280 เยี่ยมแผ่นดินที่สยามเคยปกครอง


ผมเห็นความสัมพันธ์คนกับคน คนกับธรรมชาติ คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ และการดำเนินชีวิตแบบพื้นฐาน....พี่น้องที่อดีตคือส่วนในปกครองของสยามรัฐ...

วันนั้นเราออกเดินทางแต่เช้าจากเมืองไชยบุรีเพื่อลงเรือที่ท่าเดื่อทวนแม่น้ำโขงขึ้นไปยังบ้านปากไผ่ เป็นลาวลุ่มผสมลาวเทิงขนาด 156 ครัวเรือน อาศัยในพื้นที่รอบๆนี้นานมาแล้ว แต่ตั้งหมู่บ้านปัจจุบันแค่ 50 ปีเศษ    

ระหว่างการเดินทางโดยเรือในลำน้ำโขงนั้น เราผ่านหน้าผาแห่งหนึ่งมีน้ำตกเล็กๆ สังเกตข้างบนมีอาคารอยู่ 2-3 หลัง เจ้าหน้าที่จากเมืองไชยบุรีกล่าวว่าสถานที่แห่งนี้ได้เคยรับเสด็จสมเด็จพระเทพฯคราวเยือนเมืองไชยบุรี และมาเสวยพระกระยาหารกลางวันที่แห่งนี้   

คุณลุงท่านนี้เล่าให้เราฟังว่า ดินแดนนี้คือฝั่งขวาแม่น้ำโขงเคยอยู่ในการปกครองของสยามมาก่อน..... ผมรู้สึกถึงได้ความใกล้ชิดอย่างบอกไม่ถูก คุณลุงท่านก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งในการให้ข้อมูลต่างๆที่เราต้องการตามภาระหน้าที่  ผมเลยถือโอกาสสำรวจชีวิต อดีตคนภายใต้การปกครองของสยามมาก่อนอย่างละเอียดมากขึ้น ต่อไปนี้ผมอยากนำสิ่งที่ผมเห็นเอามาฝากเพื่อนๆครับว่า หมู่บ้านในบริเวณนี้ที่ครั้งหนึ่งสยามได้มาปกครองนั้น วันนี้มีอะไรบ้าง.... 

ที่ชายหาดริมน้ำก่อนขึ้นมาหมู่บ้านเราพบเด็ก 4 คนเล่นปั้นทรายให้เป็นก้อนกลมๆอวดกัน  ดูสนุกสนานไร้เดียงสาตามธรรมชาติ  เมื่อขึ้นบนหมู่บ้าน เด็กเล็กเล่นล้อรถวิ่งกัน ทำให้ผมนึกเมื่อสมัยเด็กๆบ้านนอกภาคกลางก็เคยเล่นเช่นนี้มาก่อน อยากจะไปขอเด็กวิ่งเล่นบ้างเพื่อรื้อฟื้นความหลังก็อายเด็กมัน เด็กจะว่าเอาว่าลุงแก่แล้วยังเล่นเป็นเด็ก อิอิ. 

แต่เธอสองคนนี้ซิ คนอื่นเขาวิ่งเล่นกัน เธอชวนกันไปตักน้ำเมื่อเราเดินผ่านก็นั่งลงยิ้มให้เรา ช่างบริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นยองใยจริงๆ..หนูน้อยผู้น่ารัก ใส ซื่อ  

เมื่อเดินเข้าไปในหมู่บ้านเห็นแม่ลูกคู่หนึ่งกำลังทำการเก็บฟืนที่ใต้ถุนบ้าน แม่ทำหน้าที่ฟันกิ่งไม้แห้งให้สั้นพอดีใช้ ลูกเล็กๆช่วยหยิบฟืนไปกอง ...ผมเห็นภาพนี้แล้วนึกถึงหลายอย่าง นี่คือวิถีชีวิตที่แม่ลูกผูกพันกันในแบบธรรมชาติที่ต้องทำงาน  แต่เป็นงานที่ไม่มีรายได้ เป็นงานในองค์ประกอบของการดำรงชีวิต เด็กเรียนรู้โดยการทำงานจริง แม่คอยบอกกล่าว สั่งสอนวิธีขนฟืน วิธีกองฟืน วิธีระมัดระวังอันตราย และ... นี่คือกระบวนการเรียนรู้จากธรรมชาติ จากชีวิตจริง จากการทำจริง และเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ แม้ว่าเด็กจะไม่ได้คิดถึงสิ่งที่ผมกล่าว แต่การกระทำเหล่านี้มันซึมซับเข้าไปในจิตวิญญาณเขาตั้งแต่เล็ก สะสมขึ้นไปตามอายุของเธอ เพราะมีความผูกพันและอบอุ่นที่อยู่ใกล้แม่ นี่คือห้องเรียนธรรมชาติ.....แต่ห้องเรียนตามระบบการเรียนของเรามันห่างออกจากธรรมชาติ...  

แล้วโตขึ้นเธอคงเป็นเช่นรุ่นพี่ของเธอนี้ เด็กน้อยเอ๋ย งานเพื่อชีวิต มิใช่รายได้ งานเพื่อความเป็นอยู่ตามแบบฉบับบ้านกลางป่าเขา และแม่น้ำสายใหญ่ งานคือชีวิต องค์ประกอบชีวิตนั้นเป็นแบบพื้นฐาน... 

ผมเห็นการผสมผสานระหว่างความเป็นธรรมชาติของการมีชีวิตอยู่ด้วยกันของคนและสุนัขบนบ้าน  คนในเมืองก็เลี้ยงสุนัขในบ้านเหมือนกัน เห็นกอด จูบกันยิ่งกว่าลูกอีก ฉันบ้านนอกคอกนาก็รักสุนัขเหมือนกันแหละ แม้มันจะไม่หอมเท่าก็ตาม..

ที่นี่ไม่มีไฟฟ้าใช้ หากต้องการก็ต้องเป็นแผงโซล่าร์เซลล์ มีแผง 30 แผง 40 แผง 50 ตามขนาดการผลิตกระแสซึ่งระบบเงินผ่อนนำเข้ามา " หนีไม่พ้นหรอก ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน  เราจะไปที่นั่น"      ลงชื่อ ...นักล่าเงิน...ในนามนักธุรกิจ... 

การบังคับหมูให้เดินไปข้างหน้า เคยเห็นแต่เอาเชือกผูกคอแล้วจูงคนหนึ่ง เดินไล่หลังคนหนึ่ง แต่ที่นี่ใช้เชือกผูกขาหลังทั้งสองข้างแล้วบังคับให้เดินไปตามต้องการโดยการบังคับด้วยเชือก แต่ก็ใช้ไม้เรียวกำกับด้วย การบังคับเชือกที่ขาดูคล้ายๆการบังคับหุ่นกระบอก วิธีการนี้น่าที่จะมาจากการเรียนรู้ของเขาที่คลุกคลีกับการใช้ชีวิตกับหมูและเรียนรู้สืบต่อกัน .. เรามองเห็นการความพยายามพัฒนาการการจัดการบางอย่างในชีวิตแบบพื้นบ้านที่ในโรงเรียนเกษตรคงไม่มีสอน.. แต่ได้จากชีวิตจริง และใช้ได้จริง... 

เราอยู่ในเมืองเล่นอินเตอร์เนท พบบ่อยๆที่มีโฆษณาเข้ามาใน email เราจนรำคาญเรื่อง working at home ชักชวนให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้จะได้เงินเท่านั้นเท่านี้ แต่ภาพนี้ก็เป็น working at home เหมือนกัน  แต่ไม่ใช่เงิน แต่เป็นชีวิต เพื่อชีวิตคนในครอบครัว มันเป็นการทำงานเพื่อยังชีพจริงๆ เวลาที่มีอยู่วนเวียนอยู่กับการทำ สร้างสรรค์สิ่งที่ชีวิตจำเป็นต้องใช้ ต้องอิงอาศัย โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติสดๆทั้งสิ้น มิได้ผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรม มิได้ผ่านระบบธุรกิจ  แต่ผ่านมือ และทักษะแห่งชีวิตจริง นี่คืองานเพื่อชีวิต.. 

สาวๆคิดอะไร ไม่มีใครทราบ คนด้านบนซ้ายมือเป็นคุณครูคนเดียวจากเมืองไชยบุรีที่รัฐส่งมาประจำที่หมู่บ้านนี้ เธอรับรู้ว่าคนต่างถิ่นเข้ามาก็มาสังเกตว่าเป็นใครมาจากไหนมาทำอะไร ส่วนน้องสาวคนบนซ้ายมือนั่นเมื่อได้แผ่นพับของเราก็เดินอ่านกลับบ้านไปเลย คนล่างนี้มาเพื่อรอการสัมภาษณ์แทนพ่อแม่ที่ไม่อยู่บ้าน ดูหน้าตาผิวพรรณแล้วไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นสาวบ้านนอก ผิวขาวผ่องแต่ดูกล้าที่จะต่อกรกับการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมเช่นนี้  

นี่คือศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านปากไผ่แห่งนี้ วัดครับ วัดที่ไม่มีพระ แต่สร้างกุฏิไว้สำหรับใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆทางศาสนาพุทธ  หากจะทำพิธีตามฮีตคองแล้วก็ไปนิมนต์พระมาจากบ้านอื่นที่ไม่ไกลมากนัก ถามว่าทำไมไม่นิมนต์พระมาจำพรรษาที่นี่ ผู้เฒ่าบอกว่า เพราะบ้านเรายังจนและมีจำนวนครัวเรือนน้อย หากมีพระแล้วจะดูแลท่านไม่ดีพอ จึงขอให้มีจำนวนครัวเรือนมากกว่านี้ก่อน....

ปัจจุบันงานบุญสำคัญๆตามฮีตคองนั้น ทำสามปีต่อครั้ง เพราะทำทุกปีไม่ได้เพื่อนบ้านตกลงกันเช่นนั้น  ทุกครั้งจะใช้ข้าวเปลือกมาฮอมกัน ครัวเรือนละ 5 กิโลกรัมเป็นอย่างน้อย แล้วเอาข้าวไปขายเก็บเงินสะสมไว้เพื่อทำนุบำรุงวัดแห่งนี้ต่อไป  ส่วนรูปบนซ้ายและขวา คือซิมเป็นภาษาถิ่น ความจริงคือหลักบ้าน ในอีสานและเหนือของไทยก็มีที่เรียกว่าหลัก อินทขิน ซึ่งมีความหมายมากต่อการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้าน ท่านที่ทำงานพัฒนา หรือเกี่ยวข้องกับชนบท ไปชนบทที่ไหนเห็นหลักอินทขินละก้อ เดาเบื้องต้นได้เลยว่าทุนทางสังคมเต็มปรีเลยครับ... 

เมื่อได้เวลาบ่ายแก่ๆ สาวน้อยต่างก็ชวนกันไปอาบน้ำในลำน้ำโขง น้องสาวท่านนี้แยกตัวมาจากกลุ่มเพื่อนทั้งหลาย มาซักผ้าและอาบน้ำ 

ส่วนอีกมุมหนึ่งของแม่น้ำโขงกลุ่มสาวๆกลุ่มใหญ่กำลังอาบน้ำกัน ต้องขอโทษสุภาพสตรีที่บังอาจซูมภาพเข้ามามิได้มีเจตนาอะไรครับ เพียงผมอยากทราบว่าอุปกรณ์ที่เธอใช้อาบน้ำนั้นมันมาจากเมืองสักกี่อย่าง หรือว่าเธอใช้สิ่งที่มาจากธรรมชาติรอบหมู่บ้าน.. ผมไม่เห็นครับ เห็นแต่สาวท่านที่กำลังก้มขัดสีฉวีวรรณคนนี้ใช้ก้อนหินซึ่งมีอยู่ทั่วไปบนชายหาดนั้นมาขัดผิวครับ..  ก่อนลงเรือกลับที่พักผมเลยเก็บก้อนหินริมโขงมาเป็นที่ระลึกจำนวนหนึ่ง และเอาไปใช้ขัดผิว เผื่อจะขาวเหมือนเธอบ้าง อิ อิ..  

ป่าเขา แม่น้ำสายใหญ่ กองทรายมหึมา ดอกส้มป่อยสีเหลือง และ.....ชีวิต..และชีวิตที่เกิดใหม่

ผมเห็นความสัมพันธ์คนกับคน คนกับธรรมชาติ คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ และการดำเนินชีวิตแบบพื้นฐาน....

พี่น้องที่อดีตคือส่วนในปกครองของสยามรัฐ...

หมายเลขบันทึก: 162004เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2008 00:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

ชอบมากค่ะ ชอบภาพจูงหมูเพราะเพิ่งเคยเห็น เบิร์ดเคยทราบมาก่อนว่าหมูนี่ต้อนยากมากประเภทให้ไปซ้ายเค้าก็ไปขวา ให้ไปข้างหน้าก็วิ่งกลับหลัง ( เหมือนเบิร์ดเลยค่ะ อิ อิ อิ )  แต่ก็ไม่เคยเห็นการต้อนหมูมาก่อนทำไมผูกขาหลังแล้วเค้าเดินไปดีๆล่ะคะหรือว่าถ้าแตกแถวแล้วดึงก็ล้มเลยยอมไม่กล้าดื้อ ?.. กับภาพสาวอาบน้ำภาพเดี่ยวเพราะแสง เงาสวยดีค่ะ เส้นโค้งของรูปร่างละมุนเชียว  การใช้ก้อนหินขัดผิวนี่น่าจะได้ผลนะคะพี่บางทรายเพราะหินแม่น้ำเค้าจะเรียบลื่นช่วยขัดเซลล์ที่ตายแล้วได้ดี ว่าแต่การซูมภาพเค้าอาบน้ำนี่เพื่อเหตุผลเดียวแค่นั้นแน่ๆนะคะ ? ^ ^

ลาวกับไทยเคยมีกรณีพิพาทเรื่องปักปันเขตแดนที่ภูชี้ฟ้าค่ะพี่บางทราย เพราะสนธิสัญญาฟู้หรั่งเศษปี 2447 ไม่มีความชัดเจนถึงแนวการปักปันเขตแดน  ทำให้ปี 2539 ต้องช่วยกันตั้งคณะกรรมการไทยลาวขึ้นเพื่อปักปันเขตแดนใหม่  เพราะการปักปันเขตแดนเดิมนั้นไม่ได้ทำตามขั้นตอนในการพิสูจน์สันปันน้ำที่ถูกต้อง จึงทำให้เกิดปัญหาตั้งแต่จุดแรกที่แก่งผาใด ส่งผลให้ไทยต้องเสียดินแดน และทำให้ไม่สามารถปักปันในจุดอื่นๆ เช่น ดอยผาตั้ง ดอยผาหม่น และภูชี้ฟ้าได้น่ะค่ะ

แต่ตอนนี้ก็คงตกลงกันได้แล้วมั้งคะเพราะเบิร์ดก็ลืมตามเรื่องนี้ไปเลยเป็นกรณีพิพาทตั้งแต่ปี 2540 โน่นแน่ะค่ะ เราซื้อไฟฟ้าจากแขวงไชยบุรีด้วยหรือเปล่าคะพี่บางทราย ?

 

 

 

เอาเลยครับท่านครูบา ด้วยความยินดียิ่งครับ

ท่านครูบาครับ 

ผมชอบรูปนี้จริงๆ อธิบายการเรียนรู้นอกห้องเรียน

  • โดยชีวิตแล้วมันไม่ใช่การเรียน แต่เป็นการปฏิบัติ หรือทำงาน แต่ในความหมายคือการเรียนจากการปฏิบัติ

                      

  • จะเอาวิชาเลขก็ได้นับจำนวนไม้ฟืนมีกี่ท่อน ท่อนใหญ่กี่ท่อน ท่อนเล็กกี่ท่อน รวมกันเป็นกี่ท่อน
  • วิชาภาษาไทย สรรพนามเรียกไม้ฟืนว่า...ท่อน...
  • วิชาสุขอนามัย ก็ วิธีการทำงานแบบปลอดภัยทำอย่างไร
  • วิชากลศาสจร์เบื้องต้น ก็ วิธีการกองไม้ฟืนให้แน่นหนา ไม้ล้มลงมา ทำอย่างไร
  • วิชาพืชศาสตร์ ก็เรียนรู้ว่าไม้นี้เขาเรียกว่าไม้อะไร อยู่ที่ไหน มันมีคุณสมบัติพิเศษอย่างไร คนเราใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง
  • วิชาเคมีเบื้องต้น ก็ ไม่ฟืนเฟียกกับไม้ฟืนแห้งต่างกันอย่างไร การเผาผลาญเป็นอย่างไร ไม้อะไรที่ให้ความร้อนสูงกว่า ไม้อะไรที่ให้เขม่ามากกว่า....
  • สารพัดวิชาที่ครูจะใช้ชีวิตจริงดัดแปลงเป็นการเรียนการสอนแบบบูรณาการความรู้  หากเราเรียนแบบนี้เด็กก็รู้ว่า ความรู้ไม่ได้แยกจากกัน มันผสมกลมกลืนอยู่ในทุกสิ่ง มากน้อยต่างกันไปตามสถานะ ตามเงื่อนไข ตามการจัดการของธรรมชาติ และคนเรา
  • ห้องเรียนเราแยกวิชาออกมา เหมือนท่านพระอาจารย์เพื่อนที่ชื่อเดียวกันกับผม(พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล)กล่าวไว้ในหนังสือที่ท่านครูบาส่งให้ผมว่า ธรรมชาติไม่ได้แยกวิชาออกมา ความรู้ต่างหากที่แยกออกมาเป็นวิชา  แล้วกลับเอาไปบูรณาการกันไม่เป็นแล้ว เก้ๆ กังๆ
  • ความหมายของผมไม่ใด้ให้พังห้องเรียน  ไม่ต้องมีห้องเรียน  แต่ออกมาข้างนอกห้องเรียนมากๆ
  • นี่วันๆจับเด็กขังอยู่ในห้อง...บอกให้ซ้ายหัน ขวาหัน อย่างกับทหารเกณฑ์ สั่งให้นิ่ง ดุกดิกก็ตีก้น ครูไปกดศักยภาพเด็กลงหมด...

หวัดดีสาวน้อยเท้าคาง P  2. เบิร์ด

ชอบมากค่ะ ชอบภาพจูงหมูเพราะเพิ่งเคยเห็น เบิร์ดเคยทราบมาก่อนว่าหมูนี่ต้อนยากมากประเภทให้ไปซ้ายเค้าก็ไปขวา ให้ไปข้างหน้าก็วิ่งกลับหลัง ( เหมือนเบิร์ดเลยค่ะ อิ อิ อิ )  แต่ก็ไม่เคยเห็นการต้อนหมูมาก่อนทำไมผูกขาหลังแล้วเค้าเดินไปดีๆล่ะคะหรือว่าถ้าแตกแถวแล้วดึงก็ล้มเลยยอมไม่กล้าดื้อ ?.. 

 ผูกขาหลังหมูนี่พี่ก็เพิ่งเคยเห็นเช่นกัน พี่ไม่ได้ถามเหตุผล แต่เท่าที่สังเกต หมูมันก็เดินออกนอกลู่นอกทางเหมือนกัน (เหมือนคนบางคน อิอิ) แต่เมื่อเขากระตุกเชือก และใช้ไม้เรียวตีเบาๆมันก็เดินเข้าลู่เข้าทางโดยง่ายครับ เทคนิคมันเกิดจากการเรียนรู้และทดลองใช้จริง (ว่าเข้านั่น...)

กับภาพสาวอาบน้ำภาพเดี่ยวเพราะแสง เงาสวยดีค่ะ เส้นโค้งของรูปร่างละมุนเชียว  การใช้ก้อนหินขัดผิวนี่น่าจะได้ผลนะคะพี่บางทรายเพราะหินแม่น้ำเค้าจะเรียบลื่นช่วยขัดเซลล์ที่ตายแล้วได้ดี ว่าแต่การซูมภาพเค้าอาบน้ำนี่เพื่อเหตุผลเดียวแค่นั้นแน่ๆนะคะ ? ^ ^

บังเอิญเรายืนอยู่ถูกจุดถูกที่ของแสง เลยได้ภาพสวยๆมา แต่การซูมนี่ ไม่มีเจตนาอื่นจริงๆ ให้ดิ้นตายซิอ้าว... เธออยู่ไกลมาก ไอ้เราจะเดินท่อมๆไปใกล้ๆถ่ายรูป เดี๋ยวเธอก็กรูกันเข้ามาจับพี่โยนน้ำหละซี  เลยยืนไกลๆและซูมเอามา  แค่นั้นยังต้องรีบๆ เกรงจะเสียมารยาทมากไป อิอิ แค่ยอมเสียมารยาทน้อยๆแค่นี้ ก็ยังโดนนักสิทธิสตรีต่อว่าเอาแล้วววววว...ก็คนแถวนี้แหละ .. หุหุ...

ลาวกับไทยเคยมีกรณีพิพาทเรื่องปักปันเขตแดนที่ภูชี้ฟ้าค่ะพี่บางทราย เพราะสนธิสัญญาฟู้หรั่งเศษปี 2447 ไม่มีความชัดเจนถึงแนวการปักปันเขตแดน  ทำให้ปี 2539 ต้องช่วยกันตั้งคณะกรรมการไทยลาวขึ้นเพื่อปักปันเขตแดนใหม่  เพราะการปักปันเขตแดนเดิมนั้นไม่ได้ทำตามขั้นตอนในการพิสูจน์สันปันน้ำที่ถูกต้อง จึงทำให้เกิดปัญหาตั้งแต่จุดแรกที่แก่งผาใด ส่งผลให้ไทยต้องเสียดินแดน และทำให้ไม่สามารถปักปันในจุดอื่นๆ เช่น ดอยผาตั้ง ดอยผาหม่น และภูชี้ฟ้าได้น่ะค่ะ

 

ในทัศนะพี่ว่า อีตา pavie มีอัคติในการใช้ความรู้ทำแผนที่ ซึ่งคนไทยสมัยนั้นยังไม่มีความรู้เรื่องนี้ กว่าจะรู้ได้ก็ให้ อีตา McCarthy หรือ พระวิภาคภูวดลสอนอยู่ตั้งนานหลายปี ประวัติศาสตร์ เหล่านี้น่าจะเรียนรู้และมาเตรียมพัฒนาประเทศของเราให้มีการสร้างคนให้พร้อม  

อย่างสมเด็จพระพี่นางท่านทรงสนับสนุนโครงการนักเรียนโอลิมปิค นี่สุดยอดเลยนะครับ เพื่อเพิ่ม หรือปูทางให้ประเทศเรามีนักวิทยาศาสตร์มากขึ้น 

อะไรที่ตกลงกันไม่ได้ก็แขวนไว้ก่อน นั่นคือเรื่องระหว่างประเทศ พี่เองก็ไม่ได้ตามข่าวครับ  อยากไปดูสักครั้ง พริกชี้ฟ้านี่ เอ้ย..ภูชี้ฟ้านี่ ยังไม่มีโอกาสเลยครับ  ได้แต่นั่งเครื่องบินผ่านไปผ่านมา และดูจาก Google earth ครับน้องเบิร์ด..

แต่ตอนนี้ก็คงตกลงกันได้แล้วมั้งคะเพราะเบิร์ดก็ลืมตามเรื่องนี้ไปเลยเป็นกรณีพิพาทตั้งแต่ปี 2540 โน่นแน่ะค่ะ เราซื้อไฟฟ้าจากแขวงไชยบุรีด้วยหรือเปล่าคะพี่บางทราย ?

ซื้อซิจ๊ะ เราน่ะซื้อกระแสไฟฟ้าจากลาวมากมายและที่เขื่อนไชยบุรีนี่ด้วย ซื้อทั้งหมดเลย 1260 เมกกะวัตต์ ก็บริษัท ช.การช่างเป็นผู้ลงทุนหมด และขายให้ กฟผ หมดเช่นกัน ทำสัญญากับรัฐบาลลาวแล้ว.. อายุ 30 ปี ปีที่ 31 โอนคืนให้ลาว

เป็นการชะลอการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย เมื่อคืนท่านรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานก็กล่าวว่า อย่างไรก็ต้องสร้าง แต่ยืดอายุโครงการออกไป ระหว่างนี้ก็เตรียมคน ฝึกคนในการใช้เทคโนโลยี่ตัวนี้ไปก่อน เพื่อสร้างความพร้อมครับ

เรามาประหยัดพลังงานให้มากๆ เป็นทางออกที่ดีที่สุดครับ

  • สวัสดีครับพี่บางทราย
  • ภาพและเนื้อหาเยี่ยมมากเลยครับ
  • ได้ความรู้ และเหมือนย้อนอดีตของบ้านเราเลยนะครับ
  • ขอบคุณมากครับ

น้องสิงห์ครับ

พี่สนใจศึกษาเข้าใจเรื่องชนบทของเพื่อนบ้าน  หากมองในแง่พัฒนาการของสังคม อะไรเป็นแรงผลักดัน  อะไรเป็นเงื่อนไข ฯลฯ ชุมชนเหล่านี้คือตัวบที่สะท้อนบ้านเราด้วยครับน้องสิงห์

น้องสาว P 8. Little Jazz \(^o^)/

  • แรกๆที่พบสาวคนนี้ใน blog เรานึกในใจว่า เธอเป็นอีกท่านหนึ่งที่มีความรู้ในเรื่องไอทีมากมาย  พี่เองยังเอามาใช้เลย เธอแนะนำ program ที่เป็นประโยชน์ พี่ก็ตามไปเอามาใส่ไว้ในเครื่องคอมฯ และได้ใช้ประโยชน์จริงๆ โดยเฉพาะ Photo Scape เพราะโปรแกรมนี้ได้แก้ไขปัญหาพี่ในเรื่อง มีรูปเยอะแยะมากมายอยากเอามาลงมากๆ แต่ก็จะทำให้กินที่หน่วยความจำ และหนักเครื่อง หนักระบบ g2k มากเกินไป โปรแกรมนี้ช่วยจริงๆ เพราะสามารถจัดรูปจำนวนมากมาลงในพื้นที่จำกัดได้มากเพียงพอต้องการ และเมื่อ save แล้วหน่วยความจำนิดเดียว เหมาะเหลือเกินจำหรับการนำรูปมาใส่ blog
  • พี่เห็นบทบาทเธอตั้งแต่สมัยที่มีการจัดงาน g2k ที่เชียงใหม่ และพี่ไม่มีโอกาสได้มา เห็นเธอมีส่วนสำคัญในการช่วยงานต่างๆจนเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้งานสำเร็จลงได้ด้วยแฮปปี้
  • เธอเป็นคนหนึ่งที่ตั้งใจจะมาดงหลวงคราวที่จัดงานเฮฮาศาสตร์ แต่ภาระกิจเธอมาไม่ได้ น่าเสียดายจริงๆ แต่ชีวิตก็อย่างงี้แหละ ไม่มีอะไรสมบูรณ์ไปหมดสิ้น มีขาดมีเกิน แม้ใครจะมีเงินล้นฟ้าก็ไม่สามารถทำในสิ่งที่เป็นความสุขแก่ชีวิตได้เต็มตลอดหรอก
  • เห็นบันทึกน้องสาวคนนี้ที่ไปเที่ยวหลวงพระบางแล้วก็คิดว่า สไตล์การบันทึกของเธอน่าสนใจมาก เป็นตัวอย่างอีกแบบหนึ่งของการทำบันทึก
  • วันนี้เธอเขียนถึงพี่ ให้อิ่มด้วยความรู้สึกดีดี มาเติมใจให้แก่กันขอบคุณ จ๊าดนัก
  • เมืองเหนือคืออีกบ้านหลังหนึ่งของพี่ เพราะพี่ผูกพันกับชาวบ้านที่สะเมิง และที่สะเมิงคือชนบทแห่งแรกที่พี่ลุยมาและได้รับความรักความห่วงใยของพี่น้องชาวบ้านที่เป็นชาวเหนือ เรื่องราวมากมายยังเต็มในห้วงคำนึงของพี่  เพื่อนฝูงมากมายอยู่ที่ "เจียงใหม่" นี้ ทุกปีจะต้องจัดเวลามาเยี่ยมเยือนที่นี่
  • สักวันจะขึ้นมาลักพาตัวเธอมานั่งจับเข่าคุยกันให้อิ่มไปเลย อิอิ..

สวัสดีค่ะ เข้ามาอ่าน และเห็นคำว่า..

หลักบ้าน ในอีสานและเหนือของไทยก็มีที่เรียกว่าหลัก อินทขิน ซึ่งมีความหมายมากต่อการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้าน

ความที่เคยเรียนอักษรศาสตร์มา จึงทวนความจำได้ว่า....รู้สึกว่าจะมีที่มาจากพุทธศาสนานิกายเถรวามท หรือไม่ ไม่แน่ใจค่ะ

แต่ก็เป็นระบบจิตสำนึกของสังคมกสิกรรมนะคะ ที่มีความเชื่อเรื่องวิญญาณ หรือสิ่งศักดฺสิทธฺในรูปของวิญญษณ ที่สิงสถิตอยู่กับธรรมชาติ เช้น ป่า เขา โดยเฉพาะต้นไม้และก้อนหิน นะคะ

อ่านแล้วดีจังค่ะ ชอบเรื่องแบบนี้ด้วยค่ะ รู้สึกตัวเอง จะชอบอะไร ที่ทั้งเก่าและใหม่ รวมๆกันด้วย หลากหลายค่ะ

ภาพได้อารมณ์มากทุกภาพเลยค่ะ ชอบทุกภาพ ภาพน้องหมาบนบ้านนั้นทำให้รู้สึกว่าเขาคงรักและนับว่าน้องหมาก็เป็นสมาชิกครอบครัวด้วยกัน จะมาอยู่บนบ้านด้วยก็ได้ แม้ไม่หอม(คงไม่มีโอกาสอาบน้ำใส่แชมพูหอมถนอมขนให้นุ่ม)

ชอบที่พี่บางทรายกล่าวถึงการเรียนรู้นอกห้องเรียนจริงๆ มันใช่เลยค่ะ

สวัสดีครับ P 10. Sasinanda

เห็นคำว่า..หลักบ้าน ในอีสานและเหนือของไทยก็มีที่เรียกว่าหลัก อินทขิน ซึ่งมีความหมายมากต่อการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้าน

ความที่เคยเรียนอักษรศาสตร์มา จึงทวนความจำได้ว่า....รู้สึกว่าจะมีที่มาจากพุทธศาสนานิกายเถรวามท หรือไม่ ไม่แน่ใจค่ะ

แต่ก็เป็นระบบจิตสำนึกของสังคมกสิกรรมนะคะ ที่มีความเชื่อเรื่องวิญญาณ หรือสิ่งศักดฺสิทธฺในรูปของวิญญาณ ที่สิงสถิตอยู่กับธรรมชาติ เช่น ป่า เขา โดยเฉพาะต้นไม้และก้อนหิน นะคะ

อ่านแล้วดีจังค่ะ ชอบเรื่องแบบนี้ด้วยค่ะ รู้สึกตัวเอง จะชอบอะไร ที่ทั้งเก่าและใหม่ รวมๆกันด้วย หลากหลายค่ะ

ขอบพระคุณครับท่านพี่ใหญ่..

ที่มาเติมข้อมูลให้ผมได้เข้าใจมากขึ้นครับ  ชนบทนั้นจะมีความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติมาก  มากกว่าสังคมในเมืองอย่างเห็นได้ชัด  สำหรับหลายคนมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ  แต่นักสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาจะมองว่านั่นคือสิ่งมีคุณค่ามากในการอยู่ร่วมกัน  และนั่นคือทุนทางสังคมที่ยากที่สังคมใหม่แบบเมืองจะเข้าใจและเข้าถึงส่วนลึกของสาระนั้น...

สวัสดีครับคุณน้อง P 11. คุณนายดอกเตอร์

ภาพได้อารมณ์มากทุกภาพเลยค่ะ ชอบทุกภาพ ภาพน้องหมาบนบ้านนั้นทำให้รู้สึกว่าเขาคงรักและนับว่าน้องหมาก็เป็นสมาชิกครอบครัวด้วยกัน จะมาอยู่บนบ้านด้วยก็ได้ แม้ไม่หอม(คงไม่มีโอกาสอาบน้ำใส่แชมพูหอมถนอมขนให้นุ่ม)

เท่าที่พี่คลุกคลีกับชนบทมา โดยเฉพาะชนบทที่มีที่ตั้งหมู่บ้านติดภูเขา และมีวิถีชีวิตพึ่งพาป่านั้น น้องหมาเป็นหุ้นส่วนชีวิตชาวชนบทเลยหละ ที่ดงหลวงนะ.. เมื่อเจ้านายเรียกน้องหมามา และน้องหมาเห็นเจ้านายเอาย่ามห้อยบ้าละก็  เขารู้แล้วว่าเจ้านายจะเข้าป่า น้องหมา 2-3 ตัวจะกระดี้กระด้า...วิ่งนำหน้าเจ้านายเลย และทำทุกอย่างเพื่อเจ้านาย โดยมีค่าตอบแทนเพียงข้าวเหนียวก้อนเดียว และเป็นข้าวเหนียวที่ไม่มีเนื้อ หรือกับข้าวด้วย  ...นี่คือความสนิทสนมของชีวิตสองประเภทที่อยู่ร่วมกัน  ดังนั้นการที่เขาขึ้นมาบนบ้าน ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร..   

ชอบที่พี่บางทรายกล่าวถึงการเรียนรู้นอกห้องเรียนจริงๆ มันใช่เลยค่ะ

พี่นั่งมองแม่ลูกคู่นั้นแล้วชอบมาก นึกถึงการเรียนรู้ทางธรรมชาติและมันเป็นธรรมชาติ "เรียนแบบไม่ได้เรียน" พี่คิดอย่างนั้นครับ

ภาพสวยมากครับ...แสง เงา งามจริงๆ

มีธรรมชาติที่งดงาม...ดูรูปก้อนทรายแล้ว

นึกถึงก้อนทรายที่ปั้นแข่งกันกับน้องๆ ตอนเด็กๆ แล้วปล่อยให้มันแห้ง แข็ง นำมาแข่งกัน...ไหลลงทางแล้วชนกัน..ดูว่าของใครจะแข็งกว่ากัน

 มันคือการเรียนรู้เรื่องของวัสดุนะครับ...ทรายเท่าไหร่ น้ำเท่าไหร่ ตากแดดนานเท่าไหร่ ถึงจะแข็งแรงที่สุด...ความรู้จากธรรมชาติจริงๆ

รับรู้ด้วยสองมือ..จะชัดเจนกว่าเรียนจากตำรานะครับ

 โอชกร

สวัสดีครับ

เป็นการตามรอยประวัติศาสตร์สยามที่น่าประทับใจครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ P  14. โอชกร - ภาคสุวรรณ

ภาพสวยมากครับ...แสง เงา งามจริงๆ

มีธรรมชาติที่งดงาม...ดูรูปก้อนทรายแล้ว

นึกถึงก้อนทรายที่ปั้นแข่งกันกับน้องๆ ตอนเด็กๆ แล้วปล่อยให้มันแห้ง แข็ง นำมาแข่งกัน...ไหลลงทางแล้วชนกัน..ดูว่าของใครจะแข็งกว่ากัน

แสดงว่าเมื่อสมัยเด็กเคยเล่นล่ะซีครับ อิอิ

 มันคือการเรียนรู้เรื่องของวัสดุนะครับ...ทรายเท่าไหร่ น้ำเท่าไหร่ ตากแดดนานเท่าไหร่ ถึงจะแข็งแรงที่สุด...ความรู้จากธรรมชาติจริงๆ

รับรู้ด้วยสองมือ..จะชัดเจนกว่าเรียนจากตำรานะครับ

 อือ.. พี่นึกไม่ถึงประเด็นที่กล่าว ใช่หากเราเป็นคนตั้งคำถาม และช่างเรียนรู้ เราคงได้ความรู้จากธรรมชาติมากมายนะครับ เรียนจากธรรมชาติ สรุปกฏเกณฑ์จากธรรมชาติ และอยู่กับธรรมชาติ...  ให้แง่คิดมากมายเลย น้องโอชกรครับ

สวัสดีครับ P  15. พลเดช วรฉัตร 

 

เป็นการตามรอยประวัติศาสตร์สยามที่น่าประทับใจครับ

ผมได้โอกาสดีที่ไปทำงานแม้ระยะสั้นๆ แต่ก็สามารถผสมผสานงานกับความสนใจส่วนตัวผนวกเข้าไปด้วย บังเอิญไปด้วยกันได้ จึงเอาข้อมูลที่เห็นด้วยตา ฟังด้วยหู สัมผัสด้วยมือ เอามาฝากกันครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท