บทความใหม่ "คุณธรรมนำการคิด"


แนวคิดแบบ "อัสลาม"

บทความที่จำเสนอต่อไปนี้เป็นบทความที่เปิดให้บุคลากรทางการศึกษาได้ประกวดบทความของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งเพื่อนำเสนอแนวความคิดเรื่อง "คุณธรรมนำการคิด" เพิ่งเสร็จครับ ขอช่วยติชมหน่อยครับ

                                  คุณธรรมนำการคิด                                                                           

              การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  เป็นพื้นฐานอันสำคัญของการพัฒนาและเป็นเครื่องชี้นำสังคม ผู้ได้รับการศึกษาจึงเป็นบุคคลที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ (กรมวิชาการ) จากการที่โลกในยุคปัจจุบันเป็นโลกที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสารสามารถส่งไปได้ทั่วถึงอย่างรวดเร็ว ประเทศต่าง ๆ เหมือนกับอยู่ใกล้ ๆ กันส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สภาพแวดล้อม และวิถีการดำรงชีวิตของทุกคน ในประเทศไทยผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไทยต้องพบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ การปรับตัวเองให้ทันกับความเจริญทางเทคโนโลยี การสื่อสารแบบไร้พรมแดน ประเพณีวัฒนธรรมของไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไทยถูกลืมถูกมองข้ามไปอย่างไม่เห็นความสำคัญ วิถีชีวิตแบบไทยที่มีความเอื้ออาทร ช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกันเริ่มเลือนหายไปจากสังคมไทย เด็กวัยรุ่นมีค่านิยมที่ไม่เหมาะสมเนื่องจาก ถูกกระแสวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาครอบงำความคิด 

                  จากผลที่เกิดขึ้นนี้ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมคนให้มีความพร้อมที่จะรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าด้านใดๆก็ตาม ที่สำคัญคือการเตรียมทรัพยากรมนุษย์ คือการศึกษาที่มีคุณภาพ รัฐได้มองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ มีการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกและภายใน โอกาสและจุดแข็ง(กรมสามัญศึกษา,สรุปสาระสำคัญของแผนพัฒนาการศึกษา ระยะที่ 9,3) ได้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มีบทบัญญัติที่เป็นการวางรากฐานในการจัดและการพัฒนาการศึกษา โดยเฉพาะในมาตรา81 รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรมและจัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยศิลปะวิทยาการต่าง ๆ เร่งรัดพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประเทศ พัฒนาวิชาชีพครูส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ และวัฒนธรรมของชาติ 

                        ดังนั้นจึงได้มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ขึ้น สาระสำคัญคือ จุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้มีความพร้อม ทั้งความรู้ คุณธรรม ทักษะกระบวนการ มีเหตุ มีผล การคิดวิเคราะห์ มีวิจารณญาน ความคิดสร้างสรรค์ ใฝ่เรียนใฝ่รู้ สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตรู้จักใช้ความรู้ที่มีอยู่อย่างหลากหลายเพื่อสร้างองค์ความรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา  แนวการจัดการศึกษาต้องถือว่าผู้เรียนมีความสามารถในการเรียนรู้พัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ บูรณาการตามความเหมาะสม รวมทั้งความรู้และทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ผู้เรียนจะต้องมีทั้งความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เรื่องการจัดการ   ซึ่งการจะหล่อหลอมคนให้มีคุณลักษณะดังกล่าวได้นี้ ต้องมีกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ

                           กระบวนการจัดการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่จะสอดรับส่งเสริมให้กระบวนการเรียนรู้มีประสิทธิภาพคือกการวางฐานรากที่มั่นคงนั่นก็คือฐานรากแห่งความคิดที่มีคุณธรรมเป็นรากฐาน หากกระบวนการจัดการเรียนรู้ในปัจจุบันยังคงสอนให้เยาวชนซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญในอนาคตได้มีวิถีคิดแบบยังคงวาดรูปปลาหันหัวไปทางซ้ายตามวิถีคิดเดิมๆอย่างในอดีตจวบจนปัจจุบันอีกสิบปียี่สิบปีหรือร้อยปีข้างหน้าแม้เวลาจะเปลี่ยนแปลงไปสังคมก็คงจะยังคงเป็นเฉกเช่นเดิมเพราะตัวบุคคลยังคงมีวิถีคิดแบบเดิมๆ  หากจะถามอีกว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะสอนหรือนำเสนอวิถีคิดแบบวาดรูปปลาหันหัวไปทางขวาบ้าง ทุกภาคส่วนคงต้องตอบตัวเองว่ามันถึงเวลาแล้ว  การวาดรูปปลาหันหัวไปทางขวาเป็นการสร้างพื้นฐานความคิดใหม่ที่จะสอนให้ผู้เรียนมีวิถีคิดแบบใหม่ๆเกิดขึ้นและจะยังผลสู่องค์ความรู้ที่มีมิติมุมมองแตกต่างไปจากสิ่งที่ผ่านๆมา เช่น

                         สถานการณ์พื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหนึ่งของปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้นก็เพราะการมีวิถีคิดแบบวาดรูปปลาหันหัวไปทางซ้าย กล่าวคือสิ่งที่เกิดขึ้นคือการสั่งสมแนวความคิดที่ว่าเขาถูกกดขี่เพราะการมีวิถีคิดแบบรุ่นสู่รุ่นสร้างสายสัมพันธ์ที่หยั่งลึกทางด้านฐานความคิดไว้อย่างมั่นคงเหนียวแน่น แต่หากเราลองนำความคิดแบบวาดรูปปลาหันหัวไปทางขวาบ้างคือการนำเสนอพื้นฐานแนวความคิดใหม่ที่จะเข้าไปมีส่วนหลอมละลายพื้นฐานแนวความคิดเดิม กล่าวคือสร้างพื้นฐานแนวความคิดที่เรียกว่า อัสลาม ก็คือสมานฉันท์หรือสันติ สังคมบ้านเมืองไม่ว่าจะเป็นปัจจุบันหรืออนาคตเราทุกคนก็จะได้เห็นฟ้าสีหม่นที่เมืองไทยเป็นฟ้าสวยสดใสขึ้นมาก็เป็นได้ เพราะอย่าลืมว่าความสมานฉันท์หรือสันติรากฐานของคำดังกล่าวก็คือการมีคุณธรรมในหัวใจ เมื่อเยาวชนมีคุณธรรมในหัวใจเป็นรากฐานของความคิด ชีวิตที่จะก่อเกิดขึ้นก็จะเป็นชีวิตที่สร้างสรรค์อันเกิดจาการสรรค์สร้างของหัวใจ หรืออย่างที่เราเรียกวีถีคิดแบบนี้ในปัจจุบันว่า คุณธรรมนำการคิด สุดท้ายก็จะนำไปสู่การพัฒนาในที่สุด

                           สิ่งที่พอจะมองเห็นในสังคมการศึกษาเมืองไทยในปัจจุบันคือโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเมืองไทย ไม่ค่อยสอนให้คนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาสูงๆ ตระหนักในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบ การคิด เพื่อสังคมส่วนรวม อาจจะมีบ้างแต่ก็น้อยเต็มที  และมากกว่ามากของการมองเห็นคือโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต่างแก่งแย่งแข่งขันด้วยกลยุทธต่างๆนานาเพื่อดึงเด็กเข้าเรียนโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยของตนโดยวิธีการหนึ่งที่เห็นก็คือการสนองตอบต่อความต้องการของผู้เรียน ตรงนี้ดูจะเหมือนเป็นการพัฒนาผู้เรียนให้พัฒนาตามศักยภาพที่เขามีแต่วิธีคิดที่ปฏิบัติในปัจจุบันมันส่วนทางเพราะการสนองตอบผู้เรียนในหลายๆโรงหลายๆสถาบันไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานของคำว่าคุณธรรมจริยธรรม จนต้องกำหนดขึ้นเป็นหลักสูตรต่างๆมากมายที่จะช่วยส่งเสริมผู้เรียนในเรื่องคุณธรรมจริยธรรม

                            ผู้เขียนเห็นด้วยกับการสร้างหลักสูตรดังกล่าวนี้แต่ถามว่าหากเราปลูกจิตสำนึกตั้งแต่ต้นโดยเริ่มจากสถาบันเล็กๆที่หลายคนมักมองข้ามคือ สถาบันครอบครัว กล่าวคือ พ่อ แม่ และลูกให้เวลาในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันต่อสถานการณ์สังคมบ้านเมืองในปัจจุบันวันละเล็กวันละน้อย การก้าวสู่สังคมของการศึกษาก็คงไม่ต้องมากำหนดหลักสูตรให้มากมายเพราะอย่าลืมว่าความคิดที่มีคุณธรรมเป็นพื้นฐานจะนำไปสู่การสร้างฐานรากที่มั่นคง ไม่ว่าเวลาจะผันเปลี่ยนอย่างไรสังคมเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงไปทิศทางใด ใครต่อใครก็คงจะไม่ต้องมานั่งทบทวนถึงวิธีการคิดแก้ปัญหาสำหรับบางเรื่องโดยเฉพาะเรื่องที่มันน่าจะสร้างความเข้าใจตั้งแต่การก่อนคิดที่จะให้มีชีวิตหนึ่งชีวิตใดลืมตามาบนโลกใบนี้ 

                                อย่าลืมว่าทุกวันนี้ปัญหาสังคมเมืองไทยมีเรื่องอะไรต่อมิอะไรให้คอยตามแก้มากมายเต็มไปหมดถึงขั้นที่ทางแก้มีมากกว่าปัญหาเสียด้วยซ้ำ  ปัญหาก็เหมือนกับการเดินทางเข้าประตูสู่มิติต่างๆแม้กระทั่งมิติของความคิด เมื่อเข้าไปแล้วไม่รู้จะกลับสู่ชีวิตเดิมอย่างไรก็จำเป็นที่จะต้องหันหลังกลับสู่ประตูเดิมที่เดินเข้ามา มันไม่ใช่การเดินถอยหลังแต่เป็นการกลับสู่โลกของความเป็นจริงที่ควรจะเป็นมากกว่าแสวงหาแต่จินตนาการที่ไร้ตัวตนอย่างไร้จุดหมายเพราะฉะนั้นหากทุกภาคส่วนได้เล็งเห็นเหมือนกันว่า การศึกษาคือกุญแจดอกสำคัญที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาต่างๆที่มากกว่ามากในปัจจุบันก็ควรหันมาให้ความสำคัญต่อการคิดหรือวิถีคิดแบบวาดรูปปลาหันหัวไปทางขวาเพื่อเป็นการนำเสนอวิถีคิดที่ตรงกันข้ามกับความคิดแบบเดิมๆดูบ้างในบางครั้งเมื่อมองเห็นว่าวิถีคิดการวาดรูปปลาหันหัวไปทางซ้ายมันก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เราอาจจะมองว่าเป็นความขัดแย้งกับความคิดที่จะนำเสนอไปสู่การกลับสู่จุดเริ่มต้นกับเหตุผลย่อหน้าข้างต้น เพราะดูราวกับว่าจะนำเสนอแนวความคิดใหม่ แต่หากคิดกลับกันสักนิดนี่แหล่ะคือการกลับสู่จุดเริ่มต้นที่เราไม่เคยเหลียวมองเพราะอย่าลืมว่าชีวิตไม่ได้มีแค่ซ้ายมันยังมีขวาด้วย เช่นกันชีวิตไม่ได้มีแค่ข้างหน้าแต่ยังมีข้างหลัง  และอีกเช่นกันชีวิตไม่ได้มีแค่จุดหมายปลายทางแต่ก็ยังมีจุดเริ่มต้นที่เราเคยเดินผ่านมา และอย่าลืมว่าจะซ้ายขวา  หน้าหลัง  ปลายทางหรือเริ่มต้น ความเป็นคนที่สมบูรณ์แบบคือความคิดที่วางอยู่บนฐานรากของรากฐานที่เรียกว่า คุณธรรมเพื่อสังคมจะพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังคำกล่าวที่ว่า...                                                                                               

               สังคมจะดี                                                                                                                    

                                                      สังคมจะเด่น                                                                                                   

                                                                      สังคมจะเป็นอย่างที่ควรเป็น                                                                                                                         คือสังคมแห่งคุณธรรมนำการคิด     

 

หมายเลขบันทึก: 162513เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2008 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

อาจารย์ครับ ถ้าอาจารย์ก็อปปี้มาจากเวิร์ด อาจารย์ต้องตรวจสอบการจัดย่อหน้าใหม่นะครับ เพราะการขึ้นบรรทัดย่อหน้าใหม่จะไม่เหมือนเดิม

แล้วเวลาคนสายตาแก่ๆ แบบผมอ่านบทความที่ไม่มีย่อหน้าแล้วอ่านไม่ค่อยจะจบ เมื่อยตาเสียก่อน

เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากครับอาจารย์ "คุณธรรมนำการคิด" คุณธรรมที่บ่งบอกให้รู้ถึงเป้าหมายที่บริสุทธิ์ในกระบวนการคิดของคนๆ หนึ่ง คุณธรรมที่จะทำให้ผลของการคิดตอบสนองต่อเป้าหมายที่ถูกต้อง

ขอบคุณP อาจารย์มากครับ ผมก็ว่ามันอ่านยากยังไงไม่รู้ ตอนอยู่ในเวิร์ดไม่เป็นอย่างนี้ยังไงจะปรับปรุง และขอบคุณสำหรับความคิดเห็น

ตอนนี้ อ่านดีขึ้นแล้วค่ะ

บทความนี้ดีมากค่ะ

ขอบคุณP มากครับที่ช่วยให้คำติชม
สวัสดีครับคุณP  ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ
สวัสดีครับคุณP  ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ

ดีคับอ.

คุณธรรมนำความคิด ณ สังคมปัจจุบันยังมีหรือเปล่าคับ

เห็นด้วยมากๆคะ เป็นบทความที่ดี ปัจจุบันนี้ประเทศไทยเรามีผู้เชี่ยวชาญเต็มไปหมด แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเอาเปรียบ ยืมมือคนอื่นทำประโยชน์ให้ตัวเอง อีกทั้งยังสอนลูกหลานให้ฉลาดแบบเอาเปรียบคนอื่นอีก จนเด็กปัจจุบันเห้นว่าเป็นสิ่งถูก ดิฉันคิดว่าคุณธรรมนำความคิด น่าจะต้องอาศัยหลักธรรมเป็นตัวตั้ง ลดกิเลส ลดความอยากก่อน และศรัทธาในความดี ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่พยายามจะสอนให้เด็กไทยมีคุณธรรม เพราะเชื่อว่าไม้อ่อนยังน่าจะดัดได้ จึงพยายามหาบทความ หรือวิธีการปลูกฝังคุณธรรมให้เกิดกับเด็ก อีกทั้งยังพยายามทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อปลูกฝังให้เด็กเกิดคุณธรรม... หากอาจารย์พอจะมีข้อมูลหรือแนวทางที่พอจะแนะนำ ดิฉันก็ขอขอบคุณมากคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท