ดินแดนแห่งปัญญา ทำงานเพื่อยาใจ
ผมได้ยินคำคำนี้เมื่อไปอภิปรายเรื่อง “การจัดการการเรียนรู้...สู่ความสำเร็จ” ร่วมกับคุณรุ่งนภา มาลารัตน์ และคุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ในการประชุมวิชาการ “วิวัฒน์ของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ: สมดุลสร้างกับซ่อมสุขภาพ” จัดโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพสช.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เมื่อวันอังคารที่ 19 กรกฎาคม 2548
ข่วง แปลว่า บริเวณ ลาน หรือมณฑล
ผญา แปลว่า ปัญญา (เมื่อพบกันครั้งแรก ผมก็แสดงความเชยด้วยการถามว่า ข่วง-ผะ-ยาหมายถึงอะไร เจ้าของเรื่องบอกว่าคำอ่านที่ถูกต้องคือ ผะ-หยา ตอนหลังมาทบทวนแล้วจึงเข้าใจหลักการของภาษาไทยขึ้นอีกมาก เพราะ ผ.ผึ้งเป็นอักษรสูง เมื่อมานำหน้าอักษรต่ำ ต้องแปลงเสียงต่ำให้เป็นเสียงสูงตามไปด้วย พญา-ผญา ก็ทำนองเดียวกับ ทนน-ถนน)
ข่วงผญา คือดินแดนแห่งปัญญา เป็นที่ที่คนทำงานมาคุยกันเพื่อสร้างปัญญา เครือข่ายข่วงผญา อยู่ที่จังหวัดเชียงราย โดยคุณรุ่งนภาทำงานอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย
จากที่คุณรุ่งนภา เล่าให้ฟังและเตรียมมานำเสนอ ได้ความว่าที่มาของข่วงผญา เริ่มขึ้นเมื่อปี 2545 เริ่มพบว่ายิ่งทำงานมากยิ่งมีความทุกข์ คนทำงานที่มีความทุกข์มานั่งคุยกัน ได้พบจุดอ่อนคือ โครงสร้าง/กลไกที่มีอยู่เดิมไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง วิธีคิดมีปัญหา เน้นการสร้างนักเทคนิค และไม่เกิดการมีส่วนร่วมที่แท้จริง เป็นการเอาเทคนิคไปให้ชาวบ้านเพื่อสร้างผลงานมากกว่าสร้างกระบวนการเรียนรู้
เมื่อการทำงานมาถึงทางตัน จึงมาช่วยกันสร้างทางเลือกใหม่ สร้างทางเดินเล็กๆ ของตนเอง เป็นการทำงานเพื่อยาใจ (การทำงานตามคำสั่งหรือนโยบายเป็นการทำงานเพื่อยาไส้) จัดโครงสร้างที่เอื้อต่อการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม หาเพื่อน เน้นคนสนใจ มารวมตัวกันทำงานในลักษณะเครือข่าย เริ่มจากเวทีระดับอำเภอ และกลายมาเป็นเวทีรวมของจังหวัด มีแกนนำในระดับต่างๆ ตั้งแต่จังหวัด (25 คน) อำเภอ (5-10 คนต่ออำเภอ) ตำบล (1-2 คนต่อตำบล) หมู่บ้าน (3-5 คนต่อหมู่บ้าน) มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสุขภาวะที่สมบูรณ์อย่างพอเพียงและยั่งยืน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในสังคม เป็นโครงสร้างที่ยืดหยุ่น สร้างพื้นที่และโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน
เครือข่ายเป็นเวทีของการขับเคลื่อนทางความคิด สร้างวิธีคิดใหม่ที่สำคัญ 3 ประการคือ วิธีคิดแบบชุมชน กระบวนการมีส่วนร่วม และกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนผ่านการปฏิบัติ
ในการทำงานจะยึดชุมชนเป็นตัวตั้ง ทำเชิงลึกก่อนขยายวงกว้าง (จาก 21 ชุมชนเป็น 102 ชุมชน) เริ่มจากสิ่งที่เป็นอยู่ ภายใต้สถานการณ์จริง สร้างเป้าหมาย/ทิศทางการทำงานร่วม และตอกย้ำจนเป็นอุดมการณ์รวม ลงมือปฏิบัติจริงให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย สร้างการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น เวที, ศึกษาดูงาน, ฝึกปฏิบัติ, อบรมเชิงปฏิบัติการ, สื่อ, กิจกรรมชุมชน
การจัดการเชิงการเรียนรู้มีหลากหลาย เป็นอิสระ ยืดหยุ่น ใช้ความสัมพันธ์แบบ เพื่อน-พี่-น้อง สร้างความมั่นใจและให้กำลังใจ
คุณรุ่งนภา ได้เน้นให้เห็นความสำคัญของวิธีคิดโดยเปรียบเทียบกับต้นไม้ซึ่งประกอบด้วยราก ลำต้น และผล รากเปรียบเสมือนความคิด การให้คุณค่าและความหมาย ลำต้นเปรียบเสมือนคน กลไก ผู้นำ และองค์กร ส่วนผลเป็นกิจกรรม เทคนิควิธี พิธีกรรม ทั้งหมดนี้มีความสัมพันธ์กัน ความคิดดูเหมือนเป็นนามธรรม แต่มีความสำคัญเปรียบเสมือนรากที่ดูดน้ำและอาหารไปหล่อเลี้ยงลำต้นให้เกิดเป็นดอกผลที่ต้องการ
สิ่งที่ทำเป็นทางเลือกเพื่อเพิ่มโอกาส อาจมีการปะทะทางความคิดกันบ้าง แต่ก็ยืดหยัดที่จะทำ มีความมั่นใจในสิ่งที่ทำมากขึ้น เมื่อเห็นผลการเปลี่ยนแปลง วิธีคิดของเจ้าหน้าที่เปลี่ยนไป มีการปรับบทบาทของตนเอง มีแกนนำความคิดในชุมชน มีหมู่บ้านจัดการตนเองเป็นแหล่งเรียนรู้ มีกิจกรรมชุมชนที่หลากหลายและหลายมิติสัมพันธ์กัน มีตัวชี้วัดความสุขภายใต้บริบทของตนเอง
บรรยากาศของการนำเสนอเป็นการพูดคุยกันสบายๆ โดยคุณหมอโกมาตรเป็นผู้ตั้งคำถาม ในส่วนของผมถูกถามเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เมื่อเริ่มต้นทำ HA ใหม่ๆ ซึ่งพอสรุปได้ว่าเราเริ่มจากการศึกษาสิ่งที่มีอยู่ในโรงพยาบาลอยู่แล้ว นำมาผสมผสานและปรับให้ดียิ่งขึ้น เป็นการเชิญชวนมาทำงานแบบไม่ใช้อำนาจ แม้จะนำมาตรฐานมาใช้ก็ใช้แบบยืดหยุ่น เน้นกระบวนการเรียนรู้ เก็บเกี่ยวความรู้และปัญหามาแลกเปลี่ยนกันในเวทีต่างๆ การประชุม Forum เริ่มจากเป็นเวทีเปิดให้ผู้ที่อยู่นอกโครงการนำร่องได้เข้ามารับทราบบทเรียน และคลี่คลายต่อมาเป็นการจุดกระแสความสนใจเพื่อหาโอกาสเรียนรู้และทดลองทำเรื่องใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการนำเสนอผลงานจากพื้นที่ซึ่งมีผลงานที่ประสบความสำเร็จมานำเสนอมากขึ้นเรื่อยๆ
คุณหมอโกมาตรได้เล่าให้ที่ประชุมฟังว่า ศ.เกาตุง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ไขความขัดแย้ง กล่าวว่าไม่มีปัญหาใดเหมือนกันเลย การจะให้คำแนะนำในสถานการณ์ต่างๆ ได้นั้นจะต้องสะสมคำตอบต่างๆ ไว้ถึง 500 เรื่อง ซึ่งเป็นข้อคิดที่ดีมาก และจะช่วยให้เราเข้าใจว่าทำไมคำตอบสำหรับที่หนึ่งจึงไม่สามารถใช้ได้สำหรับอีกที่หนึ่ง ช่วยให้เราเข้าใจว่าการถามหาความช่วยเหลือนั้นจะต้องบอกเล่าสถานการณ์ที่ชัดเจน จึงจะได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม
ความเห็น
ยังไม่มีความเห็น