UsableLabs 2551: ขบวนการผู้ก่อการดี โครงการแม่สีแสง สร้างเครือข่ายสารสนเทศภาคประชาชน


ปี พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) นี้เป็นปีที่น่าสนใจมากครับ เป็นปีของการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ มากมายไม่ว่าระดับประเทศหรือระดับโลก เป็นปีที่ต้องจับตามองเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งใกล้และไกลตัวอย่างไม่กระพริบตาทีเดียว

สำหรับพวกเราที่ UsableLabs ปีนี้ก็เป็นปีที่น่าสนใจมากเช่นเดียวกัน เพราะปี 2551 นี้จะเป็นปีที่เราจะสยายปีกและบินให้ได้ด้วยตัวเราเองแล้วครับ

ที่ผ่านมาเราเหมือนลูกนกครับ ได้อาศัยพึ่งพิง สคส. และภาคีอื่นๆ มาโดยตลอด แต่มาถึงตอนนี้ปี 2551 เมื่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย นั่นหมายถึงว่าเป็นสัญญาณว่าถึงเวลาแล้วครับ ถึงเวลาที่ UsableLabs กางปีกเป็นนกที่บินได้เองเต็มตัวแล้ว ถึงเวลาที่เราจะมี พันธกิจ (mission) ของเราเองภายใต้ปรัชญาและความตั้งใจของเราที่จะทำสิ่งที่ตั้งใจนั้นให้ประสบความสำเร็จให้ได้แล้วครับ

ดังนั้นตั้งแต่ปี 2008 นี้เป็นต้นไป UsableLabs "จะระบายแม่สีแสงทั้งสาม สร้างแสงสว่าง สร้างเครือข่ายสารสนเทศภาคประชาชน" ครับ

สิ่งที่เราจะทำนั้นทำเพื่อตอบสนองความเชื่อของเราที่ว่า "สารสนเทศเป็นหนึ่งในปัจจัยจำเป็นพื้นฐานของชีวิต" ครับ

มนุษย์จะอยู่ดีมีสุขได้ก็ต่อเมื่อมี อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และสารสนเทศ

เพราะสารสนเทศที่ดี คือปัจจัยที่ทำให้มนุษย์สามารถมี อาหารที่ดี ยารักษาโรคที่ดี เครื่องนุ่งห่มที่ดี และที่อยู่อาศัยที่ดีได้

เราเชื่อว่าสารสนเทศคือปัจจัยจำเป็นพื้นฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยจำเป็นพื้นฐานอื่นๆ ครับ

สารสนเทศ (information) ที่เราพูดถึงนี้ บางคนอาจเรียกว่า "การศึกษา" บางคนอาจเรียกว่า "ปัญญา" หรือ "ความรู้" หรืออื่นๆ แต่สำหรับเราซึ่งเป็น information scientists แล้ว เราเห็นว่าไม่ได้ต่างกันครับ ที่ UsableLabs เราเรียกว่า "สารสนเทศ"

ขอหมายเหตุว่า ในห้องเรียน knowledge management ส่วนใหญ่จะแยก data, information, knowledge, etc. แต่สำหรับเราแล้ว ทั้งหมดคือสารสนเทศ ถ้าเปรียบกับอาหารก็เหมือน อาหารดิบ อาหารสุก อาหารปรุงสำเร็จ อาหารแห้ง ฯลฯ แต่ทุกอย่างคือ อาหาร ทั้งสิ้นครับ

ดังนั้นเมื่อเรากล่าวถึง "สารสนเทศ" แล้ว หมายถึงสารสนเทศในความหมายในเชิงกว้างที่ครอบคลุมความหมายในเชิงลึกที่แทนด้วยศัพท์อื่นๆ นั่นเองครับ

สิ่งที่เราตั้งใจตั้งเป้าหมายในการทำตั้งแต่ปี 2008 นี้เป็นต้นไปคือ "เราจะทำให้การเข้าถึงสารสนเทศของประชาชนโดยส่วนใหญ่ของประเทศไทยเป็นไปได้จริงง่ายที่สุด และได้ผลประโยชน์จริงสูงสุด"

นั่นคือเราจะพยายามลด digital divide หรือความแตกต่างในโอกาสของการเข้าถึงสารสนเทศของคนไทยนั่นเองครับ

ประเทศไทยอยู่ภายใต้กฎ 20/80 มาตลอดเวลา ไม่ได้ต่างกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ

คนไทยไม่เกิน 20% เป็นเจ้าของทรัพยากรมากกว่า 80% ของประเทศ ส่วนคนไทยน้อยกว่า 80% ของประเทศได้มีโอกาสใช้ทรัพยากรไม่เกิน 20% ของประเทศ

ในการเข้าถึงสารสนเทศนั้น คนไทย "น้อยกว่า" 20% มีสิทธิ์และมีทางเลือกในการเข้าถึงสารสนเทศที่หลากหลาย ส่วนคนไทย "มากกว่า" 80% ของประเทศไม่มีสิทธิ์และไม่มีทางเลือกในการเข้าถึงสารสนเทศเลย

เรื่องนี้ต้องแก้ไขเร่งด่วน หากเราเชื่อว่าสารสนเทศคือปัจจัยจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์

โจทย์นี้ใหญ่ครับ แต่ UsableLabs จะลองแก้ดู เพราะเราเชื่อในความสำคัญของสารสนเทศ และเราคิดว่าโอกาสที่จะเห็นภาครัฐไทยมาเห็นความสำคัญอย่างที่เราเห็นนั้นคงน้อย รอไปคงแห้งตายคาเครื่องคอมพิวเตอร์

เราเรียนรู้แล้วว่าถ้าอยากเห็นอะไรในประเทศไทย ก็ต้องทำเอง รัฐไทยไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่มีไว้เพื่อควบคุมประชาชนให้เอื้อประโยชน์แก่รัฐ

ไม่ว่าจะพวกไหนก็แล้วแต่ ไม่เห็นมีพวกไหนจริงจังกับการลด digital divide อย่างเป็นระบบเลย น่าแค้นใจจริง

เพราะ digital divide ถ้าลดลงได้ เขาคงกลัวว่าจะไม่เกื้อประโยชน์แก่ 20% ของประเทศครับ

ดังนั้นถ้าภาครัฐทำช้า หรือไม่ทำ หรือทำไม่จริง เราประชาชนตาดำๆ ทำเอง (ก็ได้เฟ้ย)

พวกเราเกิดและโตมาจากกลุ่มคน 80% ของประเทศผู้ด้อยโอกาส เราเป็นคนไทยแท้ๆ เราเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยลำแข้งตัวเองมานานแล้วครับ

แต่หากเราจะลด digital divide อย่างที่เราตั้งใจได้นั้น ไม่ใช่แค่ UsableLabs สี่คนทำครับ แต่ต้องเป็น "UsableLabs และเพื่อน"

คำว่า "และเพื่อน" นี่สำคัญมาก ไม่มีสงครามใดชนะได้โดยใช้นักรบเพียงหยิบมือเดียว

ดังนั้นผมจึงเขียนบันทึกนี้มาชวน "เพื่อน" ร่วมกันสร้าง "เครือข่ายสารสนเทศภาคประชาชน" ครับ

"เครือข่ายสารสนเทศภาคประชาชน" นั้นจะเกิดขึ้นได้จะประกอบด้วยปัจจัยสามอย่างที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งเราต้องช่วยกันพัฒนาขึ้นมาครับ

  • หนึ่ง เครื่องรับส่งสารสนเทศที่ "ใครๆ ก็ใช้ได้ และเป็นเจ้าของได้โดยง่าย" ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยสีเขียว เหมือนสีของการเติบโตของพืชพันธุ์ต่างๆ ครับ
  • สอง เครือข่ายในการรับส่งสารสนเทศที่ "ใครๆ ก็ใช้ได้ และใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้หรือมีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด" ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยสีแดง เหมือนแสงกระพริบในหลอดไฟของอุปกรณ์เครือข่ายทั้งหลายครับ
  • สาม ระบบเผยแพร่สารสนเทศที่ "ใครๆ ก็ใช้ได้ และใช้ได้อย่างอิสระเสรี" ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยสีน้ำเงิน กว้าง เหมือนทะเล เหมือนท้องฟ้า ครับ

ปัจจัยสามอย่างแทนด้วยแม่สีแสงสามสี รวมกันคือสีขาว ซึ่งคือสีแห่งปัญญานั่นเองครับ

ก่อนที่ผมจะอธิบายในแต่ละโครงการในรายละเอียด จะขอให้สังเกตว่าในทั้งสามโครงการที่เราแยกแยะนั้น ล้วนมีจุดร่วมกันที่ความ "ใครๆ ก็ใช้ได้" ทั้งนั้น

ความหมายของ "ใครๆ ก็ใช้ได้" คือ usability ด้วยเหตุนี้ usability ต้องเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของทุกโครงการครับ

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศนั้น หากขาด usability เสียแล้ว "มีก็เหมือนไม่มี" ครับ

ดังนั้นงานแรกสุดของ UsableLabs คือประชาสัมพันธ์เรื่อง usability ออกไปให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ด้วยการพยายามไปแทรกในองค์กรต่างๆ ในทุกหนทางให้มากที่สุดเพื่อให้ "usability เป็นวาระแห่งชาติ" ให้ได้

หากเปรียบแล้ว สคส. ชูธงเรื่อง "การจัดการความรู้" ส่วน UsableLabs นั้นชูธงเรื่อง usability ครับ

รัฐบาลอเมริกันมี Usability.gov รัฐบาลไทยไม่มีหวัง เมื่อรัฐบาลหวังไม่ได้ ดังนั้นในปี 2008 นี้ UsableLabs จะทำ Usability.in.th ครับ

กลับมาถึงปัจจัยทั้งสามเพื่อสร้างเครือข่ายสารสนเทศภาคประชาชนต่อครับ

ในปัจจัยทั้งสามนั้น เรามีแผนในการพัฒนาเป็นโครงการสามโครงการครับ

** โครงการสีเขียว **********

ในโครงการนี้เราจะสร้างเครื่องรับส่งสารสนเทศที่ "ใครๆ ก็ใช้ได้ และเป็นเจ้าของได้โดยง่าย" ครับ

แต่เราไม่มีความสามารถในการทำ hardware และถึงเราทำได้เราก็ไม่มีความสามารถในการทำแบบ mass production ที่จะมีต้นทุนต่ำเพียงพอที่ "ใครๆ ก็เป็นเจ้าของได้โดยง่าย"

ดังนั้นเราจะค้นหาสิ่งที่ "ใครๆ ก็เป็นเจ้าของได้โดยง่าย" เพื่อมาทำให้ "ใครๆ ก็ใช้ได้" ครับ

ในตอนนี้เราสนใจ EeePC มาก เพราะราคาถูก และเป็นอุปกรณ์ที่มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ "ใครๆ ก็ใช้ได้" ครับ

ที่จริงแล้วสิ่งที่เราสนใจมากคือ OLPC ซึ่งมีพัฒนาการเพื่อการใช้งานในสภาวะแวดล้อมภาษาไทยไปเยอะแล้ว เราไม่ได้มองว่า OLPC จะมีประโยชน์เฉพาะนักเรียนนักศึกษาและจะมีประโยชน์สำหรับบุคคลทั่วไปด้วย แต่โอกาสที่ OLPC จะได้มาใช้งานในประเทศไทยนั้นค่อนข้างจะลางเลือนครับ

Classmate PC นี่ก็น่าสนใจมาก ล่าสุดผมทราบข่าวว่ามีวางขายในประเทศเวียดนามแล้ว น่าอิจฉาชาวเวียดนามเหลือเกิน ตอนนี้เวียดนามเป็นประเทศที่เจริญด้านการศึกษากว่าประเทศไทยไปแล้วนะครับ อีกไม่นานคนไทยก็จะได้ชื่นชมในความสำเร็จในการสร้างประเทศของเวียดนาม เหมือนที่เราชื่นชมสิงค์โปร์และมาเลเซียครับ

สำหรับ EeePC นั้น ตอนนี้เรากำลังทดลอง EeePC อยู่เพื่อหาหนทางทำให้ EeePC ใช้งานได้ง่ายที่สุดในประเทศไทย เพราะอย่างไรก็ตาม EeePC ก็เป็นอุปกรณ์เดียวในกลุ่มนี้ที่มีขายในประเทศไทยครับ

EeePC เป็น hardware ที่ดี แต่ซอฟต์แวร์ที่ให้มานั้นยังขาดยังเกินอยู่อีกหลายอย่าง UsableLabs จะพยายามดูว่าเรา "และเพื่อน" จะทำอะไรได้บ้างในการปรับแต่งเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ EeePC มี usability ที่ดีกว่าปัจจุบันครับ

"เพื่อน" ของเราในที่นี้คือทุกคนที่อยากเห็นแสงสว่างทางปัญญาเกิดขึ้นทั่วประเทศไทยครับ

การจะให้อุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งใช้งานได้อย่างแพร่หลายนั้น ไม่ใช่แค่ให้โปรแกรมเมอร์ทำก็ทำได้ครับ แต่ต้องอาศัยความช่วยเหลือและความร่วมมือจากคนในหลายต่อหลายกลุ่มหลายพวกด้วยกัน

เริ่มจากกลุ่มผู้ทดลองใช้กลุ่มแรกที่จะต้องอดทนกับความไม่สมบูรณ์เพื่อให้เป็นข้อมูลให้กลุ่มพัฒนาได้แก้ไขปรับปรุง เมื่อการใช้งานเริ่มแพร่หลายแล้ว ผู้ใช้งานก็ต้องช่วยกันเผยแพร่ช่วยกันสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาในการใช้งานต่อๆ กันไป จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสี่ จากสี่เป็นแปด เพิ่มขึ้นทวีคูณครับ

ผมเชื่อว่าจะให้เทคโนโลยีใดประสบความสำเร็จนั้น ต้องใช้งานด้วยระบบ "ถ้อยทีถ้อยอาศัย" นั่นคือ user-centered/user-driven product development ครับ

กฎที่สำคัญที่สุดคือ "ผู้ใช้" สำคัญที่สุด

ดังนั้นเครื่องรับส่งสารสนเทศภาคประชาชนที่ "ใครๆ ก็ใช้ได้" นี้ต้องพัฒนามาจาก "ผู้ใช้" (user-driven product development) ไม่ใช่ engineer-driven product development ครับ

** โครงการสีแดง **********

ในโครงการนี้ เราจะสร้างเครือข่ายในการรับส่งสารสนเทศที่ "ใครๆ ก็ใช้ได้ และใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้หรือมีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด" ครับ

เครือข่ายที่ผมกล่าวถึงนี้คือ Wireless Community Network หรือ "เครือข่ายไร้สายภาคประชาชน" นั่นเองครับ

เครือข่ายเช่นนี้จะสำคัญมาก เพราะค่าใช้จ่ายในการใช้บริการอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันของประเทศไทยนั้นค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเครือข่ายที่ "ใช้ที่ไหนก็ได้ตลอดเวลา" (mobility) นั้นยิ่งแพงเข้าไปใหญ่ ต้องรวยจริงๆ ถึงมีสิทธิ์ใช้ รวยธรรมดายังไม่กล้าใช้ ทั้งๆ ที่คุณภาพบริการนั้นแย่มาก บางคนถึงกับว่า "แมวร้องสัญญาณก็หลุดแล้ว (ถ้าหมาเห่าไม่ต้องพูดถึง)" ครับ

ความแพงนั้น แพง แพงมากๆ แพงจริงๆ รับรองว่าในราคาปัจจุบันนั้นผู้คน 80% ของคนไทยไม่มีโอกาสเข้าถึงแน่นอน และไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไหร่ราคาของการสื่อสารนี้จะลงมาให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ดูจากสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันของประเทศไทยแล้ว ไม่ว่าพวกไหนจะมีอำนาจ บริการเหล่านี้ก็มีแต่แพงขึ้น น่าเศร้าจริงๆ

ไม่เข้าใจเลยว่าพวกเขาแบ่งพรรคแบ่งพวกกันทำไม เพราะวิสัยทัศน์ในการคิดและการทำงานเหมือนกันยังกับว่าเป็นพี่น้องท้องเดียวกันคลานตามกันมา น่ารันทดจริงๆ ไม่ได้ต่างกันเลย

ดังนั้น Wireless Community Network จึงจำเป็นมากสำหรับการสร้างเครือข่ายสารสนเทศภาคประชาชนครับ เครือข่ายภาครัฐพึ่งไม่ได้แน่ๆ แล้ว ถ้าไม่ทำกันเองก็ไม่มีทางได้เห็นครับ

ในตอนนี้สิ่งที่ UsableLabs สนใจอย่างยิ่งก็คือการนำ OpenWRT มาดัดแปลงเพื่อสร้าง Wireless Community Network ครับ

ช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเราเห็นความสำเร็จของการประยุกต์ใช้ Wireless Community Network ในนานาประเทศอย่างมากมายทั้งในทางการค้าและในทางเพื่อสังคม เราเชื่อว่าเราสามารถ "ยืนบนใหล่ของพญายักษ์" (Standing on the Shoulders of Giants) ได้ครับ

ที่ UsableLabs เราได้ซื้ออุปกรณ์เพื่อสร้างเครือข่ายเช่นนี้มาทดลองแล้ว ในตอนนี้กำลัง "งม" กันอยู่เลยครับ ว่าจะทำอย่างไรดี แต่ก็เริ่มเห็นแสงสว่างรำไรบ้างแล้วจากสิ่งที่มีผู้ทำกันไว้มากมายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราจะขอ "ยืนบนไหล่" เพื่อสร้าง Wireless Community Network ในประเทศไทยครับ

ผมขอตั้งชื่อ network นี้ว่า COKAN (Community Knowledge Access Network) นอกจากให้เกียรติแก่ คุณกานต์ ยืนยง (ปัจจุบันอยู่ที่ไอเน็ต) ซึ่งเป็นผู้จุดประกายให้ผมรู้จักเทคโนโลยีนี้และได้ทำงานเพื่อสร้างเครือข่ายเช่นนี้มาระยะหนึ่งแล้ว ยังเป็นการสะท้อนว่าเครือข่ายนี้เราสร้างเพื่อ "การจัดการความรู้" เพื่อ "การแลกเปลี่ยนเรียนรู้" ของประชาชน ดังนั้นท่านผู้มีอำนาจทั้งหลายกรุณาปล่อยให้เราทำเถอะ อย่าออกกฎหมายอะไรมาขวางกั้นการ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" ของประชาชนเลย

** โครงการสีน้ำเงิน **********

โครงการนี้คือการสร้าง ระบบเผยแพร่สารสนเทศที่ "ใครๆ ก็ใช้ได้ และใช้ได้อย่างอิสระเสรี" ครับ

เมื่อมีเครื่องรับส่งสารสนเทศผ่านเครือข่ายรับส่งสารสนเทศที่ "ใครๆ ก็ใช้ได้" แล้ว เรื่องต่อมาที่ต้องทำคือ "ระบบเผยแพร่สารสนเทศ" ที่ "ใครๆ ก็ใช้ได้" ครับ

ในโครงการนี้กล่าวง่ายๆ คือโครงการของการทำ websites และ web applications นั่นเองครับ

แต่ไม่ใช่เว็บโดยทั่วไป เพราะจะเป็นเว็บที่ใช้งานได้ดีกับโครงการสีเขียวและสีแดง เนื่องจากโครงการทั้งสองสีนั้นคือการทำสิ่งที่ความสามารถไม่สูงแต่ใช้งานจริงได้ (low-end but usable) ดังนั้นเว็บในโครงการสีน้ำเงินต้องคำนึงถึงประเด็นนี้เป็นสำคัญครับ

ตอนนี้เรากำลังปรับเว็บที่เราทำทั้งหมดให้สามารถใช้งานกับเครื่องและระบบเครือข่ายคุณภาพต่ำได้ เราเชื่อว่าประเด็นนี้สำคัญมากและอยากเชิญชวนเว็บไซต์ทั่วประเทศไทยทำเช่นเดียวกับเราครับ

นอกจากนี้เรายังจะเข้าไปรับทำ portal sites ขององค์กรต่างๆ ด้วย เพราะเราให้ความสำคัญกับ portal sites มากเนื่องจาก portal sites คือจุดเริ่มต้นที่ผู้ต้องการสารสนเทศขององค์กรนั้นๆ จะเข้าไปค้นหาครับ

portal sites ที่มี usability ที่ดีนั้น มีประโยชน์มหาศาล แต่ portal sites ที่ usability ไม่ดีนั้น "มีก็เหมือนไม่มี" ครับ ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย

เรื่องนี้เรื่องสำคัญมาก usability ต้องเป็น "วาระแห่งชาติ" ครับ

สำหรับโครงการสีน้ำเงินแล้ว สิ่งที่มีประโยชน์มหาศาลที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมาคือ Creative Commons สำหรับประเทศไทย

เรื่องการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายในการใช้งานและเผยแพร่งานที่มีลิขสิทธิ์ต่อไปนั้นสำคัญมากครับ อาจกล่าวได้ว่า Creative Commons เป็น "แก่น" ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของประชาชนเลยทีเดียว ผมได้กล่าวถึงความสำคัญนั้นไว้ใน บันทึกนี้ ครับ

Creative Commons แบบ Attribution-NonCommercial-ShareAlike จึงเป็นสิ่งที่เหมาะกับการจัดการความรู้ในความหมายของการ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" อย่างมากครับ เพราะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีนั้น ควรสามารถทำต่อยอดต่อเนื่องได้อย่างเสรีโดยมีข้อจำกัดน้อยที่สุด แต่ต้องให้เกียรติผู้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Attribution) ต้องไม่นำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นไปหาโอกาสทางการค้าโดยมิชอบ (NonCommercial) และต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อยอดต่อไปในแบบอย่างเดียวกัน (ShareAlike) ครับ

โดยสรุปแล้ว งานในโครงการสีน้ำเงินนี้ยังมีอีกมาก ยังมีเว็บไซต์อีกหลายอย่างที่สมควรทำแต่ไม่มีใครทำเพราะไม่มีประโยชน์ทางการค้า หรือเว็บไซต์บางอย่างได้มีคนทำไว้เยอะแล้ว แต่ขาด usability ทำให้ไม่ได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลาย

ในเว็บที่ไม่มีใครทำนั้น UsableLabs จะช่วยกันทำเอง หรือไม่ก็หา "เพื่อน" มาช่วยกันทำ ส่วนเว็บที่ขาด usability นั้น เดี๋ยว UsableLabs ยินดีช่วยเหลือครับ

งานในโครงการสีน้ำเงินจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องสอดคล้องกับงานในโครงการสีเขียวและสีแดง โดยใช้ Creative Commons ภาษาไทยเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" ได้อย่างเสรีครับ

** ร่วมมือ ร่วมใจ ช่วยกัน สร้างเครือข่ายสารสนเทศภาคประชาชน **********

ด้วยกำลังที่เรามีขณะนี้ UsableLabs ไม่มีทางและไม่มีความสามารถทำสิ่งที่ผมเขียนทั้งหมดนี้ได้แน่นอนครับ

เครือข่ายสารสนเทศภาคประชาชน ในสามโครงการนี้จะประสบความสำเร็จได้จะต้องเกิดจากการช่วยกันทำครับ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ แลกเปลี่ยนแบ่งปันเพื่อให้สอดคล้องประสานกันในที่สุดครับ

ดังนั้นสำหรับท่านที่ถามว่าจะช่วยเหลือ GotoKnow อย่างไร ผมขอตอบว่าอย่าช่วยแค่ GotoKnow ครับ มาร่วมกันช่วยสร้างเครือข่ายสารสนเทศภาคประชาชนกันดีกว่าครับ

เริ่มต้นง่ายที่สุดในโครงการสีน้ำเงิน ก็คือช่วยกันเขียน ช่วยกันเล่า ช่วยกันให้ความรู้แก่สังคม ไม่ว่าจะเขียนใน GotoKnow หรือที่ไหนก็ตาม แต่ขอให้เป็นที่ที่สิ่งที่คุณเขียนนั้นสามารถนำไปใช้ต่อได้ภายใต้เงื่อนไข Creative Commons ครับ

การเขียนในที่นี้ผมไม่ได้หมายถึงการเขียนสิ่งที่เป็น "ความรู้แห้ง" (Explicit Knowledge) นะครับ แต่เป็น "ความรู้สด" (Tacit Knowledge) ที่เป็นตัวตนของคุณ เป็นประสบการณ์ เป็นสิ่งที่คุณคิดและเป็นสิ่งที่คุณทำ ไม่ต้องกลัวในเรื่อง "ไร้สาระ" หรือ "มีสาระ" ครับ สำหรับ "ความรู้สด" แล้วไม่มีสิ่งที่ไร้สาระ ทุกสิ่งคือสาระทั้งสิ้น "ยิ่งสดยิ่งมีสาระ" ในความหมายของ Tacit Knowledge ครับ

ดังนั้นขอให้เขียนขอให้เล่าเถอะครับ ในตอนนี้พวกเราทีมงานทางเทคนิคทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าจะพยายามให้ GotoKnow ซึ่งอยู่ในโครงการสีน้ำเงินนี้ทำงานให้ได้ดีที่สุดครับ ไม่ต้องให้ผู้ใช้กังวลเรื่องทรัพยากรของระบบครับ

ส่วนโครงการสีเขียวและสีแดงนั้น ในช่วงแรกนี้อาจต้องอาศัยคนด้านเทคนิคเป็นคนทำเป็นหลัก แต่หลังจากเริ่มต้นทดลองใช้งานได้แล้ว ทุกท่านคือส่วนสำคัญที่ทำให้โครงการเหล่านี้ออกมาจากห้องทดลองและเป็นจริงขึ้นได้ครับ ไม่ว่าการทดลองใช้ชุมชนเล็กๆ หรือขยายใหญ่ขึ้นไปเป็นระหว่างชุมชนในอนาคตครับ

วันที่เราเรียกว่าประสบความสำเร็จคือวันที่คนไทยโดยทั่วไปสามารถแลกเปลี่ยนสารสนเทศได้อย่างเสรีไม่จำกัดที่และจำกัดเวลาครับ

ถ้าไปสถานีขนส่งสายใต้ หรือสถานีขนส่งหมอชิต หรือตลาดสดที่ต่างๆ ในประเทศไทย แล้วเห็น "คนธรรมดา" หยิบอุปกรณ์รับส่งสารสนเทศมาใช้ได้แทนการบริโภคสารสนเทศในสื่อที่จำกัดอย่างอื่นเช่น หนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร นั่นคือความสำเร็จครับ

เพื่อให้ประสบความสำเร็จเช่นนี้นั้นเป็นเรื่องใหญ่ครับ ไม่มีสงครามใดชนะได้ด้วยการใช้ทหารเพียงหยิบมือเดียว โดยเฉพาะสงครามที่ต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม การสร้างเครือข่ายสารสนเทศภาคประชาชนก็เช่นเดียวกันครับ UsableLabs ทำไม่ได้แน่นอน แต่ UsableLabs "และเพื่อน" ทำได้

ทุกมือคือมือที่สำคัญที่จะทำให้ digital divide ในประเทศไทยลดลงได้ ผมจึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านเลือก น้ำเงิน เขียว หรือแดง ช่วยกันคนละไม้ละมือ แต่ให้สอดคล้องประสานกัน แดงเพื่อน้ำเงิน เขียวเพื่อแดง น้ำเงินเพื่อเขียว ฯลฯ ถ้าตั้งใจร่วมกันแล้ว เราอาจทำสิ่งที่ภาครัฐทุ่มงบนับพันล้านทำไม่ได้ครับ

งานนี้ไม่มีผู้นำไม่มีผู้ตามนะครับ เราทุกคนทำได้เต็มที่ เรามีเพียงวัตถุประสงค์ที่เป็นหนึ่งเดียวกันก็พอครับ สิ่งที่ผมเขียนมานี้ ใครสามารถทำอะไรได้ก็ทำได้เต็มที่เลยครับ ใครมีความรู้เรื่อง network สนใจลุย OpenWRT ทำ Wireless Community Network ได้เลย ใครเห็นว่า EeePC น่าปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือมีอุปกรณ์อะไรดีกว่า EeePC ก็ทำได้เลยครับ หรือใครจะเผยแพร่เนื้อหาที่ไหนก็ตามที่ใช้สัญญาอนุญาตแบบ Creative Commons ก็ทำได้เลยครับ ไม่ต้องรอกันครับ เพียงแต่ขอให้นึกว่าสิ่งที่ทำนั้นให้สามารถทำงานร่วมกับสิ่งที่คนอื่นทำอยู่ได้ก็พอครับ

ผมอยู่ในพื้นที่ห้าจังหวัดภาคใต้ ทำให้ผมเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการอย่างหนึ่ง นั่นคือการทำงานร่วมกันภายใต้ "จุดหมายร่วมกันที่ชัดเจน" แต่ไม่ต้องมีโครงสร้างการบริหารจัดการมาให้เสียเวลาทำงาน (หรือถูกจับ) นั้นประสบความสำเร็จมาก สามารถเอาชนะวิธีบริหารจัดการแบบมีโครงสร้างที่ซับซ้อนได้อย่างง่ายๆ

วิธีการทำงานของขบวนการผู้ก่อการร้าย หากเราเปิดใจที่จะเรียนรู้ เราอาจเห็นวิธีการบริหารจัดการที่มองได้ว่าเป็นนวัตกรรมการจัดองค์กรที่น่าจะเลียนแบบในวิธีการทำงานได้เหมือนกัน

ดังนั้นเรามาร่วมกันทำงานเป็น "ขบวนการผู้ก่อการดี" ที่จะทำงานร่วมกันภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกัน ร่วมกันชูธงสี เขียว แดง และน้ำเงิน ที่สอดประสานกัน เพื่อสร้างเครือข่ายสารสนเทศภาคประชาชนกันเถอะครับ

** ฝันเอาจริง **********

ผมเขียนบันทึกนี้เหมือนฝันครับ เป็นเรื่องใหญ่ที่ดูเหมือนไกลตัวเหลือเกิน เหมือนมดตัวเล็กๆ สี่ตัวที่มองไปที่ยอดภูเขาแล้วบอกว่าเราจะไปถึงยอดนั้นให้ได้ ทั้งๆ ที่เราเป็นมดขาสั้นๆ เท่านั้นเอง

แต่ถ้าไม่กล้าฝันก็ไม่มีวันได้เห็นความจริงครับ

สัปดาห์หน้าจะเป็นสัปดาห์เริ่มต้นของปี พ.ศ. 2551

ตลอดปี พ.ศ. 2551 นี้ UsableLabs จะอุทิศเวลาทำงานในโครงการสี เขียว แดง น้ำเงิน นี้อย่างเต็มที่

แล้วมาพิสูจน์กันอีกทีในสัปดาห์สุดท้ายของปี พ.ศ. 2551 ว่านี่คือความฝันหรือความจริงครับ

ให้มันรู้กันไปว่าจะทำได้หรือทำไม่ได้

ดังนั้นโปรดติดตามตอนต่อไปของบันทึกนี้ สิ้นปี พ.ศ. 2551 ครับ

หมายเลขบันทึก: 156536เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2007 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อาจารย์ธวัชชัยครับ

มีอีกขบวนการก่อการดีที่ http://gotoknow.org/blog/thaikm/156597  ฝากอาจารย์ให้มะปรางช่วยหาเด็กเจ๋งๆ ด้วยครับ    อยากได้เด็กบ้านนอก และมาจากทุกภาค

สวัสดีปีใหม่แก่อาจารย์ธวัชชัย  จันทวรรณ  หลานต้นไม้   มะปราง และกล้าครับ

วิจารณ์

เรียน อ.หมอวิจารณ์ที่เคารพ

เดี๋ยวพวกผมจะช่วยหาเด็กมีฝีมือให้ขบวนการก่อการดีครับ

พวกผมขอกราบสวัสดีปีใหม่แก่อาจารย์​และครอบครัวครับ ขอพรคุณพระอวยพรให้อาจารย์และครอบครัวมีความสุขตลอดปี 2551 และตลอดไปครับ

ธวัชชัย 

สุดยอดจริงๆ เลยค่ะ ขอให้อาจารย์และผู้ร่วมกระบวนการก่อการดี เดินทางสู่เป้าหมายนะคะ  สวัสดีปีใหม่ชาว UsableLabs ทุกคนค่ะ

ขอขอบคุณอาจารย์หมอวิจารณ์และอาจารย์หมอปารมีที่ ลปรร. ครับ  พวกเราขอกราบสวัสดีปีใหม่อาจารย์ทั้งสองท่านครับ ขอให้คุณพระดลบันดาลให้อาจารย์มีความสุขตลอดปี 2551 และตลอดไปครับ

โชคดีปีใหม่  ขอให้มีความสุขมากๆครับ
เป็นบันทึกที่เป็นของขวัญปีใหม่ที่ดีมากๆเลยค่ะ ขอเป็นแรงเล็กๆแรงหนึ่งเพื่อการนี้ด้วยค่ะ พี่โอ๋ขอขอบคุณชาว UsableLabs ด้วยบันทึกนี้นะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท