข้ากับหลักสูตร มีการเรียนรู้แบบ case study ให้มากขึ้น เด็กๆ บอกว่าไม่รู้จักอาชีพ อยากให้มี career counseling เอาคนทำงานมาพูดให้ฟัง ให้ไปเห็นคนทำงาน

๗. เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องใหม่ แต่จะอยู่กับเราไปอีกนาน มหาวิทยาลัยจะมีบทบาทอย่างไรกับปรัชญานี้

ประเด็นทิศทางและนโยบาย ดร.พิเชฐได้พูดถึงรายละเอียดอีกมากเกี่ยวกับ
๑. รอยต่อกับการศึกษาระดับอื่น
๒. การแก้ปัญหาอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๕๐ การไร้ทิศทาง ความซ้ำซ้อน การขาดคุณภาพ การขาดประสิทธิภาพ
๓. ธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการอุดมศึกษา
๔. บทบาทมหาวิทยาลัยในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
๕. การเงินอุดมศึกษา
๖. การพัฒนาอาจารย์และบุคลากรอุดมศึกษา
๗. เครือข่ายอุดมศึกษา
๘. การพัฒนาอุดมศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
๙. โครงสร้างพื้นฐานการเรียนรู้

หัวข้อนี้มีเนื้อหามาก แม้ ดร.พิเชฐจะนำเสนอในเวลาที่ไม่มากนัก แต่ก็จุดประกายให้เอาไปคิดต่อหลายๆ เรื่อง หากจะให้ดีกว่านี้ผู้เข้าประชุมน่าจะได้มีโอกาสฟังการบรรยายมาก่อนล่วงหน้า ได้คิด ทำความเข้าใจ และย่อยประเด็นต่างๆ ให้ดีเสียก่อนแล้วจึงจะนำไปสู่การคิดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนของ มวล. 

จากการฟังเร็วๆ ในวันนี้ ดิฉันได้ความคิด (แว๊บขึ้นมา) ว่าน่าจะต้องวิเคราะห์หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนของสำนักวิชา อย่างน้อยก็ในเรื่องความสามารถที่จำเป็นต่อการทำงานว่ามีบรรจุอยู่หรือไม่ ในส่วนไหน อย่างไรบ้าง วิธีการคัดเลือกและรับนักศึกษาเข้ามาเรียนเหมาะสมหรือยัง การทำงานร่วมกับท้องถิ่นควรเป็นอย่างไร และคงจะมีอีกหลายๆ เรื่องที่ต้องทบทวน นี่มองแคบๆ เฉพาะสำนักวิชาเดียวเท่านั้น

วัลลา ตันตโยทัย 

หมายเลขบันทึก: 166420เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2008 20:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท