4. สัมผัสแรกที่เจนไน รัฐทมิฬ นาดู อินเดียใต้ (ตอน 2)


"คนไทยใจไม่สู้งาน"- ทัศนะหนุ่มนักธุรกิจชาวเจนไน
 

www.mapsofindia.com/maps/tamilnadu/tamilnadu-district.htm (6 December 2007)

               สนามบินเจนไนไม่ใหญ่มาก ตอนที่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ถามหา visa ฉันบอกพาสปอร์ตราชการไม่ต้องมีวีซ่า เขาไม่แน่ใจไปถามลูกพี่ๆ บอกไม่เกิน 3 สัปดาห์ไม่ต้องมี แกจึง stamp ผ่านให้ มารอรับกระเป๋านานมาก เกือบ 20 นาทีหรือกว่านั้น ช่างคนไทย 2 คนไปแล้ว ฉันกว่าจะได้ครบชะเง้ออยู่หลายระลอกทีเดียว

            ออกมาข้างนอกสนามบิน เลี้ยวซ้ายเดินเรียบลูกกรงสแตนเลสที่กั้นคนมารับเพื่ออ่านป้ายชื่อที่คนกำลังยืนถือเพื่อมารับคนของเขา เดินไปเรื่อยๆ จนเจอชายผิวคล้ำชูป้ายชื่อฉันนุ่งโสร่งพับครึ่งที่หน้ามีสัญลักษณ์สีขาวสามขีดพาดบนหน้าผากพร้อมกับชายร่างสูงมีหนวด และสตรีผมสองสี ใส่แว่นทั้งคู่  ฉันยังไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ได้แต่ยกมือไหว้ ชายที่นุ่งโสร่งเข็นรถขนกระเป๋าฉันไป ฉันเดินไปกับชายหนุ่มและสตรีสูงอายุ ตอนแรกคิดว่าเป็นแม่ลูกกัน ชายร่างสูงแวะไปเข้าห้องน้ำ เมื่อเดินไปถึงรถเก๋งฉันถามสุภาพสตรีว่าเป็นแม่ของผู้ชายร่างสูงคนนั้นหรือ แกบอกไม่ใช่ แกชื่อ Dr. P (ขอใช้ชื่อย่อนะคะ) ฉันจึงถึงบางอ้อเพราะเพื่อนเมล์บอกมาล่วงหน้าว่าฉันจะพักกับสตรีที่ชื่อนี้ ส่วนชายร่างสูงเป็นนักธุรกิจด้าน IT ที่คุ้นเคยกับคนไทยบ้างเพราะเป็นผู้ปกครองให้กับลูกชายของพราหมณ์ที่เรียนอยู่ที่เจนไน อีกทั้งเป็นเพื่อนของ Dr. A. เพื่อนฉันด้วย คุณสุภาพบุรุษนี้ชื่อคุณ S. แกเมล์บอกกำหนดการคร่าวๆ ให้ฉันทราบก่อนการเดินทางล่วงหน้า 1 วันแล้ว ฉันนั่งไปกับ Dr. P ข้างหลัง ขาเข้าเมืองรถติดมากเพราะมีจุดหนึ่งกำลังสร้างสะพานข้ามขนาดใหญ่ เราก็คุยแลกเปลี่ยนกันไปตลอดทาง เมืองเจนไนที่เห็นตามทางก็ยังไม่มีตึกสูงนัก รถราแน่นมาก ตุ๊กๆ (ริกชอ) ที่นี่สีเหลือง รถเมล์ดูเก่าๆ สองข้างทางมีต้นไม้บ้าง เมื่อผ่านที่ก่อสร้างสะพานไปแล้วรถแล่นคล่องตัวมากขึ้นไปจนถึงอพาร์ตเมนท์ของ Dr. P ซึ่งอยู่ชั้นสอง มีสองห้องนอน แกอยู่คนเดียว อีกห้องเป็นห้องทำงานของแก มีคอมพิวเตอร์ ชั้นหนังสือ เตียงนอน ฉันก็จะได้พักห้องนี้ มีห้องน้ำอยู่ติดกัน ใช้คนเดียวเพราะห้องนอนของเจ้าของบ้านก็มีห้องน้ำในตัว มีห้องครัว ห้องรับแขกและระเบียงตากผ้า กะทัดรัด น่าอยู่ดีสำหรับ1-2 คน เรานั่งคุยกันอยู่นาน ฉันมอบของที่ระลึกให้คุณ  

ในระหว่างนั้น คุณ P ไปทำชาร้อนมาให้กิน ชาที่นี่เป็นชานม ชานมที่อินเดียอร่อยมากทุกที่ คนอินเดียใช้ภาชนะทำด้วยสแตนเลสคุณภาพดี หนา ทนทาน (คนไทยที่เจอบนเครื่องบินแนะนำให้ฉันซื้อกลับไปใช้ด้วย) แก้วชาที่เป็นสแตนเลสไม่มีหูจับเก็บความร้อนไว้เป็นอย่างดีจึงทำให้ร้อนมือมากเวลาจับแก้ว เขามีเทคนิคการดื่มชาคือเวลาเสริฟเขาวางแก้วชาร้อนลงในหม้อ (แขก)ใบเล็กๆแทนที่รองแก้ว ผู้ดื่มต้องเทชาจากแก้วลงในหม้อเล็กจะเทหมดแล้วจึงเทกลับไปในแก้วหรือเทครึ่งหนึ่งลงไปในแก้วก็แล้วแต่ท่าน เทกลับไปกลับมาสัก 3-4 ครั้ง แล้วจึงแบ่งส่วนหนึ่งไว้ในแก้วค่อยๆ ดื่ม จากนั้นชาจะคลายร้อนและดื่มต่อไปจนหมดโดยไม่ต้องเทกลับไปกลับมาอีก  ทำให้ฉันนึกถึงเทคนิคการยกกาชาร้อนสูงๆ ให้ชาไหลแบบเป็นทางยาวเป็นงวงลงใส่ภาชนะ โชว์ลีลาเพื่อดึงดูดลูกค้ามากกว่า เทคนิคคล้ายคลึงกันแต่ที่อินเดียเพียงเทชากลับไปกลับมาฉันคิดว่าเป็นการคลายความร้อนของชามากกว่า

            บ่ายโมงกว่า คุณ K เพื่อนชาวเชนไนที่เคยไปประชุมนานาชาติในเดือนพฤษภาคม 2007 ที่สถาบันฯ ฉันจัดขึ้นได้มาพร้อมกับโปรแกรมสำหรับการไปทัศนศึกษา 3 วัน และนำเอกสารแผ่นพับที่เกี่ยวกับศิลปะ วัฒนธรรมที่แกมีอยู่มาให้ เห็นหน้าแกเหมือนเจอคนคุ้นเคยเพราะเราไปเที่ยวเขมรด้วยกันหลังจากประชุมนานาชาติครั้งนั้นเสร็จแล้ว ภาษาอังกฤษแกฟังยากกว่าคนอื่น เรานั่งคุยกันสักพัก คุณ S ชวนไปทานกลางวัน โดยคุณ K เป็นคนเลือกร้าน ชื่อ Sangeeta อยู่ในเมือง Dr. P เจ้าของบ้านไม่ไป

            ร้านอาหารนี้คนแน่นมาก เราขึ้นไปชั้นสอง ฉันสั่งข้าวผัดเจมาทาน คุณผู้ชายสองคนสั่งอาหารอินเดียทาน คนอินเดียใต้ทานด้วยมืออย่างคล่องแคล่ว ไม่เลอะเทอะเหมือนฉันๆ ไม่ทานด้วยมือเพราะไม่ถนัด ข้าวผัดเยอะมากทานไม่หมด พรรคพวกก็ไม่แบ่งทานด้วยจึงให้เขาห่อกลับ หลังอาหารมีไอศกรีม สมุนไพรเคี้ยวเพื่อดับกลิ่นอาหาร และมีหมากหวานที่ยัดไส้เครื่องหอมรสหวาน เคี้ยวเล่น เสริฟหลังอาหารในรูปกรวยเล็กๆ ห่อด้วยกระดาษสีน่ารักดี  เคี้ยวแล้วทำให้ปากหอม หมากฝรั่งอินเดียขนานแท้ค่ะ

            ทานอาหารเสร็จกลับมานั่งเล่นที่บ้านคุณ P เอาอาหารมาฝากพี่ P เจ้าของบ้าน คุณ K กลับบ้านไปบอกราว 15.30 น. จะมารับฉันไปพิพิธภัณฑ์ซึ่งภรรยาแกทำงานอยู่แถวนั้น พอได้เวลา คุณ S กลับไปทำงาน เกรงใจแกมากที่ต้องมาแกร่วรับฉันเกือบทั้งวัน แกบอกไม่เป็นไร งานแกสั่งทางเมล์ได้เพราะมีลูกน้องอยู่ประจำ แกมีเครือข่ายกับประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่ยังหาคนไทยเป็นตัวแทนในประเทศไทยไม่ได้ คนไทยไม่สู้งานและไม่อยากเรียนรู้โลกกว้าง ไม่เหมือนคนจีนนี่เป็นความเห็นของแก (น่าคิดนะคะ!)

หมายเลขบันทึก: 160189เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2008 22:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ

สนุกมากครับ

อ่านไปก็เห็นภาพตามไปด้วย

เห็นด้วยครับ ในประโยคที่ว่า คนไทยไม่สู้งานและไม่อยากเรียนรู้โลกกว้าง

ในขณะที่คนอินเดีย ตั้งแต่เด็ก ต้องสู้งานเพราะต้องเอาตัวรอด

ขอบคุณสำหรับเรื่องดีๆ ครับ

ด้วยความปรารถนาดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท