(20 ก.พ. 49) ร่วมอภิปรายหัวข้อ “คุณธรรมกับการพลิกฟื้นสังคมไทย”
ในการสัมมนาที่จัดโดย “ศูนย์คุณธรรม”
(ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม)
ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
ผู้เข้าสัมมนามาจาก จังหวัดต่างๆในภาคตะวันออก รวมประมาณ 70 คน
ผมได้ให้ความเห็นว่า “คุณธรรม” คือ ความดี ความถูกต้อง และ
“ปัญหาสังคม”
มักเกิดจาก ความไม่ดี
ความไม่ถูกต้อง ดังนั้น “การพลิกฟื้นสังคมไทย”
จากปัญหาต่างๆในสังคม ก็คือ การพลิกฟื้นความดี ความถูกต้อง
ให้มีมากขึ้น ชัดเจนขึ้น หนักแน่นขึ้น ประสานสอดคล้องกันมากขึ้น
และอย่างยั่งยืนมากขึ้น
คำว่า “สังคม”
ในที่นี้ หมายรวมถึง สังคมในระดับย่อย เช่น ในระดับชุมชน
ในระดับท้องถิ่น ขึ้นไปถึงสังคมในระดับชาติ และอาจถึงระดับนานาชาติ
หรือระดับโลกด้วยก็ได้
ในการพิจารณาเรื่องของ “สังคม” กับ
“คุณธรรม”
อาจนำข้อคิดของ อาจารย์ป๋วย (ศ.ดร.ป๋วย
อึ๊งภากรณ์) ว่าด้วย “สังคมที่พึงปรารถนา” มาเป็นตัวแบบ
ดังนี้
อาจารย์ป๋วย ให้ข้อคิดว่า สังคมที่พึงปรารถนา
ควรมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ (1)
มีสมรรถภาพ (2) มีเสรีภาพ (3) มีความชอบธรรมยุติธรรม (4)
มีความเมตตากรุณา
จะเห็นได้ว่า ข้อ (3) มีความชอบธรรมยุติธรรม และข้อ (4)
มีความเมตตากรุณา เป็น “คุณธรรม” ในตัวเองอยู่แล้ว นั่นคือ
คุณธรรม 2 ประการนี้
เป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมที่พึงปรารถนา
จึงควรพัฒนาให้มีมากขึ้นดีขึ้น
ส่วนข้อ (2) เสรีภาพ
เป็นสิ่งที่จะส่งเสริมให้มีมากขึ้นดีขึ้นด้วย
“คุณธรรมพื้นฐาน”
คือ การเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น
และการเคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น
คุณธรรมพื้นฐานดังกล่าว
จึงควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้มากที่สุดและอย่างกว้างขวางในสังคม
สำหรับข้อ (1) มีสรรถภาพ ก็ต้องอาศัย “คุณธรรม”
ในการช่วยให้บรรลุผล นั่นคือ คุณธรรมว่าด้วย ความขยัน การประหยัด
ความอุตสาหะวิริยะ (หรือยกเอา “อิทธิบาท” ทั้ง 4 ข้อ คือ ฉันทะ
วิริยะ จิตตะ วิมังสา มาใช้เลยก็ได้) ความสามัคคี ความหมั่นเรียนรู้
เป็นต้น
จึงเห็นได้ว่า หากเราประสงค์จะได้ “สังคม” หรือ
“ชุมชน”
หรือ “ท้องถิ่น” ที่พึงปรารถนา
เราสามารถนำข้อคิดของอาจารย์ป๋วย ว่าด้วย สังคมที่พึงปรารถนา
มาประยุกต์ใช้ ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่า “คุณธรรม”
อะไรบ้างที่เราควรช่วยกันรณรงค์ส่งเสริมให้มีมากขึ้น ดีขึ้น
กว้างขวางขึ้น
ส่วนการรณรงค์ส่งเสริม “คุณธรรม” ที่พึงปรารถนา นั้น
สามารถประยุกต์ใช้ “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมคุณธรรม” ของ
“ศูนย์คุณธรรม”
ซึ่งมี 5 ประการ ดังนี้
1. ส่งเสริมความเป็นเครือข่ายเกี่ยวกับคุณธรรม
2. ส่งเสริมการจัดการข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับคุณธรรม
3. ส่งเสริมการใช้สื่อที่ดีและมีประสิทธิภาพในการส่งเสริมคุณธรรม
4. ส่งเสริมการรณรงค์เรื่องคุณธรรมตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม
5. ส่งเสริมการมีนโยบายในระดับต่างๆ
(ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติและอาจรวมถึงระดับโลก)
ที่มีผลกระทบในทางส่งเสริมคุณธรรม
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
21 ก.พ. 49
ไม่มีความเห็น