ใครว่าการเข้าไปทำ MRI จะกลัวเฉพาะผู้ป่วย....คนดมยาเองก็กลัว....


ตาฉันจึงจ้องอยู่ที่ reservior bagตลอดเวลา ว่ามันขยับวูบวาบ...ตามจังหวะการหายใจของเด็ก...ถุงเล็กๆขยับอยู่สม่ำเสมอหรือเปล่า

ทำไม....เวลาถูกตามไปดมยาสลบผู้ป่วยเด็กเพื่อทำ MRI ให้มีความกลัวกันเป็นพิเศษ... 

เหตุเพราะเราต้องเตรียมอุปกรณ์ออกนอกสถานที่กัน  โอกาสเสี่ยงในการเตรียมของไม่พร้อม ไม่ครบมีมาก  เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็น OPD Case  และมักเป็นเด็กเล็กๆที่ไม่ให้ความร่วมมือในการนอนนิ่งๆให้ทำ   เราเองก็ไม่ได้เยี่ยมประเมินก่อนวันทำเพราะนัดผู้ป่วยมาเช้าวันนั้นเลย   

การเตรียมข้าวของก็เลยต้องประมาณว่ากะๆไปก่อนตามมาตรฐานในตอนแรก....พยายามให้มีเผื่อทั้งขนาดที่ใหญ่กว่าและเล็กกว่าที่คาดการณ์...(...ไม่งั้นวิ่งตับแลบ....)

ที่ว่ามานี้  ความกลัวส่วนหนึ่งของพวกเราหมายถึง เราไม่สามารถเข้าไปเฝ้าผู้ป่วยใกล้ชิดติดคนไข้ดังปกติได้เพราะผู้ป่วยต้องมุดเข้าไปในอุโมงค์  เราจำต้องเฝ้าห่างๆแต่กาย..แต่ใส่ใจตลอดเวลา   และอุปกรณ์ยังติดจากตัวผู้ป่วยเพื่อสื่อสารข้อมูลให้เราทราบได้ตลอดเวลาเช่นกัน  

คุณน้าอึ่งอ๊อบ แซ่เฮ  เคยมีประสบการณ์การเข้าอุโมงค์นี้มาแล้วในบันทึก....ระทึกขวัญ : MRI  ....เธอเครียดขนาดไหน...ลองแวะไปอ่านดูได้ค่ะ....

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาฉันและทีมไปดมยาสลบเด็กทำMRI ....ที่ต้องพึ่งยาสลบ......

  • ดมยาสลบที่ห้องinductionเสร็จ  เราย้ายเด็กเข้าห้อง MRI โดยใช้ ambu ช่วยหายใจ 
  • จากนั้นต่อเข้าเครื่องดมยาสลบ  ปรับยาสลบและดูระดับความลึกของยาสลบ 
  • ติดเครื่อง monitoring ที่สามารถถ่ายทอดภาพไปจอภาพนอกห้องได้
  • ติดทุกอย่างให้นิ่ง  เข้าที่  ไมมีการขยับ
  • ดูสายต่างไม่ให้เกิดกดทับ แล้วส่งเด็กเข้าอุโมงค์

ความรู้สึกภายหลังดมยาสลบเสร็จ  แล้วส่งให้คนไข้เด็กมุดเข้าไปในอุโมงค์...รู้ทั้งรู้ว่าไม่มีอะไรน่ากลัวเพราะเห็นจอ monitor ที่บอก vital signs อยู่ตลอดเวลา...ทุกอย่างบ่งบอกว่าปลอดภัย  เพราะเราเพียงให้ยาที่แค่หลับสลบเฉยๆ ไม่ได้สลบลึกมากที่จะกดหัวใจจนเป็นอันตราย  แต่ก็เป็นความยากในการกะขนาดของยาที่พอเหมาะพอดีในแต่ละราย 

 

ทีมดมยามีทั้งอาจารย์แพทย์ พชท. วิสัญญีพยาบาล และพยาบาลฝึกอบรมวิสัญญี...กำลังเตรียมอุปกรณ์เพื่อดมยาสลบก่อนนำเข้าห้องMRI

เตรียมอุปกรณ์เฉพาะ ที่มีสายวงจรวางยาสลบที่ยาวกว่าปกติทั่วไป  ขนาดอุปกรณ์ที่พอเหมาะกับเด็กแต่ละคน  ยาที่เหมาะสม

เราขจัดความกลัวออกไป(ได้บ้าง)โดย

  • การเตรียมผู้ป่วยให้พร้อม  งดน้ำและอาหารเพื่อป้องกันการอาเจียน 
  • ซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด 
  • ทีมบุคลากรมีความชำนาญ ประสานงานกันทั้งด้านข้อมูลและเทคนิค
  • จัดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมใช้  และวางแผนหากมีปัญหาฉุกเฉิน 
  • เตรียมยาตามมาตรฐาน(งานนี้น้องถูกถามคำถามว่าสติ๊กเกอร์ยาที่ไปดมนอกสถานที่ไม่ใช้มาตรฐานเดียวกับในห้องผ่าตัดรึ...)

สำหรับห้อง induction.....เตรียมอุปกรณ์ใส่ท่อช่วยหายใจของเด็ก(หลายๆขนาด)   เช็คก๊าซ  เติมยาสลบให้เพียงพอ

เตรียมเครื่องmonitor  เครื่องดมยาสลบ(แบบธรรมดา  นอกห้องMRI)  แผ่นนำคลื่นไฟฟ้าหัวใจ(ชนิดพิเศษ) เครื่องดูดเสมหะ  อุปกรณ์ใส่ท่อช่วยหายใจ

ตรวจสอบเครื่องดมยาสลบและเครื่องเฝ้าระวังผู้ป่วย(ที่ใช้ในห้องทำMRI) 

การดมยาสลบผู้ป่วยเด็กก็ทำได้เป็นปกติค่ะ  ไม่ได้มีอะไรพิเศษ  เพียงให้ผู้ป่วยสลบพอที่จะนิ่งไม่ไอ  อาจใช้เทคนิคให้หายใจเองอย่างรายนี้  หรืออาจใช้ยาหย่อนกล้ามเนื้อแล้วควบคุมการหายใจโดยเครื่องช่วยหายใจก็ได้

รายนี้  เราเฝ้าดู reservior bag  มันขยับวูบวาบตามจังหวะการหายใจของเด็ก...  มีภาพคลื่นที่แสดงการเต้นของหัวใจ  การหายใจ  และความดันเลือดตลอดเวลาให้ได้เห็นตลอดเวลา  พอจะสบายใจบ้าง.... 

ทีมงานที่ต้องคอยจ้องเฝ้าระวัง(แต่ยังหันมายิ้มกับกล้องได้) พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่เทคนิคของMRIที่ได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะกำลังเก็บข้อมูล

 ...เราเฝ้าระวังผู้ป่วยที่อยู่ไกล  ผ่านกระจก....โดยปกติแล้วเราถูกสอนและปฏิบัติในดูแลการเฝ้าระวังผู้ป่วยดมยาสลบอย่างใกล้ชิด  เกาะติดตลอดเวลา.....ชนิดตาจ้องดู  หูต้องฟัง  มือจับคลำ  ปากประสานงาน....แม้จะดูว่าทุกอย่างดูปลอดภัย...แต่ยังไงๆซะก็ไม่สบายใจเหมือนยืนเกาะติดเตียงผ่าตัดผู้ป่วยแฮะ...... 

"มีศึกษาพบว่า มีอัตราของความล้มเหลวของการทำ MRI ในกรณีให้ Sedationมากถึง 15%  และก็ใช่ว่าจะสามารถเลือกใช้วิธีการให้ยาระงับความรู้สึกได้ทุกครั้ง   เพราะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและเครื่องเฝ้าระวังที่มีความพิเศษเฉพาะของ MRI เนื่องจากเป็นห้องที่มีพลังสนามแม่เหล็ก  (Malviya S.และคณะ Efficacy, safety and cost of intravenous sedation versus general anesthesia in children undergoing endoscopic procedures. Gastrointestinal endoscopy1995; 41 (2): 99-104)   

"พึงระมัดระวังเสมอว่าจะต้องใส่ใจภาวะกระสับกระส่าย  หรือไม่นิ่งของผู้ป่วย  ที่ได้รับเพียงยา Sedative ....อาจเกิดจากภาวะขาดออกซิเจนในกระแสเลือดได้ ...ใช่ว่าเห็นเพียงคนไข้ขยับแล้วสั่งให้นิ่งๆเท่านั้น....  

Some clinically relevant contraindications to sedation:

  • conditions with an increased risk of pulmonary aspiration
  • possibility of airway obstruction or respiratory irregularities
  • raised intracranial pressure, or other conditions where increased PaCO2 could be dangerous
  • conditions where respiratory center is desensitised to carbon dioxide
  • renal or hepatic dysfunction, which may alter drug kinetics
  • unpredictable drug effect, as sedatives may increase restlessness

 (ที่มา : M.P. Boidin MD,.R. Wolff MD, C. Doelman MD ใน Sedation versus general anesthesia in MRI )

หมายเลขบันทึก: 165665เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2008 01:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

          สวัสดีครับป้าติ๋วคนสวย ผมเองครับ (จำเราได้มั้ยหนอ) ผมนักเรียนวิสัญญีเองครับ วันนี้ได้มีโอกาสเปิดอ่าน gotoknow จึงเข้ามาทักทายป้าติ๋วนะครับ (เวรครับวุ่นเกือบหมดคืนครับ) รู้สึกนอนไม่หลับครับ กังวลกับการสอบที่จะมาถึงครับ เพราะว่าความรู้ผมเท่าหางอึ่งเองครับ แฮะ แฮะ

         ได้อ่านประสบการณ์ไปดมยาที่ห้อง MRI แล้ว ก้อเลยมีความรู้สึกว่า อืม เป็นความรู้สึกเหมือนกันครับยิ่งเราเป็นนักเรียนด้วยแล้ว เฮ้อ ไม่อยากบอกเลยครับว่าเครียดแค่ไหน ขนาดเฝ้าอยู่ หัวเตียง ข้างเตียง หรือปลายเตียง เรายังทำได้ไม่ดีเลย แต่นี่เราเฝ้าอยู่โน่น อีกห้องหนึ่งแน่ะ แต่ก้อยังอุ่นใจเล็กน้อยเพราะมีอาจารย์ พี่วิสัญญีพยาบาล และ recident มาอยู่ด้วย แต่ก้อแป๊บๆ ส่วนใหญ่เป็นพี่ๆวิสัญญีพยาบาลมากกว่าครับ

          แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในการทำ MRI ผู้ป่วยเด็กบางรายที่เราสามารถพูดคุยเพื่อให้เขาให้ความร่วมมือกับในการทำ MRI เวลาเข้าห้องอุโมงค์ เขาก้อสามารถทำได้นะครับ เพราะว่าบางทีการให้ยาสลบเพื่อทำ MRI จะต้องสังเกตอาการต่ออีกอย่างน้อย 2 ชั่วโมง สำหรับผู้ป่วยนอกและอาจมีอาการข้างเคียงจากการได้รับยาสลบด้วย ในวันที่ผมได้ไปดมยาที่ห้อง MRI จึง Advice ผู้ป่วยเด็กที่สามารถให้ความร่วมมือได้ ซึ่งเด็กที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไปจะสามารถให้ความร่วมมือกับได้เป็นอย่างดีครับ เพราะเมื่อทำเสร็จแล้วเด็กสามารถรับประทานอาหารได้และกลับบ้านได้เลย ไม่ต้องรอดูอาการอีกตั้ง 2 ชั่วโมง ซึ่งผู้ปกครองก้อเห็นชอบด้วย ทำให้เราเองไม่ต้องเปลืองยาและแรงงานในการจับเด็กเพื่อดมยาสลบ และเด็กเองก้อไม่ต้องเสี่ยงต่ออาการข้างเคียงของยาสลบด้วย หลังจากทำเสร็จเด็กก้อออกมาหน้าตายิ้มแย้ม เพราะว่าเขาจะได้รับประทานอาหารแล้ว (ถูกสั่งให้อดข้าว+น้ำตั้งนาน รู้มั้ยมันหิวนะครับ) ซึ่งในวันนั้นผมก้อภูมิใจนะครับที่สามารถทำให้เด็กสามารถอยู่นิ่งขณะทำ MRI ได้ เฮ้อ โม้มาเยอะแล้ว แค่นี้นะครับ ขอตัวเก็บของในห้องก่อน จะได้ลงเวรแล้วครับ ขอบคุณครับ (ปล. ผมยังไม่ได้ให้ป้าติ๋วให้คะแนน case สั้นเลย เห็นป้าติ๋วไม่ว่างสักทีครับ)

  • สวัสดีค่ะ อ.พี่ติ๋ว
  • ดูเครียดไม่น้อยนะคะ
  • นี่ถ้าป้าแดง ดม สงสัย จิตตก ในหัวปั่นป่วนแน่เลยค่ะ
  • เดี๋ญวนี้ รู้สึกตื่นเต้นมากเวลา ดมยา เคสที่ยุ่งยาก
  • ---
  • เคส MRI  การ NPO เป็นสิ่งสำคัญ ใช่มั้ยคะ

อรุณสวัสดิ์ครับ  คุณพ่อลูกอ่อน

  • ดีใจจริงๆที่มีคนในวิชาชีพมาช่วยเติมเต็มบันทึกนี้ค่ะ....
  • วันนั้นsetมา6ราย  ดมยาสลบ3ราย...ที่เหลือก็งดเพราะผู้ป่วยเป็นอีสุกอีใส 1 รายค่ะ...และเพื่อนของน้องก็กล่อมเด็กอีกได้ตั้ง 2 ราย...เก่งจริงๆเลยน้องรุ่นนี้...มีฝีมือในการกล่อมเด็ก
  • ...วานนี้อยู่เวรก็อดกลับไปกล่อมลูกที่บ้านละซี  อดทนหน่อยนะน้องนะ  อีกครึ่งปีก็จบแล้วแหละ
  • ...น่านแหละน้องเอ๊ย...พี่พยาบาลเองก็พยายามผลักดันให้มีแพทย์มาช่วยเราทุกราย  โดยเฉพาะตอนเริ่มและเลิก...ซึ่งมีความสำคัญในการใส่ท่อและตัดสินใจถอดท่อช่วยหายใจ.....
  • ...จะบอกว่าหัวใจอยู่ที่อย่าให้ท่อช่วยหายใจหลุดและปรับยาให้หลับพอดีไม่apnea  หรือตื้นจนขยับ....เครื่องsuction ต้องพร้อม...ตอนจะตื่นเด็กจะดิ้น  จับท่อกับมุมปากให้แน่นเพราะพลาสเตอร์อย่างเดียวก็เอาไม่อยู่เวลาเด็กส่ายหน้าไปมาค่ะ....ไม่งั้นเกิด laryngospasm  แล้วท่อหลุดละก็...จะยุ่งอีกรอบ...
  • รอตื่นดีๆ....ระวังถูกเด็กหลอกตอนใกล้ตื่นล่ะ...ทำท่าจะตื่นแล้วหลับต่อน่ะ...หากใจร้อนรีบถอดท่อออกในการดิ้นครั้งแรกละจะหนาว...อาจเป็น excitement state....รออีกสักพัก...จะมีดิ้นรอบสองหรือสาม..น่านแหละ  reflex กลับมาหมดก็จะปลอดภัยค่ะ
  • ....ใช่อย่างว่าค่ะ  ถ้าอ้างว่าดมยาเสร็จต้องอดทานข้าวจนเย็นๆโน่น..เด็กยอมจริงๆ...ยอมให้ไม่ดมยา  ประหยัดและปลอดภัย  เหมาะกับเด็กที่พูดรู้เรื่องค่ะ  แต่ถ้าไม่ให้ความร่วมมือละก้อ  การทำMRIจะช้า  ได้ผลไม่ดี  เสียเวลาการทำออกไปอีกเพราะจะได้ยินเจ้าหน้าที่บอกคนไข้ว่า...นิ่งๆกว่านี้คร๊าบบ...
  • เอาสมุดให้คะแนนมาให้พี่เซนต์เลย...ตอนเย็นก็นั่งเปิดคอมฯในห้องอาหารทุกเย็นละค่ะ  ยกเว้นว่าน้องลงไปเยี่ยมคนไข้ก่อน....ขอบคุณมากๆนะคะที่แวะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์....จะตัดคะแนนความรับผิดชอบนาถ้าช้ากว่านี้....แต่จะเพิ่มคะแนนความสามารถที่เข้ามาแลกเปลี่ยนค่ะ..อิ...อิ.....
  • อ้าว...ลงเวรแล้วกลับบ้านไปกล่อมเด็กมั้ยเนี่ย....
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ ป้าแดง

  • ความเครียดเกิดเพราะเราใส่ใจจะไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนน่ะค่ะ...แต่ความกลัวเกิดเพราะจินตนาการไปเองเมื่อเราไม่เคยเผชิญหรือเคยผ่านประสบการณ์มาแล้ว  นานแล้ว  แต่ลืมแล้ว... recalled แป๊บนึงก็เรียกความมั่นใจกลับมาแล้วค่ะ
  • งดน้ำและอาหารมีความสำคัญมากๆค่ะ  ไม่งั้นสำลักเศษอาหาร..อุดทางเดินหายใจ  หรือสำลักเข้าปอดก็ต้องรักษาภาวะแทรกซ้อนกันต่อ...เสี่ยงต่ออันตรายค่ะ
  • ขอบคุณป้าแดงค่ะ

กราบสวัสดีครับคุณหมอ

ขอความกรุณาท่านช่วยให้คำแนะนำด้วยครับที่
http://gotoknow.org/blog/spirit2/165777

ขอบพระคุณมากครับ
อ.สุรเชต 085-9271704

สวัสดีค่ะ คุณ. Mr. Surachet Noirid

  • ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าดิฉันเป็นเพียงวิสัญญีพยาบาลค่ะ....
  • ให้บังเอิญที่ได้อ่านบันทึกของคุณก่อนแล้ว  จึงมาพบว่าคุณแวะมาที่บันทึกนี้ค่ะ.....ได้ให้คำแนะนำไว้แล้วเบื้องต้นในบันทึกของคุณ... 
  • .....พรุ่งนี้คาดว่าจะลองถามแพทย์ที่เกี่ยวข้องดูค่ะ....แต่ในขณะเดียวกันก็อยากให้วกกลับไปถามแพทย์เจ้าของที่รักษาจังเลย...อยากรู้ว่าวินิจฉัยว่าอะไร  ผู้ป่วย(และญาติ)ควรทำอะไรต่อ...น่าจะได้ข้อมูลที่ชัดเจนกว่านี้สักหน่อย....
  • อย่าเพิ่งวิตกมากไปนะคะ  ใจเย็นๆ  ค่อยๆคิดค่ะ  เราปรึกษาและวางแผนการรักษาร่วมกับแพทย์ได้ค่ะ.....(มีทางออกที่ดีๆคอยอยู่แล้วแหละค่ะ......)
  • ขอให้โชคดีค่ะ
แวะมาแอบดูครับ (ว่าแต่ต้องใส่ชุดปลอดเชื้อด้วยมั้ยครับเวลาเข้ามาที่ห้องนี้ :)

สวัสดีค่ะ คุณกวินทรากร

  • ไม่ต้องใส่ชุดปลอดเชื้อค่ะ  แต่ที่เห็นทีมเราใส่ชุดสีเขียวกันเพราะเราเปลี่ยนและใช้ใส่ในห้องผ่าตัดใหญ่ค่ะ ....ใส่เสื้อคลุมทับออกมาให้บริการนอกสถานที่อีกทีค่ะ
  • การทำMRIไม่ได้มีการเปิดผิวหนังให้เสี่ยงการติดเชื้อค่ะ  จึงไม่จำเป็นต้องใส่ชุดปลอดเชื้อ
  • ขอบคุณค่ะที่แวะมาทักทายค่ะ

มาอ่าน ที่นี่ ตอนแรก นึกว่า พี่ติ๋ว เข้า อุโมงค์ ซะอีก ถึงได้ กลัว

ที่ผ่านมา ก็ครั้งแรก ของหน่อย กับ MRI  เหมือน...หน่อยน่ะ เตรียมหลับตา เข้าไปเลย พอหลับตา ก็อยากลืมตาอีก ก็กลัวอีก

แหะๆ แต่พยายามทำใจ จนผ่านมาได้

  ยังนึกอยู่ว่า เด็กๆ จะทำยังไง

  และมาขอบคุณ พี่ติ๋ว ที่ดูแลหน่อย ตอนที่อยู่ ศรีนครินทร์ ด้วยคะ   พี่ติ๋ว คุยสนุกดีคะ ชวนเฮฮา ก่อนผ่าตัดด้วย  

พี่กฤษณา ครับ

ผมขออนุญาติ นำรูปไปใช้ประกอบการนำเสนอ ็HA ของห้อง MRI นะครับ

สวัสดีค่ะ คุณหน่อย

  • ขอประทานโทษนะคะที่พี่เพิ่งเห็นข้อความของคุณหน่อยในบันทึก(จนข้ามปีแล้ว)
  • ..ยินดีค่ะและขอบคุณสำหรับมิตรภาพค่ะ

คุณวุฒิศักดิ์ [IP: 202.12.97.115]

  • ยินดียิ่งค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท