การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๑๓)


การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๑๓)


           ขอนำรายงานของมูลนิธิข้าวขวัญ ตอนที่ ๑๓ เรื่องประเพณีพื้นบ้าน มาลงต่อนะครับ    ประเพณีพื้นบ้านเป็นเครื่องมือรวมกลุ่ม สร้างความเป็นชุมชน    ความศักดิ์สิทธิ์เป็นเครื่องมือควบคุมพฤติกรรมของคนให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข  ไม่เกิดการละเมิดต่อกัน     ดังนั้นประเพณีพื้นบ้านจึงเป็น “ความรู้” อย่างหนึ่ง ที่ชาวบ้านจะต้องรู้จักนำมาใช้ประโยชน์


ตอนที่  13  นักเรียนชาวนากับประเพณีพื้นบ้าน
             โรงเรียนชาวนาภูมิใจที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมการฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณีพื้นบ้านในชุมชน  อันเป็นผลพลอยที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง
             นักเรียนชาวนากับประเพณีพื้นบ้านจะนำเสนอกรณีศึกษาจากโรงเรียนชาวนาบ้านสังโฆ  ตำบลวัดดาว  อำเภอบางปลาม้า  จังหวัดสุพรรณบุรี  เพราะหลังจากที่โรงเรียนชาวนาดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนอยู่นั้น  นักเรียนชาวนาที่มาเรียนรู้ร่วมกันก็ได้เล่าถึงความเก่าอันน่าภิรมย์ใจว่า  เมื่อครั้งหนึ่งก่อนหน้านี้  เวลาทำนาและเกี่ยวข้าว  ชุมชนชาวนาจะสนุกสนานคึกคักไปด้วยบรรยากาศของความเป็นพื้นบ้าน  มีกิจกรรมทำบุญต่างๆนานา  เป็นระยะๆ  หลายเรื่องราวก็เกี่ยวข้องกับเรื่องข้าวเรื่องนา  เพราะชุมชนนี้ทำนา  ก็เป็นชุมชนชาวนา  ความเป็นชาวนาจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะ  เป็นวิถีชีวิตของชาวนา  เป็นวิถีชุมชนชาวนา
             ประเพณีพื้นบ้านที่โรงเรียนชาวนาได้มีโอกาสสัมผัสและชื่นชม  ตลอดจนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมด้วย  ได้แก่  การรับขวัญข้าว  แม่โพสพ  การลงแขกเกี่ยวข้าว  และการฟื้นฟูเพลงพื้นบ้าน  “เพลงเกี่ยวข้าว”
             พิธีการรับขวัญข้าว  โรงเรียนชาวนาต้องการจะสืบสานประเพณีท้องถิ่นนี้เอาไว้  ถือเป็น   การปลุกจิตสำนึกเรื่องประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นทางด้านการเกษตร  มุ่งเน้นให้นักเรียนชาวนาสร้างคุณค่าเพื่อการเคารพและศรัทธาต่อแม่โพสพ  (ในความเชื่อ)  ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่นักเรียนชาวนาด้วยความเป็นชาวนาให้เข้มแข็งขึ้นยิ่งกว่าเดิม


               
  ภาพที่  67  ผู้สูงอายุศิลปินชาวนาแสดงฝีมือสานตาแหลว  เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น
  ภาพที่  68  ปักตาแหลวบนพื้นนาข้าว 
 

            
  ภาพที่  69  สืบสานพิธีกรรมพื้นบ้าน  นักเรียนชาวนารับขวัญข้าว
  ภาพที่  70  สิบนิ้วยกพนมก้มเกศา  รับขวัญข้าวแสดงศรัทธาต่อพื้นแผ่นดินและนาข้าว
 
             ในความเชื่อตามโบราณกาลของชาวนา  แม่โพสพเป็นผู้ดูแลเรื่องข้าว  ชาวนาจะต้องจงรักภักดีต่อแม่ไพสพ  ทุกครั้งที่ดำนาปลูกข้าวจนข้าวเติบโตอยู่ในช่วงตั้งท้องแล้ว  ชาวนาจึงต้องทำพิธีรับขวัญข้าว  ขอให้แม่โพสพมาดูแลข้าวในท้องทุ่ง  ให้ได้ข้าวดีและสมบูรณ์  ชาวนาจึงมี   ความผูกพันต่อแม่โพสพเป็นอย่างมาก   

                                      
  ภาพที่  71  แม่ไพสพในจินตนาของนักเรียนชาวนา  เป็นหุ่นที่ทำจากข้าวฟางศิลปะภูมิปัญญาท้องถิ่นของนักเรียนชาวนา  เพื่อนำแสดงในนิทรรศการต่างๆ  ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมการสัมมนาและสื่อมวลชนหลายแขนงเป็นอย่างมาก
 
             สองมือดำนาปลูกข้าว  เป็นสองมือเดียวกับที่ยกมือวันทาไหว้แม่ไพสพ  ด้วยถ้อยคำและกริยาอันนอบน้อม
             ตั้งนะโม 3  จบ  
             “สะรัชชัง  สะเสนัง  สะพันธุง  นะรินทัง  ปะริตตานุภาโว  สะทา  รักขะตูติ  ผะริตวานัง     เมตตัง  สะเมตตา  ภะทันตา  อะวิกขิตตะจิตตา  ปะริตตัง  ภะณันตุ  สัคเค”  
             บทสวดชุมนุมเทวดา  เป็นคำกล่าวรับขวัญข้าวตั้งท้อง  ถอดคำแปลได้ว่า 
                      ข้าพเจ้าขอน้อมนมัสการแด่คุณครูบาอาจารย์ผู้เรืองเวทย์ 
                      อัญชลีกรขึ้นเหนือเกศสดุดี 
                      อีกทั้งท้าวแม่ธรณีทั่วทิศสา 
                      อีกทั้งพระบรมกษัตริย์ขัติยาอันเกรียงไกร 
                      อีกทั้งท้าวไท้เทเวศน์ผู้เรืองฤทธิ์
             กาเมจะรูเป  เทพเจ้าซึ่งสิงสถิตย์อยู่ในกามภ  มีอำนาจเจนจบไปด้วยฤทธาศักดาเดช
             คิริสิขะระตะเฏ  เทพเจ้าซึ่งสิงสถิตย์อยู่ในขอบเขตคีรีโขดหินแนวเนินหลังหิมพานต์ขุนเขา
             จันตะลิกเข  เป็นเทพเจ้าเนาแนนอยู่ในอากาศ
             วิมาเน  อยู่ในวิมานมาศอันเรืองรอง
             ทีเปรัฏเฐ  อยู่ในพิชัยรถทองและเรือนหลวง
             จะคาเม  เทพเจ้าทั้งปวงอาศัยอยู่ตามบ้านน้อยและเรือนใหญ่   
             ตะรุวะนะคะหะเน   เคหะวัตถุมหิ  เขตเต  เทพเจ้าอาศัยอยู่ตามพุ่มไม้  ไพรพฤกษาศาล  อาศัยอยู่ตามหลังคาบ้านเรือน  โรงและไร่นา
             ภุมมา  จายันตุ เทวา ชะละถะลิ  วิสะเม  เทพเจ้าซึ่งสิงสถิตอยู่นพื้นที่ภูมิภาค  อยู่ในระหว่างห้วงเหวหลากทะเลวน  อยู่ในลุ่มน้ำสายชล และบนบกมิได้เสมอกัน
             ยักขะคันธัพพะนาคา  ติฏฐันตา  สันติเกยัง   อีกทั้ง  ยักษา  คนธรรพ์  ครุฑ  นาคามหาศาล เที่ยวเพ่นพ่านคอยระแวดระวังภัยที่จะเกิดแก่ปวงชน
             มุนิวะระวะจะนัง  อีกทั้งพระฤาษี  มุนี  ทุกแห่งหนทั่วโลกาทรงฤทธาด้วยตบะเดช  ทั่วทุกขอบเขตแว่นแคว้นแดนอาณาจักร
             สาธะโว เม สุณันตุ  ดูก่อนเทพเทพาอารักษ์ทั้งหลาย ทั้งปวง จงล่วงรู้ด้วยโสตสดับอรรถธรรมอันล้ำเลิศเป็นธรรมอันประเสริฐของพระพุทธองค์  ข้าพเจ้าขออันเชิญเทพเสด็จลงในวันนี้ขอจงมาช่วยชี้แนะแนวทางที่จะปฏิบัติ  ขออย่าให้มีหมู่มารมาข้องขัดขวางทางที่จะไปพระนิพพาน
             อะนาคะเตกาเล  ในอนาคตกาลเบื้องหน้า
             ธัมมัสสะวะนะกาโล      อะยัมภะทันตา
             ธัมมัสสะวะนะกาโล      อะยัมภะทันตา
             ธัมมัสสะวะนะกาโล      อะยัมภะทันตา
             “วันนี้เป็นวันดี  เป็นราศีศุภมงคล ขอให้เกิดมรรคผลแก่แม่โพสพเจ้า  ข้าวเหนียวเงินเข้ามากอง  ข้าวเหนียวทองเข้ามาลาภ  แตกกอออกกาบ  ตกคราบน้ำนอง  ถึงเดือนสิบสองตั้งท้องลงครรภ์  ข้าวเหนียวปีก  ข้าวเหนียวป้อม  ข้าวเหนียวกะล่อม  ข้าวเหนียวกะลุ่ม  ข้าวฟ่าง  หางม้า  ผสมสร้อยฟ้าทอง  ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ข้าวกู่กาบอ้อย  ข้าวสร้อยนกกระจาบ  ข้าวเหนียวนกพิราบ  นานอกนาใน  นาซ้าย  นาขวา  กู่มาเถอะมา..  แม่มา  มากันให้พร้อม  แม่โพธิ์ศรี  แม่โพสพ  แม่นพดารา  แม่จันทร์เทวี  แม่ศรีสุชาดา  วันนี้แม่อยากกินอะไรลูกก็หามาให้  ส้มสุกลูกไม้  ขนมไหล  กงเกวียน  ขนมผิง  ฝอยทอง  ล้วนแต่ของจำเนียร  จันทร์อับ”
 

              
  ภาพที่  72  คุณยายทองโปรย  ยิ้มประเสริฐ  ชาวบ้านตำบลวัดดาวผู้ทำพิธีรับขวัญข้าว
  ภาพที่  73  สำรับโภชนาอาหารในพิธีรับขวัญข้าว
 
             “งาเจียน  ผลไม้นานา  ส้มซ่า  ส้มจีน  ลูกอินทผลัม  ขนมต้มลูกใหญ่  กล้วยไข่  กล้วยน้ำ  มะพร้าวอ่อน  อ้อยควั่น  สารพันที่จะมี  มารับขวัญแม่โพสพในวันนี้  ขอเชิญแม่มา…  มากันให้พร้อม  มาเข้าเกียรติแก้วนาทองโห่ร้อง  3  ลา”  (โห่  3  ครั้ง  มีลูกคู่รับ) 
             ตั้งนะโม  3  จบ  
             “ศรีๆ วันนี้วันดีลูกจะขอเบิกบายศรีขึ้นเจ็ดชั้น  จะขอทำขวัญแม่โพสพเจ้า  ข้าวเหนียว       ข้าวเจ้า  ข้าวเบา  ข้าวกลาง   ข้าวปีก  ข้าวหาง  ข้าวนางมณี  แม่สีชมพู  แม่บัวชูศักดิ์  ข้าวหนัก  ข้าวเบา  เงินทอง  แพรใช้  ส้มสุกลูกไม้  ลูกก็หาเอามาให้  กล้วย  อ้อย  หมาก  พลู  ปูน  ยา  แป้ง  จันทน์ น้ำมันหอม   สร้อยทองมาคล้องคอแม่โพสพเจ้า…  พอถึงเดือนหกฝนก็ตกปรอยๆ แตกกอออกกาบแตกคราบน้ำหนอง  พอมาเดือนสิบสองแม่ก็มาตั้งท้องในครรภ์  แม่มาชักใบสั้น  แม่มาพันใบกลม     ชูรวงลงก้มมารอคมเคียว  ผูกมัดรัดให้แน่น  หาบขึ้นแท่นลานทอง  โห่ร้องเอาชัย…  ขวัญเอ๋ยขวัญมา (โห่  1  ครั้ง)  ตกน้ำลูกจะลงงม   ตกตมลูกจะลงร่อน  ขวัญอ่อน…  มาอยู่กับนากับไร่  ขวัญเอ๋ยขวัญมา  พระภูมิเจ้าที่  แม่นางธรณี  แม่พระคงคา  พระพายเจ้าป่า  ขอมาให้ช่วยคุมนก  คุมหนู  คุมปู     คุมปลา  ขวัญเอ๋ยขวัญมา  (โห่  1  ครั้ง)  แม่จะเที่ยวร่อนเร่ทะเลหน…  ตามถนนหนทางเขาเรียก  แม่จะเดินเขาเชิญ  แม่จะไป  อย่าเที่ยวไปนอนคว่ำกินน้ำลาย  นอนหงายกินน้ำค้าง  ขวัญเอ๋ย…ขวัญมา  นาใกล้นาเคียง  ขอเชิญเรียกกันมา…  มากินส้มสุกลูกไม้  ที่ต้นไร่ปลายนา  ขวัญเอ๋ย…ขวัญมา  นะโมพุทธามิ ”

                                    
  ภาพที่  74  ตาแหลว  สานจากไม้ไผ่  ประทับธงสี  ในพิธีรับขวัญข้าว  ท่ามกลางทุ่งนาข้าวเขียว
 

                             
  ภาพที่  75  สองมือไหว้รับขวัญข้าว  กลางข้าวเขียวทุ่งกว้าง
 
             จากนั้นจึงเป็นคำอวยพร
             “เออ...เอ๋ย  อักสานสอน  ตัวของยายจะให้พร  เออ..เอ๋ย...  4 ประการเอย
             อายุนั้นขอให้ได้ 100  ปี  เออ..  เอ๋ย..  ทวีคูณอย่าให้ชีวิตดับสูญแต่เยาว์วัยเอย  วรรณะนั้นขอให้มีผิวพรรณผุดผ่อง
             เออ…เอ๋ยดั่งทองทา  ขอให้มีรูปร่าง...โสภา  เหมือนองค์อินทร์…เอย  สุขะนั้นขอให้มีความสุข
             เออเอ๋ย…ความทุกข์อย่าให้มี  ขอท่านสุขีตลอดกาล..   เอย   พละนั้นขอให้มีกำลัง
             เออเอ๋ย  เจ็ดช้างสาร  โพยภัยอย่าได้พาล...เอ๋ย  จงพ่ายแพ้  เอย  ขอให้มีปัญญาดี
             เออเอ๋ย  อย่างพระมโหสถ  ขอให้น้ำใจอดดังพระเตมี...เอย  ขอให้เป็นเศรษฐี
             เออเอ๋ย  อย่างพระเจ้ากรุงศรีสนชัย  จะปรารถนาสิ่งใด  ก็ขอให้ได้ดังใจเรา...เอย
             เจ้าดอกเอ๋ย  โอ้เจ้าดอกจำปี  ท่านที่มาในวันนี้ขอให้โชคดีทุกคนเอย”
             ในกิจกรรมพิธีรับขวัญข้าว  โรงเรียนชาวนาได้จัดทอดผ้าป่าข้าวเปลือก  เพื่อสร้างกองทุนข้าวไว้ช่วยเหลือเพื่อนนักเรียนชาวนาที่มีความเดือดร้อนในเรื่องของการทำนา  และสามารถนำผลรายได้เป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนในชุมชน
             การทอดผ้าป่าข้าวเปลือกจัดขึ้นที่วัดดาว  ในตำบลวัดดาว  อำเภอบางปลาม้า  จังหวัดสุพรรณบุรี  ในวันนั้นได้เชิญพ่อขวัญมาเรียกขวัญแม่โพสพ  ประกอบการเวียนเทียนข้าวเปลือก

             
  ภาพที่  76  บรรยากาศส่วนหนึ่งจากการจัดพิธีเรียกขวัญแม่โพสพภายในวัดดาว
  ภาพที่  77  หมอขวัญทำพิธีเรียกขวัญ   แม่โพสพ
 

             
  ภาพที่  78  หมอขวัญทำพิธีเรียกขวัญ
  ภาพที่  79  นักเรียนชาวนาร่วมกันทำพิธีเรียกขวัญแม่โพสพ
 

                 
  ภาพที่  80  หมอขวัญเรียกขวัญแม่โพสพ
  ภาพที่  81  หมอขวัญทำพิธีเวียนเทียน
 
             คำกล่าวในพิธีรับขวัญข้าวเข้ายุ้ง
             “นะโม  อิติปิโส  ภะคะวา  ข้าฯ จะไหว้คุณพระฤาษีนารอด  คุณพระฤาษีตาไฟ  พุทโธ  พุทธัง  อะระหังพุทโธ  ยายชะมด   ตาชะมัด  ยายเร่งรัด  ตาพุทโธ  วันนี้วันศุกร์  ขอเชิญแม่มุกแม่จันทร์  ขนมทอดมัน  2  อันใส่กระเช้า  ใส่ด้วยผ้าขาว  มาห้อยหัวไม้คาน  รนๆ  ลานๆ  คว้าคานขึ้นบ่า  น่ารักเอวกลึง  แม่ผึ้งกะแม่บัว  รูปร่างยังชั่วแต่งตัวออกมา  ไปถึงทุ่งนา  ปูผ้าลงกราบ  นั่งให้ราบกราบลง  3  ที  วันนี้วันดีมารับขวัญข้าว  
             ขวัญเอ๋ย…ขวัญมา  แม่ขวัญข้าวเจ้า  ขวัญข้าวเหนียว  แม่เขี้ยวงู   มาหามันปู  แม่อินทนิล  เหลืองเล็ก  เหลืองใหญ่  ข้าวสร้อยหางม้า  แม่ศรีจำปา  แม่บัวชูศักดิ์  ข้าวหนัก  ข้าวเบา  แม่ขาวละเว  ข้าวปีก ข้าวหาง  ข้าวนางลำพอง  ข้าวทองมาเอง  สำเพ็ง  สำพอง  ถูกต้องหล่นบ่า  เหลือนก  เหลือหนู  เหลือปู  เหลือปลา  ตกหัวระแหง  แอบแฝงคันนา  นาใกล้  นาเคียง  ขอเชิญหลีกเลี่ยงกันมา 
             ขวัญเอ๋ย...ขวัญมา   ขอเชิญปู่พุก  ช่วยกันลุกช่วยกันลน  ช่วยขน  ช่วยกันคว้า  ช่วยกันกวาดเสียให้เลี่ยนให้เตียนทุ่งนา 
             ขวัญเอ๋ย  ขวัญมา  ขอเชิญไปขึ้นเสาไม้แก่น  ขึ้นแท่นกระไดทอง ให้ไปอยู่กับยุ้งขายข้าว  ให้ไปอยู่กับเสาขายทอง
             ขวัญเอ๋ย  ขวัญมา  ขอให้ไปเลี้ยงลูกอยู่ในตู้พระคลัง...”
             กิจกรรมการลงแขกเกี่ยวข้าว  โรงเรียนชาวนาจัดขึ้นในแปลงนาทดลองเพื่อคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ได้สายพันธุ์ที่มีความบริสุทธิ์  ปราศจากการปนเปื้อน
             การลงแขกเกี่ยวข้าว  เป็นขั้นตอนในการพัฒนาพันธุ์ข้าวขั้นตอนหนึ่งที่มูลนิธิข้าวขวัญดำเนินการเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าว  แต่ละขั้นตอนจะต้องใช้ความประณีตที่จะทำให้ได้มาซึ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีความบริสุทธิ์  โดยนับตั้งแต่การคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวจากข้าวกล้อง  การลงแขกปักดำ  การบำรุงดูแลรักษา  กระบวนการต้องปราศจากสารเคมี  ในแปลงนาทดลองจึงไม่ใช้สารเคมีในการผลิตข้าวทุกขั้นตอน  และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องเก็บเกี่ยวข้าว  จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากนักเรียนชาวนาบ้านสังโฆ  ตำบลวัดดาว  เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องกิจกรรม      การพัฒนาพันธุ์ข้าวมาตั้งแต่เริ่มต้น

           
  ภาพที่  82  ลงแขกเกี่ยวข้าวในแปลงทดลอง
  ภาพที่  83  กำเคี่ยวในมือไว้หนักแน่น  เคี่ยวคอยเกี่ยวรวงข้าวรวงทองอร่ามตา
 

         
  ภาพที่  84  รวงข้าวในอ้อมแขน
  ภาพที่  85  รวมรวงข้าวจากคนละกำสองกำที่เกี่ยวได้ในแต่ละรอบ
 
             ส่วนพันธุ์ข้าวในแปลงนาทดลองของมูลนิธิข้าวขวัญนั้น  ได้แก่ 
                      (1)  ข้าวขาวดอกมะลิ  105  จำนวน  2  ตัวอย่าง  โดยได้ตัวอย่างมาจากอำเภอเดิมบางนางบวช  จังหวัดสุพรรณบุรี  และจากอำเภอกันทรลักษณ์  จังหวัดศรีษะเกษ 
                      (2)  ข้าวมะลิแดง  จำนวน  2  ตัวอย่าง  โดยได้ตัวอย่างมาจากอำเภอเดิมบางนางบวช  จังหวัดสุพรรณบุรี  และอำเภอกันทรลักษณ์  จังหวัดศรีษะเกษ  
                      (3)  ข้าวหอมปทุมธานี  จำนวน  1  ตัวอย่าง 
            
             การฟื้นฟูเพลงพื้นบ้าน  โรงเรียนชาวนาต้องการจะอนุรักษ์และสืบสานศิลปะเพลงพื้นบ้านในท้องถิ่น  เพลงพื้นบ้านแสดงโดยผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน  แสดงและถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นต่างๆได้รู้จัก 
             หลายต่อหลายวันในยามเย็นย่ำค่ำ  หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจภายในครัวเรือนกันแล้ว  บรรดาพ่อเพลงแม่เพลงหลายต่อหลายคนราว  15 – 20  จะมาชุมนุมพร้อมกันที่บ้านคุณสำราญ  สระโจมทอง  บ้านที่ถือว่าเป็นสถานที่ฝึกซ้อม  แล้วเสียงเพลงที่เริ่มเบาก็ขยับจังหวะคึกคักขึ้นเป็นจังหวะๆเป็นระยะๆ  ปลุกเร้าความเป็นชาวนาให้ขึ้นมามีชีวิตชีวาอีกวาระหนึ่ง
             “เอิงเอย  เอิงเอย  ชะเอ่อ  เอิงเอย  ชะเอ่อ  เอิงเอย  เฮ้ว  เอา  เฮ้ว  เฮ้ว
             ดำเถิดหนาแม่ดำ  เฮ้ว  เอา  เฮ้าๆๆ  จะมืดจะค่ำมาช่วยกันคำข้าวเอย
             (ชาย)        ข้าวเอ๋ยจะมืดจะค่ำมาช่วยกันดำข้าวเอย
             (หญิง)      เกี่ยวเถิดหนาแม่เกี่ยว  เฮ้ว  เอา  เฮ้วๆ  จะแลจะเหลียวเดี๋ยวเคียวจะบาดก้อยเอย
             (ชาย)        เอ๋ยก้อยเอย  จะแลจะเหลียวเดี๋ยวเคียวจะบาดก้อยเอย
             (หญิง)      คว้าเถิดหนาแม่คว้า  เฮ้วเอาเฮ้วๆ  รีบตะบึงให้ถึงคันนากินหมากสูบยากันเลยเอย
             (ชาย)        กันเลยเอ้ย  รีบตะบึงให้ถึงคันนากินหมากสูบยากันยากันเลยเอย
             (หญิง)      คว้าเถิดหนาแม่คว้า  เฮ้ว  เอา  เฮ้ว  ผักบุ้งสันตะว้ามาช่วยกันคว้าลงเอย
             (ชาย)        เฮ้ยลงเอ้ย  ผักบุ้งสันตะว้ามาช่วยกันคว้าลงเอย
             (หญิง)      ตกเถิดหนาแม่ตก  เฮ้วเอาเฮ้าๆ  แม่สาวผมดกมาช่วยกันตกข้าวเอย
             (ชาย)        เฮ้ยข้าวเฮ้ย  แม่สาวผมดกมาช่วยกันตกข้าวเอย
             (หญิง)      ลุเถิดหนาแม่ลุ  เฮ้ว  เอา  เฮ้วๆ  แม่สาวบางครุมาช่วยกันลุข้าวเอย
             (ชาย)        เอ้ยข้าวเอย   แม่สาวบางครุมาช่วยกันลุข้าวเอย
             (หญิง)      สงเถิดหนาแม่สง  เฮ้ว  เอ้า  เฮ้วๆ  แม่สาวคิ้วโค้งมาช่วยกันสงฟางเอ๋ย
             (ชาย)        เอ้ยฟางเอ้ย  แม่สาวคิ้วโก่งมาช่วยกันสงฟางเอย
             (หญิง)      พานเถิดหนาแม่พาน  เฮ้ว  เอา  เฮ้วๆ  แม่สาวขอบลานมาช่วยกันพานฟางเอย
             (ชาย)        เอ้ยฟางเอ้ย  แม่สาวขอบลานมาช่วยกันพานฟางเอย”
             พ่อเพลงแม่เพลงต่างก็มีอายุกว่า  80  ปีกันแล้ว  แต่กลับถ่ายทอดวิถีชีวิตได้อย่างสนุกสนาน  ย้อนเวลาย้อนวัยเมื่อครันยังเกี่ยวข้าวในสมัยเป็นหนุ่มๆสาวๆ  แถวๆบ้านใกล้เรือนเคียง  แม้จะต่อท่อนได้ช้ากันไปบ้าง  ตามสังขารที่ไม่เที่ยงของแต่ละคน  แต่นั้นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค  แต่กลับสร้างความรู้สึกที่ดีให้เกิดขึ้น  เพื่อที่จะเปล่งเสียงร้องให้ฟื้นฟูจิตใจความเป็นชาวนาขึ้นมาอีกวาระหนึ่ง

           
  ภาพที่  86  พ่อเพลงแม่เพลง  นักเรียนชาวนาบ้านสังโฆร่ายรำเพลงเกี่ยวข้าว
  ภาพที่  87  รำวงเพลงเกี่ยวข้าว  ฟื้นฟูศิลปะท้องถิ่น  ภูมิปัญญาชาวบ้าน
 

                                           
  ภาพที่  88  บทชุมนุมเทวดา 
  ภาพที่  89  บทรับขวัญข้าว
 

           นี่ก็เป็นตัวอย่างรูปธรรมของการจัดการความรู้โรงเรียนชาวนา มีผลให้เกิดสุขภาพ ต่อคนในชุมชน     นอกจากความสุขทางกาย ที่ความเจ็บป่วยลดลง จากการที่ได้รับสารพิษน้อยลง    ยังมีเวลาว่างมากขึ้น  มีกิจกรรมทางสังคมร่วมกันมากขึ้น  ก่อสุขภาพทางสังคม (social health)    และการได้ทำพิธีกรรม มีงานประเพณีร่วมกัน ก็ทำให้สุขภาพทางจิตวิญญาณ (spiritual health) ดีขึ้น
           มองอีกมุมหนึ่ง กิจกรรมด้านประเพณี และพิธีกรรม เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันของนักเรียนชาวนา


วิจารณ์ พานิช
๕ มิ.ย. ๔๘

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1628เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2005 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท