ขึ้น 3 ค่ำ.........เดือน 3


วัฒนธรรม ประเพณีของคนเฒ่าคนแก่

        

        วันหยุด มีเวลาพักผ่อนได้เต็มที่ไม่ต้องรีบร้อนเหมือนวันทำงาน ซึ่งปกติหน้าที่แม่บ้าน ต้องทำให้เรียบร้อยก่อนออกจากบ้านไปทำงานประจำในหน้าที่ วันนี้ตื่นมาก็เตรียมหุงหาอาหารเช้าอย่างไม่รีบร้อน ประมาณ 7โมงเช้า เพื่อนบ้านเค้าเป็นแม่บ้านและทำงานเป็นผู้นำท้องถิ่นด้วย ตื่นเช้ากว่าเราเพราะต้องไปเรียนเพิ่มเติมในวัน เสาร์ - อาทิตย์  ได้นำอาหารชนิดหนึ่ง มาให้คือ "แกงขี้เหล็ก"และบอกว่า วันนี้เป็นวัน ขึ้น  3 ค่ำ  เดือน  3  ชาวบ้านแถวนี้ เขาทำแกงขี้เหล็ก รับประทานกันทุกบ้าน ซึ่งเราไม่รู้เรื่องเลย เขาถือเคล็ด ให้อยู่อย่างเข้มแข็งและมีความอดทนเหมือนเหล็ก แล้วก็รีบไป  

   "ขี้เหล็ก " เป็นพืชชนิดหนึ่งที่ใช้ใบและดอก(สีเหลือง )เป็นอาหาร มีรสขม จัดเป็นพืชสมุนไพร เวลาจะนำไปปรุงต้องเคี่ยวด้วยไฟอ่อน ใช้เวลานานหน่อย เพื่อให้รสขมเจือจางลง นำไปแกงกับเนื้อหมูย่างหรือปลาย่าง ใส่กะทิให้รสชาติกลมกล่อมอร่อยถูกปากของคนภาคกลาง  พอทำอาหารเสร็จ ก็จัดสำรับไปให้แม่ซึ่งนอนป่วยเป็นอัมพาต ช่วงเวลาที่แม่ทานข้าวก็ชวนคุยถึงเรื่องเก่าๆและถามแม่ว่า วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3  ประเพณีของชาวนาเขาทำอะไรกัน (นึกขึ้นได้ว่า เมื่อวาน 8 ก.พ.แวะไปหาน้าชาย ที่มีอาชีพทำนา เขาบอกว่า   พรุ่งนี้ ก็คือ 9 ก.พ. เขาจะนำหัวหมูไปไหว้บรรพบุรุษที่เป็นชาวนา)  แม่เล่าต่อว่า ชาวนาเค้าจะ ตักข้าวเปลือกขึ้น ยุ้ง  เพื่อเป็นเคล็ดว่าให้มีข้าวเต็มยุ้งไม่ให้ข้าวขาดยุ้ง โดยเฉพาะให้คนที่เกิดปีแข็งๆตัก  และเล่าว่าในสมัยที่ผู้บันทึกเป็นเด็กๆ ก็เคยให้ตักข้าวเปลือก เพราะเกิดปีมะโรง หลังจากเดือน 3 ไปแล้วจึงจะเอาข้าวออกมาได้  "ยุ้ง" เข้าใจว่า  ที่เก็บข้าวเปลือกสร้างด้วยไม้ เป็นห้องโล่งกว้าง  มีที่ระบายอากาศ  ปัจจุบันหาดูได้ยาก ชาวนาสมัยก่อนหลังจากขายข้าวเปลือกแล้วจะเหลือเก็บใส่ไว้ในยุ้ง เพื่อนำไปสีเป็นข้าวสารไว้รับประทาน ไม่ต้องซื้อข้าวสารเหมือนกับพวกเราค่ะ  นอกจากนี้ประเพณีของชาวนา ก็เช่น เวลาข้าวเริ่มตั้งท้อง ก็จะทำขวัญท้องข้าว ไหว้แม่โพสพ         เห็นแม่เริ่มเหนื่อยหอบ ก็เลยหยุดคุย    

     คนไทยในชนบทสมัยก่อนมีความเชื่อหลากหลายเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณี คนเฒ่าคนแก่ก็เล่าสู่กันฟังและปฏิบัติต่อๆกันมา  ความเชื่อของคนโบราณ เป็นต้นแบบให้ทำสิ่งที่ดีงาม เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงาน  ยังมีประเพณีที่ดีๆในแต่ละภาคอีกมากมายที่ยังไม่ทราบ ซึ่งผู้บันทึกเองก็ไม่มีความรู้ค่ะ

 

 

หมายเลขบันทึก: 164259เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2008 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

ประเพณีเก่าๆของบ้านเราคล้ายๆกันเลยนะ...แต่ประวัติความเป็นมานั้นก็มาจากหลายๆท้องที่และหลากหลายตำนานแต่มีที่มาจากความกตัญญูกตเวทีในการแสดงออกของคนเก่าๆ เด็กยุคใหม่ก็อาจมองว่าเลอะเทอะงมงาย...แต่คนเก่าก่อนโบราณน่ะไม่ใช่หรือที่เลี้ยงเรามา

                                                                                             ธ.ธง

                                                               [email protected]

สวัสดีครับ ขออนุญาต ลปรร เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อของคนโบราณครับ

          ผมว่าความเชื่อของคนโบราณ ต้องมอง 2 ด้าน ครับ 

          ด้านหนึ่งมีประโยชน์ ตามที่ยกตัวอย่างมา ในเชิงจิตวิทยา

          อีกด้านหนึ่งเป็นด้านที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และการพัฒนา เพราะแก่นแท้ของความเชื่อจริงๆ เป็นความเชื่อที่มีเหตุผล แต่การนำมาใช้  กลับทำให้ศักดิ์สิทธ์น่ากลัว เหมือนกับคำขู่ที่ดูไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย

         หรือความเชื่อบางอย่าง เหมาะกับยุคสมัยในอดีต  มาถึงยุคปัจจับัน อาจจะไม่มีความจำเป็นแล้วก็ได้   ดังนั้นการนำความเชื่อที่ไม่เหมาะกับยุคปัจจุบันมาใช้ จึงเป็นเรื่องที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาครับ

        เดี๋ยวจะหาว่าผมเป็นคนสมัยใหม่  ตามความคิดของผมเอง ความเชื่อทุกอย่างของโบราณมีประโยชน์ครับ  เพียงแต่ว่าการนำมาใช้ควรต้องให้เด็กๆ หรือคนรุ่นหลัง เข้าใจถึงเหตุผล และอาจมีการประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทในปัจจุบัน

      ความเชื่อจะได้กลายเป็นวิทยาศาสตร์   ไม่ใช่เป็นไสยศาสตร์ที่น่ากลัว

                                                     ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ

ขึ้นสามค่ำเดือนสาม

พี่น้องทางมหาสารคาม มีประเพณีบุญเบิกฟ้าครับ

พี่น้องชาวโซ่ ดงหลวง กุสุมาลย์ โซ่พิสัย ถือเป็นวันตรุษโซ่ หรือปีใหม่ชาวโซ่ครับ เรียกอีกอย่างว่าเปิดประตูเล้าข้าวครับ

มีการสู่ขัวญเล้าข้าว ผูกเขาวัวควาย หาบฝุ่นใส่นา ด้วยครับ

ผู้เฒ่าผู้แก่ถือว่า วันนี้เป็นวันดีครับ

สวัสดีค่ะ คุณ ธ.ธง

  • คนโบราณให้แง่คิด คติเตือนใจเราหลายๆอย่างค่ะ สอนให้เราทำในสิ่งที่เป็นมงคลแก่ชีวิต
  •  รุ่นเราๆก็ได้ดีเพราะคำสั่งสอนของคนโบราณนะคะ
  • ขอบคุณค่ะ
  • ขอบคุณค่ะท่านผู้อำนวยการ ที่ให้คำแนะนำและแง่คิดในอีกมุมมองหนึ่ง
  • ความเชื่อของคนโบราณแฝงไปด้วยคำสอน ที่เราต้องนำมาผนวกเข้ากับความรู้ใหม่ๆค่ะ และใช้วิธีการถ่ายทอดให้เห็นถึงความมีเหตุมีผล ความเชื่อจะได้กลายเป็นวิทยาศาสตร์   ไม่ใช่เป็นไสยศาสตร์ที่น่ากลัว
  • แต่คนบางส่วนมักจะคิดหลงทาง เหมือนดังคำกล่าวจากหนังสือธรรมะน้ำเอก ที่ว่า   น่าเสียดายที่เรามีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่เรากลับศรัทธาไสยศาสตร์หัวปักหัวปำ
  • ขอบคุณอีกครั้งค่ะ
                     

สวัสดีค่ะ ท่าน paleeyon

P

  • ขอบคุณที่ให้ความรู้เพิ่มเติมค่ะ
  • ประเพณีแต่ละภาคมีความเชื่อที่แตกต่างกัน และได้กระทำสืบต่อกันมา ล้วนเป็นสิ่งดีงามค่ะ  ต่างถิ่นต่างประเพณี ไม่ว่าจะอยู่ภาคไหนก็เป็นคนไทย อยู่บนผืนแผ่นไทย เหมือนกัน
  • แวะมาให้สิ่งดีๆกันอีกนะคะ 

 

สวัสดีครับ คุณจุฑารัตน์ ขอร่วม ลปรรด้วยคนครับ

  • งานประเพณีในเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ มีมากมายแตกต่างกันไปในหลายพื้นที่
  • ที่จังหวัดสระบุรีก็มีประเพณีกำฟ้า เป็นประเพณีสำคัญของไทยพวน ซึ่งจะมีกันอยู่ในเขตอำเภอพรหมบุรี แถวบ้านบางนำเชี่ยว บ้านโภคาภิวัฒน์ กำหนดงานกำฟ้าไว้ในเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ  เป็นประเพณีเกี่ยวกับการทำนายความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร และความเชื่อในเรื่องฟ้าร้อง
  • วันนี้ได้แกงขี้เหล็ก  3  ถ้วย
  • พี่ป้าน้าอาห่วงใยลูกๆหลานๆ ปลอดภัยไร้โรคา เพราะขี้เหล็กเป็นสมุนไพร 5555
  • ขอบคุณๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ  ท่านพช.ค่ะ
  • เย็นนี้ก็ได้แกงขี้เหล็กมาเหมือนกัน จากตลาดนะ 555
  • ของชอบมาแต่อ้อนแต่ออกแล้วครับ ฮิ ฮิ ฮิ
  • ขอบคุณ ที่ได้รับความรู้เพิ่มเติม มากมาย หลายอัถรส

มาเยี่ยม 

เนื่องจาก  ท้องถิ่นเราเป็นสังคมชาวนามานมนานครับ  จึงมีสิ่งเหล่านี้ให้ชื่นชม...และคิดถึง...

บรรพบุรุษของเราเป็นชาวนา อยู่กับสังคมชาวนาแล้วรู้สึกอบอุ่นค่ะ ขอบคุณค่ะอาจารย์

ได้รับความรู้มากขึ้น  มีเพื่อนบ้านทำนาและเคยได้รับเชิญไปกินขนมจีนที่บ้านเขาๆบอกว่าประเพณีรับข้าวใหม่โดยนำข้าวเก่ามาทำขนมจีนแจกและกินกันเกือบทุกบ้าน  และอีกประเพณีหนึ่งเรียกว่าประเพณีแห่ข้าวข้าวสังเคทเป็นความเชื่อว่าเพื่อระลึกถึงเจ้าแม่โพสพและคุณประโยชน์ของข้าวคิดว่าเป็นอุบายโบราณที่ทำให้ลูกๆหลานๆปฏิบัติในสิ่งดีดีสืบทอดกันไปและเกิดความรักความสามัคคีกัน

    สวัสดีค่ะ คุณ ampen

  • การทำขนมจีน เค้าจะแช่ข้าว หมักจนข้าวอ่อน และตำจนเป็นแป้งละเอียด  เหนียว นำมาผสมกับน้ำให้เหลวพอประมาณ ใส่พิมพ์ที่เจาะรู โรยเป็นเส้นๆในกระทะ ที่มีน้ำกำลังเดือด พอเส้นสุกก็ตักขึ้นแช่ในน้ำเย็น จับเป็นหัวไว้รับประทานกับน้ำยา ทำจากปลาที่นำมาจากในนา
  • ในสมัยเด็กๆผู้บันทึกเองชอบไปนั่งเฝ้าเวลาเค้าตำขนมจีน เพื่อที่จะเอาแป้งมาทำเป็นแผ่นแล้วนำไปปิ้งกิน เรียกว่า แป้งจี่  
  • เป็นความอุดมสมบูรณ์ของเมืองไทยจริงๆค่ะ
  • ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว  อยู่แบบพอเพียง
  • ขอบคุณค่ะ

"แกงขี้เหล็ก" ...

เป็นอาหารจานโปรดของผมเลยทีเดียว  ยิ่งแกงใส่กับหนังวัวแล้วได้เคี้ยวอย่างอร่อยแน่ ..

ทุกวันนี้หน้าบ้านยังปลุกต้นขี้เหล็กไว้เลยครับ  ..ใบเขียวงามแผ่กิ่งก้านแตกใบร่มรื่นมาก ...  แถมยังเป็นที่ปลูกเปลให้หลับสบาย ..และทุกครั้งที่กลับบ้าน  ผมก็ได้ร่มขี้เหล็กนี่แหละครับเป็นที่เอนกาย,คลายเหนื่อยล้า

วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3  ซึ่งพอโตมาผมจึงรู้ว่าในวันนี้แถวบ้านจะมีธรรมเนียมผูกข้อไม้ข้อมือผู้แก่ผู้เฒ่าในหมู่บ้าน และทำการเอาฤกษ์เกี่ยวกับการทำนาครับ @อุบลราชธานี

วันนี้แม่ก็แกงขี้เหล็กกินครับ ตอนแรกก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นเคล็ดของโบราณก็ได้รับประทานเป็นมื้อเช้าเลยเราก็จะเป็นผู้แข็งแกร่งหละครับปีนี้ และแม่ก็ทำพีธี"จกข้าว"ด้วยเข้าใจว่าเป็นการเปิดยุ้งเพื่อนำข้าวออกสีเป็นข้าวสารได้เพราะเป็นกุศโลบายโบราณเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วจะนำมาเก็บไว้ในยุ้งจนกว่าจะถึงวันขึ้น ๓ ค่ำเดือน ๓ จึงจะนำข้าวออกจากยุ้งได้ซึ่งในปัจจุบันกาลหาผู้ที่ถือปฏิบัติได้ยากส่วนมากแล้วเมื่อเก็บเกี่ยว-นวดข้าวเสร็จก็จะนำออกไปขายเื่พื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการทำนาหรือแม้กระทั่งการชำระหนี้สินที่เกิดจาการลงทุนทำนา และวันนี้เราก็ได้ทำพีธีไหว้สวน-ไหว้นาด้วยหัวหมู ๑ หัว เหล้า ๑ ไห ของหวาน ผลไม้ และเครื่องประกอบตามประเพณี โดยเชิญลุงกับป้ามาเป็นคนนำการพีธี ได้ทำแล้วสบายใจดีครับ รู้สึกดีที่ได้สืบทอดประเพณีที่มีมาแต่เก่าก่อนเหมือนว่าเราให้ความสำคัญกับสิ่งรอบๆตัวเราขอบคุณธรรมชาติที่ให้คุณกับสัตว์โลกอย่างเราๆ ที่รู้สึกอบอุ่นอย่างหนึ่งคือการที่เรารวมเอาญาติผู้่ใหญ่มาร่วมกิจกรรมและกินข้าวด้วยกัน

มันอาจจะไม่เป็นวิทยาศาสตร์จ๋าแต่มันคือสังคมศาสตร์ที่งดงาม...

แถวช้านผมก็มีประเพณี สวดมนต์กลางทุ่งเหมือนกันครับ

เค้าจะทำกันในเดือน 3 ขึ้น 3ค่ำ เหมือนกัน เมื่อนก่อนจะจัดงานกันในกลางทุ่งนา หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวในนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะช่วยกันทำประรำพิธี ในกลางทุ่งนา และนิมนต์พระมาสวดมนต์เย็น เช้าก็ทำบุญตักบาตร ทำกัน 3 วัน 3คืน กลางคืนมีมหรศพสมโภชน์  สนุกดีครับ วันสุดท้ายตอนเช้าหลังจากทำบุญเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีกาบหมากทำเป็นแบบเรือ แล้วนำข้าวปลาอาหารคนละเล็กน้อยใส่ไปในนั้น  พอพระสวดก็จะกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้ เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา สัมภเวสี เปรต ที่อดอยาก ให้มารับส่วนบุญกุศลที่ชาวบ้านได้ทำบุญไปให้ เป็นการส่งท้าย    แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีทุ่งนาแล้วก็มาจัดงานกันบนบก แล้วแต่หมุ่บ้านจะกำหนดว่าจัดตรงไหน เป็นการสืบสานประเพณีโบราณเพื่อไม่ให้สูญหายไปครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท