1. ความสำคัญของปัญหา
สิทธิในสุขภาพ (The Right to Health) เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่รัฐในประชาคมระหว่างประเทศต่างก็ยอมรับให้เป็นสิทธิเบื้องต้นที่มนุษย์ทุกคนควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน สิทธิของมนุษย์ทุกคนที่จะมีสุขภาวะที่ดีนั้น ระบุอย่างชัดเจนในกติการะหว่างประเทศหลายฉบับด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
(1) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948[1] (the Universal Declaration of Human Rights, 1948);
(2) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ค.ศ. 1966[2] (the International Covenant on Economic, Social, and Cultural Rights, 1966);
(3) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ค.ศ. 1965[3] (the International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination, 1965);
(4) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ ค.ศ. 1979[4] (the Convention on Elimination of All Forms of Discrimination against Women, 1979) และ;
(5) อนุสัญญาสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989[5] (the Convention of the Rights of the Child, 1989)
ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในรัฐภาคีตามกติกาฉบับต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่หากประเด็นในเรื่องสิทธิในสุขภาพ (The Right to Health) ของมนุษย์ทุกคนที่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐไทยนั้น ก็ยังเป็นข้อถกเถียงจนกระทั่งปัจจุบันว่า สิทธินี้ครอบคลุมไปถึงมาตรการใดบ้างที่รัฐไทยจำต้องจัดหาให้แก่ “บุคคล” ภายใต้อำนาจอธิปไตยของตนเอง และสิทธินี้ครอบคลุมไปถึง “บุคคล” ใดบ้าง ทั้งในเชิงหลักการและในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน
เพื่อตอบคำถามของประชาคมระหว่างประเทศที่รัฐไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกว่า มาตรฐานด้านสุขภาพของมนุษย์ในสังคมไทยนั้น สูงหรือต่ำกว่าที่เป็นอยู่ในสถานการณ์ของโลกในยุคปัจจุบัน และรัฐไทยจำต้องวางแนวทางปฏิบัติหรือปรับปรุงมาตรการที่มีอยู่อย่างไรบ้าง เพื่อให้มาตรฐานด้านสุขภาพของมนุษย์ในสังคมไทย คู่ขนานไปกับมาตรฐานระดับสากลตามที่วางไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น และเพื่อป้องกันมิให้รัฐไทยได้ชื่อว่า เป็น “ผู้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและละเมิดสิทธิมนุษยชน” ในคราวเดียวกัน
2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อสำรวจและประเมินความคาดหวังของประชาคมระหว่างประเทศต่อรัฐไทยในการเคารพสิทธิในสุขภาพ (the Right to Health) ภายใต้กลไกในทางระหว่างประเทศ ที่รัฐไทยยอมรับที่จะถูกผูกพันเป็นรัฐภาคีภายใต้กลไกนั้นๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยการสำรวจและประเมินความคาดหวังนี้ จะได้จากการศึกษาถึง “แนวคิด และ การตีความ” ตามเจตนารมณ์ของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ในเรื่องของสิทธิในสุขภาพ ในประเด็นดังต่อไปนี้
(1) ผู้ทรงสิทธิ
(2) ขอบเขตแห่งสิทธิ
(3) หน้าที่รัฐภาคี
2.2 เพื่อนำผลการศึกษาที่ได้ไปสังเคราะห์รวมกับผลการศึกษาสถานการณ์ปัญหาด้านข้อเท็จจริงในประเทศไทย ผลการศึกษาสถานการณ์ด้านข้อกฎหมายของประเทศไทย และบทเรียนจากต่างประเทศทั้งด้านบวกและด้านลบในการคุ้มครองสิทธินี้ในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดหลักประกันสุขภาพที่มีประสิทธิภาพในประเทศไทย ต่อไป
3. วิธีการศึกษาวิจัย
3.1 ทบทวนกติการะหว่างประเทศฉบับต่างๆ ที่รัฐไทยรัฐภาคี ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ในเรื่องสิทธิในสุขภาพ (The Right to Health) โดยจะศึกษาทบทวนในส่วนของประเทศไทย ร่วมไปถึงรัฐภาคีอื่นๆ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงแนวคิดและการตีความพันธะของรัฐภาคีที่จะต้องคุ้มครองสิทธิในสุขภาพ ซึ่งสามารถศึกษาได้จาก
1) รายงานการปฏิบัติตามความตกลงของรัฐภาคี (State Reports)
2) ความเห็นของคณะกรรมาธิการต่อการปฏิบัติตามความตกลงของรัฐภาคี (Observations/Comments)
3.2 สำรวจและสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ[6]ที่เกี่ยวข้องในการประเมินผลการปฏิบัติตามสนธิสัญญา ทั้งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญคนไทย และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่ได้รับมอบหมายให้มาประเมินผลในรัฐไทย โดยกลุ่มเป้าหมาย (Target Groups) จะแบ่งออกเป็นดังนี้
1) ผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำ State Reports
2) ผู้ที่เข้ามาตรวจสอบ State Reports
4. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
4.1 ทราบแนวคิดและการตีความตามกฎหมายระหว่างประเทศฉบับต่างๆ ที่รัฐไทยเป็นรัฐภาคี ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ในเรื่องสิทธิในสุขภาพ (The Right to Health) ทั้งในเชิงเป้าหมายที่จะบรรลุถึงการคุ้มครองสิทธินี้ และในเชิงของวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายที่วางไว้
4.2 ทราบถึงความคาดหวังของประชาคมระหว่างประเทศต่อรัฐไทยในการเคารพสิทธิในสุขภาพ (The Right to Health) จากการศึกษารายงานการปฏิบัติตามความตกลงต่างๆ เช่น Country Reports และ Shadow Reports, ความเห็นของคณะกรรมาธิการภายใต้กลไกของสนธิสัญญานั้น ๆ รวมทั้งจากบทสัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง
4.3 สังเคราะห์องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาความคาดหวังของประชาคมระหว่างประเทศ ในแง่ของพันธะในสิทธิในสุขภาพ (The Right to Health) ของรัฐไทย ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ รวมกับผลการศึกษาสถานการณ์ปัญหาด้านข้อเท็จจริงในประเทศไทย ผลการศึกษาสถานการณ์ด้านข้อกฎหมายของประเทศไทย และบทเรียนจากต่างประเทศทั้งด้านบวกและด้านลบในการคุ้มครองสิทธินี้ในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดหลักประกันสุขภาพที่มีประสิทธิภาพในประเทศไทย ต่อไป
[1] ข้อ 25 (1) “ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความเป็นอยู่ดีของตนและครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางการแพทย์และบริการสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในความมั่นคงในยามว่างงาน เจ็บป่วยพิการ เป็นหม้าย วัยชรา หรือขาดอาชีพอื่นในพฤติการณ์ที่นอกเหนืออำนาจของตน”
[2] ข้อ 12.1 “รัฐภาคีตามกติกาฉบับนี้ จะต้องรับรองสิทธิของมนุษย์ทุกคนในการได้รับประโยชน์จากมาตรฐานอันพึงมีของการมีสุขภาวะที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ”
ข้อ 12.2 “รัฐภาคีควรจะปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งการคุ้มครองสิทธิในสุขภาพอย่างเต็มที่ (a) มาตรการในการลดอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิด รวมถึงมาตรการในการพัฒนาสุขภาวะของเด็ก (b) การปรับปรุงสุขภาวะทางด้านสิ่งแวดล้อมและด้านอุตสาหกรรมในทุกๆ แง่ด้าน (c) การป้องกัน การรักษา และการควบคุมโรคระบาด โรคประจำท้องถิ่น โรคที่เกิดจากการทำงานบางประเภท และโรคอื่นๆ (d) การสร้างเสริมสภาวะที่รองรับการให้บริการในการรักษาพยาบาลสำหรับการเจ็บปวดทุกประเภท”
[3] ข้อ 5 (e) (iv) “รัฐภาคีจำต้องป้องกันและขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ อีกทั้งรัฐภาคีจำต้องรองรับสิทธิในสาธารณสุข สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในประกันสังคม และสิทธิในการบริการทางสังคมอื่นๆ โดยปราศจากการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ สีผิว หรือชาติกำเนิด อย่างเท่าเทียมกัน”
[4] ข้อ 11.1 (f) “รัฐภาคีจำต้องวางมาตรการที่เหมาะสมในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในเรื่องของการจ้างแรงงาน เพื่อรับประกันว่าชายและหญิงต่างมีสิทธิในการได้รับการปกป้องสุขภาวะ สิทธิในการได้รับความคุ้มครองในการทำงาน รวมถึงสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองในเรื่องของการทำหน้าที่ในการสืบพันธุ์ อย่างเท่าเทียมกัน” และ
ข้อ 12.1 “รัฐภาคจำต้องวางมาตรการที่เหมาะสมในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในเรื่องการสาธารณสุข เพื่อเป็นหลักประกันถึงความเท่าเทียมกันของชายหญิง ในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการวางแผนครอบครัว”
ข้อ 12.2 “นอกจากที่กำหนดไว้ในวรรคแรกของข้อนี้แล้ว รัฐภาคียังต้องรับประกันถึงบริการเฉพาะด้านที่เหมาะสมสำหรับหญิง เช่น การให้บริการเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การคลอดบุตร การให้บริการหลังคลอด การได้รับยกเว้นค่าใช้จ่ายในการบริการดังกล่าวที่จำเป็น รวมถึงการได้รับการดูแลเรื่องโภชนาการที่เพียงพอในระหว่างการตั้งครรภ์และการให้นมบุตร”
[5] ข้อ 24.1 “รัฐภาคีจำต้องรับรองสิทธิของเด็กทุกคนในการได้รับประโยชน์จากมาตรฐานอันพึงมีของการมีสุขภาวะที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังต้องจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการรักษาพยาบาล เด็กทุนคนจะต้องสามารถเข้าถึงการให้บริการสาธารณสุขอย่างเต็มที่
ข้อ 24.2 “รัฐภาคีควรจะปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งการคุ้มครองสิทธิในสุขภาพอย่างเต็มที่ (a) ลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กและทารกแรกเกิด (b) วางมาตรการที่จำเป็นที่จะช่วยเหลือในเรื่องการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาวะของเด็ก โดยให้ความสำคัญที่การพัฒนาสุขภาวะของเด็กในระยะเบื้องต้น (c) ป้องกันเชื้อโรคและการขาดสารอาหารโดยเน้นที่การพัฒนาสุขภาวะของเด็กในระยะเบื้องต้น อนึ่ง ควรมีการใช้เทคโนโลยีที่สามารถจัดหาได้ รวมไปถึงการจัดหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เพียงพอและน้ำดื่มที่สะอาด นอกจากนี้ควรเล็งเห็นความสำคัญของอันตรายของมลภาวะจากสิ่งแวดล้อมที่จะมีต่อเด็กอีกด้วย (d) วางมาตรการที่เหมาะสมในการดูแดสุขภาวะของแม่ทั้งก่อนและหลังคลอด (e) รับรองว่าทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะพ่อแม่และเด็ก ได้เข้าถึงการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสุขภาวะและโภชนาการของเด็ก ประโยชน์ของการให้นมบุตร สุขอนามัยที่ดี และการป้องกันอุบัติเหตุ เป็นต้น (f) พัฒนาความรู้ในสุขภาวะเชิงป้องกัน รวมถึงการแนะนำและการให้บริการเรื่องการวางแผนครอบครัว”
ข้อ 24.3 “รัฐภาคีจำต้องดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมในการขจัดประเพณีปฏิบัติต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เด็ก”
ข้อ 24.4 “รัฐภาคีจำต้องให้การสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการบรรลุเป้าหมายของการคุ้มครองสิทธิในสุขภาพของเด็กดังที่ได้กล่าวไว้ในข้อบังคับนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา”
[6] ผู้ที่ทำหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติการตามสนธิสัญญา ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวในประเทศไทย ได้แก่ คุณสีน้อย เกษมสันต์ ณ อยุธยา อนุกรรมการด้านเด็ก เยาวชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ , ศ.ดร.วิฑิต มันตราภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น