กู้เศรษฐกิจ ทิศทางรัฐบาลใหม่ต้องชัด


เศรษฐกิจไทย
ความไม่ชัดเจนในการวางตัวบุคคลและทีมที่จะเข้ามาบริหารงานกระทรวงเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ในสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจขณะนี้ กำลังสร้างความกังวลให้ผู้ติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยมากขึ้นทุกที การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ทุกครั้ง จะมีการถามหาทีมเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือ หากพิจารณาอย่างผิวเผิน แม้จะไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกมากนัก แต่การตั้งรัฐมนตรีเข้ามาบริหารกระทรวงเศรษฐกิจในครั้งนี้ จะมีความแตกต่างจากอดีตและต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะมีการคาดการณ์กันว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลก    กำลังเสื่อมทรุดลงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา  อีกทั้งประเทศไทยก็เพิ่งผ่านการรัฐประหารมา ซึ่งทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศสูญเสียความเชื่อมั่นไปมาก จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะดึงความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ในเร็ววัน หากจะมองย้อนไปในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลายเรื่อง คือ  1.   ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ตกต่ำลง จากอันดับที่ 29 ของโลกในปี 2006 มาเป็นอันดับที่ 33 ในปี 2007 ซึ่งสะท้อนว่าประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของไทยย่ำแย่ลง 2.   การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำสุดในภูมิภาคและในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย 3.   นโยบายหลายเรื่องที่เน้นไปทางชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศเกิดความไม่มั่นใจในสถานภาพของธุรกิจของตนและในนโยบายทางเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศไทย เช่น ล่าสุด จากหนังสือพิมพ์ Asian Wall Street Journal ฉบับวันที่ 21 มกราคม 2008 ระบุว่า เงินลงทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้าประเทศไทยในปี 2007 มีประมาณ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่ำกว่าเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าที่เวียดนามถึง          2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 4.   การส่งออกสินค้าไทย แม้จะมีมูลค่าในหน่วยดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 ในปี 2550 แต่หาก คิดในรูปเงินบาทแล้ว กลับมีอัตราการเติบโตเพียงร้อยละ 6.4 นอกจากนี้ ปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 8.78 ในปี 2007 ซึ่งเป็นการแข็งค่าสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ เช่น เงินริงกิตของมาเลเซีย แข็งค่าขึ้นร้อยละ 6.56, ดอลลาร์สิงคโปร์ ร้อยละ 5.06 และเงินหยวนจีน ร้อยละ 4.65 ทำให้สินค้าไทยประสบภาวะแข่งขันที่รุนแรง         ในตลาดโลกมากยิ่งขึ้นไปอีก และอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในตลาดหลัก ๆ ไปได้ในอนาคต 5.   ปัญหาซับไพรม์ (Sub-Prime mortgage crisis) ที่เกิดขึ้นในสหรัฐเมื่อปีที่ผ่านมา และส่งผลกระทบ  ทั้งต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและของโลก  สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ของไทย คือมีส่วนแบ่งเป็นร้อยละ 12.6 ของมูลค่าการส่งออกไทย ทั้งหมด ซึ่งในระยะเฉพาะหน้า แม้จะมีผลกระทบกับภาพรวมการค้าของไทย ไม่มาก แต่ประเทศไทยก็ได้ดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกามากที่สุดในบรรดาคู่ค้าสำคัญ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าสหรัฐอเมริกาจะออกมาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของตน เช่น มาตรการพิเศษทางการค้า 301 6.   ปัญหาราคาน้ำมันที่แกว่งตัวและไม่มีเสถียรภาพ แต่เป็นแนวโน้มขาขึ้นมากกว่าขาลง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยก็ยังไม่มีมาตรการชัดเจนในการแก้ไขปัญหาระยะยาว ฉะนั้น ในภาวการณ์ล่อแหลมและขาดความเชื่อมั่นเช่นนี้ นอกจากประเทศไทยจะต้องมีผู้บริหารงาน    ด้านเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพแล้ว แนวนโยบายเศรษฐกิจควรยึดหลักการสำคัญ ดังนี้ 1.   การใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ การอัดฉีดเม็ดเงินของรัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการเพิ่มรายได้ของประเทศ โดยต้องเน้นการอัดฉีดเม็ดเงินโดยตรงสู่มือประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะระดับรากหญ้า ซึ่งมีอัตราการใช้จ่ายซื้อสินค้าภายในประเทศสูง และมีอัตราการรั่วไหลไปสู่สินค้านำเข้าต่ำ ทำให้มีผลกระทบเชื่อมโยงไปสู่การเพิ่มรายได้ภายในประเทศในอัตราสูง2.   การใช้นโยบายที่มีความชัดเจน คงเส้นคงวา (Consistency) โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับราคาน้ำมัน แม้ว่าราคาน้ำมันในปี 2551 จะมีแนวโน้มคงตัวหรือสูงขึ้น แต่เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มเข้าสู่ระยะชะลอตัว ก็จะทำให้การบริโภคน้ำมันโลกลดลง รัฐบาลต้องมีความชัดเจนว่าจะมีนโยบายต่อราคาน้ำมันอย่างไร เช่น นโยบายประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน (ก๊าซธรรมชาติ ไบโอดีเซล) หรือนโยบายยกระดับเครือข่ายการขนส่งของประเทศให้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างประหยัดมากขึ้น (เครือข่ายโลจิสติกส์ ประกอบด้วย เครือข่ายรถไฟก้างปลา    ในหัวเมืองและเครือข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ)  3.   การสร้างความเชื่อมั่นในระดับการลงทุนนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ต่อเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ รวมทั้งการยืนยันอย่างชัดเจนว่าจะคงไว้ซึ่งกฎหมายปัจจุบัน โดยจะไม่มีการแก้ไขกฎหมายที่มีลักษณะกีดกันการลงทุนทั้งของไทยและของต่างประเทศ เป็นต้น 4.   รัฐบาลเป็นผู้นำในด้านการลงทุน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมา เช่น การสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่าง ๆ การผลักดันการลงทุนในเมกะโปรเจกต์ การเข้าไปร่วมเจรจาการค้าและการลงทุนในเวทีระหว่างประเทศ อย่างจริงจังและเป็นฝ่ายกระทำ เพื่อแสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นว่าประเทศไทยพร้อมที่จะก้าวเดินและเติบโต   ไปพร้อมเศรษฐกิจโลก 5.   นโยบายแวดล้อมอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเงินและดอกเบี้ย ที่ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและการลงทุน เช่น การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง โดยไม่นำพาต่อการลดลงของอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการแข็งค่าของเงินบาทต่อไป เป็นต้น

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศที่ยังคงไม่แน่นอน แต่หากรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีทิศทาง ใช้นโยบายที่ชัดเจน คงเส้นคงวา ก็จะเป็นหลักสำคัญในการกอบกู้เศรษฐกิจไทยขึ้นจากปากเหว และก้าวหน้าต่อไปได้

                                                                                                             โพสต์ทูเดย์   1  ก.พ.  51
หมายเลขบันทึก: 162676เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2008 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท