beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

รอร่า <๒> : คนสอนลิง ลิงสอนคน


พ่อแม่เปรียบเสมือนรากแก้ว ครูอาจารย์เปรียบเหมือนรากฝอย เดี๋ยวนี้เราเข้าใจว่ารากฝอยเป็นรากแก้ว ผลก็คือการล้มระเนระนาด-ครูสมพร

คนสอนลิง ลิงสอนคน (31 ต.ค.50)

        "ครูสมพร คนสอนลิง" จากการที่ฉันได้ดูสื่อที่อาจารย์เปิดในชั่วโมง Lab และให้แบ่งกลุ่มกันทำงาน ครูสมพรเป็นคนสอนลิง ที่เน้นให้ความสำคัญกับผู้เรียน โดยเปรียบเทียบให้เห็นว่า แม้แต่ครูสอนลิงยังมีการศึกษาวิจัย เพื่อคิดค้น วิธีที่จะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ที่เน้นการปฏิบัติ (Learning by Doning)  มีการรับผู้เรียนโดยไม่ต้องสอบคัดเลือก มีการเตรียมความพร้อม สร้างความศรัทธาที่จะเรียน เรียนจากง่ายไปหายาก ประเมินผลที่การปฏิบัติ พฤติกรรมการเรียนและคุณธรรม โดยครูสมพรให้ความรัก ความเมตตาและอำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียน ฉันว่าครูสอนคน ก็ควรปฏิรูปการเรียนรู้ให้ได้ เช่นเดียวกับครูสอนลิง

        ครูสมพรจะให้ความรักกับลิงก่อนที่จะให้ความรู้ ครูมีหน้าทีสอนในสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนสิ่งที่ผิดนั้น เขาจะเรียนรู้เอง

        ครูสมพรสอนตั้งแต่หลักสูตรอนุบาล รับนักเรียนลิงที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป เพราะว่าที่นี่เป็นโรงเรียนฝึกลิง ไม่ใช่โรงเรียนเลี้ยงลิง ลิงที่อายุน้อยกว่า 1 ปี ต้องให้อยู่กับพ่อแม่ เพราะว่าพ่อแม่เป็นรากแก้วของลูก พ่อแม่มีหน้าที่สร้างความมั่นคงทางอารมณ์ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูก

        โรงเรียนหรือครูอาจารย์ก็เหมือนรากฝอย  แต่ปัจจุบันพ่อแม่หรือสถาบันครอบครัว มักมอบหน้าที่ให้ครูเป็นรากแก้ว เป็นผลทำให้อะไรหลายอย่างล้มเหลว  หลักสูตรอนุบาลของครูสมพรใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ให้ลิงรู้จักแต่มะพร้าวสีน้ำตาล (ทฤษฎีการวางเงื่อนไข คือการสร้างสิ่งเร้าให้เกิดประโยชน์อย่างเหมาะสม เพื่อทำให้เกิดพฤติกรรมที่ต้องการ ภายในระยะเวลาที่ต้องการ) ลิงได้เห็นลูกมะพร้าว ได้รู้จักลูกมะพร้าว ก็จะอยู่กับลูกมะพร้าว

         ให้ความรักก่อนให้ความรู้ อย่าเพิ่งเข้าไปใกล้ลิง เพราะลิงอาจจะกัดได้ ต้องค่อยๆ ให้ความคุ้นเคย ต้องมีความอดทน "จะเข้าทางต้องใช้พร้าเป็นอาวุธ จะเข้าหานุชเนื้อนิ่มต้องยิ้มหัว"  เป็นคำพูดของครูสมพร ครูสมพรบอกว่า ตอนนี้ลิงเป็นนุชเนื้อนิ่ม การเข้าหาลิงเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมจากสัตว์ป่าสู่สัตว์เลี้ยง โดยเริ่มเข้าใกล้ไปหาลิงเรื่อยๆ โดยมีอุปกรณ์เป็นเครื่องหมุนมะพร้าว และหมุนมะพร้าวให้ลิงดูทุกวัน ครูสมพรใช้เครื่องหมุนมะพร้าวเป็นสื่อในการสอน

         ต่อไปก็เริ่มสอนจากง่ายไปหายาก ครูสมพรพูดว่า "เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง" ค่อยๆ สอนจากง่ายไปหายาก พอลิงได้ใกล้ชิดกับครู ก็จะคลายความวิตกกังวล ลิงก็จะให้เราจับต้องตัวได้ เราจะเริ่มสอนเขาได้ สอนโดยพูดให้จำ ทำให้ดู ไม่ใช่ดีแต่พูด "เอ้าลูกเอ้ย บิด ลูก บิด" มีความเพียรและอดทนในการสอน ก่อนที่จะสอนให้ลิงบิด ก็ต้องสอนให้ลิงรู้จักการถีบก่อน "ตีนถืบ ปากกัด" ไม่ใช่ "ปากกัด ตีนถีบ"

        สื่อการสอนของครูสมพรใช้ของจริงทั้งหมด ไม่ใช่ของที่อยู่ในห้อง Lab  แม้แต่เรียนก็เป็นห้องธรรมชาติ อยู่กลางสวน เรียนเสร็จก็จะมีการประเมินผล แต่นักเรียนโรงเรียนสอนลิง หลักสูตรไม่ขึ้นกับระยะเวลา แต่ขึ้นอยู่กับการประเมินผลว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน ครูสมพรประเมินผลว่า ลิงขึ้นต้นมะพร้าววต้องเอาลูกมะพร้าวสีน้ำตาลลงมา ถ้าเอาลูกสีเขียวลงมา ครูก็ต้องกลับไปฝึกใหม่ แต่ในโรงเรียนสอนคน จะกำหนดเวลาในการสอน ถ้าผลการประเมินออกมาไม่ผ่าน ก็ต้องมาเรียนใหม่ แตกต่างกันตรงระยะเวลาเป็นตัวกำหนด

         ครูสมพร สอนลิงแบบไม่บังคับ ไม่เฆี่ยนตี เพราะการเฆี่ยนตีคือโทสะ เหมือนทำให้น้ำขุ่นจะไม่เห็นตัวปลา จิตใจไม่สงบก็ไม่เกิดปัญญา การเรียนการสอนเราต้องการปัญญา และที่สำคัญ ครูสมพรจะสอนให้นักเรียนลิง ได้รู้จักอุปสรรคที่อาจได้เจอ (อุปสรรคคือการเรียนรู้) เชือกอาจไปติดกับส่วนของต้นมะพร้าว ลิงก็ต้องฝึกที่จะเอาเชือกออกให้ได้   "อยู่บนต้นมะพร้าวนั้นไม่มีใครช่วยได้ นอกจากตัวเอง"

           วิทยาลัยฝึกลิงของครูสมพร ต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ 3 เรื่องคือ  

  1. ที่นี่ไม่มีการสอบเข้า
  2. ลิงทุกตัวจบหมด ไม่มี Retire
  3. ลิงทุกตัวจบแล้วมีงานทำ (เป็นความต้องการของคนนำลิงมาฝากเรียน) 

        ในการเรียนวิชาชีววิทยาของเซลล์ของ อ.Beeman ก็เหมือนกัน อาจารย์เน้นความคุ้นเคยกับผู้เรียน แนวการสอนแบบไม่สอน โดยให้ครูสมพรเป็นคนสอน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนอยากเรียนวิชาที่คิดว่ายาก ผู้เรียนก็อยากจะเรียนมากขึ้น     อาจารย์สอนโดยใช้กระบวนการกลุ่ม ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และใช้กลุ่มเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญ เป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ โดยให้ผู้เรียนรู้ด้วยตนเองจากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นนั่นเอง...

        ในปัจจุบัน การเรียนเป็นการเรียนที่มาจากตำรา ความรู้ที่สรุปมาจากข้อมูล อาจารย์เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียน ผ่านการมีสถานศึกษา

        การเรียนจากสถานการณ์จริง การเรียนรู้ที่เป็นการเรียนรู้จริง เป็นการเรียนที่เกิดจากภายใน เป็นการเรียนที่ไตร่ตรอง ผ่านการปฏิบัติที่เป็นการทดสอบความคิดของตัวเอง

        การเรียนจากสถานการณ์จริง ไม่ใช่กิจกรรมการลงชุมชน คุยเก็บข้อมูลและรายงานข้อมูลเท่านั้น แต่ต้องเป็นการเรียนที่ทำให้เกิดการไตร่ตรอง เป็นการเรียนด้วยตนเอง เรียนได้ตลอดเวลา หาความรู้ได้จริงๆ  ไม่ใช่การเรียนตามคำสั่ง ทำตามที่ "อาจารย์สั่ง" ทำตามกระดาษเท่านั้น

        ฉันว่า "การสอนแบบไม่สอน" ของ อ.Beeman โดยให้ครูสมพรเป็นคนสอน ฟังดูอาจจะเข้าใจยาก แต่พอฉันได้ดูสื่อของ อ.Beeman ที่นำมาให้ดู จึงได้เข้าใจวิธีการสอนของ อ. Beeman มันก็แปลกดี นิสิตได้รับความรู้ ซึมซับเข้าไปเองโดยไม่รู้ตัว

 

หมายเลขบันทึก: 161322เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2008 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 08:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
เราได้สักเสี้ยวเดียวครูสมพร ก็เยี่ยมแล้ว
  • เป็นยังไงบ้างครับท่านครูบา ฝีมือการเขียนของนิสิตปี ๒ ชื่อรอร่า
  • สบายดีนะครับ...ช่วงนี้ผมอยู่ในช่วงการปรับตัวใหม่
  • แล้วจะไปเยี่ยมท่านครูบาในบล็อก นะครับ
  • ตอนนี้ เฮฮาศาสตร์ที่พิษณุโลกคึกคักขึ้นมากทีเดียว
  • ๒๘-๒๙ ก็จะมีเวทีไข้เลือดออก ที่รพ.พุทธชินราชครับ
  • พรุ่งนี้ผมจะไปพิพิธภัณฑ์บ้านจ่าทวี ท่านครูบามีอะไรจะฝากถึงลุงจ่าบ้างไหมครับ 

สวัสดีค่ะอาจารย์

นักการเมี่ยงตอนเรียน มัธยมปลาย  จำได้ว่าเคยถามข้อข้องใจกับ อาจารย์ประจำชั้น  ( ซึ่งสอนวิชา ชีววิทยา )

เรื่องเกี่ยวกับคำตอบในข้อสอบ  ซึ่งเรื่องเกี่ยวกับวิชา ชีววิทยา นี่แหละค่ะ 

ข้อสอบเข้า มหาวิทยาลัย หลาย ๆ เล่มก็ตอบแบบเดียวกับที่นักการเมี่ยงตอบ  เพื่อน ๆ ก็ไม่มีใครกล้าพูด  ว่า อาจารย์ เฉลยผิด ( ซึ่งส่งผลต่อคะแนนของคนที่คิดว่าตอบถูก )  แต่เพื่อน ๆ เหล่านั้นก็นำข้อมูลมาให้นักการเมี่ยงคุยกับ อาจารย์

สุดท้าย  อาจารย์ ยืนยันว่า อาจารย์ ไม่ผิด  แถมสุดท้ายของสุดท้าย  ปีนั้นสมุดพกของนักการเมี่ยงโดนเขียนจาก อาจารย์ประจำชั้นว่า  นักการเมี่ยงเป็นมนุษย์เจ้าปัญหา  ((((((((( เป็นอย่างนั้นจริง ๆ เหรอ ))))))))))

นักการเมี่ยง คิดว่า   การเรียนเป็นการเรียนที่มาจากตำรา ความรู้ที่สรุปมาจากข้อมูล ซึ่งอาจารย์เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียน   บางที  ก็มีข้อผิดพลาดได้เหมือนกัน 

อีกหนึ่งความคิดเห็นค่ะ  แหะ ๆ

 

สวัสดีค่ะ มาอ่านเรื่องลิง สนุกนะคะ
  • สวัสดีครับ นักการเมี่ยง
  • นี่คือการ ลปรร. ที่แท้จริงครับ
  • มีการโยนคำถามให้ด้วย
  • ผมไม่ตอบคำถามครับ แต่มีเรื่องเล่าให้ฟังอีกเรื่องหนึ่ง
  • ศาสตราจารย์ท่านหนึ่ง เป็นผู้เชี่ยวชาญ สอนเรื่องหนึ่งให้นิสิต (ไม่จำเป็นต้องทราบว่าเป็นเรื่องใด...เพราะข้าพเจ้าก็จำไม่ได้เสียแล้ว) ติดต่อกันมา ๒๐ ปี มีลูกศิษย์อยู่ค่อนโลก
  • วันหนึ่ง ตาศาสตราจารย์ท่านนี้ก็ประกาศว่า ทฤษฎีที่สอนไปเมื่อ ๒๐ ปีผ่านมานั้นผิด ต้องขอโทษด้วย แล้วก็สอนสิ่งที่ตรงข้ามกับที่สอนไปว่าเป็นสิ่งที่ถูก (ซึ่งแต่ก่อนคือผิด)....งงไหมครับ..อิอิ
  • สวัสดีครับท่านอาจารย์ sasinanda
  • มารายงานว่า น้ำหนักยังเหมือนเดิมครับ..เพราะว่ายังบังคับตัวเองให้ไปออกกำลัง และลดอาหารยังไม่ได้

สวัสดีค่ะอาจารย์ ( อีกครั้ง แหะ ๆ )

จำได้ว่า ... จาก สมมุติฐาน  ต้องพิสูจน์แล้วพิสูจน์อีก  ถึงจะเป็นทฤษฎี

และจากทฤษฎี   ต้องพิสูจน์แล้วพิสูจน์อีก   ถึงจะเป็นกฎ

เพราะฉะนั้น ทฤษฎี  ก็อาจผิดได้ 

นับถือศาสตราจารย์ท่านนั้นค่ะ  ที่ยอมรับ  และกล้ารับในสิ่งที่คิดว่าผิด   คนแบบนี้หายากจริง ๆ  นับถือ ๆ ค่ะ

.........นักการเมี่ยง...........

 

  • สวัสดีอีกครั้ง..นักการเมี่ยง 
  • ถ้าครูคิดว่า...ผิดเป็นครู..และ ครูก็คือครู ก็ย่อมผิดได้ ก็ยอมรับผิดเสีย...คนเราผิดพลาดกันได้และก็ไม่ได้เสียหายอะไร
  • แต่เพราะคนเรามีทิฏฐิ ก็เลย..ต้องยืนกระต่ายขาเดียว..อิอิ

สวัสดีค่ะ อ.beeman

ชอบที่ รอร่า เขียนมากเลยค่ะ

เด็กคนนี้เขียนสื่อได้ดีจริงๆ มีการวิเคราะห์ และสรุปเรื่องที่ตนเองเขียนด้วย

แถมเรื่องครูสมพรที่เลี้ยงลิงก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ จริงๆ แล้วน่าจะให้ท่านผู้บริหารการศึกษาหลายๆ ท่านมาอ่านเรื่องครูสมพรสอนลิงนะคะ ^ ^

ขอบคุณค่ะ 

สวัสดีครับ อ.กลมวัลย์

  • ข้อคิดเห็นของท่านอาจารย์มีประโยชน์มาก ในด้านเป็นกำลังใจให้ผมลงเรื่องของรอร่าต่อครับ
  • ผมตัดสินใจอยู่นานว่า จะลงเรื่องที่รอร่าเขียนเป็นสมุดการบ้านส่งผมดีไหม
  • แต่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย เลยตัดสินใจนำลงครับ
  • น่าให้ผู้บริหารการศึกษาหลายท่านได้ศึกษาจริงๆ เอาไว้คงได้พูดคุยกับสำนักงานเขตพื้นที่ครับ...
  • มีเรื่องที่น่าแลกเปลี่ยนครับ...คือ มีโครงการหนึ่งที่เป็นโครงการซึ่งเคยเรียกว่า "ครูแม่ไก่" คือ เอาครูวิทยาศาสตร์ (เช่น ชีววิทยา) มาเรียนรู้หัวข้อทางวิชาการ เช่น หัวข้อการสังเคราะห์ด้วยแสง ประมาณ ๑๐ เรื่อง ใน ๑๐ วัน....ครู ๒๐ คน มาเรียนรู้เรื่องวิชาการ แล้วก็กลับไปสอนเด็กตามเดิม...ผมมีความรู้สึกว่ามันพัฒนาแต่ด้านวิชาการ แต่ถ้าเราเพิ่มกระบวนการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และกระบวนการกลุ่มเข้าไปด้วย...ก็จะช่วยให้เขาได้ Process กลับไปปรับใช้กับนักเรียนเขาบ้าง...แต่ว่าพวกนักวิชาการเขาจะปิดช่องไม่ให้เราเข้าไปปรับในเรื่องเหล่านี้ เพราะบางทีเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ ครับ

สวัสดีค่ะ อ.beeman

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะว่าควรมีการปรับ process ในการสอน และแทนที่จะพัฒนาวิชาการของครู/อาจารย์เพียงอย่างเดียว ก็ควรจะต้องพัฒนาเทคนิคการสอนเพิ่มเติมไปด้วยค่ะ  ตัวเองก็พยายามปรับตัวและเรียนรู้อยู่เสมอ พยายามหาสื่อต่างๆ มาสอนเพิ่มเติมเหมือนกัน แต่ยังทำได้ไม่ค่อยดี(เท่าที่ต้องการ)มากนัก   ก็ยังต้องพัฒนาเรียนรู้ต่อไปค่ะ

ขอบคุณค่ะ  

  • ดีใจที่ฝ่ายวิชาการในมหาวิทยาลัย มีคนเช่นอาจารย์กมลวัลย์
  • และเข้าใจว่ายังมีอีกหลายท่าน แต่ก็ยังเป็นเสียงส่วนน้อยอยู่
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท