มนต์รักค่ายพักแรม


ในค่าย เรามีความรักให้กันหลายแบบ จนเป็นที่มาของชื่อบันทึกนี้

ความทรงจำของแต่ละคน กับค่ายพักแรมในวัยเยาว์ คงจะแตกต่างกันไป......

หลายๆคน ยิ้มที่มุมปาก ทุกทีที่คิดถึงวันวานเหล่านั้น

แต่ก็มีอีกหลายคน ที่เจอเรื่องร้ายๆ แต่มันก็ผ่านพ้นไป

 วันนี้ประสบการณ์อีกครั้งหนึ่ง จากค่ายเด็กและเยาวชนของ สยชช. ก็คงจะถูกเก็บไว้ในลิ้นชักแห่งความทรงจำดีๆของเด็กกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ต่อไป

 "ค่ายเสริมพลัง Young Writer 2 + นักวิจัยน้อย" ครั้งนี้ เราจัดที่ชุมชนคนมูเซอดำ บ้านจ่าโบ่ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นค่ายต่อเนื่องค่ายที่ 5 ที่ สยชช. โดยยังคงยึดหลักบูรณาการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเข้ากับการทำสื่อหนังสือทำมือที่เน้นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างเด็กกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และแน่นอน กระบวนการที่ขาดไม่ได้ และเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของเราคือ สุขภาวะ 

 

 

ในฐานะผู้อำนวยการค่ายแต่ละครั้ง ก็จะมีเรื่องให้ขบคิดอยู่เสมอ ว่าทำอย่างไรจะให้เด็กรู้จัก ของดีในชุมชนของตนเอง ทำอย่างไรพวกเขาจึงจะเข้าใจสังคม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนๆ คนในบ้าน หรือสังคมที่ต่างไปจากเขาโดยเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและอยู่ร่วมกันได้ ทำอย่างไรเด็กๆถึงจะเท่าทันกระแสการพัฒนาแบบริโภคนิยมปัจจุบัน  

ทำอย่างไร ยักษ์ในตัวเด็กจึงจะตื่นขึ้นมาแสดงศักดาให้โลกรับรู้ได้ เด็กชายขอบก็มีศักยภาพ มีคุณค่าและศักดิ์ศรี และมีสิทธิที่พวกเขาควรจะได้รับเช่นเดียวกับเด็กเมืองกรุง เด็กในเมืองใหญ่ หรือเด็กๆที่ใดในโลก 

 

  

 

ผมพบว่า เด็กชายขอบเหล่านี้ แม้จะสิ้นไร้แผ่นดินจะถือครอง แต่สองมือน้อยของพวกเขาก็ใช่ว่าจะบอบบาง ตรงข้าม มือน้อยๆเหล่านี้ เป็น มือที่แน่นนุ่ม

"แน่น" คือ รู้จักทำงาน ช่วยเหลือสังคม ไม่นอนนิ่งอยู่เฉยเมื่อที่บ้านทุกข์ร้อน อดทนอยู่กลางแดดกลางฝนได้ นุ่มคือ ยังรู้จักการวางตัว มีสัมมาคารวะ และอ่อนน้อม ในขณะที่มือเด็กในเมืองใหญ่ได้กลายสภาพเป็นมือที่แปดเปื้อน หยาบกระด้างจากการแบกรับขยะที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้น

 

 

 การเรียนรู้ของเด็กๆที่เพิ่มพูนขึ้นจากค่ายครั้งนี้  โดยเฉพาะเด็กแกนนำที่ถูกประเมินจากสมาชิกในค่ายที่แล้วว่า โหลยโท่ย  มาค่ายนี้ ได้รับเสียงปรบมือ เทคะแนนจากเด็กๆชาวค่ายให้ได้เป็นสิ่งดีๆอันดับที่สอง  (แถมยังครองตำแหน่งขวัญใจชาวค่ายอีก) 

แล้วสิ่งดีๆอันดับหนึ่งที่ได้คะแนนมากที่สุด คืออะไร? 

เด็กๆประเมินว่า ความประทับใจอันดับหนึ่งคือ ความรู้ที่พวกเขาไม่เคยได้รับจากห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็น นิทานพื้นบ้าน ภูมิปัญญาเรื่องการดูแลหญิงมีครรภ์และเด็กเล็กของไทใหญ่และมูเซอดำ 

 แต่มีสิ่งหนึ่ง ที่ผมสังเกตเห็นในค่ายนี้ และเป็นที่มาของชื่อบันทึกนี้ นั่นคือ ความรัก 

ในค่าย เรามีความรักให้กันหลายแบบ

 แรกสุดนี่ ความรักในหมู่เพื่อนฝูง ซึ่งค่อยๆขยับขยายไปสู่เพื่อนต่างชาติพันธุ์ที่มาร่วมค่าย ให้เอื้ออาทร แบ่งปันกัน สามัคคีกัน 

ต่อมา บางคนก็เริ่มส่งสายตากุ๊กกิ๊กกัน นี่ก็กำลังจะปลูกต้นรักแบบหนุ่มๆสาวๆ อันนี้เราไม่ใด้ห้าม เพราะมันเป็นธรรมชาติของวัยรุ่น แต่ก็ขอความร่วมมือให้แสดงออกแต่พอดี เราก็ช่วยดูให้อยู่ในลู่ทาง  

ความรักอีกแบบ ก็คือ เกิดความรักในชุมชนของตน เพราะได้ความรู้ ความเข้าใจ ในความปรารถนาดีที่คนรุ่นก่อนมีให้พวกเขา ซึ่งสะท้อนอยู่ในบรรยากาศของการถ่ายทอดข้อมูล ภูมิปัญญาต่างๆที่ผู้นำชุมชนเล่าสู่พวกเขานี่แหละ เป็นแรงกระตุ้น  สร้างให้เด็กๆรักดิน น้ำ ป่า ภูมิปัญญาวัฒนธรรมของชุมชน ดอกผลก็คือเกิดความเต็มใจพัฒนาอย่างยั่งยืน ผมคิดว่าคนที่จะคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องเรียนรู้เรื่องการสร้างความรักแก่เด็กๆด้วยนะครับ  

 

ความรักอีกแบบ ที่เป็นสิ่งสำคัญ ก็คือ ความรักในหน้าที่การงาน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กพี่เลี้ยงที่เป็นแกนนำ ค่ายนี้ ผมให้พวกเธอแสดงฝีมือมากขึ้น ทำนองว่าให้พิสูจน์ตัวเองว่า จะรักษาหน้าที่ของตนไว้ได้ดีแค่ไหน ซึ่งชาวค่ายจะลงคะแนนให้ ไม่ใช่ผม ถ้าทำหน้าที่ได้ไม่ดี ก็ว่ากันไปตามระเบียบ แล้วพวกเธอก็ไม่ทำให้ผมผิดหวัง  ในขณะที่ชาวค่ายเองก็รักษาหน้าที่สมาชิกได้อย่างเรียบร้อย ไม่จำต้องมีเสียงด่า หรือการลงโทษ และความก้าวร้าวไว้ใช้ควบคุมปกครอง 

 

และสุดท้าย จะขาดไม่ได้เลย ก็คือ การบ่มเพาะ ความรักในตนเอง (self  esteem)

การทำหน้าที่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีก็ดี การได้รับการยอมรับ เสียงปรบมือและรอยยิ้มที่ต่างมอบให้กันก็ดี รวมถึงการเอาใจใส่จากผู้ใหญ่และคนในชุมชนก็ดี เหล่านี้ ล้วนส่งผลทำให้เด็กๆเห็นคุณค่าของตนเอง ไม่อายที่จะแสดงความเป็นตัวตน  ความเป็นชนเผ่า หรือแม้กระทั่งความเป็นคนไร้สัญชาติ ที่ถึงแม้จะด้อยกว่าในเรื่องเศรษฐกิจและสถานภาพทางสังคม แต่ก็สามารถเป็นคนเก่งหัวใจแกร่งได้ หากได้รับการฟูมฟักที่เหมาะสม เหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานของการเสริมสร้างความรักในตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากที่นักพัฒนาชุมชนที่คำนึงถึงความยั่งยืน ต้องสร้างขึ้นให้เกิดแก่ต้นกล้ากลางป่าใหญ่เหล่านี้ 

 

มนต์รักจากค่ายพักแรม ยังมีอะไรให้เรียนรู้อยู่บนยอดดอยอย่างไม่รู้จบ และไม่รู้เลือน



ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ  คุณชายขอบ

ขอให้มีความสุขกับการทำงานนะค่ะ   เป็นกำลังใจให้ต้นกล้าทั้งน้อยเติบอย่างสมดุล-ยั่งยืน  ช่วงนี้อากาศเริ่มหนาวรักสุขภาพด้วยนะค่ะ

 ขอให้มีความสุขกับการทำงานนะค่ะ เป็นกำลังใจให้ ต้นกล้าน้อยใหญ่เติบโต อย่างสมดุล-ยั่งยืน ค่ะ

เป็นกำลังใจให้ด้วยคนนะครับ  ในฐานะที่เดินสายเดียวกันคือทำงานอยู่กับเด็ก ผมว่าไม่ว่าเด็กในเมือง หรือ บ้านนอก ศักยภาพเท่ากัน ทุกอย่าง หลายคนบ่นว่า เด็กบ้านนอกชาวเขา สอนยาก อ่านไม่ออกเขียนไม่ค่อยได้ ดูจะไม่ค่อยเข้าท่า แต่อย่าลืมว่า ตัวแปรสำคัญอยู่ที่คำว่า โอกาส ต่างหากในเมื่อโอกาสเขาน้อยกว่าเด็กในเมือง ผลลัพธ์ออกมาอย่างนั้นมันก็ไม่ผิดนี่ครับ ปัจจุบันเด็กชาวเขาได้ดิบได้ดีก็เยอะน่ะครับเพราะ คำว่าโอกาส ตัวนี้แหละครับ

สวัสดีค่ะ

         เข้ามาทักทาย  เห็นภาพกิจกรรมค่ายเยาวชนแล้ว  อยากจะเข้าร่วม

กิจกรรมด้วยจังเลย  น่าสนุกนะคะ  เมื่อก่อนจัดกิจกรรมเข้าค่ายบ่อยๆ

แต่ตอนนี้ไม่ค่อยได้จัดเลย  เพราะต้องเอาเวลาไปศึกษาเพิ่มเติม เสริม

ประสบการณ์  เผื่อว่าเมื่อต้องกลับมาจัดกิจกรรมอีกครั้ง  ก็อาจจะต้องใช้

ความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาเพิ่มเติม  ให้เด็กๆได้มาร่วมเรียนรู้และ

แชร์ประสบการณ์กันค่ะ

                                                                Librarian

                                               ห้องสมุดประชาชนจ.แม่ฮ่องสอน

 

  • การได้ร่วมงานกับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ถือเป็นกำไรชีวิตของผมครับ เพราะพวกเขาช่วยให้ผมเกิดการเรียนรู้หลายอย่าง ผมจึงเป็นหนี้พวกเขา และต้องขอบคุณพวกเขาเสมอ
  • การได้ทำงานอย่างมีความสุข ถือเป็นน้ำเลี้ยงชีวิต ใครทำงานแล้วไม่มีความสุขเลย ต้องหันมาคิดใหม่ ทำใหม่นะครับ
  • "ผู้ให้ ต้องขอบคุณ" ที่ผู้รับช่วยให้เราฝึกการให้ครับ
  • ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมนะครับ

 

เข้ามาเยี่ยมและทักทายค่ะ ยังติดตามอ่านอยู่เสมอนะคะ

และขอบคุณค่ะสำหรับสคส.ที่สวย อบอุ่นและประทับใจมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท