ชีวิตที่พอเพียง : 438. ให้สัมภาษณ์รายการวิทยุ


         วันเสาร์ที่ ๒๔ พ.ย. ๕๐ ผมมีนัดให้สัมภาษณ์รายการวิทยุ ชื่อ “รายการต้นแบบคนไทย” ทางสถานี FM 105    เป็นรายการที่จัดโดยสถาบัน ศศินทร์ ที่จัดให้แก่ สำนักงาน กพ. เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านทุนมนุษย์     เพื่อขับเคลื่อนสำนักงาน กพ. เป็นศูนย์กลางเครือข่ายนวัตกรรมงานบริหารจัดการ    เขาเห็นว่าผมมีประสบการณ์ความสำเร็จในการบริหาร สกว. และ สคส. จึงขอสัมภาษณ์ออกเผยแพร่เป็นเวลาประมาณ ๔๐ นาที

         ผมบอกตัวเองว่าผมไม่ใช่ต้นแบบคนไทยอย่างแน่นอน    เพราะชีวิตผมเป็นชีวิตของชนส่วนน้อย     และเป็นชีวิตของคนที่มีความรู้ไม่มากและไม่ชัด     ส่วนที่ชัดคือความไม่รู้และความอยากรู้     แต่เวลาของรายการไม่มากพอที่จะให้ผมพูดเยิ่นเย้ออย่างนั้น     ผมจึงบอกว่า ความสำเร็จของ สกว. และ สคส. เกิดจากคนจำนวนมาก  และคนที่เป็นหัวใจของความสำเร็จก็ไม่ใช่ผมคนเดียว      ที่ร้ายกว่านั้นก็คือปัจจัยของความสำเร็จอย่างหนึ่งคือความฟลุ้ก     แต่กว่าจะฟลุ้กได้เราก็ต้องรีบเรียนรู้และหนีจากความเข้าใจผิดๆ และวิธีการผิดๆ โดยเร็ว

         ผมบอกว่า สคส. เริ่มด้วยความเข้าใจผิด  ตีความคำว่า “การจัดการความรู้” ผิด    ใช้มุมมองแบบ demand – side KM      ปัจจัยความสำเร็จจึงอยู่ที่เราไวต่อความเข้าใจความผิดพลาดแล้วรีบแก้ หรือกลับตัวกลับใจโดยเร็ว      ปัญหาของบ้านเมืองเราก็คือเราไม่ยอมรับความผิดพลาด     เราประนีประนอมกับความคิดผิดๆ ที่ตกยุค ตกกระบวนทัศน์     แล้วเดินผิดทางไปเรื่อยๆ     ดังเช่นเรื่อง KM วงการราชการไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่มองเน้นที่ supply – side KM      ยังหลงอยู่ที่ demand – side KM    

         ผมบอกว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเรายังใช้แนวคิดที่ผิดยุค     ยังใช้แนวคิดของยุคอุตสาหกรรม    ไม่ใช่แนวคิดของสังคมที่มีความรู้เป็นฐานอย่างในปัจจุบัน     เรายังมองคนเป็น “แรงงาน”    เรายังเน้นว่าคนระดับล่างทำงานเน้น brawl (กล้ามเนื้อ) ไม่เน้นทำงานด้วย brain (สมอง)     ไม่มองว่ายุคนี้ทุกคน รวมทั้งคนทำงานขุดดินฟันหญ้า ล้างส้วม ก็ต้องเป็น knowledge worker      และต้องมีวิธีให้คนเหล่านี้สร้างความรู้ขึ้นใช้ในงานของตน    

         ผมชี้ว่า KM คือเครื่องมือทำให้ brawl กระตุ้น brain     ทำให้เกิดการเรียนรู้และสร้างความรู้ขึ้นจากการทำงานทุกประเภท โดยทุกคน  และชี้อีกหลายๆ เรื่องที่แสดงว่าผมเป็น “ชนส่วนน้อย” ที่เห็นว่าวิธีการ “พัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ที่ประเทศไทยใช้กันอยู่ยังเป็นวิธีการที่ล้าหลัง

วิจารณ์ พานิช
๒๔ พ.ย. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 158043เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2008 08:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

รู้สึกติดใจแค่คำว่า "ฟลุ๊ก" ค่ะ เพราะคุณครู (สมัยเด็กๆ) มักเตือนเรื่องการใช้วรรณยุกต์ อักษรต่ำมีเสียงตรีได้โดยใช้ไม้โท แต่ไม่มีรูปไม้ตรีในการเขียน เช่น เราไม่เขียน "เค๊ก", "ไม๊" ฯลฯ

ด้วยความเคารพค่ะ

SW

ขอบคุณคุณ SW ครับ    ได้แก้ไขแล้ว

สวัสดีปีใหม่ครับ

วิจารณ์

ผมไม่ได้ฟังเลยพึ่งเข้ามาครั้งแรกอ่านแล้วก้อรู้สึกประทับใจมากมากแล้วจะมาใหม่  ขอให้มีดวามสุขในวันปีใหม่                             

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท