เปิดคัมภีร์มีเรื่องเล่า : สุภัทรปริพพาชก - สุภัทรภิกษุ - โอวาทชุดสุดท้าย


                ความตายคือจุดสิ้นสุดของการมีชีวิตบนโลกนี้ หลายร้อยหลายพันปีที่มนุษย์พยายามแสวงหาหนทางเพื่อการมีชีวิตอย่างไม่ตาย แต่ไม่ปรากฏว่ามีใครคนใดมีชีวิตยืนยงคงกระพันเป็นอมตะ เมื่อชีวิตจะต้องตาย จะทำอย่างไรให้ความตายนั้นมีความหมายกับการมีชีวิต ผู้รู้ได้ทำลายปัญหาประเภทนี้ให้หมดสิ้นไปแล้ว <p style="text-justify: inter-cluster; margin: 0cm 0cm 0pt; text-align: justify" class="MsoNormal"></p>                ในอดีต มีปริพพาชกผู้หนึ่งชื่อว่า สุภัทร (สุภัททะ) อาศัยอยู่ในเมืองกุสินารานั่นเอง ด้วยความที่เป็นคนใฝ่เรียนรู้ ครั้นมีปัญหาค้างคาใจอันใดเกิดขึ้น ก็มักจะถามจากผู้รู้ บัดนี้มีปัญหาอันหนึ่งที่ค้างคาใจของเขามาเป็นเวลานาน ครั้นไปถามใครๆ คำตอบที่ได้ไม่สามารถเป็นที่พึงพอใจของเขาได้เลย เหลือเพียง สมณโคดม[๑] ที่ไม่ได้ถาม ด้วยสำคัญว่า สมณโคดมยังหนุ่มเกินไป หนุ่มเกินกว่าจะรู้ปัญหานี้ ดังนั้น ในช่วงต้นการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า สุภัทรปริพพาชกจึงมองข้ามนักบวชหนุ่มอย่างพระพุทธเจ้าไป แต่ก็เก็บปัญหานั้นไว้ในใจตลอด[๒] <p style="text-justify: inter-cluster; margin: 0cm 0cm 0pt; text-align: justify" class="MsoNormal"></p>                ครั้นข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้ากระจายไปทั่วทุกหัวเมือง สุภัทรได้ทราบว่า “พระสมณโคดมจะปรินิพพานในปัจฉิมยามของราตรีนี้” จึงคิดว่า “ได้ยินพวกนักบวชแก่ เฒ่า และระดับอาจารย์พูดกันว่า ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะอุบัติขึ้นมาบนโลกเป็นครั้งคราวเท่านั้น” ตอนนี้พระสมณโคดมกำลังจะปรินิพพาน เข้าใจว่า พระสมณโคดมน่าจะพูดอะไรๆ ให้เราผู้มีความสงสัยซึ่งเก็บมานานนี้หมดความสงสัยเสียได้” คิดได้ดังนี้แล้ว จึงเดินทางไปหาพระพุทธเจ้า พบพระอานนท์เฝ้าอยู่ จึงแจ้งความประสงค์ให้ทราบถึง ๓ ครั้ง พระอานนท์เกรงว่า สุภัทรจะไปรบกวนพระพุทธเจ้าที่กำลังอาพาธ จึงไม่ยอมอนุญาตให้เข้าเฝ้า <p style="text-justify: inter-cluster; margin: 0cm 0cm 0pt; text-align: justify" class="MsoNormal"></p>                พระพุทธเจ้าได้ยินเสียงรบเร้าของสุภัทร จึงตรัสเรียกพระอานนท์มาและตรัสว่า “อย่าได้ห้ามสุภัทรเลยอานนท์ ให้สุภัทรเข้ามาหาตถาคตเถอะ เขาจะถามปัญหาบางอย่างเพื่อหวังจะรู้เท่านั้น มิได้มีความประสงค์จะรบกวนอะไร และเมื่อเราตอบออกไป เขาจะรู้ได้ทันที” <p style="text-justify: inter-cluster; margin: 0cm 0cm 0pt; text-align: justify" class="MsoNormal"></p>                หลังจากได้รับอนุญาตจากพระอานนท์ สุภัทรจึงเข้าไปเฝ้าสนทนาปราศรัยตามควรและถามปัญหาขึ้นว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่คณะ เป็นอาจารย์ มีชื่อเสียง เกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ประชาชนยกย่องกันว่าเป็นคนดี อย่าง ปูรณะ กัสสปะ มักขลิ โคศาล อชิตะ เกสกัมพล ปกุธะ กัจจายนะ สัญชัย เวลัฏฐบุตร นิครนถ์ นาฏบุตร เจ้าลัทธิเหล่านี้ รู้ตามที่ตนกล่าวอ้าง หรือบางพวกรู้ บางพวกไม่รู้” พระพุทธเจ้าจึงตรัสตอบไปว่า “สุภัทร อย่าเลย อย่าเพิ่งใส่ใจคำถามนั้นก่อน เอาอย่างนี้ ขอเธอจงฟังสิ่งที่เราจะกล่าวนี้ก่อน” หลังจากสุภัทรตอบรับ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า สุภัทร ในธรรมวินัยที่ไม่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมไม่มีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔[๓] สุภัทร ในธรรมวินัยนี้มีอริยมรรคมีองค์ ๘ สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔ จึงมีอยู่ในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง" <p style="text-justify: inter-cluster; margin: 0cm 0cm 0pt; text-align: justify" class="MsoNormal"></p>                หลังจากสุภัทรได้ฟังอย่างนี้แล้ว จึงทูลขออุปสมบท แต่ได้ทราบจากพระพุทธเจ้าว่า ผู้ที่เป็นนักบวชนอกศาสนา หากจะเข้าบวชเป็นนักบวชในพุทธศาสนาต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน และต้องให้คณะสงฆ์เห็นสมควรจะให้บวชด้วยจึงจะบวชได้ จึงกล่าวว่า “ข้าพระองค์จักอยู่ปริวาส ๔ ปี หากภิกษุพอใจแล้วก็จงให้บวชเถิด” แต่ด้วยความศรัทธาตั้งมั่นคงสุภัทร พระพุทธเจ้าจึงอนุญาตให้พระอานนท์เป็นอุปัชฌาย์บวชสุภัทรได้ <p style="text-justify: inter-cluster; margin: 0cm 0cm 0pt; text-align: justify" class="MsoNormal"></p>                หลังจากบวชเสร็จ จึงปลีกตัวออกไปหาความสงบผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร จนบรรลุพระอรหันต์[๔]ในเวลาอันรวดเร็ว <p style="text-justify: inter-cluster; margin: 0cm 0cm 0pt; text-align: justify" class="MsoNormal"></p>                ทราบว่า หลังจากสุภัทรได้บวชเป็นภิกษุ ท่านคิดว่า ระหว่างที่ปุถุชนกำลังเศร้าโศกเสียใจถึงการจะปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ประโยชน์อะไรกับการนั่งเศร้าโศกเสียใจ สู้ไปปฏิบัติธรรม ไม่ประมาท เพื่อให้บรรลุธรรมก่อนพุทธปรินิพพานจะดีกว่า ดังนั้นสุภัทรภิกษุ คือปัจฉิมสาวก ผู้ได้บวชต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า เรียนกรรมฐาน และบรรลุอรหันต์ก่อนที่พระผู้มีพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน                 <p style="text-justify: inter-cluster; margin: 0cm 0cm 0pt; text-align: justify" class="MsoNormal"></p><p style="text-justify: inter-cluster; margin: 0cm 0cm 0pt; text-align: justify" class="MsoNormal">                เสร็จสิ้นกรณีของสุภัทรภิกษุแล้ว พระพุทธเจ้าได้รับสั่งกับพระอานนท์ในหลายข้อ พอจะเก็บความได้ดังนี้</p>  <p style="text-justify: inter-cluster; margin: 0cm 0cm 0pt 54pt; text-indent: -18pt; text-align: justify" class="MsoNormal">๑)     ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดา “ธรรมและวินัยที่เราบัญญัติแล้ว แสดงแล้ว…จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย”</p>  <p style="text-justify: inter-cluster; margin: 0cm 0cm 0pt 54pt; text-indent: -18pt; text-align: justify" class="MsoNormal">๒)    เปลี่ยนแปลงการใช้สรรพนามเพื่อเรียกกันและกันแบบสามัญ โดยภิกษุผู้แก่กว่าพึงเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่าว่า อาวุโส (ผู้มีอายุ) ส่วนภิกษุผู้อ่อนกว่า พึงเรียกผู้แก่กว่าว่า ภันเต หรือ อายัสมา (ผู้เจริญ หรือ ผู้สูงอายุ)</p>  <p style="text-justify: inter-cluster; margin: 0cm 0cm 0pt 54pt; text-indent: -18pt; text-align: justify" class="MsoNormal">๓)    อนุญาตให้สงฆ์ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้บ้าง</p>  <p style="text-justify: inter-cluster; margin: 0cm 0cm 0pt 54pt; text-indent: -18pt; text-align: justify" class="MsoNormal">๔)    สงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์[๕]แก่ฉันนะภิกษุ[๖]</p><p style="text-justify: inter-cluster; margin: 0cm 0cm 0pt 54pt; text-indent: -18pt; text-align: justify" class="MsoNormal"></p><p style="text-justify: inter-cluster; margin: 0cm 0cm 0pt; text-indent: 36pt; text-align: justify" class="MsoNormal">หลังจากนั้น พระพุทธเจ้าทรงเปิดโอกาสให้ภิกษุได้ถามในปัญหาข้อสงสัย แต่ก็หามีภิกษุใดสงสัยไม่ ด้วยว่า ผู้อยู่รอบพระพุทธเจ้าขณะนั้น อย่างน้อยก็เป็นพระโสดาบัน ความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรคหรือในปฏิปทา จึงไม่มี</p> ลำดับสุดท้ายจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลาย จงทำตนให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด” ถ้อยดำรัสชุดนี้เรียกว่า ปัจฉิมวาจา ต่อจากนั้นพระองค์จึงเข้าฌานสมาบัติก่อนดับขันธปรินิพพาน  <p style="text-justify: inter-cluster; margin: 0cm 0cm 0pt; text-align: justify" class="MsoNormal">                อนึ่ง เมื่อย้อนไปขณะที่ข่าวการจะปรินิพพานของพระพุทธเจ้าแพร่ไปทั่ว พึงทราบว่าภิกษุรูปหนึ่งที่บวชตอนแก่ชื่อว่า สุภัทร (เช่นกัน) ในคณะเดินทางของพระมหากัสสปะเพื่อมาเฝ้าพระพุทธเจ้าให้ทันปรินิพพาน ได้ฟังข่าวนั้นแล้ว กลับรู้สึกโล่งใจที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานเสียที โดยที่ จะได้ไม่มีใครคอยมาจับผิด ชี้นำ ว่านี้ถูก นี้ผิด นี้ควร นี้ไม่ควร ฯลฯ รูปนี้เองเป็นต้นเหตุให้ทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๑ หลังพุทธปรินิพพาน สุภัทรนี้มิใช่คนเดียวกันกับสุภัทรผู้เป็นปัจฉิมสาวก</p>   <p style="text-justify: inter-cluster; margin: 0cm 0cm 0pt; text-align: justify" class="MsoNormal">                จากเนื้อความที่ยกมาทั้งหมดพอจะเห็นได้ว่า </p>  <p style="text-justify: inter-cluster; margin: 0cm 0cm 0pt 54pt; text-indent: -18pt; text-align: justify" class="MsoNormal">๑)     ความตายเป็นเรื่องปกติ ไม่เว้นแม้แต่พระวรกายของพระพุทธเจ้า หรือแม้แต่ศาสดาท่านอื่นๆ แต่ผู้รู้อย่างพระพุทธเจ้า ได้ทำให้ชีวิตก่อนตายมีความหมายแล้ว</p>  <p style="text-justify: inter-cluster; margin: 0cm 0cm 0pt 54pt; text-indent: -18pt; text-align: justify" class="MsoNormal">๒)    ความเศร้าโศกเสียใจเพราะพลัดพรากจากของรัก ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา การรีบพัฒนาตนให้สูงขึ้นต่างหากจะทำให้การสูญเสียของรักมีความหมายมากกว่าการนั่งเศร้าโศกเสียใจ เฉกเช่น สุภัทรภิกษุปัจฉิมสาวก</p>  <p style="text-justify: inter-cluster; margin: 0cm 0cm 0pt 54pt; text-indent: -18pt; text-align: justify" class="MsoNormal">๓)    แม้พระพุทธเจ้าผู้อุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของสรรพสัตว์ยังไม่พ้นจากคนชัง และคนชังก็ใช่ใครอื่น หากแต่เป็นผู้อยู่ในกลุ่มสาวกของพระองค์เอง อาศัยพระศาสนาของพระองค์มีชีวิตอยู่</p>  <p style="text-justify: inter-cluster; margin: 0cm 0cm 0pt 54pt; text-indent: -18pt; text-align: justify" class="MsoNormal">๔)    จงทำตนให้ถึงความด้วยความไม่ประมาท…..เพียงเสี้ยววินาทีของความคิด สามารถทำให้ชีวิตหนึ่งสูญสิ้นได้ ความไม่ประมาทจึงเป็นคุณธรรมที่ต้องคำนึงทุกเสี้ยววินาที</p>  <div>
<hr width="33%" size="1" /><div id="ftn1">[๑] สมณโคดม เป็นชื่อที่นักบวชนอกพุทธศาสนามักเรียกพระพุทธเจ้า ในฐานะที่เท่าเทียมกัน เป็นนักบวชเหมือนกัน คำว่า สมณะ หมายถึง ผู้สงบ เป็นอากัปกิริยาของพระพุทธเจ้าและเหล่าสาวก ส่วน โคตมะ เป็นเหล่าก่อเหมือนนามสกุล แซ่ บางครั้ง นักบวชนอกพุทธศาสนาจะเรียกพระพุทธเจ้าว่า สมณศากยบุตร หมายถึง นักบวชผู้เป็นบุตรของเจ้าศากยะผู้ครองแคว้นกบิลพัสดุ์ </div><div id="ftn2">[๒] เสริมเรื่องเล่าและแปลเนื้อความจาก สุภทฺท วตฺถุ ใน ธมฺมปทฏฺฐ กถา (สตฺตโม ภาโค) มล-ธมฺมฏฐ-มคฺค-ปกิณฺณก-นิรย-นาควคฺค-วณฺณนา วชิรญาเณน มหาสมเณน อาโท โสธิตา. สฺยามรฏฺฐสฺส ราชธานิยํ มหามกุฏราชวิทฺยาลเยน ปกาสิตา พุทฺธปรินิพฺพานา ๒๕๔๑. </div><div id="ftn3">[๓] สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ จะมีอยู่ในศาสนาที่มีอริยมรรคมีองค์ ๘</div><div id="ftn4">[๔] เก็บความจาก มหาปรินิพพานสูตร พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พุทธศักราช ๒๕๓๙ เล่มที่ ๑๐ หน้า ๑๖๐-๑๖๔</div><div id="ftn5">[๕] พรหมทัณฑ์คือ การไม่พูด ไม่ตักเตือน ไม่ว่ากล่าว ไม่สนใจใยดี ไม่นั่งใกล้ ฯลฯ(ปล่อยให้อยู่คนเดียว)</div><div id="ftn6">[๖] ฉันนะภิกษุ อดีต คือนายฉันนะ ผู้เคยเป็นข้าฯรับใช้เจ้าชายสิทธัตถะในสมัยที่ออกบวช (นายฉันนะกับม้ากัณฐกะ) หลังจากมาบวช กลายเป็นผู้ว่ายากสอนยาก หัวดื้อ ถือตัวว่าตนนั้น เคยรับใช้พระพุทธเจ้าในสมัยเป็นเจ้าชายสิทธัตถะมาก่อน สร้างความเดือดร้อนให้กับสงฆ์ แต่สงฆ์ก็ไม่ค่อยกล้าจะว่ากล่าวอะไร หลังจากพุทธปรินิพพานจึงถูกลงพรหมทัณฑ์ คลายความดื้อรั้นลงได้ในภายหลัง (ปัจจุบันนี้ น่าจะใกล้เคียงกับคำว่า เมื่อสิ้นนายแล้วแกจะรู้สึก)</div></div>

คำสำคัญ (Tags): #เรื่องเล่า
หมายเลขบันทึก: 158506เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2008 17:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีเจ้าค่ะ คุณครูเอก

          หนูแวะมาเยี่ยมเจ้าค่ะ สบายดีหรือเปล่าเจ้าค่ะ....หลักธรรมคำสอนต่างๆ.....แสดงให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ไม่มีอะไรที่ยั่งยืนเลยนะเจ้าค่ะ คิคิ

          รักษาสุขภาพด้วยนะเจ้าค่ะ เป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ ----------> น้องจิ ^_^

สวัสดียามเช้าครับ น้องจิ

  • แต่นั่นแหละ ทำไม๊ ทำไม ถึงตอบปัญหาธรรมะไม่ได้อันดับหนึ่งนะ :-)

ไม่ถนัดบันทึกแนวนี้ แต่อดทึ่งแทนคนเขียนบันทึกไม่ได้ครับ

พุทธศาสนาที่เราเรียน เรื่องราวบางเรื่องเราก็ยังไม่ทราบ เหมือนช่วงที่เรียนมัธยามเรียนวิชาพุทธศาสนาเราก็หนีเรียนซะงั้น

ศาสนาของเราแต่เราไม่ได้รู้เรื่องราว เบื้องหลัง เป็นมาลึกซึ้งนัก  ผมเองก็ได้ดูภาพยนตร์ ดูการ์ตูนที่เขาทำเกี่ยวกับ "พระพุทธเจ้า" จึงได้เรียนรู้

ขอบคุณครับ บันทึกเรื่องราวธรรมะ

ติดตามอ่าน และติดตามตอนต่อไปครับ

-----------------------------

สวัสดีตอนเช้าด้วยครับ สบายดีนะครับ

ที่ปายหนาวมากครับ คาดว่าวันนี้ช่วงเช้าคงประมาณ ๙ องศา ...

สวัสดีครับท่านอาจารย์ปัทม์

  • คงต้องจบตอนแล้วนะครับ
  • ครั้งแรกที่จะค้นคว้าเพื่อเรียบเรียงเรื่องนี้ มีจุดประกายบางอย่าง อย่างหนึ่งคือ เมื่อผมเห็นน้ำตาที่ไหลออกมาจากเบ้าตาของคนที่สูญเสียสิ่งอันเป็นที่รักแล้วให้รู้สึกสลดใจทุกครั้ง บางคนไม่เป็นอันทำมาหากิน ..... จึงให้คิดว่า นี่มันอะไรกันหนอ จึงวางแผนเขียนเรื่องนี้เพื่อเตือนตัวเอง ครั้งแรกก็วางแผนไว้สวยดีอยู่คือ ต้องการเปรียบเทียบให้เห็นการปฏิบัติตนของภิกษุ ๒ รูปคือ สุภัทรภิกษุผู้เป็นปัจฉิมสาวกและสุภัทรภิกษุผู้เป็นคณะของพระมหากัสสปะ และจะตบท้ายด้วยปัจฉิมโอวาท เพื่อเป็นการสรุปให้เห็นว่า ควรจะปฏิบัติอย่างไรให้สมกับการมีชีวิตอยู่ จึงเริ่มทิ้งงานอื่นๆ และเขียนขึ้นเมื่อวันที่ ๓ มกราคม แล้วก็หยุดไปทำงานอื่นๆ เพิ่งหยิบพระไตรปิฎกของเพื่อนมค้นคว้าเมื่อวาน และตัดบางส่วนออกไปเหลือเพียงน้อยนิดของเนื้อความ...จึงได้เพียงเท่านี้
  • ข้อบกพร่องกับแผนที่วางไว้คือ ๑) เรื่องเล่าของสุภัทรภิกษุในคณะของพระมหากัสสปะนั้นน้อยไป ควรจะเรียบเรียงให้เท่าเทียมกับภิกษุปัจฉิมสาวก ๒) การวิเคราะห์จริยธรรมในเรื่องเล่า ควรมีการเชื่อมโยงกับปัจจุบัน ๓) หลักฐานอ้างอิงเนื้อความ ยังต้องค้นคว้าเพื่อนำมาเพิ่มเติม ๔) ศัพท์เฉพาะทางพุทธศาสนา น่าจะมีการอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องกับผู้ที่ต้องการความรู้
  • รวมความแล้ว ทั้งหมดยังต้องแก้ไขต่อไป แต่..ขอพักไว้ก่อน ให้ปลาเค็มที่ตากไว้ได้ที่ก่อน อ.สมภาร พรหมทา เคยเขียนไว้ในหนังสือว่า การเขียนหนังสือนั้นต้องทิ้งไว้สักพักหนึ่ง แล้วค่อยกลับมาอ่านใหม่ จะพบอะไรบางอย่างให้ต้องแก้ไขให้ดีขึ้นได้ต่อไป
  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่ติดตามนะครับ :-)

สวัสดีครับ อ.เอก

  • ก่อนอื่น ขอบอกอะไรบางอย่าง การได้ไปปายครั้งนั้น (เหมือนกันศึกษาดูงาน) ทำให้ผมต้องมานั่งทบทวนอะไรบางอย่าง อย่างน้อยตอนนี้ เปิดทีวีค่อนข้างน้อย เปิดเพลงก็น้อยมาก (จากเดิม เมื่อเข้าห้องต้องเปิดทั้งเพลงทั้งทีวี บางครั้งเปิดพร้อมกัน หรือทำงานไปก็เปิดไปด้วย) ให้เวลากับการฝึกจิตปัจจุบันมากขึ้น ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น ขอบคุณมากสำหรับการให้ได้พบแม่ของ อ.เอก เมื่อเช้าเกิดความคิดว่า ห้องพักอยู่ใกล้ถนนภายในมหาวิทยาลัย การเปิดเพลงอะไรบางอย่างเบาๆ มันไม่เอื้อต่อความสงบ เพราะต้องแข่งกับเสียงรถในบางคราว และโชคดี หลังปีใหม่มานี้ เสียแอร์ที่อยู่ข้างหน้าต่างจะดังน้อยมาก (คงจะเปิดกันน้อย) แก้ยังไม่หายกับการเข้าไปยึดติดเสียงนั้น
  • เรื่องพุทธศาสนานั้น อย่าว่าแต่เราผู้เป็นชาวพุทธภายนอกองค์กรสงฆ์เลยครับ แม้แต่พระภิกษุสามเณรก็ไม่อยากจะเรียน...แต่ละคนก็คงมีเหตุผลที่ต่างๆกันไป ผมตั้งใจไว้ว่า จะอ่านพระไตรปิฎกให้จบทั้งชุด แต่ยังไม่ถึงไหนเลยครับ และคงจะไม่ใช่เฉพาะพระไตรปิฎก อัล-กุรอาน ไบเบิล ก็ด้วย และใฝ่ฝันคัมภีร์ของพราหมณ์ด้วย (ฝันมากเกินไป) ตอนนี้ขอเป็นไตรปิฎกก่อน
  • ผมยังไม่ได้ดูการ์ตูนเรื่องพระพุทธเจ้า แต่ทราบว่าลงทุนหลายบาทอยู่ครับ เมื่อหนังเข้าโรง ผมไปดูตามแผงขายแผ่น พบแผ่นก๊อปปี้เรื่องนี้ทั้งที่หนังยังไม่ออกจากโรงด้วยซ้ำครับ...ก็ให้รู้สึกมีตัวตนหวงแหนอยู่ ... แต่ก็แก้ไขความคิดว่า ปล่อยๆ ไปเถอะ ทุกคนทำเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป
  • ผมสบายดีครับ นับเป็นความประทับใจที่ไม่ลืมกับการไปปาย ผมชอบที่จะได้ยินความเงียบของปายเอามากๆ เลยครับ แต่ก็คิดว่า ถ้าเราอยู่จนเคยชิน เราอาจไม่ได้พบความมหัศจรรย์ของความเงียบที่ปายก็ได้
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์เอก

สบายดีนะคะ

เรื่องราวน่าสนใจ ไม่น่าเชื่อว่าจะได้เปิดมาเจอเรื่องราวที่ทำให้ได้คิดหลังจากที่ปลงไม่ตกมานาน

มีข่าวมาบอก 2 เรื่องค่ะ

เรื่องแรก รถเบียร์เบรคหมดไม่มีเหลือเลยต้องใช้เบรคมือในการเบรคเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่เราไปปายกันมาแล้วก็รู้ตัวว่ารอดชีวิตมาอย่างหวุดหวิดเพราะอู่ที่เข้าไปเค้าบอกว่ามาถึงได้อย่างไร

เรื่องที่ 2 เบียร์จะต้องสอบวัดคุณสมบัติเดือนหน้านี้ตอนนี้ต้องตั้งตนบนความไม่ประมาทเริ่มอ่านหนังสือแล้วแหละ

สวัสดีครับเบียร์

  • ก็ไหนว่า เพิ่งไปตรวจสภาพรถไง ตกลง...................
  • เป็นอย่างนี้อีกแล้ว เขาต้องอ่านตั้งแต่ต้นเทอมโน่น แต่ถ้าไม่ได้อ่านก็ต้องรีบอ่านแหละนะ ก็แค่หนังสือ ไม่ใช่การปล้นชี้ใคร ดังนั้นน่าจะไม่ยากอะไรใช่ไหม :-)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท