10. "กันจีปุรัม" เมืองแห่งวัด: รัฐทมิฬ นาดู (7)


อินเดียอุดมไปด้วยโบราณสถานที่เป็น "มรดกโลก"

วันที่ 22 พฤศจิกายน (วันที่สาม) วันนี้ Dr. R. ขับรถฮุนไดทำในอินเดียคันเล็กๆ ใหม่เอี่ยมน่ารัก คุณ V นั่งรถมากับนักศึกษาไทยที่ไปศึกษาปริญญาเอก ด้านสันสกฤตที่เจนไน มารับฉันที่ที่พัก พี่ P ลงมาส่งจึงได้รู้จักกับทุกคน ฉันว่าเป็นการดีมากที่คนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนได้มารู้จักกัน เพื่อนๆ บอกว่าเพราะฉันมานี่แหละถึงทำให้เขาได้รู้จักกัน มีเครือข่ายที่กว้างมากขึ้น

     ฉันคิดว่าเรื่องการสร้างเครือข่าย สร้างมิตรนี่เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ต้องอาศัยความดีและรักษาไว้ให้เจริญงอกงาม ขอแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้หน่อย เพื่อนๆ ชาวอินเดียกลุ่มนี้เห็นคุณค่าของมิตรภาพมาก ทั้งๆ ที่หลายท่านอาวุโสกว่าฉัน ทุกท่านก็มีภารกิจในการทำมาหากินทุกวัน แต่ทุกท่านก็พยายามผลัดเปลี่ยนกันมาอำนวยความสะดวกให้เพื่อนคนไทยคนนี้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมเจนไนให้ได้มากที่สุด ดีที่สุดในช่วงเวลาสั้นๆ ฉันซาบซึ้งใจจริงๆ ดังนั้นฉันจึงต้องแบ่งปันประสบการณ์นี้ด้วยการเขียนบันทึกเพื่อสื่อต่อไปยังท่านผู้อ่านชาวไทยที่สนใจเรื่องราวของอินเดียให้ได้ทราบต่อไป ฉันมีคำตอบในเรื่องนี้ จู่ๆ เพื่อนๆ เหล่านี้จะลุกขึ้นมาเสียสละเช่นนี้โดยไม่มีที่มาที่ไปคงไม่ใช่ เพราะฉันไม่ใช่คนสำคัญอะไรต่อชีวิตเขา แต่เพราะความดีของ Dr. Amorn (เรียกแบบไทย) เพื่อนที่ช่วยคิดเรื่องการเดินทางในครั้งนี้ซึ่งเป็นผู้ที่รักษามิตรภาพของเครือข่ายเหล่านี้ไว้ด้วยการช่วยเหลือ และเป็นผู้ให้อยู่เสมอ ต้องให้เครดิตกับความดีของเพื่อนคนนี้ที่มีต่อเพื่อนชาวอินเดียของเขา รวมทั้งตอนที่สถาบันฯ วิจัยภาษาฯ  มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติเมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา เราได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพที่ดีเยี่ยม ให้ความช่วยเหลือเพื่อนๆ ในภูมิภาคในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งๆ เพื่อนๆ กลุ่มนี้ด้วยเพื่อให้การมาร่วมประชุมในครั้งนี้สร้างความประทับใจให้ทุกท่านมากที่สุด เพื่อนๆ กลุ่มนี้ประทับใจมาก ยังพูดต่อๆ ไปจนทุกวันนี้ การเป็นผู้ให้ย่อมได้มิตรเสมอ ฉันเชื่อในการทำความดีต้องได้ดี  ฉันมักพบกับคนดีๆ เสมอในดินแดนใหม่ๆ ที่ไป หากเจอเหตุอันไม่เป็นที่พอใจบ้างก็ไม่หนักหนานัก

ฉันสังเกตว่าเพื่อนๆ ชาวอินเดียกลุ่มนี้ หากไม่เร่งรีบมาก เขาจะส่งเพื่อนถึงในบ้านคือตามไปคุยธุระต่อให้เสร็จ ไม่คุยกันระหว่างอยู่ในรถ ไม่เหมือนคนไทยที่เวลาเป็นเงินเป็นทองมาก เราส่งเพื่อนแค่หน้าประตูหรือหน้าปากซอยเท่านั้น ไม่อยากเสียเวลาหรือรู้สึกรบกวนเพื่อนที่จะลงไปนั่งคุยต่อ เรามีความเกรงใจและมีความเป็นส่วนตัวสูงมาก (คนในเมืองใหญ่) แต่คนอินเดียไม่หวงพื้นที่ส่วนตัวในบ้าน เราต้องเข้าใจวัฒนธรรมนี้ด้วย

     เอ้า! เดินทางซะที วันนี้เพื่อนๆ จะพาไปชม เมืองแห่งวัด (City of temples) ออกไปจากเจนไนทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 70 กิโลเมตร ชื่ออำเภอกันจีปุรัม (Kanchipuram~Kanch~ Kancheepuram) เมืองนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์คือเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรปัลวะ (Pallava Kingdom)  ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 (www. Kanchipuram district - Wikipedia, the free encyclopedia.mht:  9 Dec. 07) และเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของฮินดูหนึ่งในเจ็ดเมืองของอินเดีย[1] ปัจจุบันนี้เมืองนี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งผ้าไหมสวย เมืองแห่งวัดประกอบด้วยวัดวิษณุ 18 แห่ง และวัดศิวะ 108 แห่ง เพื่อนขับรถออกไปทางนอกเมืองเจนไน สภาพชานเมืองคล้ายๆ กับที่เวียดนามยังไงยังงั้นเลย เส้นทางนี้เป็นถนนไฮเวย์สี่ช่องทาง แต่รถบรรทุกเยอะมาก คล้ายกับเป็นเขตอุตสาหกรรมใหม่ของเมืองเจนไนเพราะมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่กระจายๆ ตามเส้นทาง ฉันเห็นโรงงานรถฟอร์ดที่ช่างไทย 2 คนที่ฉันพบบนเครื่องบินมาสอนงานด้วย ทราบว่าบริษัท ซีพีตั้งอยู่ที่เจนไนเช่นกันแต่ไม่ทราบว่าที่ตั้งอยู่ที่ไหน  เราเดินทางมาได้สักพัก Dr. V ซึ่งเป็นนักโบราณคดี เธอพยายามโทร. ติดต่อกับมหาวิทยาลัยศรี จันทราเสกขาเรนดรา สารวัสที วิศวะ มหาวิทยาลายา (Sri Chandrasekharendra Sarawasthi Viswa Mahavidyalaya)- ชื่อมหาวิทยาลัยนี้ยาวที่สุดเท่าที่เคยพบมา  ซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางที่เราจะผ่านไปแวะเพื่อขอเชิญอาจารย์ที่รู้เรื่องเมืองกันจีปุรัมไปด้วย Dr. R ขับรถแวะที่ร้านอาหารข้างทาง (คงเป็นจุดแวะพักของนักเดินทาง) แวะเข้าไปก็เห็นแต่ผู้ชายทั้งร้าน มีฉันกับ Dr. V ที่เป็นผู้หญิง เราสั่งอาหารง่ายๆ มาทาน ฉันสั่งปูรี (ซาลาเปาทอด) 1 ชุด ไปล้างมือก่อน อ่างล้างมือไม่มีสบู่ให้ ฉันเลยไปเข้าห้องน้ำตีท้ายครัวเลย ปรากฎว่าเห็นหม้อกองกันสุมๆ ไม่อยากพินิจพิเคราะห์รายละเอียดมาก ไปเข้าห้องน้ำออกมา รอสบู่เพื่อล้างมือนานพอควร Dr. V ช่วยเร่งขอให้ด้วยจนได้มาในที่สุด สักพักอาหารออกมาเสริฟครบทุกคน ของฉันเป็นปูรีที่ทานกับผัดหรือยำมะเขือใส่พริกหยวก (รสชาติประมาณนั้น) รสดีทานหมดย่างรวดเร็ว ตบท้ายด้วยกาแฟ Dr. R เลี้ยง พวกเราออกเดินทางต่อไป

     สองข้างทางผ่านมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่ง เพื่อนบอกส่วนใหญ่เป็นคณะวิศวะ กับแพทย์ที่นักการเมืองมาสร้างเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง  เราไปถึงมหาวิทยาลัยที่ชื่อยาวมากซึ่งเชี่ยวชาญด้านวิศวะ และสันสกฤต  ทราบว่าลูกหลานพราหมณ์ที่เมืองไทยสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนี้เช่นกันมหาวิทยาลัยนี้ใหม่และใหญ่ มีสถาปัตยกรรมสวยงามดี แต่สภาพแวดล้อมไม่มีต้นไม้ใหญ่เลย มีหญ้าขึ้นอยู่ทั่วไป ดูแล้วร้อนมากทั้งๆ ที่ไม่ใช่ฤดูร้อน แต่พอเข้าไปในตัวตึกกลับมีลมพัดผ่านดี ซึ่งทำให้พวกเราแปลกใจมาก ผิดกับอาคารเรียนที่เมืองไทย บางหลังข้างนอกออกแบบสวยงามดูดี ทันสมัยมาก แต่อยู่ไม่สบายเพราะต้องใช้เครื่องปรับอากาศตลอดเวลา หากไฟดับก็อยู่ไม่ได้ แต่ตึกที่นี่ลมพัดผ่านดี เดินขึ้นไปชั้นบน ผ่านห้องเรียนที่มีนักศึกษาเรียนไม่มาก อาจารย์นั่งหน้าชั้น สอนกันอยู่ เข้าไปที่ห้องสุดท้าย เหมือนกั้นห้องเรียนออกเป็นสองส่วนคือส่วนหนึ่งไว้สอน อีกส่วนเป็นห้องทำงานอาจารย์ โต๊ะตัวเล็กๆ ที่อุดมไปด้วยเอกสารและเศษชิ้นส่วนวัตถุโบราณ ที่นี่มีการศึกษาทางโบราณคดีด้วย (นึกถึงห้องเรียนเมืองไทย อาจารย์บางคนก็ต้องใช้ power point เท่านั้นจึงจะสอนได้ เครื่องไม้เครื่องมือที่จะฉายราคาถูกๆ เสียที่ไหนล่ะ แถมเราผลิตเองได้หรือเปล่าก็ยังสงสัยอยู่ เราทันสมัยกันจนเกินตัว ไม่พอเพียงเลย) เราแนะนำตัวกันครบแล้ว ได้อาจารย์ชายผิวดำคล้ำไปกับเราด้วย ลาอาจารย์เจ้าของห้องไปก่อนเพราะขากลับต้องแวะมาส่งอาจารย์ท่านที่ไปกับพวกเรา พวกเราสามคนนั่งข้างหลัง อาจารย์ผู้คมเข้มนั่งหน้า รถคันงามเล็กๆ สามารถพาคน 5 คนลุยต่อไปได้ สงสารรถของDr. R เพราะยังใหม่ๆ ที่ต้องมาลุยถนนโขยกเขยกบางตอนในเมืองกันจีปุรัม  เมืองใหญ่ทีเดียว คนเยอะ รถก็แยะ ฝุ่นก็เยอะแยะ

     เราแวะที่วัดแรกชื่อวัดวาราดาราชา เปรุมัล (Varadaraja Perumal Temple) เป็นวัดวิษณุ ต้องถอดรองเท้าฝากไว้ด้านนอก Dr. V กับอาจารย์ไกด์ไปขออนุญาตให้คนไทยสองคนนี้ได้เข้าไปชม หน้าประตูมีคนเป็นโรคเท้าช้างนั่งขอทานอยู่ ประตูวัดใหญ่โตอลังการมาก ประตูวัด ปราสาท ราชวังของอินเดียไม่มีเล็กๆ  เป็นอภิมหาประตูทั้งนั้น เราเคยขำกับความใหญ่โตของกุญแจประตูวัดๆ หนึ่งนอกเมืองเดลลี คล้ายกับเป็นเมืองคนยักษ์ยังไงยังงั้นเลย คนอินเดียส่วนหนึ่งมีรูปร่างคล้ายฝรั่งสูงใหญ่ดังนั้นพวกเครื่องประดับในสมัยก่อน เช่น สร้อยคอของกษัตริย์นี่เส้นใหญ่ หนามาก จนจินตนาการว่าผู้สวมใส่คงจะตัวใหญ่ไม่น้อยทีเดียว (สังเกตจากเครื่องประดับที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ที่เดลลี) เราสามคนเดินเข้าไปรอข้างในวัดสักพักสองท่านที่ไปขออนุญาตเดินกลับมาบอกว่าได้รับอนุญาตให้ชมได้โดยไม่ต้องเสียเงิน ซ้ายมือศาลาร้อยเสา (100-pillared hall) มีการแกะสลักเสาเป็นเทพต่างๆ เรื่องราวของมหากาพย์มหาภารตะบ้าง รามายณะบ้าง นักโบราณคดีทั้งอินเดียและไทยต่างดื่มด่ำกับความงดงามของเรื่องราวที่ปรากฏออกมาในภาพสลักบนเสาหินต่างๆ เหล่านี้  อธิบายกันอย่างเข้าใจ ฉันไม่มีพื้นทางศิลปะ วรรณกรรมอินเดียได้แต่ชมความงามเท่านั้น สิ่งที่เป็นจุดเด่นของศาลานี้คือหินที่สลักออกมาเป็นโซ่เส้นเดียวห้อยลงมาที่มุมศาลา (โปรดชมภาพแรกค่ะ)

เดินชมรอบๆ ศาลา มีสระน้ำอยู่หลังศาลาร้อยเสา มีคนนั่งให้อาหารปลาอยู่ เสร็จแล้วพวกเราก็ออกมาภายนอก ผ่านกลุ่มผู้สูงอายุนั่งอยู่กลางลานวัด ผู้หญิงแต่งตัวสีสันสดใส ผู้ชายใส่หมวกคล้ายทหารอากาศสีขาว นุ่งชุดขาว ฉันขอถ่ายรูปและยกมือไหว้ขอบคุณ ท่านผู้สูงอายุยิ้มให้อย่างใจดี กลุ่มเราเดินออกมาผ่านประตูวัดบานยักษ์ประดับด้วยลวดลายดอกไม้บนบานประตูสวยงาม เราแลกรองเท้าคืนจ่ายเงินเท่าไรไม่ทราบเพราะมีเจ้าภาพอีกตามเคย มีผู้คนมาวัดพอสมควร ชีวิตผู้คนหน้าวัดซึ่งเป็นชุมชนมีความคึกคัก ผู้คนเดินทางไปมาตามท้องถนนส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานและมอเตอร์ไซค์ อาคารบ้านช่องมีทั้งชั้นเดียว และสองชั้นเป็นส่วนใหญ่  พวกเราเดินทางผ่านชุมชนไป เราเห็นกลุ่มหญิงสาวนั่งอยู่หน้าร้านๆ หนึ่ง มีเจ้าสาวอยู่ในนั้นด้วยจึงขอไปถ่ายรูปและกล่าวแสดงความยินดีกับเขาๆ ยิ้มและขอบคุณ วัวก็ค้นหาอาหารกินในถังขยะที่ตั้งใกล้ๆ กันนั่นแหละ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

          

     อีกวัดหนึ่งที่ไปคือวัดเอกัมบาเรสวาราร (Ekambareswarar Temple) วัดนี้เก่าแก่วัดหนึ่งที่มีความสูงถึง 57 เมตร มีประวัติที่เด่นคือมีต้นมะม่วงที่มีอายุเก่าแก่กว่าสองพันปี (แต่ต้นที่เห็นปัจจุบันเป็นต้นปลูกใหม่)พวกเราถอดรองเท้าฝากไว้ภายนอก เดินเท้าเปล่าเข้าไปไกลกว่าวัดอื่น ในวัดมีระเบียงสี่ด้านที่มีทางเดินเป็นห้องโถงที่ประกอบด้วยเสาสลักจากหินพันต้น สัดส่วนของความโค้งของเพดานกับเสาที่รองรับนั้นได้สมดุลและสวยงามมาก การคำนวณมีความแม่นยำมาก เราเห็นว่ามีบางต้นเกิดความชำรุดทรุดตัวลง คนรุ่นใหม่ไม่สามารถซ่อมแซมให้มีสภาพเหมือนเดิมหรือทำให้เกิดความกลมกลืนเข้ากับของเดิมได้ แต่กลับใช้แท่งเหล็กสีแดงๆ ขึ้นไปค้ำเสาหินที่ชำรุด ทำให้ประจานความสามารถของคนรุ่นใหม่ที่ไม่สามารถเทียบเคียงกับคนรุ่นเก่าได้เลย

           

     เดินชมวัดโดยรอบ เสร็จแล้วออกมาภายนอกเห็นคนนอนอยู่ที่พื้นลานวัด ไม่ทราบว่านอนเพราะง่วงหรือเพราะไม่มีบ้านอยู่แอบถ่ายรูปไว้ มีผู้คนมาวัดกันเรื่อยๆ ทั้งคน ทั้งฝูงวัวก็เดินไปที่วัด เรามารับรองเท้าเดินกลับมาที่จอดรถซึ่งอยู่ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ ชากุนทาลา จากันนาทัน (Shakuntala Jagannathan) เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนที่ทำบ้านแบบทมิฬ นาดูให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ภายในแสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดงไว้ในห้องต่างๆ มีหุ่นที่เป็นตัวเจ้าของบ้าน ดูภูมิฐานหน้าตาเหมือนแมนจูในภาพยนตร์จีนยังไงยังงั้นเลย เพราะศีรษะด้านหน้าล้าน มีแต่เปียด้านหลัง ส่วนการแต่งกายเป็นอินเดียใต้ นั่งอยู่บนชิงช้ายักษ์ที่แขวนกลางห้อง ด้านหน้าชิงช้าของเจ้าของบ้านเป็นผ้าทอสวยงามผืนใหญ่พาดไว้บนไม้แล้วมีเชือกดึงเหมือนพัดโบกให้เจ้านายที่นั่งบนชิงช้า คิดว่าเย็นไม่น้อย เพราะในตัวบ้านแบบทมิฬ นาดูจะเย็น ในห้องครัวมีอุปกรณ์มากมายที่ทำด้วยทองเหลือง ดูแข็งแรงดี มีหลายขนาด มีหม้อ กระทะใบใหญ่ๆ (อีกแล้ว) คิดว่าในบ้านนี้คงเลี้ยงคนจำนวนมากทีเดียว ดูจนครบทุกห้องที่แสดงไว้ เสร็จแล้วไปต่อชมอีกหนึ่งวัด

                     

     วัดนี้ชื่อ ไกลาสนาทา (Kailasanatha Temple)ป็นมรดกโลก สร้างด้วยหินทราย สวยงามต่างไปจากวัดที่ไปชมมา แต่กาลเวลาผ่านไป ธรรมชาติทำลายรายละเอียดของภาพสลักบนหินทรายให้หลุดล่วงไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่ยังคงความสวยงามและรายละเอียดไว้ได้เป็นอย่างดี

     ในแต่ละช่องที่เรามองเห็นเรียงรายอยู่นี้  ศาสนิกสามารถปีนฐานลอด เข้าไปในช่องว่างที่เจาะหินไว้ขนาดให้คนเข้าไปนั่งทำสมาธิได้

         

     เดินถ่ายรูปพร้อมชมความงาม ประกอบคำอธิบายเสร็จ ออกมา แดดร้อนมาก กระหายน้ำเพราะน้ำที่นำติดมาจากร้านอาหารตอนเช้าหมดแล้ว ขึ้นรถเข้าเมืองไปหาอาหารกลางวันทานกัน เวลาอาหารกลางวันของชาวอินเดียราว 13.30 น. เข้าเมืองไปทานร้านหรูของเมือง นักท่องเที่ยวแวะที่นี่ ร้านแน่นมาก มีสองชั้น เราได้ที่นั่งครบ ผลัดกันไปล้างมือ (เกรงจะเสียม้า)ฉันสั่งข้าวผัดเจ วันนี้หิว เห็นแขกคนอื่นๆ ยืนรอคิวยาวทีเดียว เราทานกันรวดเร็ว เสร็จแล้วล้างมือ เข้าห้องน้ำ ออกมา รู้สึกเหนื่อยเล็กน้อยเพราะแดดร้อนมาก ขากลับฉันตั้งใจตีตั๋วนอนเลย จนใกล้ถึงมหาวิทยาลัย (ชื่อยาว)จึงตื่น ทันได้แวะไปพบ Registrar ของมหาวิทยาลัย ฉันไม่ทราบว่าตำแหน่งนี้เทียบเท่าใครในมหาวิทยาลัยไทย แต่ดูแกมีราศี ผิวไม่คล้ำเหมือนคนทั่วไป พูดจาฉะฉานราวกับอธิการบดี ห้องทำงานก็หรูกว่าห้องพักอาจารย์ที่เห็นเมื่อเช้า พูดคุยแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกัน แต่วิธีพูดของแกพูดไม่ค่อยเข้าหูคนฟังยังไงไม่ทราบสำหรับแขกหน้าใหม่อย่างพวกเรา นั่งคุยสักพักก็ลาลงมาห้องพักอาจารย์เมื่อเช้าเพื่อพบกับคนเดิม ส่งอาจารย์ไกด์ที่ไปกับพวกเราด้วยความขอบคุณแล้วลากลับ  ขากลับรถเยอะอีกตามเคย ตอนเข้าเมืองมา รถติดเพราะได้เวลาเลิกงาน เห็นมีร้านขายเหล้า (Wine shop) ถามเพื่อนว่ามีร้านแบบนี้ด้วยหรือ เพื่อนบอกมีของรัฐบาล เปิดเผย เย็นวันศุกร์และเสาร์คนเยอะมาก ไม่ว่ากันเพราะเขาเปิดเป็นร้านเฉพาะ ไม่เหมือนบ้านเราที่หาซื้อเหล้าได้ทุกที่แม้กระทั่งหน้าสถานศึกษา พรรคพวกส่งถึงบ้าน ขอบคุณและอำลากัน

     ฉันขึ้นบ้านไปนั่งพักคุยกับพี่สาวสักพัก ชวนพี่ออกไปเดินเล่นกัน วันนี้เปลี่ยนเส้นทางเดิน ผ่านบริเวณย่านที่พักอาศัยที่เป็นระเบียบ สวยงาม เราคุยกันเรื่องส่วนตัวมากขึ้น เรามีความคล้ายกันตรงที่พูดตรงๆ พอมืดแล้วก็เดินกลับบ้านกัน พี่ก็ทำซุบให้ทานก่อน เราทานด้วยกัน เสร็จแล้วเว้นช่วงพี่เข้าครัวทำอาหารเย็นต่อ ฉันก็นั่งเป็นคุณนายรอทานอย่างเดียว เกรงใจมากแต่แกไม่ยอมให้ช่วยเลยช่วยไม่ได้ นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ จดบันทึกประจำวัน ประมาณ 19.30 น. ได้เวลารับประทานอาหาร วันนี้พี่ทำแกงผักใส่ถั่วทานกับข้าวสวย พี่อุตส่าห์ไปซื้อช้อมส้อมใหม่มาให้ฉันใช้ทานข้าว ของพี่ได้ช้อนใหม่ (ไม่มีส้อม)ทานอาหารร้อนๆ และพี่ใส่เครื่องเทศไม่มากฉันทานได้สบายๆ อร่อยด้วย  ทานเสร็จนั่งเล่นกันสักพักเริ่มง่วงแล้วเพราะยังไม่หายเหนื่อยจากการเดินทาง ใครว่าเที่ยวอย่างเดียวไม่เหนื่อย ถ้าเจอแดดร้อนๆ นี่จะทำให้เพลียและเหนื่อยเร็ว

     ขอตัวไปนอนก่อนค่ะ



[1]  หกเมืองศักดิ์สิทธิ์ได้แก่พาราณสี (Varanasi), อโยธยา (Ayodhya), มธุรา (Mathura), ดวารากา (Dwaraka), ฮริดวาร (Haridwar), และ อุชเชน (Ujjain).

หมายเลขบันทึก: 160844เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2008 02:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท