ลุงขนุน
นาย ผดุงพล ลุงขนุน เอ้งฉ้วน

“การจัดทำแผนแม่บทชุมชน ต.ควนรู อ.รัตนภูมิ จ.สงขลา”


ผลสัมฤทธิ์และความพึงพอใจที่สามารถแก้ปัญหาได้ของผู้มารับบริการและผู้มาเยือนจนกระทั่งได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย
องค์การบริหารส่วนตำบลควนรู  อำเภอรัตนภูมิ  จังหวัดสงขลา  มีเนื้อที่ประมาณ 24,394  ไร่  หรือ 44.13 ตารางกิโลเมตร ยกฐานะจากสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลควรรู  เมื่อวันที่  29  มีนาคม  พ.ศ. 2539  ปัจจุบันมีหมู่บ้านทั้งหมด  9  หมู่  ประชากรจำนวน  6,265  คน  ครัวเรือนทั้งหมด  1,654  ครัวเรือน  อาชีพหลักคือ การทำนา ทำสวนยาง  รองลงมาคือ เลี้ยงสัตว์   ที่ค่อนข้างนิยมคือ การเลี้ยงวัวชน และเลี้ยงไก่  เป็ด  แพะ  และเลี้ยงปลา การปลูกพืชผัก รูปแบบเกษตรผสมผสาน ประชากรมีรายได้ (จากการสอบถาม) ประมาณกว่า 24,000 บาท/คน/ปี  ซึ่งสังเกตว่าแค่ผ่านเกณฑ์รายได้ขีดความยากจนของ จปฐ. คือ 23,000 บาท/คน/ปีเท่านั้น (เป็นตำบลที่ยากจนที่สุดมาก่อนในจังหวัดสงขลา)

องค์การบริหารส่วนตำบลควนรู  ปัจจุบันได้รับการพัฒนาจากอดีตเข้าสู่ยุคต่อยุค  จนถึงปัจจุบันมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล คือ นายถั่น  จุลนวล  นายศักดิ์ชัย  พลูผล  กำนันดีเด่น  ปี 2550  และบุคคลที่สำคัญในการจัดทำแผนแม่บทชุมชนคือ คุณอัครชัย ทศกูล  (อดีตผู้นำนักศึกษายุคเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516) เป็นประธานแผนแม่บทชุมชนตำบลควรรูและเป็นประธานเครือข่ายแผนแม่บท ชุมชนจังหวัดสงขลา      
            
องค์การบริหารส่วนตำบลควนรู  ผ่านร้อนผ่านหนาว ล้มลุก ล้มเหลว ขัดแย้ง แตกแยก แบ่งฝ่ายกันมาแล้วมากมายในอดีตเช่น การเลือกตั้งในทุกๆ ระดับ แข่งขันและต่อสู้กันอย่างรุนแรงไม่แพ้ในที่อื่นๆ แม้กระทั่งในเครือญาติกัน เกิดจุดเปลี่ยนที่สำคัญในปี 2544  เริ่มวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นมากมายหลายด้าน เกิดประสบการณ์ที่สั่งสมหลายอย่าง ว่าที่ผ่านมาล้วนแล้วแพ้ทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายชนะ และฝ่ายที่แพ้ มีการจุดประกายวิพากษ์บนเวทีต่างๆ จนเกิดเครื่องมือหรือกลไกที่สำคัญ คือ การมีผู้นำที่ดี มีลักษณะผู้นำที่ดี มีการคัดสรรผู้นำในแต่ละระดับโดยผ่านกระบวนการจากวงต่างๆ ทั้งวงคุยธรรมดา และบนเวทีแบบมีส่วนร่วม เช่นจาก พระสงฆ์ ครู ผู้นำชุมชน ชาวบ้านที่สำนึกสาธารณะรักถิ่นฐาน สร้างโอกาสให้ทุกๆ คน เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สิ่งสำคัญที่ต้องมีให้ครบ คือ บ้าน วัด โรงเรียน และส่วนราชการ  โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
       

องค์การบริหารส่วนตำบลควนรู  พัฒนาตามรูปแบบการปกครองในระบบประชาธิปไตยโดยแท้จริง โดยมีการจัดตั้งองค์กรคือ
สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นตำบลควนรู   ซึ่งประกอบด้วยการคัดสรรผู้นำมาจากชุมชนของทุกคน หมู่บ้านละ 5 คน รวมเป็น  45 คน จัดฝึกอบรม  ศึกษาดูงาน มอบหมายภารกิจแต่ละคณะฯ  โดยการศึกษาดูงานของผู้นำชุมชนตำบลควนรู  และกลุ่มองค์กรต่างๆ ได้ออกไปศึกษาเรียนรู้ยังนอกพื้นที่ของตนเองทั้งภายนอกและภายในมาอย่างมากมาย  เก็บเกี่ยวประสบการณ์โดยตรงจากหมู่บ้านและตำบลต้นแบบอย่างตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง  จังหวัดนครศรีธรรมราชมาอย่างโชกโชน  จนปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลควนรู  มีองค์กรที่สำคัญดังนี้  องค์กรทางการเงิน  มีกลุ่มออมทรัพย์  13  กลุ่ม  เงินทุนหมุนเวียนกว่า 120 ล้านบาท  ปัจจุบันเป็น  สถาบันการเงินชุมชนตำบลควนรู องค์กรทางการศึกษา องค์กรสตรี  อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อ.สม.)  องค์กรศาสนาและศิลปะวัฒนธรรม องค์กรผู้นำ องค์กรเยาวชน องค์กรสื่อ องค์กรเกษตรอินทรีย์  องค์กรแม่บ้าน  และองค์กรอาชีพ  
                
ปัจจุบันยกระดับและพัฒนาไปเป็น
สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นตำบลควนรู ทำหน้าที่เป็น แกนนำหลักของชุมชนมีการบริหารจัดระบบโครงสร้างการบริหารสภาฯ  และมีคณะกรรมการปฏิบัติภารกิจร่วมกันทุกๆ ด้าน  และประชุมทุกวันที่ 20 ของเดือน สรุปบทเรียน ถอดบทเรียน ทบทวน กำหนดทิศทาง และแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาครบทุกด้านเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของชุมชนตำบลควนรู เช่น ยุทธศาสตร์หลัก                  
1.  ด้านการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้อย่างครบวงจร
                  
2.  ยุทธศาสตร์อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
                  
3.  ยุทธศาสตร์พัฒนาอาชีพและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน
                  
4.  ยุทธศาสตร์ตำบลควนรูน่าอยู่ ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
                  
5.  ยุทธศาสตร์เชิดชูภูมิปัญญา  ส่งเสริมศาสนาและศิลปะวัฒนธรรม
                  
6.  ยุทธศาสตร์พัฒนากิจกรรมสตรี  เยาวชน  ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ
7.  ยุทธศาสตร์การกีฬา  นันทนาการ  และส่งเสริมสุขภาพอนามัย                  
8.  ยุทธศาสตร์น้ำไหล  ไฟสว่าง  หนทางมี (พื้นฐาน)
                  
9.  ยุทธศาสตร์เชื่อมโยงประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรอื่นอย่างมีส่วนร่วม
      
            
ในปัจจุบันมีโครงการที่ดำเนินการอยู่กว่า 17 โครงการ เช่นโครงการคนดีศรีควนรู  โครงการจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชน (ซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดคลื่นหนึ่งของจังหวัดสงขลาและใกล้เคียงคือคลื่น 101.00
MHz  มีนักจัดรายการวิทยุมากถึง 76 คน) โครงการพิพิธภัณฑ์ตำบล  โครงการองค์การบริหารส่วนตำบลสัญจร  เป็นต้น  ผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ที่สำคัญของตำบล เช่นข้าวซ้อมมือ  จักรสาน  เย็บผ้า  ดอกไม้จันทน์  น้ำพริกสมุนไพร  ขนมไทย  กลุ่มเลี้ยงโคขุน  เลี้ยงจระเข้  ขนมปั้นสิบ  ผลิตภัณฑ์จากกาบมะพร้าว โดยได้รับงบประมาณจากการทำแผนชุมชน  โครงการขอรับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลควนรู  และส่วนราชการภายนอกอื่นๆ ด้วย                  
ผลสัมฤทธิ์และความพึงพอใจที่สามารถแก้ปัญหาได้ของผู้มารับบริการและผู้มาเยือนจนกระทั่งได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย เช่น รางวัลชนะเลิศตำบลพัฒนาดีเด่น  ประจำปี 2546 และปีก่อนเช่น การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยประจำปี 2540   ปี 2541  ตลอดจนชนะเลิศการจัดการเลือกตั้งองค์กรบริหารส่วนตำบลเรียบร้อยที่สุด เมื่อปี 2547 และรางวัลอื่นๆ อีก  ทั้งในด้านปัจเจิกบุคคล  และโดยชุมชน
        
          
ท่านนายกถั่น  จุลนวล  และแกนนำที่สำคัญของสภาองค์กร      ได้ให้ข้อคิดที่สำคัญว่า
“…พัฒนาคนให้คิดเป็น ทำเป็น บนความตัดสินใจร่วมกัน ตามระบบประชาธิปไตย สู่ความยั่งยืนด้วยปรัชญากระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน.......                  

องค์การบริหารส่วนตำบลควนรู  เมื่อวานนี้จึงไม่เหมือนในวันนี้ 
เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ  ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน   
คำสำคัญ (Tags): #แผนแม่บทชุมชน
หมายเลขบันทึก: 161319เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2008 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2012 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

หวัดดีคับ

  • หลายๆชุมชน เขาทำงานพัฒนาไปได้ไกลแล้ว น่าจะเป็นต้นแบบแถวๆบ้านเราได้บ้าง แต่ ผู้นำชุมชน/ที่ปรึกษา/คนในชุมชน บ้านเรา พร้อมหรือยัง.????
  • สวัสดีครับลุงขนุน
  • ขอบคุณมากครับที่นำมาแลกเปลี่ยน

* หวัดดีครับคุณพี่

* เรื่องแผนชุมชนผมคิดว่าพี่มีความชำนาญอยู่แล้วครับ

* ขอให้สนุกกับการเดินทางสู่บางกอกนะครับ

อัครชัย ทศกูล(บินหลาปุ่นอัครชัย FM101MHZs)www.rattaphumcity.com

สวัสดีครับลุงขนุน

ผมมาอ่านเจอโดยบังเอิน ขอบคุณครับ ที่ช่วยถ่ายทอด นำเรื่องราวจากตำบลควนรู ชุมชนเล็กๆมาเล่าสู่กันฟัง ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ เพราะแต่ละชุมชนล้วนมีอัตลักษณ์ของตัวเอง มีศักศรีมีบริบททางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป

ซึ่งสามารถศึกษาเรียนรู้และนำไปปรับประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับชุมชนของตัวเองได้ ถ้าชุมชนต่างๆได้เกิดการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายก็ดีนะครับ ก็จะเกิดเป็นพลังความร่วมมือพลังีทางสังคม ซึ่งจะนำไปสูความเป็นชุมชนเข้มแข็งต่อไป เพราะถ้าชุมชนส่วนใหญ่เข้มแข็ง ก็เท่ากับฐานรากของประเทศแข็งแร็ง ประเทศก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย

ลุงขนุนรู้เรื่องควนรูดีมากเลยครับ สงสัยเคยไปเที่ยวที่ควนรูแล้วแน่ๆเลย ถ้าเคยไป ก็ต้องขอโทษนะครับที่จำไม่ได้ เพราะเดือนหนึ่งๆมีคณะต่างๆมาดูงานเยอะมากเลย....เดี๋ยวนี้ที่ตำบลควนรูได้มี "สภาองค์กรชุมชน" เกิดขึ้นแล้วนะครับ(ตาม พรบ.สภาองค์กรชุมชน ปี 2551)ได้เปิดประชุมเป็นประฐมฤกษ์ของภาคใต้ เมื่อวันที่ 12มิ.ย 51ที่ผ่านมานี่เอง นับเป็นมิติใหม่ของการพัฒนา ที่ยึดเอาชุมชนเป็นศูนย์กลาง ชาวบ้านเป็นเจ้าของเรื่อง บนกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ถือว่าเป็นการพัฒนาที่มาจากฐานรากจริงๆ....ก็ขอเรียนเชิญลุงขนุนและเพื่อนพ้องน้องพี่ ไปเยี่ยมควนรูอีกนะครับ...

สวัสดีคะ ลุงขนุนและคุณอัครชัย ทศกูล

ดิฉันมีความสนใจที่จะทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับแผนแม่บทชุมชนหรือการเป้นชุมชนเข้มแข็ง

ซึ่งคงจะยกกรณีศึกษา ชุมชนควนรูนี่แหละคะเพราะเคยไปศึกษาดูงานมาก้อแอบประทับใจอยู่

และเห็นพัฒนาการการพัฒนาของชุมชนมาโดยตลอดซึ่งมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก

และเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการเป็นแบบอย่างในการพัฒนาชุมชนอื่นๆ

จึงอยากจะขอคะแนะนำและคำปรึกษาในการทำเล่มด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท