เมื่อท้องถิ่นมี "คุณอำนวย" ช่วยพัฒนา


การสร้างกลไกการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาท้องถิ่น ระดับ ตำบล-อำเภอ
 
พลังท้องถิ่น : พลังร้อยรัดชุมชน

พลังท้องถิ่น เป็นพลังสำคัญที่ร้อยรัดชุมชนท้องถิ่นเอาไว้ได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะมองข้าม การทำความเข้าใจเรื่องพลังท้องถิ่นต้องเริ่มจากสมมติฐานว่า ในชุมชนท้องถิ่นมีศักยภาพเป็นทุนเดิมอยู่ ทำให้คนในชุมชนท้องถิ่นนั้นอยู่รอดมาได้ โครงการวิจัยพัฒนากลไกการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาท้องถิ่น ระดับตำบล-อำเภอ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เน้นกระบวนการเรียนรู้เพื่อค้นหาและรื้อฟื้นพลังท้องถิ่น ซึ่งพบว่า พลังท้องถิ่น ส่วนหนึ่งยังคงเป็นศักยภาพในท้องถิ่น (เป็นพลังที่แฝงอยู่ สามารถนำมาใช้ประโยชน์หรือใช้เพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้ แต่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้) และอีกส่วนหนึ่งเป็นพลังที่เคลื่อนไหวอยู่อย่างต่อเนื่อง อันเป็นพลังสำคัญที่ทำให้คนในชุมชนท้องถิ่นที่อยู่รอดและสามารถจัดการตัวเองได้ ซึ่งประกอบด้วย 4 ฐานสำคัญ คือ
๑)     ทรัพยากร เป็นพลังท้องถิ่นที่สำคัญในอันดับแรก ๆ ที่เชื่อมโยงไปสู่ฐานพลังท้องถิ่น
ด้านอื่น ๆ เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตความรู้ สร้างระบบคุณค่าและความเชื่อ รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายทางสังคมเพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นสามารถอยู่ร่วมกัน ดูแลรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย เคารพให้คุณค่าว่าเป็นจุดกำเนิดหรือจุดเริ่มต้นของรูปแบบชีวิตอื่น ๆ ด้วย ฐานทรัพยากรยังเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเข้มแข็งและอ่อนแอของพลังท้องถงิ่นในแต่ละยุคที่ผ่านมาของชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย  การรื้อฟื้นพลังท้องถิ่นได้ใช้กิจกรรมผ่านประสบการณ์สร้างแรงบันดาลใจ เกิดอุดมการณ์ในการรักษาทรัพยากรที่พวกเขามีอยู่ และต้องการถ่ายทอดระบบความรู้ภูมิปัญญาไปสู่ลูกหลานและคนที่สนใจ ฐานทรัพยากรที่วิทยากรกระบวนการและชาวบ้านสามารถรื้อฟื้นคืนมา ได้แก่ การอนุรักษ์ทรัพยากรดิน ป่าชุมชน พันธุ์ข้าวพื้นเมือง การปลูกต้นคล้า การปลูกกล้วย การใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่ เป็นต้น
๒)    เครือข่ายทางสังคม เป็นพลังที่ยึดโยงชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นเอาไว้ด้วยกันเป็นเครือข่าย
เช่น การเป็นเครือญาติ การมีระบบความเชื่อร่วมกัน การมีวัฒนธรรมร่วมกัน เป็นต้น ลักษณะเด่นที่สร้างการเป็นชุมชนที่ผูกมัดกันแน่นแฟ้น คือ การมีปฏิสัมพันธ์กันแบบพบหน้า (Face-To-Face Interaction) โดยการจัดให้มี พื้นที่ และ โอกาส(Time and Space) เพื่อให้คนในชุมชนมีกิจกรรมแบบพบปะเห็นหน้ากันได้ บางชุมชนมีแรงยึดเหนี่ยวในลักษณะการเป็นเพื่อน การเป็นพวกพ้องเดียวกันและการเป็นเครือญาติเดียวกัน การรื้อฟื้นพลังท้องถิ่นได้ใช้วิธีการสืบสาวประวัต ศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อดึงความสัมพันธ์ทางสังคมในแนวราบ นำไปสู่การพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกัน มีการสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการและต่อเนื่อง จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนชุมชนที่เป็นคนอพยพมาจากพื้นที่อื่น จะรวมตัวกันเป็นเครือข่ายค่อนข้างเป็นทางการที่ผูกโยงกับผลประโยชน์และอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น การรื้อฟื้นพลังท้องถิ่นได้ใช้กิจกรรมที่มีการจัดการทุนร่วมกัน มีการสร้างระบบกฎเกณฑ์ที่สามารถยึดโยงเครือข่ายที่มีความสัมพันธ์แบบหลวม ๆ เอาไว้ได้ เครือข่ายทางสังคมที่วิทยากรกระบวนการและชาวบ้านสามารถรื้อฟื้นคนมา ได้แก่ ความสัมพันธ์แนวราบในการทำงานแบบกลุ่มเพื่อนกัลยาณมิตร ตลาดชุมชน การงดสูบบุหรี่ เครือข่ายกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การออมทรัพย์ อาหารหมูลอยฟ้า การร่วมบุญประเพณีชาวบ้านในต่างพื้นที่ เป็นต้น
๓)    ระบบความรู้ ในพื้นที่วิจัยส่วนใหญ่ระบบความรู้มีลักษณะเป็นกระบวนการถ่ายทอดทาง
สังคม (Socialization) ซึ่งมักจะเป็นการถ่ายทอดแบบไม่ได้ตั้งใจ แต่เกิดจากการได้รู้ ได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัส แล้วซึมซับเอาความรู้เหล่านั้นไว้ในตัวเอง จากนั้นก็จะใช้วิธีการเดียวกันถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นใหม่ต่อไป อันเป็นวิธีการจัดการความรู้ที่ทรงพลังที่สุดและสอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิตของชุมชนท้องถิ่น การรื้อฟื้นระบบความรู้ของชุมชนท้องถิ่นได้ใช้กระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้เกิดปัญญา  ให้ชาวบ้านสามารถคิดด้วยความรู้สึกอิสระปราศจากความกลัว ได้ค้นพบสิ่งที่เป็นความจริงด้วยตนเอง ไม่กดดัน เรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกสนาน มีสุนทรีภาพ สนใจความรู้ที่สดใหม่ และไม่ถูกครอบงำจากประสบการณ์ในอดีต ใช้กิจกรรมผ่านประสบการณ์ให้ผู้เรียนรู้ได้ผ่านสัมผัสทั้ง 5 เพื่อให้เขาเข้าไปอยู่ในบรรยากาศและเงื่อนไขที่เหมาะสม สามารถเชื่อมต่อความรู้ที่ฝังลึกในตนเองกับความรู้ภายนอก เป็นการยกระดับความรู้ของตน นำไปสู่การคิดและตัดสินใจที่ถูกต้องบนฐานจริยกรรม ระบบความรู้ที่วิทยากรกระบวนการและชาวบ้านรื้อฟื้นคืนมา ได้แก่ การทำสมาธิ การเรียนรู้ภายในตนเอง การเคารพภูมิปัญญาชาวบ้านและภูมิปัญญาของตนเอง สร้างความรู้จากการปฎิบัติจริง พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน  ระบบนิเวศ และความสัมพันธ์ของคนกับป่า เป็นต้น
๔)    ระบบคุณค่าและความเชื่อ เป็นเครื่องร้อยรัดให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถดำรงอยู่ได้ และทำ
หน้าที่กำกับควบคุมพฤติกรรมของคนในชุมชนให้อยู่ในครรลอง แสดงออกมาในรูปของวัฒนธรรม บุญประเพณ๊ ความเชื่อ พิธีกรรมต่าง ๆ และเปิงบ้าน การรื้อฟื้นระบบคุณค่าและความเชื่อได้ใช้วิธีการสืบสาวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและกิจกรรมผ่านประสบการณ์ เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ของพลังท้องถิ่นทั้ง 4 ฐาน  ระบบคุณค่าและความเชื่อที่วิทยากรกระบวนการและชาวบ้านรื้อฟื้นคืนมา ได้แก่ บุญประเพณีที่เชื่อมโยงกับวิถีการผลิตซึ่งบางชุมชนเลิกปฎิบัติไปแล้ว เช่น บุญคูนลาน บุญกุ้มข้าวใหญ่ บุญบั้งไฟ เป็นต้น ประเพณีที่แสดงความสัมพันธ์ของการเป็นเครือญาติเดียวกันและให้ความเคารพกตัญญูต่อผู้อาวุโส เช่น การรดน้ำผู้เฒ่าผู้แก่ในวันสงกรานต์ เป็นต้น
พลังท้องถิ่นทั้ง 4 ฐานล้วนมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกัน ความเข้มแข็งของพลังท้องถิ่นใน
ฐานหนึ่งก็มักจะส่งผลให้เห็นพลังท้องถิ่นในฐานอื่น ๆ เข้มแข็งตามไปด้วย ในทางตรงกันข้ามถ้าพลังท้องถิ่นฐานใดฐานหนึ่งอ่อนแอ ก็มักจะส่งผลให้พลังท้องถิ่นฐานอื่น ๆ อ่อนแอตามไปด้วยเช่นกัน
                ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พลังท้องถิ่นอ่อนแอลง ล้วนเป็นผลกระทบที่มาจากภายนอก ซึ่งมักเป็นการพัฒนาตามกระแสหลักที่มุ่งเน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้คิดว่าเศรษฐกิจเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งของมนุษย์ จนละเลยระบบชีวิตของมนุษย์ซึ่งสัมพันธ์กันและกัน และละทิ้งไม่สนใจระบบนิเวศและวัฒนธรรม อันนำไปสู่วิกฤติการณ์ด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามมาอย่างไม่รู้จบสิ้น รวมทั้งวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับ พลังท้องถิ่น ด้วย แต่ชุมชนใดมีพลังท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ก็จะสามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้อย่างมีความสุขท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่มาจากภายนอกได้ .

ส่วนหนึ่งจากเอกสารประกอบการประชุมสรุปบทเรียน กลไกและการเรียนรู้ของชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง”:มองไปข้างหลังเห็นทางที่ผ่านมา มองไปข้างหน้าเห็นสายธารปัญญาของชุมชน
โดย โครงการวิจัยพัฒนากลไกการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาท้องถิ่นระดับตำบล-อำเภอ   เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 ณ วัดบ้านโคกกลาง ตำบลหว้าทอง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น
 
 จากข้อสรุปดังกล่าวและบรรยากาศของงานในวันนี้เราเห็นความหลากหลายของผู้คนที่มาร่วมงานมีทั้งเด็กประถม-มัธยม ไปจนถึงผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่  ที่พร้อมจะพูดคุยบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่มานำเสนอ เพราะต่างมีส่วนร่วมอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น และพวกเขาบอกตรงกันอย่างหนึ่งว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการประดิษฐ์เครื่องอัดปุ๋ย   การรวบรวมกล้วยชนิดต่าง ๆ วิธีการปลูกพืช-ผักให้ได้ผลดีในพื้นที่แห้งแล้ง การใช้ประโยชน์จากไฝ่  กิจกรรมบ้านดินของเด็ก ๆ  การสร้างตลาดชุมชน และอีกหลายอย่าง ล้วนไม่ใช่ผลงานของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดจากการช่วยกันแลกเปลี่ยน-เรียนรู้ และ "จัดการ"ให้เกิดขึ้น และยังไม่ใช่ที่สุดของความสำเร็จ เพราะพวกเขาก็ยังต้องเรียนรู้และพัฒนากันต่อไปบนฐานของความสัมพันธ์ที่มี  (ซึ่งน่าจะต่างจากสภาพชนบททั่วไปที่มักเห็นเด็กและผู้สูงอายุเป้นส่วนใหญ่ แต่ที่นี่มีคนทุกรุ่นมาทำกิจกรรมร่วมกัน)
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16234เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2006 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท