หมอที่ไม่ใช่แพทย์.......หมออนามัย


นึกอยากทำความรู้จัก กับชาวบล็อกG2K ให้มากขึ้น และยินดีแสดงตัวตนแก่ชาวG2K ด้วยความบริสุทธิ์ใจค่ะ

   มีหลายท่านคุ้นเคยกับหมออนามัย แต่ก็มีไม่น้อย ที่ไม่เคยได้ยิน แม้กระทั่งสมัยหนึ่ง จะได้มีการ ยกระดับหัวหน้าสถานีอนามัย ให้สูงขึ้น คนระดับรัฐมนตรี ของกระทรวงที่สังกัดอยู่ ถามมาว่า สถานีอนามัยคืออะไร คราวนั้น ทำให้สะท้อนใจตัวเองว่า วิชาชีพของเรานี้ เป็นได้แค่ของคู่บ้านคู่เมือง ของชาวชนบทเท่านั้น จึงคิดจะเขียนบันทึกเรื่องราว ของคนที่อยู่ไกลปืนเที่ยง แต่เป็นส่วนหนึ่งคู่ชนบทไทยมาช้านาน ให้ปรากฏในจดหมายเหตุ G2K ต่อไปนี้

   ผู้เขียน เป็นคนชลบุรี แต่จบวิชาชีพผดุงครรภ์อนามัย จาก จ.ลำปาง และถูกบรรจุให้เข้าทำงานครั้งแรก ที่สถานีอนามัยตำบลหนองใหญ่ ดินแดนแห่งไข้มาลาเรีย แต่ละวันจะมีรถโดยสารเข้าเมือง 1 เที่ยว เช้าไป เย็นกลับ ก็หมายความว่า ผู้เขียนต้องเข้าไปรับเงินเดือนที่จังหวัด ก็ใช้เวลา หนึ่งวันเต็ม เวลาไปถึงจังหวัดเขาจะรู้มาจากอำเภอไหน เพราะ ฝุ่นที่ตลบในรถตลอดทางถนนลูกรัง แสดงเครื่องหมายได้ดี ชีวิตผู้เขียนเริ่มต้นที่ความขาดแคลนในการทำงาน และสู่จุดที่เป็นเนื้อแท้ของชนบทประเทศไทยอย่างแท้จริง

   ในแต่ละวัน มีแต่งานๆๆๆ คนไข้ คนคลอดลูก เด็กฉีดวัคซีน จ่ายยาคุม ควบคุมโรคที่ระบาดฯลฯ สรุปว่า ทุกงานที่เป็นภารกิจ ของกระทรวงสาธารณสุข  ได้ถูกกำหนดลงที่สถานีอนามัย ทุกประการ

  มีรถมอเตอร์ไซด์ประจำสถานีอนามัย สองคัน เก่ามาก วิ่งได้ไม่เกิน ยี่สิบ คลานไปเรื่อย สะพายกระเป๋าเยี่ยมบ้าน เยี่ยมเด็กเกิดใหม่ สะดือแฉะไหมเพราะสะดือมีความสำคัญ กับเด็กแรกเกิดมาก หาก สกปรก เป็นหนอง จะเกิดอันตราย และเป็นส่วนที่พ่อแม่ ไม่กล้า ทำความสะอาด กลัวลูกเจ็บ ผู้เขียนต้องใช้สำลี ชุบแอลกอฮอล์ทำความสะอาดให้  แม่หลังคลอดเป็นอย่างไร น้ำคาวปลาเดินปกติไหม มีนมให้ลูกดื่มหรือเปล่า แม่บางคนที่ผู้เขียนไปเยี่ยมช้า ต้องนอนซม กับไข้น้ำนม เพราะนมคัด แล้วไม่บีบ ให้นมไหลเสียก่อน บางคน ทนให้ลูกดูดนม ด้วยหัวนมที่ถลอกปลอกเปิก ลูกก็ดื่มนม ผมเลือดแม่กันไป ไม่ได้ใช้วิธีประคบเต้านม รักษาหัวนมเสียก่อน ชีวิตที่ไม่รู้ของชาวชนบท น่าสงสาร ผู้เขียนต้องต่อสู้กับความเชื่อเดิม ที่ผู้เฒ่าผู้แก่ ห้ามแม่ลูกอ่อน กินโน่น กินนี่ จนที่สุด กินได้แต่ข้าวกับเกลือ แม่จึงผ่ายผอม เหล่านี้ ล้วนเป็นงานที่ ต้องทำด้วยความอดทน และเมตตาอย่างยิ่ง

    ทำไมชีวิตของหมออนามัย จึงยุ่งเกี่ยวกับชาวบ้านเขามากมายนัก หลังคลอด ถ้าไม่แนะนำวางแผนครอบครัว ก็เกิดปัญหา ตั้งท้องถี่เกินไป ทำให้เห็นภาพ แม่ที่มีลูกล้อมหน้า ล้อมหลัง

 ดังนั้นจึงต้องมีทะเบียน ชัดเจน คนนี้ท้องเมื่อไหร่ คลอดเมื่อไหร่ วางแผนครอบครัวหรือยัง

   งานอนามัยแม่แลเด็ก เป็นหัวใจของสถานีอนามัย ดูแลคนตั้งแต่ยังไม่เกิด จนถึงวันตาย เป็นความผูกพัน ที่สานก่อกันมา จนเราเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน อย่างไม่รู้ตัว แม้ทุกวันนี้ กลับไปที่เคยทำงาน เมื่อ ยี่สิบเจ็ดปีก่อน เขาก็ยังจำเราได้ ผู้เขียนเคยเจอเด็กแฝดที่ทำคลอดให้ แม่เขาจำเราได้ ให้เด็กที่โตเป็นสาวแล้ว มาสวัสดี

  ผู้เขียนเพิ่งนึกได้ว่า ความสุขเล็กๆน้อยๆ แต่ยิ่งใหญ่สำหรับหมออนามัย อย่างเรา ที่ทำให้ ไม่เคยคิดอยากเปลี่ยนอาชีพ ไปอยู่โรงพยาบาล หรือที่ที่เจริญกว่านี้ ความคิดนี้ เกิดขึ้น ตั้งแต่เริ่มรับราชการครั้งแรก และยังไม่เคยเปลี่ยนแปลง

  จะค่อยๆเล่าเรื่องหมออนามัยให้ฟัง ในวันว่างอย่างนี้ อีกสักสองสามบันทึก ไม่ได้คาดหวังอะไร เพียงแต่ นึกอยากทำความรู้จัก กับชาวบล็อกG2K ให้มากขึ้น และยินดีแสดงตัวตนแก่ชาวG2K ด้วยความบริสุทธิ์ใจค่ะ

หมายเลขบันทึก: 155499เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2007 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

สวัสดีครับ คุณหมอรุ่ง

  • ถึงจะเป็นอดีต แต่ก็มีเนื้อหาสาระ ที่ไม่อาจจะบิดเบือนได้ในปัจจุบัน
  • อ่านแล้วมีประโยชน์ ใช้เป็นบทเรียนได้ดี
  • บางครั้งคนเราสมัยนี้จะพัฒนาตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่บางครั้งยามฉุกเฉิน ก็ต้องหันมาพึ่งพา หลักการแบบเดิมๆบ้างครับ
  • จะรอติดตามอ่านและให้กำลังใจต่อไปครับ

 

 

สวัสดีค่ะคุณ สะ-มะ-นึ-กะ

   หลักการทางสาธารณสุข ยังทันสมัย ใช้ได้ดี แม้ปัจจุบันนี้ค่ะ เพียงแต่เขาเอาไปสร้างมูลค่า ตามค่านิยม จนกลายเป็นนวตกรรมใหม่ๆ

 คนไข้คลอดสมัยก่อน มีอาการแทรกซ้อนน้อยมาก คลอดเอง ให้นมลูกได้ทุกคน เพราะ ไม่ต้องนั่งเจ็บแผล เหมือนผ่าท้อง

 แม่ลูกผูกพัน ประหยัด สุขภาพพ่อแม่ก็ดี ไม่ต้องอดนอน ไม่ต้องตื่นชงนม เพราะลูกร้องก็เอาหัวนมใส่ปากได้เลย อุณภูมินม พอเหมาะ พอดี

 แต่หมออนามัย ก็คงชักชวนได้ แต่ตามชนบทค่ะ เพราะทางเลือกเขามีน้อย ต้องใช้วิธีธรรมชาติทั้งสิ้น

  เขียนไว้ ให้ทราวิถีชีวิตคนอนามัยค่ะ ขอบคุณค่ะ

มาให้กำลังใจ "คุณหมออนามัย" ครับ

บางครั้ง เราอาจจะยังไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ถูกกำหนดให้เข้ามาในชีวิตของเรา  ว่ามีเหตุผลอะไร แต่พอผ่านไปแล้ว ก็จะได้คำตอบเองว่าเหมือนมีการจัดสรรเอาไว้แล้วและสมเหตุสมผล...พอสมควร

คุณหมออนามัย จะได้สร้างบุญที่ทำได้ยาก....มาก

พระมหาคมสรณ์ซึ่งเป็นพระผู้ดูแลคลินิควัดไทยกุสินาราเคยบอกว่าผู้ที่มาใช้บริการคลินิคคือเป็นโรคทั่วไป และมีผู้ป่วยสตรี เด็กและคนชรามาก ซึ่งดูแล้ว คุณหมออนามัยทำได้อยู่แล้ว

ที่สำคัญที่สุดคือได้ทำอย่างเต็มที่ ในทุกๆ อย่างที่เข้ามาครับ ถือว่าชนะแล้วครับ

ด้วยความปรารถนาดี

 

สวัสดีค่ะ พี่รุ่ง

  • หมออนามัยแถวปางมะผ้า
  • ตอนนี้ ก็ไม่ต่างจาก 10-20 ปีที่แล้วเท่าไหร่
  • ทั้งวิถีชีวิต และ การทำงาน
  • งานออกจะมากขึ้นด้วยซ้ำ
  • เพราะอะไร ๆ ก็จะถามหา แต่
  • ตัวชี้วัด และ คุณภาพ
  • ที่ต่างไป คงเป็นถนน หนทางมังคะ
  • เดี๋ยวนี้มีไม่กี่หมู่บ้าน ที่รถเข้าไม่ถึงค่ะ
  • ขอบคุณ  ที่พี่นำมุมหนึ่งของการทำงานมาแลกเปลี่ยนค่ะ

สัวัสดีค่ะท่านพลเดช

     ขอขอบพระคุณกำลังใจ ที่ผ่านมา และจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า ให้ได้สร้างบารมี สมความตั้งใจ

  ตลอดยี่สิบกว่าปี กับงานอนามัยชุมชน เป็นประสบการณ์ ที่น่าเรียนรู้ ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป หมออนามัย จึงเป็นผู้ได้รับ ใบประกอบโรคศิลป์ด้วยค่ะ แม้ทุกวันนี้ จะเปลี่ยนชื่อเรียกสถานีอนามัยเป็น PCU (Primary health care unit ) หรือศูนย์สุขภาพชุมชน หรือฯลฯ......

  แต่เราก็อยากจะบอกว่า เราอยากเป็นหมออนามัย เหมือนเดิม รับผิดชอบชีวิตมนุษย์ ให้อยู่เย็นเป็นสุข ตามสภาพ ด้วยจิตสาธารณ เหมือนเดิมค่ะ

   ยินดีที่จะดูแล รักษา คนทุกเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ตามกำลังความสามารถที่มีค่ะ

สวัสดีค่ะน้องกุ้ง

  เมื่อไหร่ๆ คนอนามัย ก็ยังเป็นกลุ่มที่ยินดีในหน้าที่ บางคน เรียนเก่ง มีฐานะ แต่ก็ชอบที่จะมาเรียนวิชาชีพนี้ มาทำงานบนความขาดแคลน แต่ได้รับบุญ คือความสุขใจ ที่ไม่อาจบอกแทนกันได้ นอกจาก ปฏิบัติเอง

สวัสดีค่ะ

เข้ามาสนับสนุน ให้เขียนเรื่องนี้ค่ะ

ดิฉันรู้จักและสนิทสนมกับหมออนามัย 2-3 คนมาก่อน

 เข้าใจวิธีการทำงานด้วยความเสียสละและทุ่มเทของเขาค่ะ ดิฉันยังเคยสนับสนุนเครื่องมืการแพทย์ไปด้วยหลายอย่าง รวมทั้งคอมพิวเตอร์ และยานพาหนะอื่นๆด้วยความเต็มใจค่ะ

ที่คุณตันติราพันธ์ทำงาน มีชมรมหมออนามัยไหมคะ เพราะปกติ จะมีการรวมกลุ่มกัน ทำให้งานกว้างขวางขึ้น มีการรณรงค์ให้คนรักสุขภาพมากขึ้นค่ะ

ในความเห็นของดิฉัน ที่น่าจะรณรงค์อีกอย่างคือ การเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ค่ะ

 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องสูญเสียงบประมาณการรักษา บำบัด ฟื้นฟู ป้องกันภัยจากแอลกอฮอล์ โดยรวมไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท ในขณะที่มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีน้ำเมาเพียง 74,000 ล้านบาทเท่านั้น (ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ปี 2545) ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณพี่sasinanda

  ขอบคุณแทนหมออนามัยทุกคน โดยเฉพาะที่คุณพี่ได้มีโอกาสสนับสนุน หน่วยงานเราย่อยมาก ทุกวันนี้ เครื่องมือ ก็ขาดแคลนเหมือนเดิม เข้าแผนแล้ว วงเงินสูงก็ต้องรอ อนุมัติตามลำดับ บางครั้งมีเครื่องมือ ที่แทบจะใช้การไม่ได้ ไม่เพียงพอ ก็นึ่งของกันทุกวันค่ะ คนไข้เพิ่ม ถ้าคุณพี่ มีผู้ใจบุญจะสนับสนุน แจ้งให้ทราบบ้างนะคะ อยากขอบริจาคเครื่องมือ ชุดใหญ่ สัก 50,000 กว่าบาทค่ะ เตรียมให้น้องๆ ก่อนที่จะไปอินเดีย

  รณรงค์ตลอดค่ะเรื่องเหล้าบุหรี่ ก็สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ได้แต่เล่าผลลัพธ์สุดท้าย ของผู้เสพว่า ทรมานมากก่อนตายค่ะ

สวัสดีครับหมออนามัย

            ผมมาในยุคความเจริญไปถึงมากแล้ว ไม่ลำบากเท่ากับพี่  ๆ ครับ  แต่ก็คลุกคลีกับการพัฒนาในระดับชุมชน  ที่ภายหลังเราทำในเรื่องโครงการพัฒนาต่าง  ๆ ที่ต้องการความร่วมมือจากชาวบ้าน

         โครงการสุขภาพดีถ้วนหน้าก็เป็นผลกระทบหนึ่งที่ทั้งเราและ อสม. ชาวบ้าน ได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องการทำงานพัฒนาสุขภาพแบบใหม่ไปพร้อมกัน

           ชาวบ้านพัฒนาด้านสุขภาพขึ้นเยอะครับ  ทั้งนี้เป็นผลพวงจากการบุกเบิกของรุ่นพี่อย่างพี่รุ่งนะครับ

บันทึกpcu

เหมือนหมอบ้านผมเปี๊ยบเลย

ทางนี้เขาเรียกหมอบ้านนอก

เป็นขวัญใจตัวจริงของชาวบ้าน

ไปไหนมีแต่คนรู้จัก ทักทาย

ยินดีครับ อ่านแล้วนึกถึงอดีตที่เคยร่วมงานกับคุณหมออนามัย ช่วยหิ้วเครื่องมือฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียน

     ครูบ้านนอกครับ

สวัสดีค่ะน้องสุมิตรชัย

  หมออนามัย เป็นเอกลักษณะเฉพาะ เหมือนคน ในG2K ไปอยู่ที่ไหน ก็รักเขา เหมือนญาติ พี่เองก็เป็นตั้งแต่ น้องหมอ พี่หมอ จนกระทั่งป้าหมอ และในหมู่บ้านเราก็จะมีคุณพี่ คุณป้า คุณตา คุณยาย เต็มไปหมด เป็นเรื่องแปลกนะคะน้อง ถ้าเราลงเลือกตั้ง อาจจะได้คะแนนสูงลิ่ว แต่ก็แปลกอีกเหมือนกัน ไม่เคยมีหมออนามัย คิดจะเล่นการเมืองเลย คงพอใจอยู่กับชาวบ้าน อย่างแท้จริงค่ะ

สัสดีค่ะคุณครูเก่า

  จริงเหมือนคุณครูเล่ามาค่ะ หมอกับครูนี่ เป็นนักสร้างสุขภาพคู่กัน ถ้าไม่มีคุณครู กอดเด็กไว้ให้ หมออนามัย ก็ฉีดวัคซีน ให้ไม่ได้ ถ้าคุณครูไม่ช่วยกันพอกยาฆ่าเหา สามวัน ก็คงกำจัดเหาไม่หมดหัว  จะอยู่ที่ใด สายงานเราก็ประสานกันจนทุกวันนี้ จะผิดกันตรงที่ เดี๋ยวนี้ เวลาหมอไปโรงเรียน เรามีขั้นตอนมากกันหน่อย เซ็นชื่อ เซ็นโครงการ หลักฐาน ถ่ายรูป ยิ่งกว่าเป็นดาราอีก ก็ตามคำสั้งต้องมีหลักฐานค่ะ

  ขอบคุณครูเก่า ที่มาช่วยเสริมบันทึกนี้ค่ะ

"ไร้ราก ฤา ผลิใบ

รากหญ้า สาธารณสุขไทย"

สวัสดีค่ะน้องเอก

   น้องเอกก็เป็นหนึ่ง ในหลักสูตรแห่งวิชาชีพสาธารณสุข พี่ภูมิใจ ที่คนสาธารณสุข แม้จะไปทำงานที่ใด ก็ทำได้ด้วยดี มีความสำเร็จ เหมือนน้องพัฒนา จนเมืองปาย กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับหนึ่ง ฝีมือน้อง ฝีมือ คนสาธารณสุข ดีใจค่ะ

พี่บุญรุ่งครับ

ต้องขอขอบคุณที่ให้เกียรติ เรื่องการผลักดันเมืองปายเป็นเมืองท่องเที่ยวครับ

ในความจริงปายขึ้นในตำแหน่งเมืองท่องเที่ยวกระแสหลักไม่ใช่เพราะผมครับ

ผมยังรู้สึกเศร้าลึกๆด้วยซ้ำที่ การพัฒนาที่เรียกว่า "ความเจริญ" กลับกายเป็นศาสตราทิ่มแทงทำร้ายคนท้องถิ่น

ที่ผมหยิบประเด็นปายขึ้นมาทำเพราะ

  • ผมเป็นคนปายโดยกำเนิด
  • ผมรู้สึกว่าความเจริญที่ไร้กรอบไร้ทิศทาง ทำให้เกิดผลลบต่อคนท้องถิ่น
  • ผมสนใจการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์วิถี ให้สมดุล
  • ผมเป็นห่วงบ้านของผม
  • และผมต้องการ นักท่องเที่ยวคุณภาพครับผม

เรื่องเมืองปาย...ต้องคุยกันอีกยาว

ในอนาคตประเด็นเมืองปาย จะถูกเตรียมเป็น งานเชิง Action ของประชาสังคมเมืองปาย และผมด้วยครับ :)

 

 

  • พี่รุ่งคะ...
  • วันนี้วันของครอบครัวค่ะ  พอญาติๆเห็นว่าหว้าว่างก็จองคิวทั้งวัน เพิ่งจะกลับเข้ามา  เลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย
  • สำหรับงานของพี่รุ่งถือได้ว่า...ทุ่มเทให้กับชาวบ้านจริงๆค่ะ  แล้วก็ใกล้ชิดกับชาวบ้านมากด้วย
  • แวะเข้ามาทีไรก็อดพูดแบบเดิมไม่ได้ว่า...ขอชื่นชมพี่รุ่งด้วยใจจริงค่ะพี่  ฝากคำชื่นชมนี้ไปถึงหมออนามัยทุกท่านค่ะ

น้องเอกคะ

  น้องเอกตั้งใจทำงาน และผลลัพธ์ ก็เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ เช่นลุงเอกยังชื่นชม พี่อาจพูดในงานของน้อง ไม่ครอบคลุม แต่พี่ก็อยากชื่นชม อยากให้โลกเขาเข้าใจ นักสาธาณณสุข ที่ถูกหล่อหลอม ให้ทำงานด้วยใจรัก เป็นส่วนมากค่ะ

สวัสดึค่ะอ.ลูกหว้า

 ดีใจด้วยค่ะ พี่พบญาติๆ

 สำหรับหมออนามัย ต่างก็อยู่ในมุม ที่สายตา บางคู่ ไม่มีวันแลเห็น ก็เลยอยากเอามาเล่าไว้ให้กำลังใจกัน เราทำงานไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ ทั่วประเทศ ขอบคุณอาจารย์แทนหมออนามัยทุกคน และขอบคุณกระทรวงสาธารณสุข ที่มีหลักสูตรนี้ มาให้เราเรียนรู้ ที่จะรักคนค่ะ

พี่นึกถึงสมัยทำงานที่สะเมิง ในป่าเขาหลังดอยสุเทพ เชียงใหม่ จะเข้าพื้นที่ทีก็ใช้มอเตอร์ไซด์ผ่านฝุ่นหนามาก เสื้อผ้าเราต้องเปลืองที่สุด  และเพื่อนๆพี่ก็ทำงานร่วมกับหมออนามัย ปศุสัตว์ เกษตรตำบล พัฒนากร

 บางครั้งเราต้องเดินขึ้นเขาไปทำงานเป็นระยะทางมากกว่า 5 ก.ม.

 บางครั้งมอเตอร์ไซด์เราเสียต้องลากขึ้นเขาลงห้วย บางปีเราต้องแบกมอเตอร์ไซด์หนีน้ำป่า สนุกที่สุด ช่วงนั้นเราเป็นคนหนุ่มเพิ่มจบมา จึงเป็นเรื่องสนุกครับ การทำงานกับหมออนามัย

ที่อำเภอสะเมิงเป็นพื้นที่ Pilot Project ของเรื่อง อสม.ครั้งแรกในประเทศไทย ร่วมกับพื้นที่ตรวจสอบที่ อ.สารภี เราก็ทำงานกับ อสม.เราสนิทสนมกันจนเรียกพ่อเรียกแม่ กินนอนที่บ้านได้ทุกเมื่อแม้ปัจจุบันนี้ หากเข้าสะเมิงก็ยังไปกินนอนได้ครับ

 อ่านประสบการณ์ของน้องรุ่งแล้วนึกถึงสมัยโน้นเหมือนกันครับ

เราเชิดชูหมออนามัยผู้ลุยๆงานอยู่แล้ว อิ อิ

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

  ใช่แล้วค่ะ หมออนามัยมีเพื่อนกัน ระหว่างทำงานก็คือ เกษตร พัฒนากร ปศุสัตว์ ครู ชาวบ้านจะรู้จักพวกเราดี นึกถึงการทำงานช่วงนั้น สนุกไม่หาย ติดมาจนถึงทุกวันนี้ ไปขุดส้วมให้ชาวบ้านยังเคยเลย ปีที่ให้สุขภาพดีถ้วนหน้า 2543 จำได้ เขาเอาการมีส้วมทุกครัวเรือนเป็นตัววัด คอห่านก็ต้องควักเงินซื้อให้ แล้วมาผ่อน เอาต้นมันสำปะหลังมาล้อม แทนฝาผนังห้องส้วม มันสำปะหลังก็งาม ดีไม่ต้องเปลี่ยนฝาส้วมบ่อยๆ

  ต่อมา มหาดไทย ออกกฏหมาย ใครขอเลขบ้าน ต้องมีส้วม เราจึงสบายขึ้น ทำไมคิดช้าจัง

 บันทึกต่อๆไป จะได้แลกเปลี่ยนกันอีกนะคะ

สวัสดีครับคุณตันติราพันธ์

                  ผมรู้จักหมอที่อนามัยหรือสุขศาลามาตั้งแต่เกิด เพราะหมอที่ทำคลอดแม่ผมเป็นหมออนามัยชื่อ หมอออ ครับ....

                  สมัยก่อนไม่มีโรงพยาบาล เราใช้บริการของสุขศาลาครับ มีนายแพทย์เป็นหัวหน้า...เช่น นายแพทย์อรุณ สายเพ็ชร นายแพทย์ประโยชน์ บุญมงคล แต่เราก็เรียกคุณหมอเหมือนกัน ทั้งสองท่านตอนหลังมาประจำอยู่แถวภาคกลางครับ สมาชิกหลายท่านคงรู้จัก..หมออนามัยก็มีคุณหมอเสงี่ยม สุวรรณประดิษฐ์ คุณหมอพงษ์ ปิ่นทอง...ทุกคนเกษียณหมดแล้วครับ

                  พวกเราผูกพันกันมากครับ รู้จักสนิทสนมทุกคน ตามประสาคนบ้านนอกจะนับถือคุณหมอทุกคน...พวกเราตอนเด็กโดนคุณหมอฉีดยาร้องลั่นมาแล้วทุกคน...โดยเฉพาะผมเด็กขี้โรค...ก้นจะตกสะเก็ดรอยเข็มเป็นสิบ ๆ เข็ม ทำให้กลัวเข็มมาจนทุกวันนี้...แต่ยาขมขนาดไหนกินได้หมด

                 ส่วนพยาบาลก็รู้จักดีครับ...มีญาติผู้น้องเป็นพยาบาลตั้ง ๔ คน (แถมเคยอกหัก...เพราะเป็นเด็กวัด ดันไปหลงรักคนชุดขาวหมวกขาวครับ...อิอิ )

                    เราจึงรู้จักคุณหมอดีครับ

                                                สวัสดีครับ

หมอกานต์ ... จากนวนิยาย หรือภาพยนตร์เมื่อหลายปีก่อน  คือ  ความประทับใจอันงดงามของคนที่ทำงานในสายนี้แล้วไปประจำอยู่ตามหมู่บ้านในชนบท ...

ก่อนมีสถานีอนามัยนั้น   ภาพชีวิตในวัยเด็กของผมจำได้ว่าเราต้องพึ่งพา "อสม.."   รวมถึงการจัดแต่งให้ภายในครัวเรือนของเรามี "ยาสามัญประจำบ้าน"  ไว้ดุแลตนเอง หรือแม้แต่เพื่อนบ้านก็ได้พึ่งพากับเราด้วย

ครั้งแรกที่ข่าวคราวของการมีสถานีอนามัยในหมู่บ้าน  ผมตื่นเต้นเป็นอย่างมาก  ยิ่งรับรู้ว่าจะสร้างตรงข้ามกับบ้านของผมแล้ว  ผมยิ่งตื่นเต้นและดีใจอย่างที่สุด

ในช่วงที่เขากำลังปลูกสร้างตัวอาคารสถานีอนามัยนั้น   ผมมักถือโอกาสไปด่อม ๆ มอง ๆ  อยู่อย่างสม่ำเสมอ   ...เป็นความสุข   เป็นความหวัง ...ราวกับว่าจากนี้ไปเพียงไม่นาน  หมู่บ้านของเราจะมี "หมอ"  มาดูแล...

ผมจึงมีทัศนคติที่ดีกับ "หมออนามัย"  เสมอมา ...

...................

 

สวัสดีค่ะนายช่างใหญ่

 นายช่างใหญ่มีคามหลังกับพยาบาลเสียด้วย พยาบาลมีเสน่ห์น่ารักค่ะ ชุดขาสะอาดสะอ้าน แต่หมออนามัย ใช้ชุดสีฟ้าค่ะ แต่งเข้าไปในหมู่บ้านจะปลอดภัย ไม่มีใครทำร้าย เด็กนักเรียนเห็น ก็จะยืนแถทำคามเคารพ เหมือนเราเป็นครูเลย

 มีแพทย์หลายคนที่ทำคลอดโดยหมออนามัย แต่พอได้ทำงาน เขามอง่าเราไม่ค่อยมีความรู้ ไม่อยากคุยด้วย เขาจะคุยกับพยาบาลเป็นส่วนมาก แต่จริงๆเราอยากคุยกับเขามาก อยากรู้ อยากถาม แต่ก็จนใจ

อาจารย์แผ่นดินคะ

  งใจจริงๆ ที่ชาวบ้านเขาดีใจที่จะได้สถานีอนามัย ความสามารถเราน้อยก็จริง แต่ทุกสิ่งที่ทำ ตั้งใจเสมอค่ะ เราเข้าใจบทบาทเราดี อยากให้ทุกคนสุขภาพดี อย่าเจ็บอย่าไข้ ก็เป็นฝันอันสูงสุดแล้ว

ขอคารวะด้วยความนับถือ

สวัสดีค่ะ

 ขอบคุณคุณมากนะคะ คงได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีก ในเว็บนี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท