วัชรินทร์ ศรีณิบูลย์
นาง วัชรินทร์ ศรีณิบูลย์ รินทร์ ศรีณิบูลย์ (นุชอินทรา)

การศึกษาตลอดชีวิต...ของประชาชน


งานการศึกษานอกโรงเรียนกับการศึกษาตลอดชีวิต...ของประชาชน

            กศน. เป็นคำเรียกที่ติดปากชาวบ้านทั่ว ๆ ไป รวมทั้งส่วนราชการ  รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง แม้กระทั่งรถตุ๊ก ตุ๊ก  ซึ่งชื่อเต็ม ๆ ก็คือ  ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัด หรือศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ   กศน. เป็นหน่วยงานที่สังกัดสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน  ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ปรัชญา

                ปรัชญาคิดเป็น ของ ดร.โกวิท  วรพิพัฒน์   ซึ่ง กศน.  ทำงานโดยใช้แนวจัดการศึกษาตามปรัชญาคิดเป็น   วิธีการคือจัดให้ผู้เรียนได้นำปัญหาที่ตนและสังคมสิ่งแวดล้อมของตนประสบอยู่
มาคิดวิจัยและแก้ไขกันในระหว่างเรียน  วิธีนี้เป็นการช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปด้วยและเป็นการฝึกให้เป็นคนแก้ปัญหาเป็น  และคิดเป็นไปด้วยในตัว  เมื่อเรียนไปชั่วระยะเวลาหนึ่งก็อาจเกิดแนวความคิดในการแก้ปัญหาซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกันกับปัญหาที่ตนแก้ไปแล้ว  และอาจได้แนวความคิดในการแก้ปัญหาอื่น ๆ ต่อ        ไป ด้วย                 

วิสัยทัศน์  

                กศน.  เป็นองค์หลักในการสร้างสังคมอุดมปัญหาด้วยการจัดการให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนอย่างมีคุณภาพ  และทั่วถึง

 พันธกิจ
                1.  ฝึกให้ผู้เรียนกลุ่มเป้าหมายมีทักษะการเรียนรู้

                2.  กระจายโอกาสในการเรียนรู้ให้มีทักษะในการทำงานและเพิ่มคุณภาพชีวิต

                3.  สร้างความเข้มแข็งของภาคีเครือข่าย ร่วมจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

                4.  ให้บริการการเรียนรู้ตามอัธยาศัยจากสื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ของ กศน.

                5.  จัดแหล่งเรียนรู้ให้ผู้เรียนทุกระบบและทุกวัยเข้าถึงการศึกษาตลอดชีวิต

 ภารกิจสำคัญ  ในการจัดการศึกษาสำหรับประชาชนได้แก่

                 1.  การยกระดับการศึกษาประชากรวัยแรงงาน  กิจกรรมที่จัดคือ 
                                1.1  การศึกษาพื้นฐานนอกระบบ  ได้แก่
 การศึกษาระดับ ประถม  ม.ต้น ม.ปลาย  ซึ่งจัดโดยใช้วิธีเรียนที่หลากหลาย คือ
                                -  การเรียนด้วยวิธีการพบกลุ่ม  คือ  การพบกันระหว่างครู กับผู้เรียน 1 ครั้งต่อสัปดาห์  ให้ผู้เรียนสามารถเลือกวันเวลาที่สะดวกได้  ส่วนใหญ่เป็นวันอาทิตย์ 
                                -  การเรียนทางไกล  ได้แก่การสมัครเรียนด้วยตนเอง  มีครูที่ปรึกษาประจำแต่ละวิชา  สามารถติดต่อกับครูผู้สอนได้ทั้งทางโทรศัพท์  และทางหน้า เว็ปไซด์

                                -  การเทียบระดับ  เป็นวิธีการเทียบความรู้และประสบการณ์  ประกอบการจัดทำแฟ้มสะสมผลงาน  มีกระบวนการในการทดสอบผู้เรียนและการประเมินผล  เพื่อให้ผู้ที่มีความรู้และมีประสบการณ์ได้นำความรู้และประสบการณ์มาเทียบระดับได้

                                -  การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์   เป็นการนำความรู้และประสบการณ์ในงานอาชีพมาเทียบในแต่ละวิชา  ตามเกณฑ์ที่กำหนด

                                -  การศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช)  จัดอยู่ในกลุ่มการศึกษาพื้นฐานนอกระบบ  ขณะนี้ได้จัดการศึกษาในหลายรูปแบบ  เช่น วิธีการพบกลุ่ม  เฉพาะวันอาทิตย์  ภายในศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัด  มีหลายสาขาวิชา  เช่น  สาขางานการบัญชี  สาขางานคอมพิวเตอร์  สาขางานการขาย   นอกจากนี้ยังจัดร่วมกับสถานประกอบการ   ได้แก่สาขางานอิเล็คทรอนิคส์  จัดที่บริษัท รอยัลโอม  สาขางานการขาย  จัดที่บริษัทบิ๊กซี  ซูเปอร์เซ็นเตอร์  และสาขางานช่างโลหะการ  จัดที่โรงไฟฟ้าบางปะกง
                               1.2  การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ  เป็นการจัด  เป็นการจัดการศึกษาที่ส่งเสริมการรวมกลุ่มอาชีพเดียวกัน  เป็นการสร้างเครือข่ายอาชีพให้กับชุมชน  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านอาชีพ  กิจกรรมที่จัดได้แก่
                                -  การฝึกทักษะอาชีพ  ซึ่งจัดตามความต้องการของท้องถิ่น  หรือกลุ่มเป้าหมาย  อาจเป็นการสาธิตอาชีพ  การดูงาน  การเรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น

                                -  การเข้าสู่อาชีพ  การพัฒนาตนเอง  การฝึกฝนจนสามารถที่จะสร้างเป็นอาชีพได้

                                -  การพัฒนาอาชีพ  จัดให้มีการรวมกลุ่มผู้มีอาชีพเดียวกัน  แสวงหาความรู้โดยการศึกษาดูงาน  เชิญวิทยากรมาบรรยาย  แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเอง

                                กลุ่มพัฒนาอาชีพที่ประสบความสำเร็จมีหลายแห่งได้แก่  กลุ่มพัฒนาอาชีพ
ทอพรม ของ ศบอ.บางคล้า  กลุ่มพัฒนาอาชีพ  การทำน้ำพริก ของ ศบอ.ราชสาส์น   กลุ่มพัฒนาอาชีพการปลูกข้าว ของ ศบอ.เมืองฉะเชิงเทรา เป็นต้น

                                1.3  การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต  เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน  จัดขึ้นจากสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน  เช่น กิจกรรมออกกำลังกาย  กิจกรรมการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด  กิจกรรมรณรงค์เรื่องลดอุบัติเหตุจากการจราจร  กิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมประชาธิปไตย  กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้กับเยาวชน  กิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุเช่น  การดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต 

                                1.4  การจัดการศึกษา  รูปแบบคูปองส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต  ด้แก่การกำหนดให้มีบัตรแทนเงิน  เพื่อให้ผู้ที่สนใจจะสมัครเรียนในรูปแบบการศึกษาพื้นฐาน หรือการศึกษาหลักสูตรระยะสั้น  ได้มีโอกาสเลือกเรียนในแหล่งการเรียนรู้ หรือสถานประกอบการที่ตนเองสนใจ  โดยรัฐจะสนับสนุนเงินงบประมาณค่าเรียนให้สำหรับผู้ถือบัตรคูปอง  ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดสรรคูปองไปยังสถานศึกษา  เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่สนใจจะสมัครเรียน  สามารถติดต่อขอรับบัตรคูปองได้ที่ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอทุกแห่ง   ซึ่งในขั้นแรกสถานศึกษาจะส่งผู้เรียนที่ถือบัตรคูปองไปยังแหล่งการเรียนรู้ชุมชนที่มีความพร้อมในการให้ความรู้ ก่อน

               

                2.  การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้   หรือการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย  ได้แก่กิจกรรมที่
ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง  เป็นกิจกรรมที่ไม่มีหลักสูตร  เป็นการเรียนรู้แบบอิสระ  ในขั้นแรกการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้จะจัดในแหล่งการเรียนรู้  3  รูปแบบ  ได้แก่    

                    2.1.  ห้องสมุดประชาชน  ซึ่งประกอบไปด้วยห้องสมุดประชาชนจังหวัด  ห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี  และห้องสมุดประชาชนอำเภอ  รวมทั้งสิ้น  11  แห่ง  โดยจัดกิจกรรมห้องสมุดมีชีวิต
ได้แก่  การส่งเสริมการอ่าน  การแนะแนวการศึกษา  การบริการสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต มีบรรณารักษ์  ห้องสมุด  เป็นผู้ให้บริการความรู้
                    2.2  ศูนย์การเรียนชุมชน  เป็นแหล่งการเรียนรู้ชั้นรองจากห้องสมุดประชาชน  จัดตั้งขึ้นเพื่อบริการประชาชนที่อยู่ในระดับตำบล  ใช้เป็นที่พบกลุ่มนักศึกษาทั้งสายสามัญและอาชีพ  มีครูศูนย์การเรียนชุมชน  เป็นผู้ให้บริการความรู้

                    2.3  แหล่งการเรียนรู้ชุมชน  เป็นแหล่งความรู้ชั้นรองจากศูนย์การเรียนชุมชน  จัดตั้งขึ้นบริการประชาชนที่อยู่ในระดับตำบลและในหมู่บ้าน  ซึ่งในแหล่งเรียนรู้เหล่านี้จะประกอบไปด้วยภูมิปัญญาที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพและเป็นที่ยอมรับของชุมชนเป็นผู้ให้บริการความรู้  ขณะนี้มีแหล่งการเรียนรู้ชุมชนที่ประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการแล้วคือ แหล่งเรียนรู้ชุมชนการเพาะเห็ด  ของคุณอาภรณ์   พุ่มประดับ   ตั้งอยู่ที่  ต.หัวสำโรง  อ.แปลงยาว  และยังมีอีกหลายแหล่งที่กำลังอยู่ในระหว่างการประกาศจัดตั้ง

                3.  การจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน  วิธีดำเนินการของกศน.  คือการค้นหาชุมชน  การจัดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนให้รู้จักนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต  ในส่วนของ กศน.  รับผิดชอบในการจัดกระบวนการเรียนรู้  การจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น  การผลิตสื่อที่เป็นเอกสาร  และสื่อที่เป็นซีดี  การวัดผลประเมินผล
                ในส่วนของชุมชนที่จัดตั้งเป็นแห่งแรกคือที่บ้านหลุมมะขาม  บ้านเลขที่  57  หมู่ที่ 8  ต.หนองไม้แก่  อ.แปลงยาว                  จ.ฉะเชิงเทรา  โดยมีคุณวินัย  สุวรรณไตร  เป็นผู้นำกลุ่ม  ซึ่งบุคคลผู้นี้ได้ค้นพบหลักในการเปลี่ยนชีวิตตนเอง  คือ  5  รู้  ได้แก่
                1.  รู้เรื่องตนเอง  (ไม่ต้องไปยุ่งเรื่องคนอื่น)

                2.  รู้ปัญหา  (ทั้งของตนเองและของชุมชน)

                3.  รู้ทรัพยากร (เช่นทุน หรือที่ดินของตนเอง )

                4.  รู้การจัดการ (จัดวางระบบในครอบครัว  ในชุมชน)

                5.  รู้การวางแผน (วางแผนอนาคตโดยการออม  ทุกครั้งที่มีรายได้  จะแบ่งส่วนหนึ่งไว้สำหรับเก็บออม ทำเป็นประจำจนเป็นนิสัย)

                ปัจจุบัน  บ้านหลุมมะขามเป็นแหล่งบริการความรู้ให้กับชาวบ้าน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปทั้งใน  และนอกชุมชน  มีหน่วยงานต่าง ๆ  หลายหน่วยงานเริ่มให้ความสำคัญ และกำลังจะเข้าไปช่วยให้การสนับสนุน 

                การบริการความรู้  บ้านหลุมมะขามมีองค์ความรู้ที่เกิดจากภูมิปัญญาโดยแท้จริงในด้าน
ต่าง ๆ  ได้แก่
                1.  หลักการดำเนินชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง

                2.  หลักในการบริหารจัดการกลุ่มออมทรัพย์
                3.  แหล่งการเรียนรู้เรื่องการปลูกพืชครบวงจรแบบวนเกษตร

                4.  การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ  ได้แก่สมุนไพร การทำน้ำยาล้างจาน ยาสระผมแบบไม่ใช้สารเคมี และการทำน้ำมันไปโอดีเซล             

ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดฉะเชิงเทรา  และสถานศึกษาที่เป็นหน่วยงานในสังกัดได้แก่  ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ  ห้องสมุดประชาชน ศูนย์การเรียนชุมชน และแหล่งการเรียนรู้ชุมชน  สถานที่เหล่านี้จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งให้บริการทางการศึกษาทุกรูปแบบให้กับประชาชน  เป็นการเชื่อมโยงความรู้เข้าไปยังชุมชนโดยมีหน่วยงานหลักคอยกำกับดูแลและให้การสนับสนุน 

สถานที่ติดต่อเพื่อขอรับบริการการศึกษานอกโรงเรียน  สามารถติดต่อประสานงานเพื่อขอรับบริการการศึกษาได้ในทุกตำบล    ศูนย์การเรียนชุมชนประจำตำบล  หรือที่ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอทุกแห่ง  และที่ห้องสมุดประชาชนอำเภอ  หรือที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดฉะเชิงเทรา  โทร.  038-981619  038-981622

คำสำคัญ (Tags): #วัชรินทร์
หมายเลขบันทึก: 157060เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2008 19:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

บทความที่เขียนขึ้นมานี้  เขียนส่งให้กับ หนังสือ ที่นี่แปดริ้ว  ซึ่งมี อ.โอเล่  เป็นผู้ประสานงาน  เลยขึ้นมาให้ช่วยอ่าน  และตกแต่งให้สวยงาม

หนังสือที่นี่แปดริ้วหาซื้อได้ที่ไหนคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท