การเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวนา (๓)


โรงเรียนชาวนาจึงเปิดเวทีให้นักเรียนชาวนาได้มีโอกาสเรียนรู้อย่างอิสระในเรื่องระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อให้สามารถสร้างความรู้และเทคโนโลยีของตนเองขึ้นมาได้ใน 3 หลักสูตร คือ เรื่องแรกเป็นการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี ต่อมาก็เป็นเรื่องของการปรับปรุงบำรุงดินโดยไม่ใช้สารเคมี และเรื่องสุดท้ายเป็นการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้ถือเป็นหลักสูตร ถือเป็นความรู้เพื่อพัฒนานักเรียนชาวนาให้วัฒนา

การเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวนา (๓)
ขอนำรายงานของมูลนิธิข้าวขวัญ ตอนที่ ๓ มาลงต่อนะครับ เป็นตอนที่ว่าด้วยรูปแบบการเรียนรู้ของโรงเรียนชาวนา ซึ่งประกอบด้วยการเรียนรู้ ๓ หลักสูตร หรือ ๓ ระดับของความยาก โดยใช้หลักการจัดการความรู้ นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมต่อสภาพ/บริบท ของชาวนา ผมมีความเห็นว่า มขข. (มูลนิธิข้าวขวัญ) สามารถตีความและปรับใช้หลักการจัดการความรู้ได้อย่างชาญฉลาดที่เดียวครับ


ตอนที่ 3 จะพัฒนานักเรียนชาวนากันอย่างไร ?
อะไรคือทุกข์? อะไรคือความคาดหวัง? เราๆท่านๆได้เห็นการกำหนดเป้าหมาย เพื่อปักธงเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อจะร่วมกันแก้ไขโจทย์ที่ตั้งขึ้นจากปัญหาที่มีอยู่ อะไรเป็นกระบวนการจัดการความรู้ที่จะพัฒนานักเรียนชาวนา? โดยโรงเรียนชาวนามุ่งเน้นให้นักเรียนชาวนาเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้

<p align="center"> แผนผังการจัดการความรู้ เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรยั่งยืน </p> <p align="left">
จากแผนผังการจัดการความรู้ในข้างต้นนี้ เป็นแนวคิดและกระบวนการการจัดการความรู้ ซึ่งในตอนที่ผ่านมากได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การดำเนินงานในเวทีแรก คือ ตั้งโจทย์ปัญหา และเวทีที่ 2 คือ ตั้งเป้าหมายหรือการปักธงร่วมกัน นอกจากนี้ แผนผังยังเป็นเข็มทิศบอกทิศทางกระบวนการพัฒนาเพื่อการจัดการความรู้ของนักเรียนชาวนอีกอย่างเป็นระบบ
โรงเรียนชาวนาจึงเปิดเวทีให้นักเรียนชาวนาได้มีโอกาสเรียนรู้อย่างอิสระในเรื่องระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อให้สามารถสร้างความรู้และเทคโนโลยีของตนเองขึ้นมาได้ใน 3 หลักสูตร คือ เรื่องแรกเป็นการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี ต่อมาก็เป็นเรื่องของการปรับปรุงบำรุงดินโดยไม่ใช้สารเคมี และเรื่องสุดท้ายเป็นการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้ถือเป็นหลักสูตร ถือเป็นความรู้เพื่อพัฒนานักเรียนชาวนาให้วัฒนา
โดยหลักสูตรดังกล่าวนี้ จะสามารถตอบสนองความต้องการในการแก้ไขปัญหาต่างๆให้แก่นักเรียนชาวนาได้ พร้อมกันนั้น สิ่งที่เป็นความคาดหวังอันน้อยใหญ่ของนักเรียนชาวนา เมื่อครันที่จัดเวทีตั้งโจทย์และเวทีกำหนดเป้าหมายร่วมกัน นักเรียนชาวนาจะได้เห็นคำตอบ ซึ่งจะค่อยๆปรากฏและสัมฤทธิผลให้เห็นประจักษ์ไปอย่างละเรื่องสองเรื่อง หลักสูตรจะส่งเสริมให้นักเรียนชาวนาพัฒนาเพื่อวัฒนา
สิ่งที่เน้นเป็นสำคัญ คือ การจัดการความรู้ มูลนิธิข้าวขวัญจะร่วมมือกับนักเรียนชาวนาผ่านโรงเรียนชาวนา ด้วยกิจกรรมและวิธีการต่างๆ อันเป็นการส่งเสริมการจัดการความรู้ โดยโรงเรียนชาวนาจะต้องจัดกระบวนการให้นักเรียนชาวนาสามารถผสมผสานความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ เพื่อให้ก้าวไปสู่เป้าหมายสูงของของนักเรียนชาวนาทุกคน นั่นก็คือ การมีสุขภาวะที่ดี และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว ซึ่งนักเรียนชาวนาเองก็จะต้องปรับวิธีคิดในการทำนาปลูกข้าว
ตลอดทั้งหลักสูตร ระยะเวลา 2 ปี ในการเรียนรู้แต่ละสัปดาห์ นักเรียนชาวนาจะได้รับ การเติมความรู้ภาคทฤษฎีจากวิทยากรชาวบ้าน และลงมือปฏิบัติจริงในการเปลี่ยนแปลงกับไร่นาของตน และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในแต่ละสัปดาห์ โดยที่
นักเรียนชาวนาจะต้องฝึกทักษะการเรียนรู้ อันได้แก่ การสังเกต การจดบันทึก การสรุปบทเรียนในแต่ละครั้งของการเรียนรู้
แต่ในสำหรับช่วงแรกของโครงการ กล่าวคือ ภายใน 6 เดือนแรก หรือ 18 สัปดาห์แรก นักเรียนชาวนาจะเรียนรู้ในหลักสูตรการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี อันเป็น 1 ใน 3 หลักสูตรตามโครงการ
การจัดการศัตรูพืชชีววิธี มาจากภาษาอังกฤษ Alternative Pest Management หรือย่อเป็น A.P.M. (เอพีเอ็ม) ซึ่งเน้นหนักนักหนาในแนวคิดที่ให้นักเรียนชาวนาเป็นผู้บริหารจัดการ เป็น คนคิดตัดสินใจด้วยตนเองว่าควรจะทำอะไรอย่างไรกับปัญหาที่เป็นทุกข์ อันเกิดขึ้นกับต้นข้าวใน พื้นนาที่ได้ปลูกกันไว้
ก่อนจะคิดตัดสินใจว่าจะทำอะไรอย่างไรลงไปนั้น นักเรียนชาวนาต้องรู้ทางหนีทีไล่ให้ได้ก่อน หรือเรียกง่ายๆว่า กว่าจะคิดได้ด้วยตนเองก็ต้องหาวิชาติดตัวเป็นประสบการณ์ให้ได้ก่อน ด้วยเหตุเช่นนี้เอง จึงทำให้นักเรียนชาวนาจะต้องเรียนรู้เนื้อหาพร้อมหาประสบการณ์จากโรงเรียนชาวนา และแหล่งเรียนรู้อื่นๆ เพื่อจะนำไปผสมผสานกันเมื่อยามที่จะใช้จริงๆในนาข้าวของแต่ละคน
นักเรียนชาวนาจะได้เรียนรู้อะไรบ้าง ? สำหรับในช่วงแรก 6 เดือน นักเรียนชาวนาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเนื้อหาวิชาว่าด้วยการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธีตามโครงการ อันประกอบไปด้วย 6 เรื่องหลัก คือ
(1) เทคนิคการไถหมักฟางด้วยจุลินทรีย์
(2) เรียนรู้วงจรชีวิตของแมลงที่เป็นโทษและเป็นประโยชน์ต่อข้าว
(3) การเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ไตรโครเดอร์มา เพื่อใช้ในการปลูกผัก
(4) การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ
(5) พืชสมุนไพร
(6) เทคนิคการล้มตอซัง
นอกจากนี้ นักเรียนชาวนายังจะต้องเรียนรู้ความรู้ในแขวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบกันอย่างบูรณาการ อาทิเช่น วิชาบัญชี วิชาการบริหารจัดการ วิชารัฐศาสตร์ วิชาเศรษฐศาสตร์ วิชาสังคมศึกษา วิชาสุขศึกษา เป็นต้น โดยที่ความรู้จะสอดแทรกในเนื้อหาและในการจัดกิจกรรมต่างๆอยู่เสมอๆ และเป็นความรู้ประกอบ อันจะขาดเสียมิได้
จะพัฒนานักเรียนชาวนา ต้องให้นักเรียนชาวนารู้และเข้าใจในแต่ละประเด็นอย่างสัมพันธ์กัน หลังจากนั้นแล้ว นักเรียนชาวนาจะนำเอาสิ่งที่ตนได้เรียนรู้มาผสานกับความรู้และประสบการณ์เดิม เพื่อนำไปใช้ในชีวิตจริง การพัฒนานักเรียนชาวนาจึงต้องเริ่มจากที่ตัวของนักเรียนชาวนาเอง ไม่ได้เริ่มจากการกำหนดหลักสูตรใดๆให้ก่อน โรงเรียนชาวนาเน้นให้นักเรียนชาวนาเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ โดยนำปัญหา ความทุกข์ ผสมผสานกับความคาดหวัง ตรงจุดเองจึงเป็นที่มาของการจัดหลักสูตรให้เหมาะสมกับท้องถิ่นและความต้องการของผู้เรียน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในโรงเรียนชาวนา (ซึ่งความคาดหวังมาจากความต้องการหลุดพ้นจากสภาพปัญหาที่รายล้อมตัวอยู่)
</p> <p align="left">
โปรดสังเกตนะครับ ว่าการเรียนรู้ของโรงเรียนชาวนา มีลักษณะ เป็น “องค์รวม” ไม่ได้แยกส่วนตามหลักสูตร เหมือนอย่างโรงเรียนทั่วไป คือเน้นสภาพจริง การปฏิบัติจริง มากกว่าการเดินตามหลักสูตร คือมีหลักสูตรไว้เป็นหลัก แต่ไม่ใช่มีไว้ให้ต้องทำตามแบบไม่กระดิกกระเดี้ย ไม่ยืดหยุ่น การเรียนรู้ในชีวิตจริงต้องยืดหยุ่น โดยไม่ละเป้าหมายหลัก คือเกษตรอินทรีย์ และการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ
วิจารณ์ พานิช
๕ มิ.ย. ๔๘ </p>

หมายเลขบันทึก: 160เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2005 02:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2015 11:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท