หลวงปู่พุทธะอิสระ : สติในอินทรีย์ ๕


 

จงทำความแจ่มชัดใน “สตินทรีย์” หรือ สติในอินทรีย์ ๕ ซึ่งมี ๕ ประการ ดังนี้
๑. ศรัทธา คือ ความเชื่อ
๒. วิริยะ คือ ความเพียร
๓. สติ คือ ความระลึกรู้
๔. สมาธิ คือ ความตั้งใจของจิตใจอารมณ์ที่เป็นกุศลอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
๕. ปัญญา ความรู้แจ่มชัดตามสภาพธรรมที่เป็นจริง

อธิบายความ
คำว่า “ศรัทธา” ความเชื่อ หมายถึง เชื่อกรรม เชื่อกฎของกรรมว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
เชื่อว่าเราทำกรรมอย่างไร กรรมนั้นก็จักให้ผลแก่เราเช่นนั้น
นอกจากจะแปลว่าความเชื่อแล้ว
ยังหมายรวมถึง ความรัก ความพอใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่ด้วย

คำว่า “วิริยะ” ความเพียร จะต้องหมายถึงความเพียรพยายามที่จะกระทำดี
เพียรพยายามที่จะละชั่วเท่านั้น
มิได้หมายถึง ความพยายามที่จะกระทำไม่ดีต่าง ๆ
เหล่านี้ไม่เรียกว่า วิริยะ ความเพียร แต่เรียกว่า “ตัณหา” ความทะยานอยาก

คำว่า “สติ” แปลว่า ความระลึกรู้ ระลึกได้ รู้สึกตัวทั่วพร้อมในการทำ พูด คิด

คำว่า “สมาธิ” หมายถึง ความตั้งมั่นของจิตใจอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ที่เป็นบุญกุศลเท่านั้น

คำว่า “ปัญญา” หมายถึง ความรู้แจ่มชัด ความเข้าใจลึกซึ้ง ความรอบรู้ กว้างไกล
หรือความรู้เข้าในเป็นเรื่อง ๆ เป็นอย่าง ๆ ตามสภาพธรรมที่เป็นจริง

ลูกรัก...
วิธีใช้ธรรมทั้ง ๕ อย่างนี้ เจ้าจะต้องยก “สติ” ความระลึกได้ขึ้นมาเป็นประธาน
แล้วใช้ “ปัญญา” ความรู้แจ่มชัด ความเข้าใจลึกซึ้ง ร่วมกับ “ศรัทธา” ความเชื่อ ความรัก ความพอใจ
เมื่อเจ้าเชื่ออย่างมีปัญญา ระลึกรู้แจ่มชัด เจ้าจะได้ไม่มีใครหลอก
ความผิดพลาดก็จะน้อยลง

เมื่อสติควบคุม ศรัทธา ความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญาแล้ว
เจ้าก็จะต้องใช้ความเพียรพยายามที่เรียกว่า “วิริยะ” กระทำในสิ่งที่เจ้าคิดแล้วเชื่ออย่างจริง ๆ จัง ๆ
แม้มีปัญหาและอุปสรรคใด ๆ มาขัดขวาง เจ้าก็จะต้องตั้งมั่น ไม่ย่อท้อ หลีกหนี
เพราะเจ้ามี “สมาธิ” ความตั้งมั่นอยู่ในงานนั้น ๆ อารมณ์นั้น ๆ จนสำเร็จ
โดยมีสติเป็นผู้ควบคุมประสานงานให้เชื่ออย่างมีปัญญา เพียรอย่างตั้งมั่น

เช่นนี้ธรรม ๕ อย่างที่เรียกว่า อินทรีย์ ๕ ก็จะกลายสภาพเป็นกำลังที่เรียกว่า พละ ๕ คือ
ศรัทธา ก็มีปัญญาเป็นกำลัง
วิริยะ ก็มีสมาธิสนับสนุน
สติ ก็คอยเป็นพี่เลี้ยงของปัญญา
“จิต” เมื่อมีธรรม ๕ อย่างนี้สมบูรณ์ ก็จักได้ว่าเป็น “วิเสสจิต”
เป็นจิตที่วิเศษเยี่ยมยอด

สรุป
สติในอินทรีย์ ๕ จักเป็นอุปการะต่อชีวิต การงาน และจิตใจอย่างเยี่ยมยอดทีเดียวล่ะ

 

Budhaisara
พระอาจารย์สุวิทย์ ธีรธมฺโม (หลวงปู่พุทธะอิสระ)
วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ)
ต.ห้วยขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

หมายเลขบันทึก: 159055เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2008 17:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันกันครับ :)))
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท